อนุญาตให้ดื่มสุราในร้านอาหารของเขาจะบาปหรือไม่ ?

:: [คำถาม] ::
อาหารของฉันในร้านฉันปรุงและบริการเฉพาะอาหารที่ฮาลาลเท่านั้น ฉันเซ้งร้านอาหารมาจากคนไม่ใช่มุสลิมและเทศบาลได้โอนใบอนุญาตการดื่มสุราในนามชื่อของฉัน ฉันไม่ได้ขายแอลกอฮอลล์แต่ลูกค้านำขวดไวน์มารับประทานอาหารมื้อค่ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่กฎหมายอนุญาต ฉันอนุโลมให้พวกเขาทำสิ่งนี้ได้หรือไม่ หรือว่าฉันต้องห้ามพวกเขา พวกเขาใช่ว่าจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่ดีหรือก่อกวนลูกค้าคนอื่นๆ และเมื่อใบอนุญาตขายเหหล้าหมดอายุลงฉันจะไม่ต่อใหม่อีกรอบ …

:: [คำตอบ] ::
ตามหลักนิติธรรมอิสลาม แล้วเจ้าของร้านต้องรับผิดชอบต่อบาปที่เกิดขึ้นในร้านอาหารของเขาโดยที่เขาสามารถยับยั้งหรือป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นในสถานที่เขาเป็นเจ้าของ ประการแรก การห้ามแอลกอฮอล์นั้นมีหลักฐานชัดเจนในอัล-กุรอานและสุนนะฮฺ(วิถีปฏิบัติของท่านนบีและเป็นมติเอกฉันท์ของบรรดาผู้รู้ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้สาปแช่งคน 10 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์โดยไม่จำกัดเพียงแค่คนดื่มเท่านั้น

มีรายงานว่า ท่านอนัส บิน มาลิก รดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้สาปแช่งบุคคล 10 ประเภทที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ได้แก่ “คนที่คั้นสุรา, คนรินสุรา, คนดื่มสุรา, คนแบกหรือขนสุรา, คนที่สุราถูกแบกมาส่งให้, คนที่เสนอราคาสุรา, คนขายสุรา, คนที่กินราคาของสุรา, คนซื้อสุรา ,คนที่ถูกซื้อสุรามาให้”
รายงานโดย อิหม่าม ติรมีซียฺ (1259) และอิบนุ มาญะฮฺ (3381) จัดว่าเป็นหะดีษ ศอฮี้ยฺ โดยเชคอัล-บานียฺในศอฮี้ยฺ อัล-ติรมีซียฺ

หลักฐานดังกล่าวนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าบาปนั้นครอบคลุมทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมัน ซึ่งอาจจะจบลงด้วยการมึนเมาก็เป็นได้
คนที่นั่งอยู่ในสถานที่ที่อัลลอฮ์ถูกปฏิเสธและสถานที่ที่มีการกระทำชั่วร้ายและผิดบาปคือการมีส่วนร่วมกับพวกเขาในบาปนั้น

คนที่นั่งอยู่ในสถานที่ที่อัลลอฮ์ถูกปฏิเสธ การงานที่ชั่วร้ายและการกระทำบาปนั้นถือว่ามีส่วนร่วมกับพวกเขาในบาปนั้นด้วย ถ้าเขาสามารถที่จะเปลี่ยนความชั่วแต่เขาไม่ได้กระทำหรือเขาสามารถที่จะหลีกห่างจากวงสุราได้แต่เขาไม่ได้กระทำเช่นนั้น อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“และแน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงประทานลงมาแก่พวกเจ้าแล้วในคัมภีร์ นั้นว่า เมื่อพวกเจ้าได้ยินบรรดาโองการของอัลลอฮฺโองการเหล่านั้นก็ถูกปฏิเสธศรัทธา และถูกเย้ยหยัน อังนั้นพวกเจ้าจงอย่านั่งร่วมกับพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะพูดคุยกันในเรื่องอื่นจากนั้น แท้จริงพวกเจ้านั้น-ถ้าเช่นนั้นแล้ว ก็เหมือนพวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรวบรวมบรรดามุนาฟิก และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาไว้ในนรกญะฮันนัมทั้งหมด” สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะฮฺที่ 140

อิหม่าม อิบนุ กะษีร กล่าวว่า
ถ้าท่านกระทำบาปหลังจากที่มันได้มาถึงท่านแล้ว และท่านเห็นด้วยที่จะนั่งร่วมกับพวกเขาในสถานที่ที่อายะฮฺของอัลลอฮฺถูกปฏิเสธ ถูกล้อเลียนและดูถูก และท่านเห็นด้วยกับการกระทำของพวกขา ดังนั้นท่านมีส่วนร่ววมกับพวกเขาในสิ่งที่พวกเขากระทำ ดังนั้น อัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า “แท้จริงพวกเจ้านั้น-ถ้าเช่นนั้นแล้ว ก็เหมือนพวกเขา …” สูเราะฮฺ อัน-นิสาอ์ อายะฮฺที่ 140 เช่น การกระทำบาป ดังที่กล่าวในหะดีษว่า “ใครก็ตามที่เชื่อในอัลลอฮ์และวันสุดท้าย อย่าได้นั่งโต๊ะที่มีแอลกอฮอล์ที่ถูกส่งไปรอบๆ” ตัฟซีร อิบนุ กะษีร (2/435)

อัลลอฮ์ทรงกำชับมุสลิมให้ประณามความชั่วร้ายเมื่อเขาเห็นหรือรู้ว่ามันเกิดขึ้น ดังนั้นวิธีนี้จะอนุญาตให้ลูกค้าสามารถดื่มแอลกอฮอล์ในร้านของท่านได้กระนั้นหรือ?

มีหะดีษรายงานจาก อบู สะอีด อัล-คุดรีย์ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ใครก็ตามในหมู่พวกท่านเห็นความความชั่วร้าย จงเปลี่ยนแปลงมันด้วยมือ (ด้วยการกระทำ) หากเขาไม่มีความสามารถ จงเปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (โดยการพูด) และหากเขาไม่มีความสามารถ จงเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจ (ด้วยการเกลียดชังและรู้สึกผิด) และนั่นคือศรัทธาที่อ่อนที่สุด” รายงานโดย อิหม่าม มุสลิม (49)

คุณลักษณะอีกประการจากปวงบ่าวของผู้ทรงเมตตา คือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงพวกเขาในอายะฮฺที่ว่า “และบรรดาผู้ไม่เป็นพยานในการเท็จ และเมื่อพวกเขาผ่านเรื่องไร้สาระ พวกเขาผ่านไปอย่างมีเกียรติ” สูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน อายะฮฺที่ 72

ดังที่ผู้รู้บางท่าน เช่น อิหม่าม อัซ-ซุฮรี่ย์ ให้ความหมายของคำว่า “ความเท็จ คือการดื่มแอลกอฮอล์” ดู ตัฟซีร อิบนุ กะษีร (6/130)

จากที่กล่าวมาข้างต้น ท่านจะต้องไม่อนุญาตไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่จะดื่มแอลกอฮอล์ในร้านของท่าน ไม่เช่นนั้นแล้ว ท่านจะต้องรับบาปของคนที่ดื่มสุราด้วยตัวท่านเอง จงอย่าได้ลังเลในเรื่องนี้ และท่านจะเห็นผลลัพธ์ของมันในการปฏิบัติตามศาสนาของท่านและในปัจจัยยังชีพของท่าน หากท่านแสวงหารางจากอัลลอฮฺในเรืองนี้

………………………………………………………..……………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูhttp://xn--islamqa-guwyc8p2e.com/

มุมมองอิสลามที่เกี่ยวกับเลือดและปัญหาการใช้ประโยชน์จากเลือดในผลิตภัณฑ์อาหาร

อัลลอฮฺกล่าวไว้ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลมาอีดะฮฺ (5:3) ความว่า“ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกรและสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ที่มัน (ขณะเชือด) …” สิ่งนี้ยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า เลือดเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับมุสลิมเพื่อการบริโภค เนื่องจากมันถูกพิจาณาว่าเป็นสิ่งสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

เลือดเป็นของเหลวที่มีความสำคัญสำหรับสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำหน้าที่ในการขนถ่ายสารอาหารไปยังเซลล์สิ่งมีชีวิตทั้งทางด้านร่างกายของมนุษย์และสัตว์ พลาสมาเป็นส่วนของเหลว ซึ่งประกอบไปด้วยสารประกอบที่นำไฟฟ้า สารอาหาร วิตามิน ฮอร์โมน เกล็ดเลือด และโปรตีน

ปัญหาด้านฮาลาลต่อการใช้ประโยชน์จากเลือดในผลิตภัณฑ์อาหาร

                  มีผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมากที่มีแนวโน้มการนำเลือดมาใช้ในผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ในขั้นตอนการเตรียมไส้กรอก เลือดสัตว์ที่ผ่านการปรุงจะถูกนำเข้าเครื่องอัด (ที่ประกอบด้วย เนื้อ ไขมันและแป้ง) อัดรวมกันจนกระทั่งมันหนาเพียงพอที่จะทำให้แน่นเมื่อได้รับความเย็น เลือดจากหมูและโคนั้นบ่อยครั้งที่ถูกนำมาใช้ในกรณีนี้ นอกจากนี้ เลือดยังถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ซอสปรุงรสและกุญเชียงมีความข้น เนื่องจากมันมีความสามารถทำให้เกิดกลิ่นรสหรือสีในเนื้อ 

   จากมุมมองอิสลาม มีการแบ่งเลือดออกเป็น 2 ชนิด นั่นคือ เลือดที่อยู่ในระบบหมุนเวียนเลือดแบบวงจรปิด (ตัวอย่างเช่น โค แพะ) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับการบริโภค และเลือดที่อยู่ในระบบหมุนเวียนเลือดแบบวงจรเปิด (ตัวอย่างเช่น ปลา กุ้ง และตั๊กแตน) ซึ่งเป็นสิ่งที่อนุมัติให้ทำการบริโภคได้  เกี่ยวกับเรื่องนี้ อิบนุ อับบาส (ร.อ.) ครั้งหนึ่งได้ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องม้าม ท่านได้ตอบว่า มันเป็นสิ่งที่อนุมัติให้บริโภคได้ ไม่ใช่กลุ่มเลือดที่ต้องห้าม

อีกอย่าง เลือดยังถูกนำมาใช้สำหรับน้ำแกงและสตู  นอกจากนี้ ผงพลาสมาจากเลือดในรูปเข้มข้นหรือไฮโดรไลท์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ เป็นส่วนประกอบขั้นต้นของการผลิตภัณฑ์ซูริมิ เพื่อเพิ่มคุณภาพของซูริมิ กลุ่มของนักวิจัยได้รายงานว่า ผงโปรตีนพลาสมาจากเลือดเข้มข้นมีความสามารถในการปรับปรุงการก่อรูปเจลของซูริมิและทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของแรงเฉือนและความแน่นของเจลซูริมิ การปรับปรุงคุณภาพเชิงหน้าที่ของซูริมิโดยการเติม ผงพลาสมานั้น ส่งผลให้เกิดการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์โพรติโอไลติก

 เนื่องด้วยประโยชน์อันมากมายของเลือดในผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคมุสลิมมีแนวโน้มจะถูกหลอกและเจือปนสิ่งเหล่านี้ในผลิตภัณฑ์  มีแนวโน้มการเติมผลิตจากเลือดในอาหารเสริมของพวกเขาเพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านธุรกิจโดยปราศจากการติดฉลากที่แท้จริง ผู้บริโภคที่ทราบเรื่องนี้ได้มีเพิ่มมากขึ้นและเริ่มกลับไปซื้ออาหารที่บริสุทธิ์ที่เริ่มมีขายอยู่ในปัจจุบัน

……………………………………………………………………………………….
แปลและเรียบเรียงจาก
Halal Products Research Institute.  Scholar’s Note.  Info Halal. Volume4/issue 1.  Jan-Jun 2010

“อะไรคือหลักเกณฑ์และความสำคัญของการเชือดพลี (อุฎฮียะฮฺ)”

:: คำถาม ::
ช่วงเวลาใดเป็นช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการเชือดพลี? เราะจะต้องแบ่งให้แต่ละคนในครอบครัวของเราทำการเชือดพลีทุกคนหรือเพียงแค่คนเดียวก็เพียงพอแล้วสำหรับทั้งครอบครัว การเชือดพลีดีกว่าหรือไม่หรือเราสามารถที่จะให้เงินเป็นการบริจาคแทน?

:: คำตอบ ::
อุฎฮิยะฮฺหรือการเชือดสัตว์พลีนั้นเป็นอิบาดะฮฺอย่างหนึ่งที่ได้ย้ำเตือนเราถึงการกระทำอันยิ่งใหญ่ในความเสียสละที่ท่านนบีอิบรอฮีมและท่านนบีอิสมาอีลนั้นมีความมุ่งมั่นที่จะกระทำเพื่อแสวงหาความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ ไม่จำเป็นที่หัวหน้าครอบครัวต้องบังคับสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวทำการเชือดพลีเนื่องคนใดคนหนึ่งทำการเชือดพลีก็เพียงพอแล้วสำหรับครอบครัวทั้งหมด

ดร.มุซัมมิล ซิดดีกียฺ ประธานสภานิติศาสตร์อิสลามแห่งอเมริกาเหนือได้ตอบคำถามดังนี้

การเชือดพลี (อุฎฮิยะฮฺ) ในช่วงอีดอัฎฮานั้นเป็นเรื่องวาญิบหรือจำเป็นตามความเห็นของอิหม่าม อบู หะนีฟะฮฺและเป็นซุนนะฮฺ มุอักกะดะฮฺ (เป็นซุนนะฮฺที่อยู่ในระดับที่พิเศษกว่าซุนนะฮฺอื่นทั่ว ๆ ไป) ตามความเห็นของนักนิติศาสตร์คนอื่น ๆ

ทุกคนที่สามารถจ่ายซะกาตได้ตามพิกัดอัตราที่ศาสนากำหนดไว้ (นิศอบ) ควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำการเชือดพลี ช่วงเวลาของการทำเชือดพลีนั้นเริ่มหลังจากละหมาดอีดอัฎฮาเสร็จ ตามหะดีษของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม มีรายงานว่า ท่านกล่าวว่า “ใครก็ตามที่ทำการเชือดพลีก่อนละหมาดอีด เขาเพียงเชือดสัพว์เพื่อเป็นอาหารแต่ใครก็ตามที่ทำการเชือดพลีหลังจากละหมาดอีดอัฎฮา เขาได้ทำการเชือดพลีแล้ว” (รายงานโดย อิหม่ามบุคอรียฺ)

อุฎฮิยะฮฺ (การเชือดพลี) เป็นการทำอิบาดะฮฺอย่างหนึ่ง เรามีช่วงเวลาเฉพาะสำหรับทำการเชือดพลีในช่วงอีดอัฎฮาเช่นเดียวกับที่เรามีช่วงเวลาสำหรับการละหมาด ช่วงเวลาของการทำเชือดพลีจะยังมีอยู่จนกระทั่งถึงวันที่ 12 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ (นี่คือความเห็นที่สอดคล้องกับนักนิติศาสตร์บางส่วน ซึ่งยังมีอีกความเห็นหนึ่งที่กล่าวว่าช่วงเวลาการทำเชือดพลีนั้นยืดออกไปจนถึงวันที่ 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ) ซึ่งไม่จำเป็นที่หัวหน้าครอบครัวจะต้องให้สมาชิกทุกคนในบ้านทำการเชือดพลี ยิ่งไปกว่านั้นการเชือดพลีเพียงคนเดียวก็นับว่าเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับครอบครัวทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากว่าสมาชิกคนอื่นๆของครอบครัวมีซะกาตที่จะต้องจ่ายออกไป ดังนั้นพวกเขาก็จะต้องทำการเชือดพลีของตนเอง แพะหรือแกะหนึ่งตัวในนามของคนๆหนึ่ง แต่ถ้าเจ็ดสามารถที่จะร่วมกันทำการเชือดพลีวัวหรืออูฐหนึ่งตัว

อุฎฮิยะฮฺ คือซุนนะฮฺของท่านนบีอิบรอฮีม ท่านนบีอิสมาอีลและท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่พวกเขา) อุฎฮิยะฮฺมีความหมายและมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง มันคอยย้ำเตือนให้เรานึกถึงการเชือดพลีอันยิ่งใหญ่ที่ท่านนบีอิบรอฮีมและท่านนบีอิสมาอีลมีความปรารถนาที่จะแสวงหาความพอพระอัยจากอัลลอฮฺ แต่พระองค์ทรงกล่าวในอัล กุรอานว่า “และเราได้ให้ค่าไถ่ตัวเขาด้วยสัตว์เชือดพลีอันใหญ่หลวง” สูเราะฮฺ อัศศอฟฟาต อายะฮฺที่ 107 การเชือดพลีอันยิ่งใหญ่ (สิบหฺ อะซีม) คือการเชือดพลีของคนนับพันล้านที่รำลึกถึงแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวนี้ตลอดพันสี่ร้อยปีที่ผ่านมา แนวทางอื่นๆที่อ้างว่าดำเนินตามท่านนบีอิบรอฮีมได้หลงลืมแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวนี้ แต่เราในฐานะมุสลิมได้รักษามาตลอดอย่างต่อเนื่อง เราต้องรักษาแบบอย่างนี้และจะต้องไม่ลืมมันเป็นอันขาด
.
จะไม่มีการใช้บางสิ่งแทนการเชือดพลี (อุฎฮิยะฮฺ) อย่างไรก็ตาม หากว่าบุคคลหนึ่งต้องการเชือดพลีแบบสมัครใจ (นัฟลฺ) ในนามของตัวเอง พ่อแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วหรือญาติคนอื่นๆ เขาจะมีสิทธิเลือกที่จะทำ “อุฎฮิยะฮฺ” (การเชือดพลี) หรือมอบเงินมูลค่าเท่ากับสัตว์ที่จะเชือดเป็นการบริจาค

เนื้อของอุฎฮิยะฮฺจะถูกแบ่งเป็นสามส่วนเท่าๆกัน ส่วนหนึ่งสำหรับตัวเองและครอบครัว ส่วนหนึ่งสำหรับมิตรสหาย และอีกส่วนหนึ่งสำหรับคนยากคนจนและคนขัดสน หากว่าคนจนมีมาก ดังนั้น จึงเป็นการดีที่จะมอบเนื้อทั้งหมดเป็นการบริจาคให้แก่คนจนและคนขัดสน ซึ่งในอเมริการและแคนนาดานั้นพวกเราอาจไม่ได้ขัดสนมากนัก แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่คนขัดสนไม่สามารถหาเนื้อมาบริโภคได้ บางทีเป็นการดีเสียยิ่งกว่าสำหรับเราในอเมริกาหากว่ามอบเงินให้กับองค์กรเยียวยาต่างๆที่เชื่อถือได้ในการทำอุฎฮิยะฮฺโดยเป็นตัวแทนของเราและทำการแจกจ่ายเนื้อในหมู่คนยากคนจนและคนขัดสนในประเทศที่ยากจนและในประเทศที่ผู้คนกำลังประสบกับภาวะสงคราม ปัญหาเศรษฐกิจหรือหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ

อัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรู้ดียิ่ง

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Dr. Muzammil H. Siddiqi

#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“อาหารที่มีลาโนลิน (lanolin) ผสมอยู่ทานได้หรือไม่”

:: [คำถาม] ::
ลาโนลิน (ไขมันธรรมชาติจากขนแกะ) ฮาลาลหรือหะรอม เนื่องจากมันเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเครื่องดื่มที่ผมได้ดื่ม ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
ลาโนลิน คือสารที่เป็นน้ำมันสีเหลืองซึ่งสกัดมาจากน้ำมันหล่อเลี้ยงบนขนแกะ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าขี้ผึ้งขนแกะ (wool wax หรือ wool grease)

ไม่มีความผิดบาปแต่ประการใดในการบริโภคอาหารที่มีลาโนลินเมื่อมันสกัดมาจากขนแกะ หากว่าแกะนั้นได้ถูกเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม กรณีนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจน เพราะถือว่าสัตว์ตัวนั้นสะอาดสามารถรับประทานเนื้อของมันได้ เช่นเดียวกับขนของมันหรือส่วนอื่นๆถือว่าสะอาดไม่ใช่นญิส (สิ่งสกปรก)

ส่วนกรณีที่เป็นขนแกะซึ่งได้มาขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม กรณีนี้ความเห็นที่ถูกต้องของนักวิชาการถือว่าขนของมันสะอาด (ไม่ใช่นญิสหรือซากสัตว์) แม้ว่าจะไม่ได้รับการเชือดตามหลักการที่กล่าวมาก็ตาม

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า ขนทุกชนิด ขนนก ขนอูฐ ขนแกะนั้นถือว่าเป็นสิ่งสะอาด ไม่ว่าจะมาจากหนังสัตว์ที่กินได้หรือจากสัตว์ที่กินไม่ได้ ไม่ว่ามันจะมาจากสัตว์ที่เชือดแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักจากความเห็นของผู้รู้ (มัจญมูอ อัลฟะตาวา 21/38)

แม้ว่าจะมีความเห็นที่กล่าวว่า ขนสัตว์และผมโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นสิ่งนญิส หากนำมาจากสัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามหลักการอิสลาม แต่ลาโนลีนนี้เป็นสารสกัดที่ได้จากขนแกะ ดังนั้นมันจึงต่างกับการนำมาจากสิ่งนญิส นอกจากนั้นแล้วมันยังเป็นสารตัวใหม่ ซึ่งถือว่าผ่านกระบวนการอิสติฮาละฮ์ จึงถือว่าสะอาดและฮาลาล

วัลลอฮูอาลัม อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Islamqa.Info

“สูบกัญชาคลายเครียด”

:: [คำถาม] ::
การสูบกัญชาเป็นครั้งคราวเช่นเมื่อรู้สึกเครียดจะทำได้หรือไม่

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
กัญชาเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าจะเรียกในชื่อกัญชา มารีฮวนนา หรือชื่ออื่น ๆ ก็ตาม 

อิบนุ ฮะญัร อัลหัยตะมี กล่าวไว้ในหนังสือ ฟะตาวา อัลฟิกฮิยฺยะฮ์ (4/233) ท่านได้พูดเกี่ยวถึงกับกัญชาไว้ดังนี้ 

หลักฐานสำหรับการห้ามปรากฏในรายงานจากอิมามอะหมัดใน มุสนัดของท่าน และจากอบูดาวุดใน สุนันของท่านด้วยสายรายงานที่เชื่อถือได้จาก อุมมุสะลามะฮ์ (ขออัลลอฮทรงพึงพอใจเขา) กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตได้ห้ามทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาและขาดสติ” นักวิชาการอิสลามกล่าวว่าการขาดสติคืออาการง่วงนอนและแขนขาเฉื่อยชา หะดีษนี้เป็นการบ่งชี้ว่ากัญชาเป็นสิ่งที่หะรอม เพราะมันทำให้มึนเมาและเคลิบเคลิ้มขาดสติ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่สูบกัญชาถึงนอนมาก อัลเกาะรอฟีและอิบนุตัยมิยะฮ์รายงานว่ามีมติเอกฉันท์ว่ามันหะรอมและกล่าวด้วยว่าใครก็ตามที่ถือว่าหะลาลแน่แท้เขาได้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศาสนา ท่านกล่าวว่า เหตุผลที่อิมามมัซฮับทั้งสี่ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาพวกเขา) มิได้กล่าวถึงมัน ก็เนื่องมาจากในยุคของพวกเขากัญชายังไม่เป็นที่รู้จัก แต่มันปรากฏขึ้นในโลกมุสลิมเมื่อตอนท้ายของศตวรรษที่หกและช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่เจ็ดเมื่อรัฐของพวกตาร์ตาร์ปรากฏขึ้นมา

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวไว้ในฟะตาวา อัลกุบรอ (3/425) ว่า การสูบกัญชาเป็นสิ่งที่หะรอมอย่างชัดเจน และนับเป็นพืชหะรอมที่เลวร้ายที่สุด ไม่ว่าจะบริโภคมันเพียงเล็กน้อยหรือมากก็ตาม

การบริโภคสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้ามไม่ว่าพวกเขาจะบริโภคในรูปแบบใดก็ตาม 

อัลอัลลามะฮฺ อิบนุกอศิม อัชชาฟิอีย์ กล่าวว่า สิ่งที่หมายถึงการดื่มคือการบริโภค ไม่ว่ามันจะเป็นการดื่มหรือบริโภคในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นมติเอกฉันท์ว่าต้องห้ามหรือมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ว่ามันจะเป็นของแข็ง ของเหลว ดิบ ๆ หรือมีการปรุง 

ชะรีอะฮ์ห้ามการบริโภคยาเสพติดและสิ่งมึนเมาเนื่องมันเป็นอันตรายต่อ ความคิด สติปัญญา จิตวิญญาณ ครอบครัวและสังคมโดยรวม 

สำหรับความเครียดและความวิตกกังวล ท่านจงมั่นใจเถิดว่ามันไม่อาจบำบัดได้ด้วยการสูบกัญชาและบริโภคสิ่งหะรอมอื่นๆ อัลลอฮฺไม่ทรงวางการบำบัดให้แก่ประชาชาตินี้ในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้ ในหะดีษที่บันทึกโดยมุสลิม (3670) ฏอริก บินสุวัยด์ อัลญุอฟีได้ถามท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เกี่ยวกับเหล้า ท่านนบีได้ห้ามไว้และห้ามไม่ให้ผลิต เขากล่าวว่า “แต่ฉันผลิตมาเพื่อเป็นยารักษา” ท่านนบีตอบว่า “แท้จริง มันไม่ใช่ยา แต่มันคือโรค”

หากท่านต้องการกำจัดความวิตกกังวล เราขอแนะนำท่านด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1. ดุอาขอการอภัยโทษด้วยด้วยความตระหนัก
2. อาบน้ำละหมาดและละหมาด เพราะสิ่งนี้เป็นวิธีการที่สำคัญที่ช่วยคนหนึ่งให้มีความอดทนในการรับมือกับตวามยุ่งยากและปัดเป่าความวิตกกังวล 
3. การรำลึกถึงอัลลอฮฺให้มาก ๆ เพราะนี่เป็นวิธีการที่มั่นใจได้ว่าบรรลุถึงสันติและความสงบ
4. เศาะลาวาตให้แก่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มาก ๆ ในสุนันอัตติร์มิซีย์ (2381) เล่าว่า อุบัยย์ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) กล่าวว่า “ฉันกล่าวว่า โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันได้กล่าวเศาะละวาตให้แก่ท่านเป็นอย่างมาก ดังนั้นจะให้ฉันทำการดุอาอฺแก่ท่านเท่าไหร่ดี?” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ตอบว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด” อุบัยย์กล่าวว่า “ฉันกล่าวว่า หนึ่งในสี่ (ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันได้ขอดุอาอฺ) ” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตอบว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิดแต่ถ้าหากท่านเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน” ฉันจึงกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็ครึ่งหนึ่ง (ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันขอดุอาอฺ)” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “จงทำตามที่ท่านต้องการเถิด หากท่านกระทำเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน” ฉันกล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นก็สองในสาม (ของช่วงเวลาทั้งหมดที่ฉันได้ขอดุอาอฺ)” ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าว “ท่านจงทำตามที่ท่านปรารถนาเถิด หากท่านกระทำเพิ่มขึ้นอีก ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งสำหรับท่าน” ฉันกล่าวว่า “ฉันจะทุ่มเทการดุอาอฺ (หรือการศ่อละวาต) ของฉันในช่วงเวลาทั้งหมดนั้นมีให้แด่ท่าน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ในขณะนั้นท่านจะถูกปลดเปลื้องความโศกเศร้าและบาปของท่านจะได้รับการอภัยโทษให้ (อัลอัลบานีย์ระบุว่าเป็นหะดีษที่ดี (หะสัน))

นอกจากนี้แล้วทางเลือกหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงความเครียดความกังวลเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด หากว่าเป็นความเครียดความกังวลเกี่ยวกับอนาคต เช่น จะใช้ชีวิตอย่างไร ท่านจะต้องคิดต่ออัลลอฮฺในแง่บวกและไว้วางใจต่อพระองค์อย่างบริสุทธิ์ใจ พระองค์ตรัสไว้มีความหมายว่า

“และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” [อัฏเฏาะลาก 65:3] 

ขออัลลอฮฺโปรดทรงช่วยเหลือพวกเราให้ทำความดีด้วยความง่ายดาย
…………………………………………………………….

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา :Islamqa.Info

“ปัญหาเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารในร้านอาหาร”

:: [คำถาม] ::
เป็นที่อนุมัติหรือไม่ที่จะรับประทานแซนด์วิชในร้านที่คาดว่าพนักงานเปลี่ยนถุงมือใหม่กับลูกค้าแต่ละคน แม้ว่าคนงานอาจไม่ได้ทำเช่นนั้นและอาจมีการปนเปื้อนของส่วนผสมที่ไม่ฮาลาลในส่วนผสมฮาลาล คน ๆ หนึ่งจะบาปหรือไม่หากว่าพวกเขารับประทานอาหารในสถานที่เช่นนี้?

:: [คำตอบ] ::
ความจริงแล้ว การที่คนงานไม่ได้เปลี่ยนถุงมือนั้นไม่ได้ทำให้อาหารกลายเป็นหะรอม เพียงแค่การสงสัยว่าอาหารอาจปนกับวัตถุดิบที่ไม่ฮาลาลซึ่งไม่สามารถกล่าวได้ว่าอาหารนั้นต้องห้าม

อย่างไรก็ตาม ถ้าร้านอาหารนี้ใช้ส่วนผสมที่ไม่ฮาลาลในอาหารเป็นปกติ ฉะนั้นคนหนึ่งต้องถามเกี่ยวกับส่วนผสมของอาหารเพื่อให้มีความแน่ใจว่ามันมิได้ปะปนกับส่วนผสมที่ไม่ฮาลาล

ชัยคฺ อิบนุ อุษัยมีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ “ตราบใดที่เราทราบว่าอาหารทอดด้วยกับน้ำมันที่ไม่บริสุทธิ์ เช่น น้ำมันที่ได้จากสัตว์ที่ตายเองหรือสุกร ฉะนั้นเราจะต้องถามเพื่อให้แน่ใจ อย่างไรก็ตามหากเราไม่ทราบว่าอาหารทั้งหมดทอดกับน้ำมันที่ไม่บริสุทธิ์หรือส่วนผสมอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นอันใดที่จะต้องสอบถาม”

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

“อุฎฮียะฮฺหรือการบริจาคกับมุสลิมที่ประสบภัยพิบัติ?”

:: [คำถาม] ::
อัสลามุอะลัยกุม ย่อมจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ที่จะมอบเนื้อกุรบ่านหรือบริจาคเงินให้กับพื้นที่ที่เกิดในภัยพิบัติในดินแดนของมุสลิม?

:: [คำตอบ] ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณาปรานีเสมอ
การสรรเสริญทั้งหมดเป็นของอัลลอฮฺและขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่านเราะซูลของพระองค์

แด่พี่น้องที่รัก ขอขอบคุณสำหรับคำถามของท่านและความเห็นใจของท่านที่มีต่องพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบภัยพิบัติทั่วโลก

ผู้ที่จะมาตอบคำถามของท่านคือ ดร. มัสอูด ศอบรีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชะรีอะฮฺอิสลามและนักวิจัยของกระทรวงเอากอฟประเทศคูเวต ท่านกล่าวว่า

หากว่ามุสลิมมีฐานะที่ร่ำรวย ย่อมจะเป็นการดีกว่าที่จะทำกุรบาน (สัตว์เชือดพลี) พร้อมๆกับบริจาคให้กับพี่น้องมุสลิมที่กำลังประสบจากภัยพิบัติเช่นมุสลิมในซีเรีย พม่า เยเมน โซมาเลียและมุสลิมในที่อื่นๆ อย่างไรก็ตามหากมุสลิมสามารถปฎิบัติได้เพียงอย่างเดียวจากทางเลือกทั้งสองนี้ ดังนั้นประเด็นนี้จำเป็นต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ประการแรก ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมอบเนื้อกุรบ่านไปยังภูมิภาคที่ประสบภัยพิบัติ ในกรณีที่พื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนอาหารและ วิธีนี้จะเป็นการนำจุดประสงค์สองอย่างมารวมกันคือการประกอบพิธีทางศาสนากับการตอบสนองความต้องการของพี่น้องที่ประสบกับหายนะ …

ประการที่สอง หากพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติไม่มีความจำเป็นต้องบริโภคเนื้อกุรบ่านแต่มีความจำเป็นต้องใช้สิ่งของอย่างอื่นมากกว่า ดังนั้น กฎเกณฑ์จึงมีสองส่วนคือการทำกุรบ่านกับการบริจาคสิ่งของหรือเงินทองไปยังพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับการทำกรุบ่านนั้นเป็นสุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง ตามความเห็นของอุลามาอฺส่วนใหญ่ รวมไปถึงมัซฮับชะฟีอีย์และหัมบาลีย์ เป็นทรรศนะที่มีน้ำหนักมากกว่าสองทรรศนะที่รายงานจากอิหม่าม มาลิก และหนึ่งในสองทรรศนะที่รายงานจากอบู ยูสุฟ นี่คือทรรศนะของอบู บักรฺด้วยเช่นเดียวกัน อุมัร บิลาล อบู มัสอูด อัล-บัดรียฺ สุวัยดฺ บิน ฆ็อฟละฮฺ สะอีด อิบนุ มุซัยยิบ อะฏอ อัล-กอมะฮฺ อัล-อัสวัฎ อิสหาก อบู เซาวรฺ และ อิบนุ อัล-มุนซิร

หลักฐานที่สนับสนุนพวกเขาครอบคลุมถึงคำพูดของท่านนบีที่ว่า “เมื่อ 10 วัน(แห่งเดือนซุลหิจญะฮฺ)เริ่มต้นขึ้นนและคนหนึ่งในหมู่พวกท่านตั้งใจที่จะทำกุรบ่าน ดังนั้นเขาจะต้องไม่ตัดผมหรือตัดเล็บ” (รายงานโดย มุสลิม) ตรงนี้ ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ได้ทำกุรบ่านเพราะท่านตั้งใจจะกระทำเช่นนั้น

หลักฐานอื่น ๆ ได้แก่การที่อบู บักรและอุมัร (รดิยัลลอฮุ อันฮุมา) ได้ละเว้นจากการทำกุรบ่านเป็นเวลา 1-2 ปีเพื่อมิให้ผู้คนเห็นว่าเป็นการปฏิบัติในเชิงบังคับ

อย่างไรก็ตาม ทรรศนะทีสองเห็นว่าการทำกุรบ่านคือ ข้อบังคับ ทรรศนะนี้ได้รับการสนับสนุนโดย อบู หะนีฟะฮฺและสานุศิษย์ มีรายงานจากท่านอิหม่าม มาลิก เราะบีอะฮฺ อัร-เราะยฺ อัล-ลัยษ์ อิบนุ อัล-เอาซาอีย์ และ อัษ-เษารีย์ ในการสนับสนนุทรรศนะของพวกเขา พวกเขาอ้างอายะฮฺอัล-กุรอานที่ว่า “ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” สูเราะฮฺ อัล-เกาซัร อายะฮฺที่ 2 เนื่องจากเป็นคำบัญชาในอายะฮฺนี้เป็นการชี้ว่ามันเป็นข้อบังคับ

พวกเขาอ้างคำพูดของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม “ใครก็ตามที่มีความสามารถในการเชือดพลีแต่ไม่ทำการเชือด ดังนั้นอย่าได้เข้าใกล้สถานที่ละหมาดของฉัน” (อิบนุ มาญะฮฺ) คำเตือนนี้แสดงให้เห็นว่าเป็นข้อบังคับอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาได้นำหลักฐานมาจากคำพูดของนบีว่า “ใครก็ตามที่ได้ทำการเชือดกุรบ่านก่อนละหมาด (อีด อัฎฮา) จะต้องเชือดแพะในสถานที่ของมันและใครก็ตามที่ไม่ได้ทำการเชือดกุรบ่าน ดังนั้นจงเชือดมันด้วยพระนามของอัลลอฮ์เถิด” (รายงานโดย อิหม่าม มุสลิม)

ในที่นี้ คำสั่งให้เชือดสัตว์พลีอื่นแทนการเชือดกุรบ่านในช่วงเวลาที่เลยกำหนดเพื่อชี้ให้เห็นว่ากฎเกณฑ์ขั้นต่ำสุดคือเป็นสิ่งบังคับ

ทรรศนะที่มีน้ำหนักกว่าคือทรรศนะที่กล่าวว่าการเชือดกุรบ่านนั้นเป็นสุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำอย่างยิ่ง ดังนั้นใครก็ตามที่สามารถจะปฏิบัติแต่ไม่ปฏิบัติมันจะขัดแย้งกับแนวทางของนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม แม้ว่ามันจะไม่เป็นข้อบังคับก็ตาม สำหรับอบู บักรฺและท่านอุมัรได้งดเว้นการเชือดพลีถือว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นข้อบังคับ เป็นที่ทราบกันดีว่าการปฏิบัติของพวกเขานั้นมีความเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นเอกฉันท์และทรรศนะของพวกเขานั้นเป็นแหล่งอ้างอิงหลักฐานสำหรับอุลามาอ์ (ผู้รู้) ส่วนใหญ่ …

สำหรับการบริจาคไปยังพื้นที่ที่ประสบกับภัยพิบัติ ย่อมเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ที่มีความสามารถ โดยพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัตินั้นมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับการบริจาค เรื่องนี้ถูกวางอยู่ในหะดีษที่รายงานโดยท่านหญิง อาอิชะฮฺ (รดิยัลลอฮุ อันฮา) ว่า ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “แท้จริงมีสิทธิหนึ่งจากทรัพย์สินนอกเหนือจากซะกาต” และท่านได้อ่านอายะฮฺอัล-กุรอานดังต่อไปนี้ “หาใช่คุณธรรมไม่ การที่พวกเจ้าผินหน้าของพวกเจ้าไปทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกแต่ทว่าคุณธรรมนั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และวันปรโลก และศรัทธาต่อมลาอิกะฮ์ ต่อบรรดาคัมภีร์และนะบีทั้งหลาย และบริจาคทรัพย์ทั้งๆ ที่มีความรักในทรัพย์นั้น แก่บรรดาญาติที่สนิทและบรรดาเด็กกำพร้า และแก่บรรดาผู้ยากจนและผู้ที่อยู่ในการเดินทาง และบรรดาผู้ที่มาขอและบริจาคในการไถ่ทาส และเขาได้ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด และชำระซะกาต และ (คุณธรรมนั้น) คือบรรดาผู้ที่รักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อพวกเขาได้สัญญาไว้ และบรรดาผู้ที่อดทนไนความทุกข์ยาก และในความเดือดร้อน แลละขณะต่อสู่ในสมรภูมิ ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่พูดจริง และชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่มีความยำเกรง” สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 177 (รายงานโดย อัต-ติรมีซียฺ)

การบริจาคเช่นนี้อาจเป็นเรื่องที่ส่งเสริมให้กระทำ เมื่อเขาไม่มีความสามารถพอหรือมีพื้นที่เกิดภัยพิบัติที่ไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงและเป็นอันตรายหรือมีคนอื่นที่เตรียมสิ่งที่ของบริจาคไว้แล้ว …

ซึ่งฉันคิดว่าทรรศนะที่มีน้ำหนักกว่าคือการเชือดสัตว์พลีเพื่อการบริจาคมีความเหมาะสมกว่าการมอบเงิน ในกรณีที่พื้นที่ที่ประสบกับภัยพิบัตินั้นมีความจำเป็นในเรื่องอาหาร เนื่องจากสิ่งนี้เป็นการรวมจุดประสงค์ 2 อย่างเข้าด้วยกัน คือการปฏิบัติตามคำสั่งของท่านนบีในการเชือดสัตว์พลีในฐานะหลักการกับการปฏิบัติเพื่อเติมเต็มความต้องการจากพื้นที่ประสบภัย

อย่างไรก็ตาม หากว่าพื้นที่ภัยพิบัตินั้นมีความจำเป็นสำหรับสิ่งอื่นนอกเหนือจากอาหาร ดังนั้น ไม่นับว่าเป็นความเสียหายใด ๆ ที่จะมอบเงินเป็นค่าเชือดสัตว์พลีกับพวกเขา ซึ่งทรรศนะนี้แสดงให้เห็นว่าการเชือดสัตว์พลีนั้นไม่เป็นข้อบังคับแต่มันเป็นสุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้กระทำ ตามทรรศนะที่มีน้ำหนักและในหลักการที่ว่าการปฏิบัติบนความจำเป็นของพื้นที่ภัยพิบัติในช่วงเวลาเช่นนี้ถือว่าเป็นข้อบังคับ

สุดท้าย มุสลิมควรจะมอบเงินบริจาคเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ ตะอาลา เนื่องจากว่าสิ่งนี้จะเป็นการสนับสนุนในเรื่องความเป็นพี่น้อง เพราะจะเป็นการปกป้องและเพิ่มพูนทรัพย์สินของผู้บริจาค นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินของผู้บริจาคเพื่อประชาชาติอิสลามและเพื่อทำให้ได้รับรางวัลตอบแทนแก่ผู้บริจาคในวันแห่งการสอบสวน ….

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

“สัตว์ที่หะลาลกินซากสัตว์ตาย เนื้อของมันจะยังหะลาลหรือไม่ ?”

:: คำถาม ::
เป็นเรื่องที่หะลาลในการรับประทานไก่และมันเป็นเรื่องหะรอมในการรับประทานสัตว์ที่กินเนื้อสัตว์อื่นเป็นอาหาร มุสลิมสามารถบริโภคไก่ที่กินลูกของมันเองที่ตายแล้วหรือแพะที่กระทำเช่นเดียวกันนี้ได้หรือไม่?

:: คำตอบ ::
การสรรเสริญทั้งมวลเป็นกรรมสิทธิ์แด่อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีสิ่งใดที่คู่ควรแก่การเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺและมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเป็นบ่าวและเป็นศาสนทูตของพระองค์

เป็นเรื่องที่อนุมัติตามหลักการที่จะรับประทานเนื้อของสัตว์ เช่น วัว ควาย นก และไก่ และอื่น ๆ ยกเว้นสัตว์ที่ฟันมีเขี้ยว (และนกที่มีกรงเล็บ) อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“อัลลอฮฺคือผู้ทรงทำปศุสัตว์บางชนิดให้พวกเจ้าเพื่อใช้เป็นพาหนะ และบางชนิด เพื่อให้พวกเจ้าใช้กิน”
(อัลกุรอาน สเราะฮฺ ฆอฟิร อายะฮฺที่ 79) 

ยิ่งไปกว่านั้น อบู มูซา อัล อัชอารียฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “ฉันเห็นท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม รับประทานไก่” รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ

อย่างไรก็ตาม หากว่าวัวควายหรือไก่ถูกให้อาหารด้วยสิ่งสกปรกโสมม (นะญิส) เช่น ซากสัตว์ที่ตายแล้วและอุจาระ โดยที่สิ่งนี้มิได้เป็นอาหารที่จำเป็นพื้นฐานของมัน และสภาพเนื้อของมันมิได้เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกินของที่สกปรก ดังนั้นถือว่าเป็นที่อนุมัติที่จะรับประทานเนื้อของมัน อย่างไรก็ตาม หากรสชาติเนื้อของสัตว์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงเนื่องจากการกินของสกปรก หรือมันกินของสกปรกโดยส่วนมาก ดังนั้นสัตว์เหล่านี้จะเป็นดั่งที่ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่าเป็นเนื้อที่ตายและท่านได้ห้ามเราในการรับประทานเนื้อของมันหรือดื่มจากนมของมัน อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า

“ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ห้ามเรารับประทานหรือดื่มนมจากสัตว์ที่รับประทานสิ่งสปรกและสัตว์ที่ตายแล้ว” อัต-ติรมีซียฺ

ด้วยเหตุนี้เอง หากว่าไก่และแพะที่ท่านถามเกี่ยวกับการที่มันกินซากสัตว์ที่ตายเป็นประจำ ฉะนั้นถือว่ามันเป็นที่ต้องห้ามที่จะรับประทานเนื้อของมันนอกจากว่าจะมันจะกินอาหารที่ดีบริสุทธิ์ที่จะทำให้มันมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หรือการที่มันห่างไกลจากการรับประทานสิ่งที่สกปรกโสมม (นะญิส) จนกว่าผลกระทบจากสิ่งสกปรก (นะญิส) จะหมดไป มีหลักฐานจากท่านอิบนุ อบู ชัยบะฮฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ รายงานว่า ท่าน อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เคยกักกันสัตว์จากการกินอาหารเหล่านี้เป็นเวลา 3 วัน

อัลลอฮฺ เท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

……………………………………………………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
อ้างอิงจาก Islamweb.net

“สัตว์ชนิดใดบ้างที่เป็นสัตว์ดีที่สุดในการทำอุฎฮียะฮ์ (เชือดกุรบาน)”

:: คำถาม ::
สัตว์ชนิดใดที่ถือว่าดีที่สุดหากจะทำอุฎฮียะฮ์ (กรุบาน) ระหว่าง อูฐ แกะหรือปศุสัตว์ ?

:: คำตอบ ::
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงกรุณา

มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ ขอความสันติและความเมตตาจงมีแด่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม)

ถึงท่านที่ตั้งคำถาม ทางเราต้องขอบคุณเป็นอย่างยิ่งสำหรับความไว้วางใจที่ท่านมีต่อพวกเราในการช่วยค้นหาคำตอบ เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้ทรงโปรดช่วยเหลือพวกเราในการรับใช้พระองค์และทำให้การงานของเรามีความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์

การที่มุสลิมเชือดสัตว์ในช่วงอีดอัฎฮานั้นเป็นการดำเนินตามแบบอย่างที่นบีอิบรอฮีมที่ได้ปฏิบัติไว้ในการเชือดลูกชายตัวเองอิสมาอีลเพื่อแสดงถึงการยอมจำนนและเชื่อฟังต่ออัลลอฮฺ อย่างไรก็ตาม อิสมาอีลได้รับการไถ่ตัวได้ด้วยแกะซึ่งมลาอิกะฮ์ญิบรีลนำมามอบให้แก่ ส่วนการเชือดสัตว์กุรบานนั้นมีเงื่อนไขหลายประการที่ต้องใส่ใจเช่นสัตว์ตัวนั้นจะต้องอยู่ในสภาพหรือลักษณะที่ดีและเชือดด้วยวิธีการที่ดีที่สุด

สัตว์ที่ดีที่สุดในการทำอุฎฮียะฮฺคืออูฐ ต่อมา คือ ปศุสัตว์ (เช่น วัว ควาย) หากเชือดในนามของคนคนเดียว ดังนั้นที่ดีคือ แกะ จากนั้นแพะจากนั้นหนึ่งในเจ็ดของอูฐ จากนั้นหนึ่งในเจ็ดของปศุสัตว์ สัตว์ที่ดีที่สุดคือสัตว์ที่อ้วนท้วนสมบูรณ์มีเนื้อมาก มีร่างกายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ไม่พิการ รูปร่างสวยงามไม่มีตำหนิ

มีรายงานจากอนัส บินมาลิก (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) เล่าว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เคยเชือดกุรบานด้วยแกะสองตัวมีเขาโดยมีสีขาวเทา

มีรายงานจากอบูสะอีด อัลคุดรี (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) กล่าวว่า “ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เชือดแกะตัวผู้ที่มีเขาที่สมบูรณ์ (ไม่ถูกตอน) ซึ่งมีหน้าดำและขอบตาดำรวมทั้งขาดำ”

มีรายงานจากอบูรอฟิอ์ ทาสที่ได้รับการปล่อยตัวของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) กล่าวว่า “เมื่อท่านนบีจะทำกุรบ่าน ท่านมักจะซื้อแกะตัวผู้สองตัวที่อ้วนท้วน” ในบางรายงานกล่าวว่า “แกะที่ถูกตอน” (อะหมัด)

คำว่าอ้วนหมายถึงสัตว์ที่มีไขมันและเนื้ออยู่มาก สัตว์ถูกตอนหมายถึงสัตว์ที่ถูกตัดอัณฑะออกไป ซึ่งถือว่าดีกว่าสัตว์ที่ไม่ได้ตอนในเรื่องของรสชาติของเนื้อ แต่สัตว์ที่ไม่ถูกตอนถือว่ามีสัมผัสร่างกายที่สมบูรณ์กว่า ซึ่งถือว่าดีกว่าในการทำกุรบานหากมองในแง่ของรูปลักษณ์ของมัน

ต่อไปนี้ถือว่าเป็นสิ่งทีมักรูฮ (น่ารังเกียจแต่อนุญาต)
1. หูหรือเขาแหว่งไปครึ่งหนึ่ง
2. ต้นหูถูกตัดแต่ไม่ขาดและห้อยลงมาข้างหน้า
3. ต้นหูถูกตัดแต่ไม่ขาดและห้อยลงไปด้านหลัง
4. สัตว์ที่ใบหูฉีกขาดเป็นทางยาว
5. สัตว์ที่ใบหูมีรูหรือถูกเจาะเป็นวงกลม
6. สัตว์ที่ใบหูถูกตัดจนเห็นรูหูหรือผอมแห้งจนไม่มีไขกระดูก
7. เขาที่หายไปทั้งหมด
8. ตาบอดโดยสมบูรณ์โดยที่ตายังปรากฏอยู่
9. หลงฝูงหรือไม่ได้อยู่กับฝูงเว้นไว้จะมีการต้อน

สัตว์เหล่านี้ถือว่าน่ารังเกียจที่จะเชือดทำกุรบาน ดังรายงานจากหะดิษที่ห้ามเชือดสัตว์เหล่านี้ ซึ่งมีข้อตำหนิต่างๆที่กล่าวมาหรือให้หลีกเลี่ยงสัตว์ดังกล่าว ซึ่งตีความได้ว่าเป็นสิ่งมักรูฮฺ เมื่อนำหะดิษมาเปรียบเทียบกับหะดีษของอัลบัรฺรออ์ อิบนุอาซิบ (ขออัลลอฮฺทรงพึงพอใจท่าน) ซีงกล่าวว่า “มีผู้ถามนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ว่า “สิ่งใดที่ควรหลีกเลี่ยงในการทำกุรบานสัตว์” ท่านให้สัญญาณมือและกล่าวว่า “สี่ประเภท สัตว์พิการที่พิการอย่างชัดเจน สัตว์ที่ตาข้างหนึ่งบอดซึ่งสังเกตเห็นได้ชัด สัตว์ป่วยที่เห็นอาการป่วยอย่างชัดเจน และสัตว์ที่ผอมแห้งจนไม่มีใครเลือก” (รายงานโดย มาลิกในมุวัฏเฏาะอ์)

สัตว์ที่มีความบกพร่องคล้ายกันนี้เป็นที่น่ารังเกียจเช่นเดียวกันที่จะนำมาเชือดกุรบาน ได้แก่
1. อูฐ ปศุสัตว์และแพะที่หางถูกตัดครึ่งหรือมากกว่าครึ่ง
2. หางขาดไปบางส่วนถือว่าน่ารังเกียจแต่หากขาดมากกว่าครึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ถือว่าไม่สมควรทำกุรบาน แต่หากวาไม่มีหางตั้งแต่เกิดถือว่าไปความผิดแต่อย่างใด
3. สัตว์ที่อวัยวะเพศถูกตัดออกไป
4. สัตว์ทีฟันบางส่วนหายไปไม่ว่าจะเป็นฟันหน้าหรือฟันกราม แต่หากมันเกิดมาเช่นนั้นไม่ถือว่าเป็นมักรูฮฺ
5. สัตว์ที่หัวนมถูกตัดออกไป แต่หากมันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่เกิดถือว่าไม่ได้มักรูฮฺที่จะทำกุรบาน แต่ถ้าหากน้ำนมไม่ไหลโดยที่หัวนมยังทำงานได้ตามปกติ ไม่ถือว่าเสียหายแต่อย่างใด

หากทั้งห้าลักษณะนำไปนับรวมกับเก้าข้อข้างตัน ลักษณะของสัตว์ที่มักรูฮฺจึงมีด้วยกันสิบสี่ประการ

อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

“เราจะแบ่งเนื้อกุรบ่านอย่างไร ?”

:: คำถาม ::
ชัยคฺครับ เราจะแบ่งเนื้อกุรบ่านกันอย่างไรครับ ?

:: คำตอบ ::
มุสลิมจะทำการเชือดพลีในช่วงอีดอัฎฮาซึ่งเป็นการดำเนินตามแบบอย่างของท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสลามผู้ซึ่งจะทำการเชือดลูกชายของท่านเองนั่นคือ นบีอิสมาอีล อะลัยฮิสลาม เพื่อเป็นการเชื่อฟังในคำบัญชาจากผู้เป็นเจ้า เมื่อท่านนบี อิสมาอีลถูกทดแทนด้วยการนำแกะหนึ่งตัวมาให้กับท่านนบีอิบรอฮีมโดยมะลาอิกะฮฺ ญิบรีล มะลาอิกะฮฺได้นำคำบัญชาจากอัลลอฮฺมาให้กับท่านนบีอิบรอฮีมโดยการเชือดแกะหนึ่งตัวเป็นการทดแทน

ซึ่งคำถามนี้จะตอบโดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด นักบรรยายและนักเขียนที่มีชื่อเสียงจากประเทศซาอุดิอารเบีย

คำสั่งในการที่จะมอบกรุบ่าน (การเชือดพลี) เป็นการบริจาคนั้นมีรายงานอยู่ในหะดีษเป็นจำนวนมากและอนุญาตที่จะรับประทานบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน

อิหม่ามบุคอรียฺและอิหม่ามมุสลิม รายงานว่า ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รดิยัลลอฮุ อันฮา กล่าวว่า “ในสมัยท่านนบี(ยังมีชีวิต)ได้มีอาหรับทะลทรายที่ยากจนค่อย ๆ เดินมุ่งไปยังที่เชือดกุรบานในช่วงอีดอัฎฮา ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “จงเก็บเนื้อเป็นเวลาสามวัน หลังจากนั้นส่วนที่เหลือจงแจกจ่ายเพื่อเป็นเศาะดาเกาะฮฺ” เมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้กล่าวว่า “โอ้ท่านเราะสูล มีคนจำนวนมากได้ทำถุงน้ำใส่น้ำและชำแหละเอาไขมันของมันออกไป ท่านนบีจึงถามว่า “ทำไมกัน” พวกเขากล่าวว่า “ท่านห้ามกินเนื้อสัตว์กุรบานเกินสามวัน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่านเพราะอาหรับทะเลทรายจำเป็นต้องได้รับบริโภคมัน แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค)”

อิหม่าม นะวาวียฺให้ข้อคิดในถ้อยคำที่ว่า “ก่อนหน้านี้ที่ฉันห้ามพวกท่าน” … “แต่ตอนนี้พวกท่านจงกิน จงเก็บไว้และจงแจกจ่าย (บริจาค)” ได้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การห้ามเก็บเนื้อกุรบ่านเกินสามวันจะไม่ถูกนำมาใช้อีกต่อไป ซึ่งรวมไปถึงคำสั่งให้กินและให้แจกจ่าย (บริจาค)

ส่วนเรื่องของสัดส่วนในการแบ่งอาหารเพื่อการบริจาคนั้น หากว่ามันเป็นการเชือดพลีโดยสมัครใจ ดังนั้น การแจกจ่ายเนื้อบางส่วนในการบริจาคนั้นเป็นความจำเป็น ตามทรรศนะที่มัซฮับชาฟีอียฺเห็นว่าถูกต้อง มันเป็นการดียิ่งกว่า (มุสตะฮับ) ในการแจกจ่ายเนื้อส่วนใหญ่ในการบริจาค นักวิชาการมัซฮับชาฟีอียฺกล่าวว่า อย่างน้อยต้องแบ่งหนึ่งในสามส่วนเพื่อรับประทาน หนึ่งในสามเพื่อมอบให้เป็นของขวัญ (ฮะดียะฮฺ) และอีกส่วนเป็นการบริจาคทาน มีทรรศนะอื่น ๆ ที่ให้แบ่งครึ่งหนึ่งไว้รับประทาน อีกครึ่งหนึ่งไว้บริจาคทาน ทรรศนะที่แตกต่างจากนี้คือ การจ่ายเงินย่อมดีกว่า สำหรับสิ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติ คือการที่คนหนึ่งอาจจะจ่ายเงินในการบริจาคซึ่งนับว่าเป็นการบริจาค แต่ยังคงมีทรรศนะอื่น ๆ ที่ไม่ได้จ่ายเงินในการบริจาคอีกเช่นกัน (ทรรศนะที่แตกต่างเหล่านี้เป็นเรื่องของจำนวนหรือสัดส่วนที่ที่ดีที่สุดที่จะแจกจ่าย สำหรับการเติมเต็มส่วนที่ต้องแจกจ่าย คนหนึ่งอาจบริจาคจำนวนเท่าใดก็ได้โดยถือว่าเป็นการบริจาค แต่ก็มีบางทรรศนะที่กล่าวว่าไม่ต้องแจกจ่ายแต่อย่างใด)

สำหรับการรับประทานเนื้อของมัน เป็นเพียงแค่มุสตะฮับ (ระดับของการส่งเสริมให้กระทำ) เท่านั้น ไม่ใช่วาญิบ (จำเป็น) ผู้รู้ส่วนมากจะตีความคำสั่งในการรับประทานมันนั้นตามอัล กุรอานที่กล่าวว่า

يَشْهَدُوا مَنَافِعَ لَهُمْ وَيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّـهِ فِي أَيَّامٍ مَّعْلُومَاتٍ عَلَىٰ مَا رَزَقَهُم مِّن بَهِيمَةِ الْأَنْعَامِ ۖ فَكُلُوا مِنْهَا وَأَطْعِمُوا الْبَائِسَ الْفَقِيرَ ﴿٢٨﴾

“เพื่อพวกเขาจะได้มาร่วมเป็นพยานในผลประโยชน์ของพวกเขา และกล่าวพระนามอัลลอฮฺในวันที่รู้กันอยู่แล้ว คือวันเชือด ตามที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาจากสัตว์สี่เท้า ดังนั้นพวกเจ้าจงกินเนื้อมัน และจงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 28

อิหม่าม มาลิก กล่าวว่า “ไม่มีการกำหนดสัดส่วนเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใดในส่วนที่จะรับประทาน แจกจ่ายในการบริจาค หรือให้อาหารแก่คนยากจนหรือคนมั่งมี โดยที่คนหนึ่งจะให้เนื้อที่ยังไม่ปรุงหรือปรุงเสร็จแล้วก็ได้”

ผู้รู้มัซฮับชะฟีอียฺกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่สมควรให้กระทำ (มุสตะฮับ) ในการแจกจ่ายให้มากที่สุดในการบริจาคและกล่าวอีกว่าอาจรับประทานเองอย่างน้อยต้องหนึ่งในสาม หนึ่งในสามแจกจ่ายในการบริจาค และอีกหนึ่งในสามเพื่อเป็นของขวัญ (ฮาดียะฮฺ) พวกเขากล่าวว่าเป็นเรื่องที่อนุมัติที่จะเก็บไว้รับประทานครึ่งหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าที่จะแจกจ่ายมันออกไปเพื่อการบริจาค

อิหม่าม อะหฺมัด กล่าวว่า “เราได้รับสายรายงานของอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) ว่าเขาจะต้องเก็บไว้รับประทานหนึ่งในสามส่วน ให้เป็นอาหารหนึ่งในสามส่วนกับใครก็ตามที่เขาต้องการ และแจกจ่ายอีกหนึ่งในสามเพื่อการบริจาค” นี่คือทรรศนะของอิบนุ มัสอูดและอิบนุ อุมัร เช่นเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏทรรศนะที่แตกต่างกันในหมู่บรรดาเศาะฮาบะฮฺในประเด็นนี้

ส่วนเหตุผลที่มีทรรศนะแตกต่างกันว่าจะแจกจ่ายเท่าไหร่นั้นเนื่องจากมีรายงานที่แตกต่างกัน บางรายงานมิได้กล่าวถึงจำนวนเงินเจาะจงลงไป เช่น การรายงานของ บุรอยเฎาะฮฺ (รฎิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ฉันเคยห้ามพวกท่านรับประทานเนื้อกุรบ่านเกินสามวัน จากนั้นจะต้องแจกจ่ายมันให้กับคนยากจน แต่ตอนนี้ท่านจงกินดั่งที่ท่านต้องการ จงให้อาหารแก่ผู้อื่นและจงกักเก็บไว้บางส่วน” (อัต ติรมีซียฺ) บรรดาผู้รู้จากบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และคนอื่น ๆ ก็ดำเนินตามมาตรฐานนี้

อัลลอฮฺเท่านั้นคือผู้ทรงรู้ดียิ่ง

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก www.islamqa.info by Mufti Sheikh Muhammad Saleh Al-Munajjid

#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี