“แนวโน้มของตลาดร้านอาหารในปี 2563 กับการรับมือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี”

ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยมูลค่าหมุนเวียนที่ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท กอปรกับในธุรกิจมีผู้ประกอบการที่หลากหลายทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สนใจเข้ามาเริ่มธุรกิจในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.37 ถึง 4.41 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.4 ถึง 2.4 จากปี 2562 จากการลงทุนของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่สูงและต้นทุนธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยท้าทายในธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว [1]

จากฐานข้อมูลในเว็ปไซด์ของ Wongnai ซึ่งเป็นเว็ปไซด์ยอดนิยมในการค้นหาข้อมูลร้านอาหารและเครื่องดื่มพบว่า จำนวนร้านเปิดใหม่ในปี พ.ศ. 2560 สูงกว่าปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นร้อยละ 8.50 และมีปริมาณมากขึ้นในปี 2563 ขณะเดียวกันร้านที่ปิดตัวขอเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้มี SME ที่ ได้เข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลของ Wongnai แล้วจํานวนกว่า 2 แสนราย หรือมากกว่า 60% ของร้านอาหาร ทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีร้านอาหารมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และชลบุรี ตามลําดับ ซึ่งแยกตาม ประเภทร้านอาหารยอดนิยมทั่วประเทศไทย ได้แก่ ร้านอาหารไทย 32,740 ร้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว 25,154 ร้าน ร้านกาแฟ 24,874 ร้าน ร้านอาหารจานเดียว 13,548 ร้าน และร้านอาหารอีสาน 11,791 ร้าน ตามลำดับ [2]

#เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวและกระแสต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มจึงควรปรับเปลี่ยนวิธีในการดําเนินธุรกิจเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1. การปรับปรุงเมนูอาหารและสร้างเอกลักษณะของตนเอง นักท่องเที่ยวหรือคนรุ่นใหม่จะหาข้อมูลร้านอาหารที่ล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งการปรับเมนูอาหารให้มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ โดยอาจจะเป็นเมนูที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ หรือเป็นการนําวัตถุดิบที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้นผสมลงไป เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และบ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวเลือกร้านอาหารที่แตกต่างมากกว่ารสชาติ

2. การนําเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น รวมทั้ง โซเชียลมีเดียต่างๆ หรือการใช่บริการตัวกลางที่เป็น OTAs เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยต้องแลกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการใช้บริการตัวกลางเหล่านี้

3. การจองร้านอาหารออนไลน์และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ทั้งผ่านช่องทางการใช้แอพพลิเคชั่น บนมือถือรวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ยังจะเป็นปัจจัยหลักที่ทําให้ตลาดธุรกิจร้านอาหาร เติบโตได้ดีในปี พ.ศ.2562

4. ระบบชำระเงินแบบ Electronic Payment System นอกเหนือจากบริการรับชำระผ่าน Mobile payment และ QR code เพื่อเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพกเงินสด หรือแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า การชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขายผ่านผู้ให้บริการรับชําระเงินในไทยด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยในช่วง ม.ค. – ก.ย. 61 มีสัดส่วนมูลค่าเท่ากับ 12% จาก 6% ในปี 2560 และสัดส่วนปริมาณธุรกรรมเท่ากับ 27% จาก 17% ในปีก่อน [3]

……………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ​ ศวฮ.​ สำนักงานปัตตานี​ เรียบเรียง
………..
[1] Marketeer, “ปี 2563, ปีทองของอาหารพร้อมรับประทาน” [online]. Available: https://marketeeronline.co/archives/135651. [Accessed: 13-Jan-2020]
[2] ณัฏฐกฤติ นิธิประภา, “สถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจปี 2562” [online]. Available: https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20190328081528.pdf. [Accessed: 8-Jan-2020]
[3] ณัฏฐกฤติ นิธิประภา, “ธุรกิจร้านอาหารควรรับมืออย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว” [online]. Available: https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20190617051600.pdf. [Accessed: 12-Jan-2020]

“6 เทคนิคการเพิ่ม Productivity ในการทำงาน”

Productivity อาจจะมีหลายนิยาม ซึ่งโดยทั่วไปคือ อัตราส่วนของ Output ต่อ Input หรือผลผลิตที่ออกมาด้วยทรัพยากรที่เติมเข้าไป แต่ Productivity สำหรับนิยามของผมคือ การทำน้อยแต่ได้มากนั่นเอง “มาก” ในที่นี้วัดจาก Impact ที่เกิดขึ้นจากงานนั้น ไม่ได้วัดจากจำนวนของงาน ซึ่งการสร้าง Productivity ของการทำงานจำเป็นต้องตัดบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ แต่ต้องเลือกทำส่วนที่เป็น melon ของเรา ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ เป็นส่วนที่เราโฟกัสจะทำ ผมจะแนะนำ 6 เทคนิคง่ายๆในการเพิ่ม productivity ดังนี้

1. Find Your melon: ค้นหาเมล่อนของเรา หาสิ่งที่สำคัญของเราให้เจอ กำจัดเมลอนลูกเล็กๆออกบ้าง อะไรคือสิ่งที่เราจะโฟกัส แล้วค่อยๆตัดส่วนอื่น ๆออกไป

2. Just say no: ลดวัชพืชทิ้งรอบ ๆเมลอน กล้าปฏิเสธในเรื่องที่เราไม่ถนัด กล้าที่จะปฏิเสธในส่วนที่ไม่ใช่เมลอนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

3. Eliminate distractions: ลดสิ่งที่จะพาเราออกนอกเรื่องในระหว่างการทำงาน ลดสิ่งที่รบกวน สิ่งเย้ายวนใจ อย่าง Smartphone ที่ลดเวลาการทำงานของเราออกไป ถ้าอยากทำงานให้ได้มากที่สุด แนะนำให้ตัดอินเตอร์เน็ตทิ้ง แล้วค่อยมาเช็คข่าวในช่วงเวลาที่เรากำหนด

4. Make it automatic: ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เข้ามาจัดการแทนงานของเราในบางเรื่อง เพื่อลดเวลาการทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเมลอนให้น้อยลง เช่น การซื้อของออนไลน์ การใช้ธุรกรรมออนไลน์ทางการเงิน เป็นต้น

5. Delegate: การมอบหมายงาน ให้คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นดำเนินงานแทนเราในบางเรื่อง เราจะได้มีเวลาไปทำในงานที่เป็นเมลอน

6. Learning: หรือการเรียนรู้ เป็นการเพิ่มระดับความสามารถของตัวเราเองและอย่าหยุดที่จะเรียนรู้ จะเป็นตัวเพิ่ม Productivity ให้เราได้

นี่คือ 6 เทคนิคง่ายๆของผมที่จะเพิ่ม Productivity ของการทำงานในยุค digital disruption นี้

Halal Inspiration Talk: การเพิ่ม Productivity ของการทำงานและธุรกิจในยุค digital disruption โดย ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในงาน Thailand Halal Assembly 2019
……………………
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ถอดความ

“อนาคตของเศรษฐกิจฮาลาลในยุค Technology disruption”

#HalalEconomyคืออะไร

เศรษฐกิจฮาลาล หรือ Halal economy ไม่ได้ใช้เฉพาะกับอาหารการกินอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ แต่หมายถึง กิจการที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ศาสนพิธี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค การบริการ เศรษฐศาสตร์ฮาลาล และการเงินตามหลักศาสนบัติญัติอิสลาม เช่น การกู้ยืมเงินและการคิดอัตราผลกำไรแทนอัตราดอกเบี้ย การท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) แฟชั่น (Islamic fashion) ยา เครื่องสำอาง สื่อ รวมทั้งทีวี facebook และ youtube เป็นต้น

คาดการณ์ว่าในปี 2023 การเงินฮาลาลมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโตขึ้น 7.7% อาหารฮาลาลจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% แฟชั่นฮาลาลจะโตขึ้น 5% การท่องเที่ยวมุสลิมซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมาตลอด จะเติบโตมากขึ้นถึง 7.5% สื่อฮาลาล (Halal media) ในอังกฤษเติบโตอย่างมากและทำรายได้เป็นจำนวนมาก ส่วนยาและเครื่องสำอางก็มีอัตราโตขึ้นถึง 7%

การให้การรับรองฮาลาลในเรื่องอาหาร อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เราอาจจะต้องมีการรับรองฮาลาลทางการเงิน เสื้อผ้า ยา เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันผลักดันมาตรฐานด้านต่าง ๆ อย่าง โรงแรม สปา เครื่องสำอาง และอีกมากมายที่กำลังตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงมีความสำคัญ…

#ในยุคdisruption เทคโนโลยีมีผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมฮาลาล

Technology disruption คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในเทคโนโลยี ธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคม เช่น

เทคโนโลยีการถ่ายภาพ จากที่เคยมีกล้องถ่ายกลับคลายมาเป็นมือถือที่มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการถ่ายภาพได้มากกว่าเดิม

ธุรกิจภาพยนตร์ จากเดิมที่ใช้ซีดีหรือดีวีดี กลายเป็นธุรกิจสตรีมมิ่งที่เป็นแอปพลิเคชันให้คนได้ดาวน์โหลด ทำให้สามารถดูหนังที่ไหนก็ได้

ธุรกิจเพลง ผู้ฟังที่เคยฟัง mp3 ในซีดี แต่แอปพลิเคชัน เช่น Spotify สามารถให้บริการเพลงได้อย่างไม่จำกัดทั้งเพลงในอดีตหรือเพลงฮิตในปัจจุบัน

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ พบว่าวิธีการนำเสนอเนื้อหาจากเดิมที่เป็นกระดาษ กลายเป็นเนื้อหาบนโลกออนไลน์ อ่านข่าวจากมือถือ หรืออ่านหนังสือผ่าน Kindle หรือเรียกว่าธุรกิจ eBooks

ธุรกิจเกี่ยวกับการช็อปปิ้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการขายของออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์

#Future of Halal Economy

ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันทำให้วิทยาศาสตร์ฮาลาลต้องปรับตัวมากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ทางเลือก เทคโนโลยีที่ใช้การตัดต่อยีนจากเนื้อสัตว์แล้วนำมาเพาะเลี้ยง หรือการใช้หุ่นยนต์สั่งอาหารทางออนไลน์กับหุ่นยนต์ หากเราต้องการสั่งอาหารฮาลาล หุ่นยนต์ที่ตอบโต้เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิมได้หรือไม่?

Halal Cryptocurrency เงินดิจิทัลถูกต้องตามวิถีฮาลาลหรือไม่? จ่ายซะกาตอย่างไร? เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมฮาลาลต้องเตรียมตัว หรือ Crowdfunding การระดมทุนในโลกออนไลน์ อย่างในอินโดนีเซีย อยากทำระดมทุนให้คนหาบ้านที่ไม่มีกำลังซื้อ Islamic Crowdfunding จะเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมากขึ้น คือเราไม่สามารถไปลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข ใครจะรับรองว่าธุรกิจนี้เป็น Islamic business ทำอย่างไรที่จะคัดสรรโปรเจกธุรกิจอิสลามเข้ามาเพื่อให้มีคนมาลงทุนมากขึ้น แล้วแพลตฟอร์มแบบไหนถูกต้องตามหลักชารีอะฮ์ …..นี่คือความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต…..

……….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ถอดความ
…………
Halal Inspiration Talk: Future of Halal Economy: Technology Perspective
โดย ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

“จิตวิญญาณของอาหาร”

ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เกี่ยวพันธ์กับหลักปฏิบัติด้วยกับกฎและหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมทุก ๆมิติในการดำเนินชีวิตของปัจเจกชนมุสลิม หลักเกณฑ์นี้ไม่ได้จำกัดการมองแต่เพียงเรื่องมารยาททางสังคม แต่มันมาจากวัตถุประสงค์ในวงกว้างของศาสนา และด้วยเหตุนี้จึงเป็นความคิดและค่านิยมที่สะท้อนกลับมา

ทีนี้เรามาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารที่เราบริโภคกับสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณของเรา มุสลิมคนหนึ่งกินอาหารเพื่อบำรุงสุขภาพทางร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการประกอบศาสนกิจทางศาสนา (อิบาดะฮฺ) และยังสนับสนุนความรู้และแรงกายของเขา เพื่อสวัสดิภาพของสังคม ดังนั้นในบริบทของอิสลามจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจและเห็นคุณค่าของแนวคิดฮาลาลและหะรอม ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มที่ฮาลาลนั้นเป็นที่อนุมัติสำหรับมุสลิม

#รายการอาหารหนึ่งจะฮาลาล ก็ต่อเมื่อ :
– อาหารนั้นไม่เป็นอันตรายหรือรบกวนการทำงานในภาวะปกติของร่างกายและจิตใจ
– อาหารนั้นปราศจากนญิส (สิ่งสกปรกตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม) และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากซากสัตว์หรือจากสัตว์ที่ตายโดยไม่ผ่านการเชือดหรือฆ่าอย่างถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม หรือจากสุกร หรือสัตว์หะรอมอื่นๆ
– อาหารนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากอนุพันธ์จากสุกรหรือสุนัขหรือสัตว์หะรอมอื่นๆ

#ในทางกลับกันรายการอาหารหนึ่งจะหะรอม ก็ต่อเมื่อ
– เป็นอันตรายหรือรบกวนการทำงานของร่างกายและจิตใจในทางลบ
– มีนญิสหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากซากสัตว์หรือสัตว์ที่ตายโดยสาเหตุจากธรรมชาติ หรือจากสุกรหรือสัตว์หะรอมอื่นๆ
– อาหารนั้นได้มาจากสัตว์ที่อนุมัติแต่ไม่ผ่านการเชือดในวิธีการที่เป็นที่อนุมัติ หรือ หากไม่มีการ เตรียมการก่อนเชือดอย่างถูกต้อง

คำกล่าวที่ว่า “คุณเป็นในสิ่งที่คุณกิน” เป็นที่รู้จักกันดีในศาสนาอิสลาม อาหารที่รับประทานเข้าไปไม่ได้กลายเป็นเพียงแค่อุจจาระ แต่ยังดูดซึมและสลายสารอาหารเข้าสู่ระบบและไหลเวียนทั่วทุกส่วนของร่างกายรวมทั้งสมองและหัวใจ ดังนั้นความบริสุทธิ์ของร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณอย่างแท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของอาหารที่เราบริโภค

ดังเช่นในอัลกุรอาน ในแต่ละครั้งเมื่อเอ๋ยถึงคำว่า “ฮาลาล” ก็จะกล่าวถึงอาหาร และคำว่า “ตอยยีบัน” ก็ได้ถูกกล่าวถึงอีกด้วย

“มนุษย์เอ๋ย จงกินสิ่งที่ได้รับอนุมัติ (ฮาลาล) และที่ดี (ฏอยยิบ) จากที่มีอยู่ในแผ่นดิน” (อัลบากอเราะฮฺ :168)

“พวกเจ้าจงบริโภคในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ซึ่งเป็นที่อนุมัติที่ดี” (อัลนะฮฺล: 114)

ดังนั้นก่อนตัดสินใจว่าอาหารไหนที่เหมาะสำหรับการบริโภค ควรมีการพิจารณามากกว่าฮาลาล หรือหะรอมเพียงเท่านั้น คำว่าตอยยีบันหมายถึงดี ซึ่งมีความหมายว่าอาหารต้องมีประโยชน์และบริสุทธิ์จากแหล่งที่มาของมันต้องนำมาพิจารณาร่วมด้วย

จากลักษณะทางด้านกายภาพ ข้อจำกัดทางอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจว่า มุสลิมดูแลการกินเฉพาะสิ่งที่บริสุทธิ์ เพื่อหลีกเลี่ยงโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่สกปรก

อาหารที่สะอาดบริสุทธิ์นำมาซึ่งสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและสิ่งนี้จะทำให้มุสลิมสามารถเพิ่มอิบาดะฮฺตัวของเขาและปฏิบัติอย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและสุขภาพสามารถถ่ายทอดไปสู่รุ่นถัดไป ในร่างกายที่บริสุทธิ์สร้างสุขภาพที่ดีสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แน่นอนว่าความสะอาดจากภายนอกเป็นขั้นแรกต่อความบริสุทธิ์ของจิตวิญญาณภายใน บ่อยครั้งที่องค์ประกอบทั้งสองมักควบคู่ไปด้วยกัน ดังนั้นในศาสนาอิสลามความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา ตั้งแต่ด้านจิตวิญญาณแล้วมุสลิมก็ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ โดยการบริโภคแต่เพียงอาหารที่สะอาดเนื่องจาก อัลลอฮฺนั้นบริสุทธิ์และรักผู้ที่ทำตัวเองให้บริสุทธิ์ จากอบูฮุร็อยเราะฮฺ กล่าวว่า : ท่านรอซูล (ศ็อลลัลลอฮุอาลัยฮิวาซัลลัม) กล่าวว่า“แท้จริงอัลลอฮฺนั้นบริสุทธิ์ ไม่ทรงรับสิ่งใดนอกจากที่บริสุทธิ์”

“โอ้ บรรดารอซูลเอ๋ย ! พวกเจ้าจงบริโภคส่วนที่ดี (ฮาลาล) และจงกระทำความดีเถิด” (อัลมุอฺมิน: 51)

และพระองค์ยังได้กล่าวอีกว่า
“บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงกินสิ่งที่ดีและสะอาดที่เราได้ประทานให้แก่สูเจ้า”
(อัลบากอเราะฮฺ : 172)
…………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แปลและเรียบเรียง
…….
ที่มา
Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press. Page 12-13

ฉันสามารถทานอาหารที่ผ่านพิธีสวดในโบสถ์คริสเตียนได้หรือไม่?

:: [คำถาม] ::
อัสลามูอาลัยกุม ชาวมุสลิมนั้นสามารถทานอาหารที่ผ่านพิธีสวดจากโบสถ์คริสเตียนได้หรือไม่? เช่น เค้กอีสเตอร์ หรือไข่อีสเตอร์ เป็นต้น

:: [คำตอบ] :: โดย ชัยค์ มุฮัมมัด เกาะตานานีย์

ขอความสันติ ความเมตตา และความจำเริญจากผู้เป็นเจ้าจงประสบแด่ท่าน ด้วยพระนามของผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงไพศาลในความเมตตา ผู้ทรงถ้วนทั่วในความกรุณา มวลการสรรเสริญทั้งหมดเป็นสิทธิแห่งผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงผู้อภิบาลแห่งสากลโลกความจำเริญและความศานติจงประสบแด่ท่านนบีมุฮัมมัดของเรา รวมถึงวงศ์วานของท่านและเหล่าสาวกของท่านทั้งมวล

เมื่อได้รับอนุญาตจากคัมภีร์อัลกุรอานและตามที่นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความเห็นไว้ ชาวมุสลิมนั้นอนุญาตให้รับประทานอาหารของชาวยิวและชาวคริสเตียน (กลุ่มชนชาวคัมภีร์) ได้โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่กล่าวออกมาตราบใดที่อาหารนั้นไม่ได้เป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม

ดร. มุฮัมมัด เกาะตานานีย์ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอิสลามอเมริกันและอิหม่ามประจำศูนย์กลางอิสลามพาสเสคเคาน์ตี้แห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้ให้คำตอบว่า

อนุญาตให้รับประทานอาหารของชาวคัมภีร์ (อะฮฺลุล กิตาบ) ได้ ซึ่งอัลลอฮฺได้กล่าวว่า

“วันนี้สิ่งดี ๆ ทั้งหลายได้ถูกอนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์นั้นเป็นที่อนุมัติแก่พวกเจ้าแล้ว และอาหารของพวกเจ้าก็เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา” (อัล มาอิดะฮฺ 5:5)

จากโองการนี้อนุญาตให้ชาวมุสลิมรับประทานอาหารของกลุ่มชนชาวคัมภีร์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งชาวคัมภีร์ที่กล่าวถึงนี้ได้แก่ ชาวยิวและชาวคริสเตียนโดยไม่ได้มีข้อแม้ว่าอาหารของชาวคัมภีร์นั้นจะผ่านการกล่าวพรหรือไม่ก็ตาม

อัลลอฮ์ทรงทราบว่าช่วงเวลาแห่งการประทานอัลกุรอานนั้น กลุ่มชนชาวคัมภีร์จะมีพิธีกล่าวบทสวดหรือกล่าวพรแก่อาหารของพวกเขา

นักวิชาการหลายท่าน เช่น อะอฺฏออฺ ; มักฮูล อัช ชามีย์ ; อัล หะสัน ; อัช ชะอฺบีย์ ; สะอีด อิบนฺ มุสัยยิบ ; อัล เอาซาอีย์ และอัล ลัยษฺ มีความเห็นว่าอนุญาตให้ทานสัตว์ที่ถูกเชือดโดยชาวคริสเตียนได้แม้ว่านามของ “อัล มะสีหฺ”
(พระเยซู) ได้รับการกล่าวบนอาหารนั้น

ขณะที่ทรรศนะนี้นั้นขัดแย้งกับความเห็นของนักวิชาการท่านอื่น ๆ ที่ไม่อนุญาตให้รับประทานสัตว์ที่ถูกเชือดในนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ

กระนั้นอาหารใด ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องผ่านกรรมวิธีการเชือด เช่น ผัก ผลไม้ นักวิชาการทุกท่านมีความเห็นตรงกันว่าสามารถรับประทานได้ อย่างไรก็ตาม ท่านจะต้องไม่ลืมกล่าวนามของผู้เป็นเจ้าด้วยทุกครั้งในการรับประทานอาหารใด ๆ ก็ตาม

แท้จริงอัลลอฮฺนั้นรู้ดีที่สุด

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง