อินโดนีเซียเล็งเป้าเพิ่มการท่องเที่ยวฮาลาลเป็น 45%

Halal Biz News : กระทรวงการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำการขับเคลื่อนสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งของอินโดนีเซียเพื่อหวังการติดอันดับท็อปของการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวฮาลาล  

อารีฟ ยะฮยา (Arief Yahya) รัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ณ กรุงจาการ์ตาที่ผ่านมา กล่าวว่า “เป้าหมายในปี 2019 คือการจัดอันดับประเทศอินโดนีเซียให้เป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมตามดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก (The Global Muslim Travel Index : GMTI)” 

กำหนดการประชุมเชิงปฏิบัติโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจาก Crescentrating.comและ HalalTrip.com ในการเร่งรัดการพัฒนาการท่องเที่ยวฮาลาล โดยมี 10 สถานที่ที่ได้รับการแนะนำให้พัฒนาประกอบด้วย เมืองอาเจะห์ หมู่เกาะเรียว สุมาตราตะวันตก กรุงจาร์กาตา ชวาตะวันตก ยอกยาการ์ตา ชวาตะวันออก ลอมบอกและสุลาเวสีใต้  

อารีฟ ยะฮยา ยังกล่าวอีกว่า การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียในปีนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 42 % จาก 3.5 ล้านคนเป็น 5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 25% ของเป้าหมายการท่องเที่ยว 20 ล้านคนในปีนี้ 

…………………………………………………
ที่มา : TEMPO.CO, Jakarta, HalalFocus.net

แนวทางการออมเงินแบบท่านนบีมูฮัมมัด (ซ.ล.)

สูตรการออมของท่านนบี ซ.ล. 
การออม/การประหยัด = การทำธุรกิจที่ดี +การใช้จ่ายอย่างพอเพียง 

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า เงินที่ฮาลาลเท่านั้นที่จะสามารถออมให้อยู่ยงคงกระพัน 

เราจึงควรเริ่มใส่ใจตั้งแต่แหล่งที่มาของรายได้ว่าจะต้องมาจากการทำธุรกิจที่บริสุทธิ์หรือการงานที่ถูกต้องตามหลักการ 

เงินหะรอมถือเป็นเรื่องยากในการที่จะมาลงทุน บทเรียนก็มีให้เห็นจากสื่อต่างๆ  เช่น เงินที่ทุจริตหรือเงินที่ไม่บริสุทธิ์ แน่นอนว่าไม่มีใครกล้าเก็บเงินนั้นไว้กับตัวเอง ต้องคอบหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งฝากญาติ ซุกเกาะ ฝังดิน เก็บใส่ถุง รอโจนมาเจอ โอ๊ย…แล้วจะมีเงินไปทำไม งง

สรุปเลยก็คือ ทรัพย์สินที่ฮาลาลเท่านั้นที่เราสามารถเก็บหรือสามารถนำมาลงทุน และการออมที่ดีคือการใช้จ่ายอย่างพอเพียง 

“อัลลอฮฺจะประทานความเมตตาให้กับคนที่พยายามทำในสิ่งที่ดี ใช้จ่ายเงินอย่างพอเพียง และสำรองส่วนที่เกินเพื่อสามารถนำมาใช้ในตอนที่ยากจนและใช้ในตอนที่จำเป็น” 

ข้อมูลตัดแปลงจาก B.Muslim 

ว่าด้วย โลกของการทำธุรกิจฮาลาล

BIHAPS Weekly EP. 01

สมัยนี้ ใคร ๆ ก็ทำธุรกิจฮาลาล ?
ธุรกิจฮาลาลทำแล้ว ได้กำไรงาม ?
ธุรกิจฮาลาล มีแต่เรื่องอาหาร จริงหรือไม่ ?
สถานการณ์ตลาดฮาลาลโลกในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
วิทยาศาสตร์ฮาลาล ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าฮาลาล จริงหรือ ?
เรามาหาคำตอบ จากบทความของ BIHAPS (Business Incubator Halal and Products Services) ในทุกๆ EP. กันค่ะ

………………………………………………..

เมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา หนึ่งในสมาชิก BIHAPS มีโอกาสได้ไปสัมผัสบรรยากาศการแสวงบุญ (อุมเราะฮ) ณ เมืองมาดีนะฮ และเมืองมักกะฮ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกมารวมตัวกันเพื่อแสวงบุญ และประกอบศาสนกิจ นอกฤดูกาลทำฮัจญ์ (ในเดือนซุลฮิจญะหฺ ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกำหนดไว้ ซึ่งศาสนกิจข้อนี้เป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิง ทุกคนที่มีความสามารถในด้านร่างกาย ทรัพย์สิน และการเดินทาง ที่จะต้องปฏิบัติ) และในการไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ครั้งแรกนี้ ทีมงานได้สัมผัสบรรยากาศกลิ่นอายความเป็นอารยธรรมอาหรับดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการค้าขายตั้งแต่อดีตกาล หรือที่รู้จักในนาม เส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นทางนี้เป็นที่ยอมรับกันว่ามรดกทางอารยธรรมของมนุษยชาติ ในฐานะเป็นเส้นทางโบราณในการติดต่อค้าขายและสื่อสารระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก เป็นชุดเส้นทางการส่งการค้าและวัฒนธรรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของอันตรกิริยาทางวัฒนธรรมผ่านภูมิภาคของทวีปเอเชียที่เชื่อมตะวันตกและตะวันออกโดยการโยงพ่อค้าวาณิช ผู้แสวงบุญ นักบวช ทหาร ชนเร่ร่อนและผู้อาศัยในเมืองจากจีนและอินเดียไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในช่วงเวลาหลายยุคสมัย

แน่นอนค่ะ การค้าที่นี่ คึกคักมาก ทั่วทุกหนแห่งมีการค้าขายสินค้า ทั้งในรูปแบบแบกะดิน ร้านขายของชำ จนถึงห้างสรรพสินค้าสูงเสียดฟ้า สินค้าทั้งจากในประเทศซาอุดีอาระเบีย และสินค้าฮาลาลจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้สด โดยเฉพาะอินทผาลัมที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ผ้าปูละหมาด ลูกประคำ สมุนไพร อาหารแห้ง และเครื่องดื่ม ฯลฯ
ลองคิดจินตนาการภาพบรรยากาศการค้าสมัยก่อน เมื่อพันกว่าปีที่ผ่านมา กว่าที่กองคาราวานสินค้า ที่มีอูฐ และม้า เป็นพาหนะใช้ในการขนส่ง กว่าจะเดินฝ่าทะเลทราย จากเมืองหนึ่ง ไปยังอีกเมืองหนึ่ง เป็นค้นพบสิ่งใหม่ๆ มันช่างน่าตื่นเต้นขนาดไหน?

ตัดภาพมาปัจจุบัน เราอยู่ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า การติดต่อ และทำธุรกิจก็ง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส จริงไหมค่ะ ? 
ว่าด้วยเรื่องการตลาดออนไลน์ ที่คุณมาสามารถสั่งสินค้าได้จากทุกทั่วมุมโลก ในเวลาเพียงไม่นาน สินค้าเหล่านั้น ก็ส่งตรงมาถึงหน้าบ้านของคุณ และสินค้าที่ขายดิบขายดี จนต้องขยายสาขา หรือที่รู้จักในรูปแบบ Franchise จะน่าสนใจ และมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างไร?

พบกับคำตอบได้ภายในงาน Key Success to The Best Halal Franchise จัดโดย หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจและบริการฮาลาล (BIHAPS) ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ในวันที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 62 นี้ ณ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บทความตอนต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร ฝากติดตามด้วยนะคะ

ที่มา…Silk Road : Wikipedia

บทความโดย : อัสลินดา ระเด่นอาหมัด 
Managing Director of BIHAPS

เริ่มต้นขายแฟรนไชส์ ต้องทำอะไรบ้าง

BIHAPS WEEKLY EP.03

เมื่อเดือนที่แล้วทีมงาน BIHAPS ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปชิมกล้วยทอดมายอ จังหวัดปัตตานี จากการบอกเล่าของผู้บริหารและเจ้าของกิจการในชื่อเสียงเรียงนามของกล้วยทอดนี้ว่าเคยทำกล้วยทอดถวายพระราชวงศ์ชั้นสูง กระทั่งพระองค์ทรงติดใจ ทางทีมงานจึงได้ติดตามไปชิมด้วย พอไปถึงครั้งแรกที่เห็นก็เหมือนร้านขายกล้วยทอดริมถนนทั่วๆไปนั้นแหละ แต่พอหยิบกล้วยทอดมาชิมคำแรกบอกได้เลยว่ารสชาติอร่อยสมคำรำลื่อจริงๆ อร่อยแค่ไหนสังเกตได้จากผู้คนที่ผ่านไป-ผ่านมา แวะซื้อกันไม่หยุดสายนั้นเอง ยิ่งร้อนๆยิ่งอร่อย มีทั้งกล้วยทอด จำปาดะทอด มันทอด ซึ่งใช้มันม่วง และตาแปทอด เสริฟคู่กับน้ำแข็งใสเย็นๆเป็นอันรู้กันว่าครบสูตรหรือครบเซตนั้นเอง 555 กล้วยทอด เจ้านี้ขายได้วันละหมื่นบาท ไม่น่าเชื่อเลยว่าธุรกิจเล็กๆอย่างกล้วยทอดจะสร้างรายได้ดีขนาดนี้ ทางผู้บริหารจึงเห็นว่าเราควรส่งทีมมาช่วยพัฒนาตรงนี้ได้หรือไม่ หมายความว่าสามารถขยายกิจการหรือทำแฟรนไชส์ โดยที่ผู้บริหารอยากให้คนกรุงเทพฯ ได้กินขนมอร่อยๆบ้างเท่านั้น (ติดตามรีวิวได้ที่เพจ Dr.Winai Dahlan)

ทีมงาน BIHAPS เห็นว่ากล้วยทอดเจ้านี้เป็นที่รู้จักของ ผู้คนทั่วไปดูได้จากรีวิวเพจ Dr.Winai Dahlan ที่มีลูกค้าประจำและคนที่เคยผ่านแวะซื้อบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ากล้วยทอดเจ้านี้อร่อยจริง และคิดว่าเจ้าของกิจการเองน่าจะต่อยอดธุรกิจนี้ให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคตได้ ประจวบเหมาะกับทางทีม BIHAPS มีโครงการในการพัฒนาผู้ประกอบการฮาลาล แฟรนไชส์อยู่แล้ว จึงขอนำบทความดีๆในการจะขายแฟรนไชส์ ต้องทำอะไรบ้าง มานำเสนอให้ทุกคนที่สนใจในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ได้อ่านกัน ก่อนอื่นต้องรู้จักกับ 2 คนนี้ก่อนนั่นก็คือ แฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) คือ ผู้ขายสิทธิแฟรนไชส์ และแฟรนไชส์ซีร์ (Franchisee) คือ ผู้ซื้อสิทธิแฟรนไชส์

แน่นอนว่าเมื่อมีคนสนใจในกิจการของเราที่ขายดีมากๆ และคนสนใจมาขอซื้อแฟรนไชส์ เราก็มักจะดีใจและตื่นเต้นที่อยากจะขายแฟรนไชส์ให้กับคนที่สนใจทันที่ (ซึ่งมองดีๆมันก็ถือว่าเป็นโอกาสของเจ้าของกิจการนั้นแหละที่จะกอบโกยตรงนี้) แต่เชื่อว่าเจ้าของกิจการอีกหลายๆ ราย อาจจะยังไม่มีความรู้มากพอในการทำธุรกิจ แฟรนไชส์นี้ ถ้ายังดื้อที่จะทำธุรกิจแฟรนไชส์ต่อไปโดยไม่ได้มีความรู้ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างกระจ่างชัด ก็อาจทำให้ธุรกิจนั้นล้มเหลวได้ เพราะแม้ว่าระบบแฟรนไชส์จะช่วยให้คนที่อยากมีธุรกิจส่วนตัวประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น แต่ใช่ว่าเมื่อซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว จะประสบความสำเร็จเสมอไป ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ล้มเหลวคือการว่างระบบโดยมีแผนขยายธุรกิจทันที่ และมองว่าแฟรนไชส์คือกลยุทธ์ที่ใช่ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นทำแฟรนไชส์ยังไง จะขายแฟรนไชส์ จะต้องทำอะไรบ้าง วันนี้ทีม BIHAPS เลยนำบทความดีๆในการจะขายแฟรนไชน์ ต้องทำอะไรบ้างมาแนะนำทุกคน

ขั้นตอนแรกในการเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์ คือ การหาความรู้อย่างรู้ลึก รู้จริง หลายกิจการเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ มักจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด เพราะขาดความรู้ในการทำธุรกิจ แฟรนไชส์แบบรู้ลึก รู้จริง ดังนั้นขั้นตอนแรกเลยคือเราจะต้องมีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์มาก่อน โดยความรู้เกี่ยวกับการทำแฟรนไชส์นั้น สามารถหาความรู้จากหนังสือหรือคู่มือการสร้างระบบแฟรนไชส์มาอ่านก็ได้ หรือการหาความรู้จากหน่วยงานของสมาคมและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเป็นต้น อย่างเช่นล่าสุดโครงการ Key Success To The Best Halal Franchise ที่ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่โรงแรม CS ปัตตานีที่ผ่านมา ก็ถือว่าเป็นการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำแฟรนไชส์ได้อย่างน่าสนใจมากๆ รวมทั้งได้นำนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแฟรนไชส์มาบอกเล่าประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งเชื่อว่าหลายๆคน ก็มักที่จะปรึกษาผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์มาก่อนแล้วทั้งสิ้น

หลังจากที่เรามีความรู้เรื่องการทำธุรกิจแฟรนไชส์แบบรู้ลึกรู้จริงแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การประเมินความเป็นไปได้ของกิจการของเรา เพราะใช่ว่าทุกกิจการคิดจะขายแฟรนไชส์ก็สามารถขายได้ทันที แต่กิจการที่จะขายแฟรนไชส์ได้นั้น ต้องมีความพร้อมในระดับหนึ่ง คือเป็นกิจการที่มีกำไรมาแล้ว มีร้านสาขาอยู่บ้าง และมีอายุธุรกิจนานพอที่จะเอาประสบการณ์มาถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้
.
เพราะถ้าสังเกตเห็นเรามักจะพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วนั้น ส่วนใหญ่กิจการมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ก่อนที่จะขายแฟรนไชส์ จะต้องจัดระเบียบการดำเนินงานร้านให้ชัดเจน เสียก่อน ส่วนไหนที่ดีอยู่แล้วก็กำหนดเป็นมาตรฐานการทำงาน สิ่งไหนที่ยังไม่ดีก็ให้จัดระเบียบใหม่ สร้างความเป็นมาตรฐานให้กับร้านต่อไป ให้ได้ปฏิบัติตามในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจะได้คุณภาพสินค้าและการบริการตลอดจนการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้เหมือนกันทุกร้าน ถ้าจะให้ดีร้านต้นแบบ อาจจะให้คนอื่นมาบริหารจัดการแทน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าถ้ามีการขายแฟรนไชส์ไปผู้ซื้อแฟรนไชส์จะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่น ตามรูปแบบที่วางไว้ และจะมีโอกาสในการสร้างกำไรให้กับกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
.
สิ่งสำคัญยิ่งในการทำแฟรนไชน์ร้านต้นแบบ คือประมาณการโครงสร้างทางการเงิน เช่น ถ้าการเปิด แฟรนไชส์ 1 แห่ง มีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไรมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี และคุ้มไหมที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้ ร้านต้นแบบจะทำให้ได้ภาพที่ชัด และสิ่งที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแฟรนไชส์ คือการจัดทำคู่มือ คู่มือที่ดีต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของธุรกิจได้อย่างละเอียดเหมาะสมไม่ยากเกินไป ซึ่งเราจะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจที่มีมาหลายสิบปีให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไรให้มีมาตรฐานเดียวกันทุกที่ การจัดทำคู่มือดำเนินงานจะทำให้การดำเนินงานของธุรกิจเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน

ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญของเจ้าของธุรกิจที่จะขายแฟรนไชส์ คือการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งจะนำมาสู่ยอดขายที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ให้กับเจ้าของกิจการและเป็น Key Success ที่จะย้อนกลับมาที่เจ้าของกิจการอย่างต่อเนื่องนั้นเอง ทั้งนี้การวางโรดเมฟ ในการขยายธุรกิจ เจ้าของกิจการหรือผู้ขายแฟรนไชส์ ต้องมีแผนการอยู่ในใจว่าต้องการขยายธุรกิจอย่างไร เช่นเปิดเพิ่มในปีหน้า 20 สาขา หรือออกตัวแบบนิ่มๆ ไปก่อนว่า 2 สาขา จะเห็นว่า การตั้งเป้าหมายทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันสุดขั้ว การวางเป้าหมายมีความสำคัญ สำหรับกำหนดทิศทาง ว่ากิจการจะเดินไปอย่างไร จะทำอะไรบ้าง แค่ไหน อย่างไรนั้นเอง

ก่อนการขายแฟรนไชส์ สิ่งที่ต้องทำก็ คือ การทำสัญญาแฟรนไชส์ การทำเอกสารและสื่อเพื่อแนะนำธุรกิจแฟรนไชส์ แน่นอนว่าเมื่อมีคนสนใจที่จะซื้อแฟรนไชส์ สิ่งแรกที่ทุกคนอยากได้คือสัญญาแฟรนไชส์ โดยสัญญาแฟรนไชส์นั้น ต้องมีความเป็นธรรมคือ Win Win ทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อมีความพร้อม ในการขายแฟรนไชส์แล้ว เจ้าของกิจการก็ต้องทำการตลาดแฟรนไชส์ต่อเนื่อง การที่จะหาคนมาซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ได้จะไม่ยาก ถ้าร้านขายดีอยู่แล้ว แต่ถ้าร้านยังไม่ถึงขั้นนั้น ก็ต้องทำการตลาดเพิ่ม เช่น สื่อออนไลน์ ออกบูท ซื้อโฆษณาสื่อออนไลน์ หรือ เวปที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้วหรือแม้กระทั้งติดป้ายเล็กๆ แต่เห็นได้ง่ายภายในร้านของตัวเอง เป็นต้น
.
สุดท้ายเราจะปิดการขายแฟรนไชส์ได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าหลายคนมักจะกังวลกับ การขายแฟรนไชส์ให้กับรายแรก แต่เมื่อผ่านรายแรกไปได้แล้ว รายต่อๆไปก็ไม่ใช่ปัญหาแต่สิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือ การช่วยเหลือสนับสนุนแฟรนไชซี่ เมื่อมีการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือการ เป็นพี่เลี้ยงในช่วงเริ่มต้นสร้างระบบสนับสนุนที่ต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาสิ่งใหม่ๆตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อทำให้ผู้ซื้อ แฟรนไชส์ มีความพึงพอใจที่จะต่อสัญญาในรอบต่อไป เพราะเห็นแรงสนับสนุนจากเจ้าของแฟรนไชส์และพร้อมที่จะลุยต่อไปนั้นเอง

วันนี้ทางทีม BIHAPS ขอนำเสนอบทความดีๆ สำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจแฟรนไชส์ไว้เท่านี้ บทความหน้ามีเรื่องอะไรเกี่ยวกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์อีกนั้น ทางทีมงานจะนำบทความดีๆมาลงไว้เรื่อยๆ และขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่สนใจในการทำธุรกิจแฟรนไชส์นะคะสู้ๆ

………………………
ที่มา….สมาคมแฟรนไชส์ไทย TFA
………….
บทความโดย
นูรุมา จูและ Marketing Specialist BIHAPS
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
(Business Incubator for Halal Products and Services: BIHAPS)
……………………………………………………………….

ธุรกิจนอกตำรา สไตล์โต-ตาล

BIHAPS WEEKLY EP.02

เมื่อวันที่ 11-12 กพ. ที่ผ่านมา ศูนย์ฯได้มีโอกาสจัดงานอบรมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจแฟรนไชส์โดยใช้ชื่อว่า Key Success To The Best Halal Franchise และทางฝ่ายผู้จัดได้เรียนเชิญคุณโต-ตาล ซึ่งได้ผันตัวเองมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเนื้อวัวในนามบริษัท Company B จำกัด ภายใต้ร้าน The Beef Master ที่ช่ำชองในการทำสเต็กโดยใช้เนื้อวัวนำเข้าจากออสเตรเลีย และร้านเนื้อบังโตที่ขายเนื้อปิ้งเสียบไม้ 
ซึ่งชาวสามจังหวัดมักจะพบเจอตามตลาดในตัวเมืองและได้ลิ้มลองรสชาติกันมาแล้ว

ทีมงาน BIHAPS จึงมีความเห็นว่าอยากจะให้ทั้งสองท่านได้ลองแชร์ประสบการณ์การทำธุรกิจแบบโต-ตาลเพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้จากเจ้าตัวโดยตรง จึงได้ประสานไปและได้รับคำตอบจากเจ้าตัวว่ายินดีที่จะมาแชร์เรื่องราวถึงปัตตานี

ก่อนเริ่มการบรรยายของทั้งสอง คุณโตได้เกริ่นก่อนว่าแนวคิดการทำธุรกิจของ Company B นั้นไม่มีในตำราธุรกิจที่หลายๆท่านเคยศึกษามา ข้อมูลอาจจะขัดแย้งกับหลักการทำธุรกิจของสากล

โดยการทำธุรกิจในสไตล์ของ Company B ได้อ้างอิงจากหลักการทำธุรกิจแบบอิสลาม และคำสอนของท่านศาสดามูฮัมมัด (ศ็อล) และบรรดาซอฮาบะฮ์ โดยจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจคือการตั้งเจตนาที่สุจริตและบริสุทธ์ (นิญัต) ในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการทุกขั้นตอนอย่างมีความถูกต้อง โปร่งใส และสุจริต เริ่มตั้งแต่กระบวนการหาเงินทุนในการเริ่มทำธุรกิจที่ต้องไม่มีดอกเบี้ยมาเกี่ยวข้อง และขั้นตอนการคัดเลือกวัตถุดิบนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ของที่ดีที่สุด มีคุณภาพ ผ่านการคัดสรรค์อย่างดี ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ต้องมีความสะอาด ปลอดภัย และปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นนญิสหรือหะรอม สิ่งสำคัญในกระบวนการผลิตอาหารคือ รสชาติต้องดี ต้องมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายนั้นมีคุณภาพจริงๆ ก่อนส่งต่อไปยังผู้บริโภค

ความตั้งใจและความแน่วแน่ในการทำธุรกิจนั้นมีความสำคัญมาก 

ผู้บริหารที่มีความแน่วแน่สามารถส่งผลต่อการทำงานของพนักงานในทุกๆขั้นตอน การถ่ายทอดเจตนารมในการทำธุรกิจของโต-ตาล สามารถส่งต่อไปยังพนักงานในบริษัทให้มีความตั้งใจที่จะผลิตสินค้าที่ดีที่สุดก่อนถึงมือลูกค้า กฎระเบียบต่างๆที่ได้กำหนดขึ้นล้วนเป็นการฝึกฝนวินัย และการใช้ชีวิตตามครรลองของศาสนาอิสลาม ควบคู่กับการทำงาน

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบหนึ่งที่โต-ตาล ได้นำมาใช้กับ Company B และทางทีมงานได้นำข้อสรุปสั้นๆจากการบรรยายเล่าประสบการณ์ของทั้งสองท่านมาให้ได้อ่านกัน อาจจะเป็นแนวทางที่ฉีกกฎการทำธุรกิจแบบสากล หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้ข้อคิดดีๆจากบทความนี้….ขอบคุณครับ

———————————————-
บทความโดย
ซารีฟ เลาะหามะ Creative and Project Planning BIHAPS
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
———————————————-

8 เทคนิค สู่ความสำเร็จในการทำ “ธุรกิจฮาลาล”

BIHAPS WEEKLY ep.4

กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เรารับรู้ข่าวสารในโลกได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้คนเราสามารถเห็นความสำเร็จมากมายของคนในสังคม ทั้งความสำเร็จในชีวิต ครอบครัว สังคม รวมไปถึงการประกอบธุรกิจ ความสำเร็จทางธุรกิจนอกจากจะมอบทรัพย์สินเงินทองมากมายให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแล้ว บางธุรกิจยังสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้อีกด้วย หลายๆท่าน คงกำลังคิดอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง ชุมชน สังคมอาศัยอยู่ ในความเป็นจริงการที่เราจะประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นมันง่ายอย่างที่พบเจอหรือเปล่า? คำตอบนั้นไม่มีสูตรสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูล ตัวอย่าง “ธุรกิจฮาลาล” ที่ประสบความสำเร็จ ว่ามีลักษณะการดำเนินงานที่คล้ายๆกันดังนี้

1.การตั้งเรื่องของผลกำไรเป็นเป้าหมายรอง
การตั้งเป้าหมายที่ผลกำไรนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรจัดลำดับของเป้าหมายตามความสำคัญ โดยคำนึงถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และคอยตรวจสอบการทำธุรกิจให้เป็นไปในแนวทางของอิสลาม สร้างความเชื่อมั่นและมอบสิ่งดีๆให้แก่ผู้บริโภค อินชาอัลลอฮ ธุรกิจของเราจะเติบโตได้อย่างมั่นคง

2.ความซื่อสัตย์และความยุติธรรม
ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจ และยิ่งเมื่อเป็นธุรกิจที่ผู้ดำเนินกิจการเป็นมุสลิมแล้ว จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตามหลักอิสลามผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม

3.ความสะอาด
ความสะอาดนั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคโดยตรงดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ท่านจะต้องให้ความสำคัญกับความสะอาด ไม่เพียงในบริเวณที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเท่านั้น ยังต้องรวมไปถึงอุปกรณ์ บริเวณจัดเก็บวัตถุดิบ และส่วนต่างๆที่อาจส่งผลต่อสินค้าและบริการ

4.การกำหนดเป้าหมาย
ในการทำธุรกิจเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เราควรกำหนดเป้าหมาย (เนียต) ให้ชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจ และหมั่นทำการตรวจสอบความเป็นไปเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “แท้จริง การงานนั้น ตั้งอยู่บนการเจตนา และ ทุกกิจการงาน ขึ้นอยู่กับการเนียต” (บันทึกโดย บุคครีย์)

5.การทำงานร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ
การทำงานร่วมกันกับคู่ค้าทางธุรกิจและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยังเป็นการสร้างสังคมที่ดีของนักธุรกิจ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ที่ดีในที่นี้นอกจากจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลต่อตัวของผู้ประกอบการเองด้วย

6.การสร้างมาตรฐานและการรับรอง
มุสลิมให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าและบริการที่ฮาลาล ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของตนเอง ให้สามารถตรวจสอบพิจารณาสภาพฮาลาลของสินค้าและบริการตามข้อกำหนดด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค (ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิในการรับรู้ถึงที่มาของวัตถุดิบ รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ)

7.ความมุ่งมั่น /การทำงานหนัก
ความมุ่งมั่นและการทำงานอย่างหนักไม่เพียงแต่เป็นซุนนะห์ (แนวทางปฏิบัติตามแบบอย่างท่านศาสดา) การทำงานอย่างหนักถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ความสม่ำเสมอในการทำงานจะทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆได้

8.ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งหะรอม
อย่าให้ธุรกิจของท่านยุ่งเกี่ยวกับสิ่งหะรอม (สิ่งต้องห้าม) ตามหลักอิสลาม เพราะมันจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภครวมไปถึงกิจการของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะสิ่งที่อิสลามกำหนดให้เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) นั้นเป็นสิ่งที่อันตรายต่อมนุษย์ทุกคน

สุดท้ายนี้อยากให้ผู้อ่านลองสำรวจกิจการของตัวเองเบื้องต้นจากบทความนี้ดูครับ ว่ากิจการหรือธุรกิจของท่านตอนนี้มีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะการประกอบธุรกิจนั้นถือเป็นฟัรดูกีฟายะห์ (ข้อบังคับที่คนใดคนหนึ่งในชุมชนมุสลิมต้องปฏิบัติ) อีกทั้งธุรกิจยังเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ปลดเปลื้องทุกข์ใดๆ ของผู้ศรัทธาคนหนึ่งจากความทุกข์ยากในโลกดุนยา อัลลอฮฺจะปลดเปลื้องหนึ่งความทุกข์ให้กับเขาจากความทุกข์ยากทั้งหลายในอาคิเราะฮฺ และผู้ใดที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ลำบาก อัลลอฮฺจะทรงทำให้เขาพบความสะดวกง่ายดายในดุนยาและอาคิเราะฮฺ” (มุสลิม)

ติดตามบทความดีๆ ได้ทุกสัปดาห์กับ BIHAPS WEEKLY สัปดาห์หน้าเรามีอะไรดีๆมานำเสนอ พบกันในเพจ Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ก่อนจะลากันไปในสัปดาห์นี้ ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จกับชีวิต ธุรกิจหรือกิจการต่างๆที่ดำเนินอยู่ และเป็นที่พึงพอใจของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) วัสลาม

บทความโดย
อมีน มะหมัด
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)

#BIHAPSWEEKLY #BIHAPS #HSCPN

“แนวโน้มของตลาดร้านอาหารในปี 2563 กับการรับมือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี”

ธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจบริการที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยมูลค่าหมุนเวียนที่ไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท กอปรกับในธุรกิจมีผู้ประกอบการที่หลากหลายทั้งผู้ประกอบการรายเล็ก (บุคคล) ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สนใจเข้ามาเริ่มธุรกิจในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจร้านอาหารในปี 2563 จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.37 ถึง 4.41 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.4 ถึง 2.4 จากปี 2562 จากการลงทุนของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่สูงและต้นทุนธุรกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยท้าทายในธุรกิจ ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว [1]

จากฐานข้อมูลในเว็ปไซด์ของ Wongnai ซึ่งเป็นเว็ปไซด์ยอดนิยมในการค้นหาข้อมูลร้านอาหารและเครื่องดื่มพบว่า จำนวนร้านเปิดใหม่ในปี พ.ศ. 2560 สูงกว่าปี พ.ศ. 2559 คิดเป็นร้อยละ 8.50 และมีปริมาณมากขึ้นในปี 2563 ขณะเดียวกันร้านที่ปิดตัวขอเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งนี้มี SME ที่ ได้เข้าไปอยู่ในระบบฐานข้อมูลของ Wongnai แล้วจํานวนกว่า 2 แสนราย หรือมากกว่า 60% ของร้านอาหาร ทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีร้านอาหารมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และชลบุรี ตามลําดับ ซึ่งแยกตาม ประเภทร้านอาหารยอดนิยมทั่วประเทศไทย ได้แก่ ร้านอาหารไทย 32,740 ร้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว 25,154 ร้าน ร้านกาแฟ 24,874 ร้าน ร้านอาหารจานเดียว 13,548 ร้าน และร้านอาหารอีสาน 11,791 ร้าน ตามลำดับ [2]

#เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการท่องเที่ยวและกระแสต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มจึงควรปรับเปลี่ยนวิธีในการดําเนินธุรกิจเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลง ดังนี้

1. การปรับปรุงเมนูอาหารและสร้างเอกลักษณะของตนเอง นักท่องเที่ยวหรือคนรุ่นใหม่จะหาข้อมูลร้านอาหารที่ล่วงหน้า ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งการปรับเมนูอาหารให้มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ โดยอาจจะเป็นเมนูที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ หรือเป็นการนําวัตถุดิบที่มีเฉพาะในท้องถิ่นนั้นผสมลงไป เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ และบ่อยครั้งที่นักท่องเที่ยวเลือกร้านอาหารที่แตกต่างมากกว่ารสชาติ

2. การนําเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการลงโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น รวมทั้ง โซเชียลมีเดียต่างๆ หรือการใช่บริการตัวกลางที่เป็น OTAs เพื่อเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยต้องแลกกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการใช้บริการตัวกลางเหล่านี้

3. การจองร้านอาหารออนไลน์และการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ทั้งผ่านช่องทางการใช้แอพพลิเคชั่น บนมือถือรวมถึงเว็บไซต์ต่างๆ ยังจะเป็นปัจจัยหลักที่ทําให้ตลาดธุรกิจร้านอาหาร เติบโตได้ดีในปี พ.ศ.2562

4. ระบบชำระเงินแบบ Electronic Payment System นอกเหนือจากบริการรับชำระผ่าน Mobile payment และ QR code เพื่อเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้นให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพกเงินสด หรือแลกเปลี่ยนเงินตรา โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า การชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขายผ่านผู้ให้บริการรับชําระเงินในไทยด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยในช่วง ม.ค. – ก.ย. 61 มีสัดส่วนมูลค่าเท่ากับ 12% จาก 6% ในปี 2560 และสัดส่วนปริมาณธุรกรรมเท่ากับ 27% จาก 17% ในปีก่อน [3]

……………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ​ ศวฮ.​ สำนักงานปัตตานี​ เรียบเรียง
………..
[1] Marketeer, “ปี 2563, ปีทองของอาหารพร้อมรับประทาน” [online]. Available: https://marketeeronline.co/archives/135651. [Accessed: 13-Jan-2020]
[2] ณัฏฐกฤติ นิธิประภา, “สถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจปี 2562” [online]. Available: https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20190328081528.pdf. [Accessed: 8-Jan-2020]
[3] ณัฏฐกฤติ นิธิประภา, “ธุรกิจร้านอาหารควรรับมืออย่างไร กับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและเทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว” [online]. Available: https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20190617051600.pdf. [Accessed: 12-Jan-2020]

“อนาคตของเศรษฐกิจฮาลาลในยุค Technology disruption”

#HalalEconomyคืออะไร

เศรษฐกิจฮาลาล หรือ Halal economy ไม่ได้ใช้เฉพาะกับอาหารการกินอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ แต่หมายถึง กิจการที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ศาสนพิธี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค การบริการ เศรษฐศาสตร์ฮาลาล และการเงินตามหลักศาสนบัติญัติอิสลาม เช่น การกู้ยืมเงินและการคิดอัตราผลกำไรแทนอัตราดอกเบี้ย การท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) แฟชั่น (Islamic fashion) ยา เครื่องสำอาง สื่อ รวมทั้งทีวี facebook และ youtube เป็นต้น

คาดการณ์ว่าในปี 2023 การเงินฮาลาลมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโตขึ้น 7.7% อาหารฮาลาลจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% แฟชั่นฮาลาลจะโตขึ้น 5% การท่องเที่ยวมุสลิมซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมาตลอด จะเติบโตมากขึ้นถึง 7.5% สื่อฮาลาล (Halal media) ในอังกฤษเติบโตอย่างมากและทำรายได้เป็นจำนวนมาก ส่วนยาและเครื่องสำอางก็มีอัตราโตขึ้นถึง 7%

การให้การรับรองฮาลาลในเรื่องอาหาร อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เราอาจจะต้องมีการรับรองฮาลาลทางการเงิน เสื้อผ้า ยา เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันผลักดันมาตรฐานด้านต่าง ๆ อย่าง โรงแรม สปา เครื่องสำอาง และอีกมากมายที่กำลังตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงมีความสำคัญ…

#ในยุคdisruption เทคโนโลยีมีผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมฮาลาล

Technology disruption คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในเทคโนโลยี ธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคม เช่น

เทคโนโลยีการถ่ายภาพ จากที่เคยมีกล้องถ่ายกลับคลายมาเป็นมือถือที่มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการถ่ายภาพได้มากกว่าเดิม

ธุรกิจภาพยนตร์ จากเดิมที่ใช้ซีดีหรือดีวีดี กลายเป็นธุรกิจสตรีมมิ่งที่เป็นแอปพลิเคชันให้คนได้ดาวน์โหลด ทำให้สามารถดูหนังที่ไหนก็ได้

ธุรกิจเพลง ผู้ฟังที่เคยฟัง mp3 ในซีดี แต่แอปพลิเคชัน เช่น Spotify สามารถให้บริการเพลงได้อย่างไม่จำกัดทั้งเพลงในอดีตหรือเพลงฮิตในปัจจุบัน

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ พบว่าวิธีการนำเสนอเนื้อหาจากเดิมที่เป็นกระดาษ กลายเป็นเนื้อหาบนโลกออนไลน์ อ่านข่าวจากมือถือ หรืออ่านหนังสือผ่าน Kindle หรือเรียกว่าธุรกิจ eBooks

ธุรกิจเกี่ยวกับการช็อปปิ้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการขายของออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์

#Future of Halal Economy

ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันทำให้วิทยาศาสตร์ฮาลาลต้องปรับตัวมากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ทางเลือก เทคโนโลยีที่ใช้การตัดต่อยีนจากเนื้อสัตว์แล้วนำมาเพาะเลี้ยง หรือการใช้หุ่นยนต์สั่งอาหารทางออนไลน์กับหุ่นยนต์ หากเราต้องการสั่งอาหารฮาลาล หุ่นยนต์ที่ตอบโต้เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิมได้หรือไม่?

Halal Cryptocurrency เงินดิจิทัลถูกต้องตามวิถีฮาลาลหรือไม่? จ่ายซะกาตอย่างไร? เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมฮาลาลต้องเตรียมตัว หรือ Crowdfunding การระดมทุนในโลกออนไลน์ อย่างในอินโดนีเซีย อยากทำระดมทุนให้คนหาบ้านที่ไม่มีกำลังซื้อ Islamic Crowdfunding จะเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมากขึ้น คือเราไม่สามารถไปลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข ใครจะรับรองว่าธุรกิจนี้เป็น Islamic business ทำอย่างไรที่จะคัดสรรโปรเจกธุรกิจอิสลามเข้ามาเพื่อให้มีคนมาลงทุนมากขึ้น แล้วแพลตฟอร์มแบบไหนถูกต้องตามหลักชารีอะฮ์ …..นี่คือความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต…..

……….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี ถอดความ
…………
Halal Inspiration Talk: Future of Halal Economy: Technology Perspective
โดย ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เจลาติน (ตอนที่ 1)

เจลาติน1

เจลาติน คืออะไร?

หลายคนคงเคยได้ยินสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า เจลาติน เจ้าสารตัวนี้จะเกี่ยวพันกับอาหารและสินค้าต่างๆจำนวนมาก ทั้งที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล แล้วสารตัวนี้คืออะไร ฮาลาลหรือไม่ เรามาทำความรู้จักกับสารที่ชื่อว่า “เจลาติน”

อ่านเพิ่มเติม “เจลาติน (ตอนที่ 1)”