หลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ (ตอนที่ 2)

ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม

อาหารถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการปฏิสัมพันธ์ในความหลากหลายระหว่างเชื้อชาติ สังคม และกลุ่มความเชื่อทางศาสนา มนุษย์ทุกคนต่างพิจารณาถึงอาหารที่พวกเขารับประทาน มุสลิมต้องการที่จะมั่นใจว่าอาหารที่พวกเขารับประทานนั้นฮาลาล ยิวเองก็เช่นกันอาหารของพวกเขาจะต้องโคเชอร์ รวมไปจนถึง ฮินดู พุทธ และกลุ่มความเชื่ออื่น ๆ ที่เลือกรับประทานอาหารที่เป็นมังสวิรัติ เช่นเดียวกัน มุสลิมเพียงปฏิบัติตามทางนำที่ชัดแจ้งในการเลือกสรรอาหารที่ถูกต้องตามหลักกการและมีประโยชน์ (ฮาลาลและฏ็อยยิบ)

ในบทความหลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ ตอนที่ 1 นั้น เราได้นำเสนอถึงหลักการพื้นฐานอันสำคัญในประเด็นของฮาลาล (อนุมัติ) และหะรอม (ต้องห้าม) ในอิสลามที่แนะแนวทางแก่มุสลิมในการดำเนินวิถีปฏิบัติไปแล้วถึง 7 ข้อ
#https://www.facebook.com/HSC.CU.Pattani/photos/a.504582689579969.126212.317351581636415/1211501578888073/?type=3&theater 
บทความนี้เราจึงขอนำเสนอส่วนที่เหลืออีก 5 ข้อ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ครับ

8. เจตนาที่ดีมิสามารถเปลี่ยนสิ่งที่หะรอมอยู่แล้วมาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ศรัทธาได้ปฏิบัติในสิ่งที่ได้รับอนุมัติด้วยเจตนาที่ดี การปฏิบัติของเขาถือเป็นการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (อิบา-ดะฮฺ) ในกรณีของหะรอม สิ่งนั้นยังคงหะรอมไม่ว่าจะมีเจตนาที่ดี หรือวัตถุประสงค์ที่มีเกียรติหรือเป้าหมายที่สูงส่งเพียงใดก็ตาม อิสลามไม่รองรับให้ใช้วิธีการที่หะรอมเพื่อบรรลุเป้าหมายอันน่าชมเชย แท้จริงแล้ว สิ่งนั้น ๆ ต้องไม่มีเพียงแค่เป้าหมายที่มีเกียรติเท่านั้น แต่ยังต้องมีการเลือกวิธีการเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่เหมาะสมอีกด้วย ประโยคที่ว่า “เพื่อผลลัพธ์ คุณสามารถสร้างความชอบธรรมให้วิธีการ” (The end justifies the means) และ “เพื่อปกป้องสิทธิของคุณ แม้ว่าวิธีการที่ใช้จะผิดก็ตาม” (Secure your right even through wrongdoing) เป็นแนวทางปฏิบัติที่ไม่เป็นที่ยอมรับในอิสลาม นิติศาสตร์อิสลามประสงค์ให้ความถูกต้องจะต้องได้มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรมเท่านั้น

9. สิ่งใดที่อยู่ในข้อสงสัยควรได้รับการหลีกเลี่ยง ระหว่างสิ่งฮาลาลที่ชัดแจ้งกับสิ่งหะรอมที่ชัดแจ้งจะมีพื้นที่สีเทาอยู่ เรียกว่า “สิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย” อิสลามถือว่าเป็นความดีสำหรับมุสลิมในการหลีกเลี่ยงสิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ห่างจากสิ่งหะรอมอย่างแน่นอน นบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “ฮาลาลและหะรอมนั้นเป็นที่ชัดแจ้ง แต่ระหว่างทั้งสองสิ่งนี้มีสิ่งที่น่าสงสัย ซึ่งคนส่วนมากไม่รู้ว่ามันฮาลาลหรือหะรอม ผู้ที่หลีกเลี่ยงมันเพื่อปกป้องศาสนาและเกียรติของเขาคือผู้ที่ปลอดภัย ในขณะที่ถ้าใครเข้าไปมีส่วนกับมันเขาผู้นั้นอาจจะทำสิ่งที่หะรอม เฉกเช่นคนที่ปล่อยสัตว์ของตนให้กินหญ้าอยู่ใกล้กับเขตหวงห้าม ซึ่งเขาอาจนำพวกมันหลงเข้าไปในนั้น แท้จริงสิ่งหวงห้ามของอัลลอฮฺนั้นคือสิ่งหะรอม”

10. สิ่งหะรอมถือว่าเป็นที่ต้องห้ามสำหรับทุกคนเทียบเท่ากันหมด นิติศาสตร์อิสลามนั้นเป็นสากลสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ความเชื่อ และเพศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติพิเศษสำหรับชนชั้นอภิสิทธิ์ใด ๆ แท้จริงแล้วในอิสลามไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นอภิสิทธิ์ ดังนั้นประเด็นการเลือกปฏิบัติพิเศษจึงไม่มีในหลักการอิสลาม หลักการความเท่าเทียมและไม่มีการเลือกปฏิบัตินี้จะต้องนำไปใช้ไม่ใช่แค่เพียงในหมู่มุสลิมด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องนำไปใช้ระหว่างมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิมอีกด้วย

11. ข้อยกเว้นได้รับการอนุโลมในกรณีที่สภาวะความจำเป็นมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ขอบเขตของสิ่งต้องห้ามในอิสลามนั้นมีพื้นที่คับแคบมาก ถึงกระนั้นก็ถูกเน้นย้ำให้มุสลิมหลีกห่างจากสิ่งต้องห้ามอย่างแข็งขัน ขณะเดียวกัน อิสลามก็ไม่บังคับใช้ในสภาวะฉุกเฉินของชีวิต สภาวะที่ใหญ่เกินความสามารถหรือความอ่อนแอ และด้อยศักยภาพของมนุษย์ในการเผชิญกับสภาวะฉุกเฉินนั้น ๆ จึงเป็นที่อนุญาตให้มุสลิมภายใต้ความจำเป็นที่บีบบังคับในการรับประทานอาหารต้องห้ามในปริมาณที่เพียงพอตามความจำเป็นเพื่อประทังชีวิตและให้อยู่รอดได้

ชีวิตของมุสลิมจะวนเวียนอยู่กับแนวคิดฮาลาลและหะรอม หลักการฮาลาลและหะรอมเหล่านี้จึงมีความครอบคลุม เพราะมันไม่ใช่เป็นหลักการที่นำไปใช้ในการรับประทานและการดื่มเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพ การแต่งกาย และการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เพื่อบรรลุซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีงามตามแบบฉบับอิสลาม

…………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลเรียบเรียงจากหนังสือ Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หลักการพื้นฐานในการกำหนดอาหารที่ได้รับอนุมัติ (ตอนที่ 1)

**ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม**

แหล่งที่มาของหลักปฏิบัติในเรื่องอาหารฮาลาลได้รับการเปิดเผยในอัลกุรอาน (คัมภีร์จากฟากฟ้า) จากผู้เป็นเจ้า (ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง) ให้แก่นบีมุฮัมมัด (ศาสนทูต) เพื่อมนุษย์ทั้งมวล หลักการในเรื่องอาหารได้รับการอธิบายและนำไปปฏิบัติผ่านความเข้าใจสุนนะฮฺ (วิถีชีวิต พฤติกรรม และคำสอนของนบีมุฮัมมัด) ดังที่ได้รับการบันทึกไว้ในหะดีษ (บันทึกที่รวบรวมแบบปฏิบัติของนบีมุฮัมมัด) ซึ่งโดยหลักการทั่วไปนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างถือว่าเป็นที่อนุมัติสำหรับมวลมนุษย์เพื่อการบริโภคและใช้ประโยชน์ไม่มีสิ่งใดที่ไม่ได้รับอนุมัติเว้นแต่สิ่งที่ได้รับการระบุไว้ว่าเป็นที่ต้องห้าม อาจจะระบุไว้ในโองการของอัลกุรอาน

วันนี้เรามาเรียนรู้ถึงส่วนแรกของหลักการพื้นฐานอันสำคัญ 11 ข้อ ในประเด็นของฮาลาล (อนุมัติ) และหะรอม (ต้องห้าม) ในอิสลามที่แนะแนวทางแก่มุสลิมในการดำเนินวิถีปฏิบัติ ซึ่งมีหลักการพื้นฐานดังนี้ครับ

1. หลักการพื้นฐานเบื้องต้นคือสรรพสิ่งทั้งหลายที่อัลลอฮฺสร้างขึ้นมาล้วนเป็นที่อนุมัติ ยกเว้นเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ระบุอย่างเจาะจงว่าเป็นที่ต้องห้าม

2. การกำหนดว่าสิ่งใดเป็นที่อนุมัติและสิ่งใดเป็นที่ต้องห้ามเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น มิใช่สิทธิของมนุษย์ไม่ว่าผู้นั้นจะมีศรัทธาหรืออำนาจสูงส่งเพียงใดก็ตาม ต้องนำสิทธินี้คืนให้แก่ผู้เป็นเจ้าของสิทธินั้น

3. การห้ามในสิ่งที่อนุมัติและการอนุมัติในสิ่งที่ต้องห้ามเทียบได้กับการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ (ชิรกฺ)

4. สาเหตุพื้นฐานในการห้ามต่าง ๆ นั้น เนื่องจากความไม่บริสุทธิ์และความเป็นอันตรายของสิ่งนั้น มุสลิมไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าทำไมสิ่งนั้น ๆ ถึงไม่บริสุทธิ์หรือเป็นอันตราย หรือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามนั้นไม่บริสุทธิ์หรือให้โทษได้อย่างไร ซึ่งบางสิ่งอาจจะมีเหตุผลที่ประจักษ์ชัดและบางสิ่งอาจจะดูเหมือนมีเหตุผลที่คลุมเครือ

5. สิ่งที่ได้รับอนุมัติเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับความจำเป็น และสิ่งต้องห้ามเป็นสิ่งที่เกินความต้องการ อัลลอฮฺทรงห้ามในสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือเกินความต้องการเท่านั้น ขณะเดียวกันพระองค์ก็ได้จัดสรรทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าไว้ให้แล้ว

6. สิ่งใดก็ตามที่นำไปสู่ “สิ่งต้องห้าม” สิ่งนั้นถือเป็นสิ่งต้องห้ามโดยตัวของมันเอง ถ้าหากสิ่งใดเป็นที่ต้องห้ามแล้ว อะไรก็ตามที่นำไปสู่สิ่งนั้นย่อมเป็นที่ต้องห้ามด้วยเช่นกัน

7. ไม่อนุญาตให้เอาสิ่งต้องห้ามมาเป็นของฮาลาล เป็นที่ต้องห้ามในการกำหนดสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามโดยการอ้างที่ขาดความน่าเชื่อถือ การเรียกสิ่งที่หะรอมว่าเป็นสิ่งฮาลาลนั้นจึงเป็นที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด

นอกจากหลักการ 7 ข้อข้างต้นแล้ว ยังมีหลักการที่สำคัญอื่น ๆ อีก 5 ข้อ ซึ่งเราจะมาบอกล่าวกันใหม่ในตอนหน้าครับ … อินชาอัลลอฮฺ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หลักการพื้นฐานของการพิจารณาเครื่องสำอางฮาลาล

ปัจจุบันสินค้าฮาลาลไม่ได้มีเพียงแค่อาหารเท่านั้น แต่ที่กำลังมาแรงและได้รับความนิยมกันมากนั่นก็คือ เครื่องสำอางฮาลาล ซึ่งมีตั้งแต่เครื่องแต่งหน้า ครีมทาผิว น้ำหอม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ธุรกิจเครื่องสำอางฮาลาลทั่วโลกมีมูลค่ามหาศาล กระแสความนิยมเครื่องสำอางฮาลาลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เรามาเรียนรู้กันว่า หลักการพื้นฐานในการกำหนดเครื่องสำอางฮาลาลต้องประกอบด้วยสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้

1. ฮาลาล
ฮาลาล คือหลักพื้นฐานสุดของการเป็นเครื่องสำอางฮาลาล ฮาลาลเป็นคำภาษาอาหรับที่หมายถึงอนุญาตหรืออนุมัติ สามารถตีความไปจนถึงการกระทำหรือสิ่งของที่อนุญาตโดยกฎหมายอิสลาม ซึ่งตรงข้ามกับคำว่าหะรอมที่หมายถึง ต้องห้าม เป็นตัวบ่งบอกการกระทำหรือสารหรือวัตถุดิบที่ไม่เป็นที่อนุมัติและไม่เป็นที่อนุญาตตามกฎหมายอิสลาม ฮาลาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ก่อนที่จะยอมรับสิ่งหนึ่งสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ฮาลาลได้นั้น จะต้องทำให้มั่นใจว่า การกระทำหรือสิ่งของที่นำมาใช้ในการผลิตต้องเป็นสิ่งที่ฮาลาลด้วยเช่นกัน

2. นญิสและมุตานญิส
นญิสเป็นสิ่งสำคัญรองลงมาของเครื่องสำอางฮาลาล นญิสเป็นคำภาษาอาหรับ หมายถึง สิ่งสกปรกในทางหลักการอิสลาม สารที่เป็นสิ่งสกปรกมุสลิมไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคหรือบริโภคได้ ซึ่งมีสารจำนวนมากที่เป็นนญิส แต่กระนั้นสารทั้งหมดเหล่านี้ ไม่ได้มีระดับความสกปรกอยู่ในระดับเดียวกันและด้วยเหตุนี้ นญิสจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ

• นญิสชนิดเบา ได้แก่ ปัสสาวะของเด็กผู้ชายซึ่ง อายุไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ได้กินหรือดื่ม สิ่งอื่นใดที่ทําให้อิ่ม นอกจากน้ำนม
• นญิสชนิดปานกลาง ได้แก่สิ่งที่ไม่อยู่ภายใต้นญิสชนิดเบา หรือนญิสชนิดหนักเช่น โลหิต น้ำหนอง น้ำเหลือง อาเจียน อุจจาระ ปัสสาวะ ซากสัตว์ที่ไม่ได้เชือด (ยกเว้นปลา และตั๊กแตน) แต่ต้องไม่ใช่ซากสัตว์ของนญิสชนิดหนัก และน้ำนมของสัตว์ที่ห้ามรับประทาน รวมถึงสิ่งที่ทําให้มึนเมาก็อยู่ในนญิสระดับปานกลางอีกด้วย
• นญิสชนิดหนัก ได้แก่สุกร สุนัข หรือสัตว์ที่เกิดมาด้วยการผสมพันธุ์กับสุนัขหรือสุกร และทุกสิ่งอัน เนื่องมาจากสัตว์ดังกล่าวนี้

มุตะนญิส คือ สิ่งที่ฮาลาลที่สัมผัสโดยตรงหรือปนเปื้อนกับสิ่งที่เป็นนญิส ด้วยเหตุนี้มุตะนญิส จึงมีความสำคัญเทียบเท่ากับนญิส

ในการชำระล้างมุตานญิสสามารถชำระได้ในบางกรณีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกๆวิธีจะสามารถนำมาใช้ในการล้างนญิสทุกสิ่งที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลได้ วิธีล้างชำระล้างนญิสประกอบด้วย

• วิธีล้างนญิสชนิดเบา ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วใช้น้ําพรมบนรอยที่เปื้อนนญิสนั้นให้ทั่ว โดยไม่จําเป็นต้องให้น้ำไหลผ่านก็ใช้ได้
• วิธีล้างนญิสชนิดปานกลาง ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่านอย่าง น้อย 1 ครั้งเพื่อให้สีกลิ่น รส หมดไป และในทางที่ดีให้ล้างเพิ่มเป็น 3 ครั้ง
• วิธีล้างนญิสชนิดหนัก ให้ชําระนญิสออกให้หมดเสียก่อน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดให้ไหลผ่าน 7 ครั้ง แต่ 1 ใน 7 ครั้งนั้น ต้องเป็นน ดินที่สะอาดตามศาสนบัญญัติอิสลามและมีสภาพขุนแขวนลอย หรือน้ำดินสอพอง และแนะนําให้ใช้น้ําดินล้างในครั้งแรก

3. ความปลอดภัย
ความปลอดภัยทางด้านสุขภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด ความปลอดภัยในที่นี้ไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์สุดท้ายเท่านั้นแต่ยังรวมถึงวัตถุดิบตั้งต้น ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฉลาก วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเป็นต้น ลูกจ้างในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลจะต้องมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงของโรคและการติดเชื้อก่อโรคต่างๆ และสิ่งที่สำคัญสุดคือ การทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้รับการผลิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (GMP)

4. คุณภาพ
คุณภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เครื่องสำอางฮาลาลชิ้นหนึ่งจะสามารถพิจารณาว่าฮาลาล ก็ต่อเมื่อเครื่องสำอางดังกล่าวผลิตได้คุณภาพตรงตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดทางด้านคุณภาพของเครื่องสำอางประเภทนั้นๆ

……………………………………..…….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
…………………………….
ข้อมูลจาก
www.puntofocal.gob.ar
www.nationtv.tv
มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : อาหารฮาลาล ( มกอช. 8400 – 2550)

การนำเส้นผมของมนุษย์มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร

จะเป็นอย่างไรหากคุณเห็นเส้นผมในอาหารที่คุณรับประทาน ? คุณคงขยะแขยงและไม่ต้องการมัน แต่พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า เส้นผมมนุษย์นั้นได้เข้าสู่กระบวนการแปรสภาพให้เป็นส่วนประกอบจริงๆในอาหาร และสารในคำถามนี้คือ แอล-ซิสเทอีน (L-cysteine)

:: แอล-ซิสเทอีน คืออะไร? ::
แอล-ซิสเทอีน เป็นกรดอะมิโนที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ในการทำขนมปัง แอล-ซิสเทอีนถูกนำมาใช้ลดระยะเวลาการผสมเพื่อให้เกิดโด (dough) ของแป้ง (ก้อนแป้งที่มีลักษณะยืดหยุ่นได้ดี เหนียว นุ่ม ไม่ขาดง่าย….ผู้แปล ) ยับยั้งการหดตัวของหน้าพิซซ่าหลังจากกางให้เป็นแผ่นเรียบ และช่วยยับยั้งการหดตัวของโดเนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการทำเบเกอรี่ หรือการหดตัวของโดเนื่องจากเครื่องปรับอากาศ ยิ่งไปกว่านั้นแอล-ซิสเทอีนยังถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเพื่อผลิตเป็นสารให้กลิ่นเนื้อ (meat flavour) ในผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ซุปก้อน

ถึงแม้ว่า แอล-ซิสเทอีนอาจจะมีอยู่ในอาหารจำนวนหนึ่ง แต่สารเหล่านี้ไม่เคยได้รับการระบุว่าเป็นส่วนประกอบในอาหาร เนื่องจากสารชนิดนี้ไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) แต่เป็นตัวช่วยหนึ่งในกระบวนการผลิต (processing aid)

:: แหล่งที่มาของ L-cysteine ::
ในปัจจุบัน แอล-ซิสเทอีนมากกว่า 80% ที่นำมาใช้ทั่วโลกถูกผลิตขึ้นในประเทศจีนซึ่งได้สกัดได้จากเส้นผมของมนุษย์และขนไก่

เส้นผมของมนุษย์นั้นอุดมไปด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิดคือ แอล-ซิสเทอีนและแอล-ไทโรซีน (L-tyrosin) มีแอล-ซิสเทอีนประมาณ 14% ในเส้นผมของมนุษย์ ในระหว่างการสกัดแอล-ซิสเทอีนนั้น โปรตีนเคราติน (keratin) จากเส้นผมมนุษย์จะถูกย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกและน้ำ หลังจากผ่านหลายๆขั้นตอน โปรตีนเคราตินก็ได้เปลี่ยนเป็นแอล-ซิสเทอีน 

:: ศาสนาอิสลามมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับแอล-ซิสเทอีน ::
ตามกฎหมายชารีอะฮฺ สำหรับมุสลิมแล้วการบริโภคส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสิ่งหะรอม จากการสัมภาษณ์มุฟตีของรัฐเปรัก (Perak) Dato’ Seri Dr Harussani bin Zakeria ทำให้ทราบว่า ทุกๆส่วนของร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้และควรได้รับความเคารพ ดังนั้น อาหารที่มีแอล-ซิสเทอีน เป็นส่วนประกอบเป็นสิ่งที่น่าสงสัย เนื่องจาก แอล-ซิสเทอีน อาจจะได้มาจากเส้นผมของมนุษย์ก็เป็นได้

ในมุมมองเรื่องนี้ ผู้บริโภคมุสลิมควรระมัดระวังเมื่อเลือกซื้ออาหารในท้องตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่อาจจะมีแอล-ซิสเทอีนเป็นส่วนประกอบ (เช่น ขนมปัง พิซซ่าและอาหารที่มีกลิ่นเนื้อ)

สิ่งที่ทุกคนควรทราบ นั่นคือ แอล-ซิสเทอีนที่นำมาใช้ในอาหารที่คุณซื้อ อาจจะมาจากเส้นผมของมนุษย์และอาจจะไม่ระบุไว้ในส่วนประกอบของอาหาร
……………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press

สุขภาพที่ดีและระบบอาหารที่สมดุล

ผู้คนจำนวนมากมีอุปนิสัยที่ไม่ดีในการรับประทานอาหารที่มากเกินความจำเป็นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งมักเป็นสาเหตุของโรคที่แตกต่างกัน เช่น ท้องผูก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอื่น ๆ อีกมากมาย นี่เป็นเพราะพวกเขาละเลยคำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และมารยาทที่ควรยึดมั่นในการรับประทานอาหารอิฟฏอรฺในช่วงเวลาละศีลอด คำแนะนำของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่มีผลดีต่อสุขภาพ คำแนะนำเหล่านั้นยังรวมถึงวิธีการเพื่อป้องกันการสร้างภาระหรือความเมื่อยล้าที่มีต่อร่างกาย ตลอดจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย วิธีการเหล่านี้จึงช่วยให้เราได้รับประโยชน์มหาศาลของการถือศีลอด

เพื่อให้บรรลุผลประโยชน์จากระบบสุขภาพที่ดีนี้ เราต้องปฏิบัติตามคำแนะนำบางประการซึ่งเกี่ยวกับนิสัยการกินของเราในช่วงที่อดอาหาร โดยมีคำแนะนำบางส่วนดังต่อไปนี้

รีบเร่งที่จะละศีลอดทันทีเมื่อได้เวลา: สะหฺล์ อิบนุ สะอฺด์ รอฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า ร่อซู้ลของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า 
“ผู้คนทั้งหลายจะยังคงอยู่ในความดี ตราบใดที่พวกเขารีบละศีลอดทันที (ที่ถึงเวลา)” [อัล-บุคอรีย์และมุสลิม]
“อยู่ในความดี” ที่นี่หมายถึงความเป็นอยู่ทั้งในด้านศาสนาและโลกนี้ การรีบละศีลอดทันทีไม่ได้หมายความว่าละเลิกที่จะอดอาหารก่อนเวลาที่กำหนด ความหมายคือทำการละศีลอดโดยไม่ล่าช้าในทันทีหลังจากดวงอาทิตย์ตกดิน การเร่งรีบเพื่อละศีลอดมีประโยชน์และส่งผลต่อผู้ที่ถือศีลอดที่ทำการอดอาหารเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 10-14 ชั่วโมง ในช่วงเวลาศีลอดผู้ถือศีลอดจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาของเหลวและพลังงานที่เขาสูญเสียไปในระหว่างวัน ผู้ที่ล่าช้าในการละศีลอดมักจะได้รับความทุกข์ทรมานจากการลดระดับของน้ำตาลในเลือดซึ่งส่งผลให้เกิดความอ่อนแอโดยรวม

ละศีลอดด้วยอินทผลัม: ผู้ถือถือศีลอดได้รับคำแนะนำจากรอซู่ล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ให้เริ่มละศีลอดโดยรับประทานอินทผลัมที่สุกหรือแห้ง ประโยชน์จากการทำเช่นนี้คือเป็นการชดเชยน้ำตาลในร่างกายที่เขาใช้ไประหว่างวันในขณะที่อดอาหาร หากเขาไม่สามารถหาอินทผลัมได้ สิ่งที่ดีที่สุดถัดมาคือน้ำสะอาด และอาจดื่มนมหรือน้ำซุปอุ่น ๆ ผู้ถือศีลอดควรหยุดพักสั้น ๆ (โดยการละหมาดมัฆริบ) เพื่อให้ร่างกายได้เตรียมตัวสำหรับขั้นตอนต่อไปในการรับประทานอาหารหลัก

การรับประทานอาหารหลักหลังจากการละหมาดมัฆริบ: เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีและระบบอาหารที่สมดุล อาหารหลักต้องประกอบด้วยส่วนประกอบพื้นฐาน ได้แก่ โปรตีน แป้ง น้ำตาล ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ไม่มีข้อจำกัดในอาหารประเภทใดนอกจากผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคบางชนิดซึ่งจำเป็นต่อเขาในการรับอาหารพิเศษ เราอยากจะให้มุ่งเน้นความสำคัญกับสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้:

• หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มากเกินควร
• ลดการบริโภคไขมันโดยรวม โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว และของหวาน
• ไม่รับประทานผักดอง เครื่องเทศ และพริกไทยในปริมาณมาก
• รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ
• ไม่ดื่มกาแฟ หรือชามากเกินไปเพราะจะเป็นภาระต่อกระเพาะอาหาร
• หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมของวัตถุกันเสีย

วิธีการหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก : เป็นที่รู้กันดีว่าท้องที่ว่างหลังจากอดอาหารเป็นเวลานานจะไม่รับอาหารจำนวนมากพร้อมกันทีเดียว มันสามารถทำได้ในระยะหนึงเท่านั้น การรับประทานอาหารปริมาณมากในครั้งเดียวจึงจะทำให้เกิดอาการปวดท้องและลำไส้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยในรูปแบบของเกิดก๊าซในกระเพาะอาหารและท้องผูก เช่นเดียวกับอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกขี้เกียจและเมื่อยล้า ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้ผู้ที่ละศีลอดปฏิบัติตามสองขั้นตอนนี้:

• ขั้นแรก : รับประทานอินทผลัมซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำและเตรียมกระเพาะอาหารสำหรับอาหารจานหลัก
• ขั้นที่สอง : การรับประทานอาหารหลักหลังจากที่ได้ละหมาด

คำเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี : ผู้คนใช้พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีในเวลาที่พวกเขาละศีลอดในเดือนรอมฎอน และเราจะยกมาบางส่วนของพฤติกรรมเหล่านั้น ดังต่อไปนี้ :

• นอนหลับหลังจากรับประทานมื้ออิฟฏอรฺ
• สูบบุหรี่ : ผู้คนจำนวนมากรีบที่จะจุดและเริ่มสูบบุหรี่เร็ว ๆ ในทันทีที่ดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นความคิดที่ (ผิด ๆ) ว่าสิ่งนี้เติมเต็มความกระหายของเขาได้ พวกเขาหลงลืมว่าการสูบบุหรี่เป็นอันตรายอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ท้องว่าง ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่เลวร้ายต่อความอยากอาหารของผู้อดอาหาร ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ไม่ดีอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย
• ดื่มชา หรือกาแฟ และน้ำหวานอื่น ๆ ในปริมาณมาก เครื่องดื่มเหล่านี้ส่งผลเสียต่อกระเพาะอาหาร

สุดท้ายนี้ ผู้ถือศีลอดต้องระลึกถึงคำแนะนำของร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เสมอ อัล-มิกดาด บิน มะอฺดีย์ กะริบ รอฮิมาฮุลลอฮฺ รายงานว่า 
“ฉันได้ยินร่อซู้ลของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า ไม่มีภาชนะใดที่มนุษย์จะเติมเต็มสิ่งไม่ดีลงไปได้มากไปกว่าท้องของเขา เป็นการเพียงพอแล้วที่เขาจะบริโภคอาหารแต่น้อยให้พอพยุงร่างกายได้ แต่หากว่าจำเป็นต้องบริโภคมากกว่านั้น ก็ให้แบ่งหนึ่งส่วนสามสำหรับอาหาร หนึ่งส่วนสามสำหรับเครื่องดื่ม และอีกหนึ่งส่วนสามสำหรับลมหายใจ” [อัต-ติรมีซีย์] 
การรายงานนี้ทำให้เราไม่สามารถรับประทานอาหารที่มากเกินควรได้ เนื่องจากเป็นเหตุให้เกิดความเกียจคร้านและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในกระบวนการเชือดสัตว์ฮาลาล

• ไม่ควรขว้างปาหรือเหวี่ยงสัตว์ลงบนพื้นอย่างแรง อีกทั้งยังห้ามลับมีดต่อหน้าสัตว์ที่จะทำการเชือด มีรายงานเมื่อครั้งหนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ผ่านไปเห็นชายผู้หนึ่งที่กำลังจะเชือดแพะของเขา โดยที่เขาได้เหวี่ยงแพะของตนเองลงบนพื้น และใช้เท้ากดศีรษะของมันและจากนั้นก็ลับมีดที่จะเชือดไปด้วย ท่านนบีจึงกล่าวว่า “แพะตัวนี้ไม่ได้สิ้นใจตายไปก่อนที่จะถูกเชือดหรอกหรือ? ท่านประสงค์ที่จะฆ่ามันถึงสองครั้งเชียวหรือ? ท่านอย่าได้เชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์อื่น และท่านอย่าได้ลับมีดของท่านต่อหน้าสัตว์ที่จะเชือด” 

• ไม่ควรใช้มีดระหว่างการเชือดกรีดลงไปถึงไขสันหลังหรือตัดส่วนหัวจนขาดจากกันโดยสิ้นเชิงในระหว่างการเชือด ซึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทุบหรือตีบริเวณส่วนหลังของลำคอสัตว์ให้เสียชีวิตภายในครั้งเดียว หรือที่เรียกกันว่า ‘Jhatka’ (เป็นกระบวนเชือดสัตว์โดยใช้ดาบฟันเข้าไปที่ลำคอจากด้านหลังของสัตว์) ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นที่รังเกียจสำหรับชาวมุสลิมอย่างยิ่ง

• ไม่ควรหักคอ ถลกหนัง หรือชำแหละชิ้นส่วนของสัตว์ก่อนที่สัตว์นั้นจะตายสนิท ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า “ท่านอย่าได้รีบเร่งที่จะจัดการกับวิญญาณ (ของสัตว์) ก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะอยู่ในสภาพสิ้นชีวิต” บางครั้งในธุรกิจการค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน โรงเชือดสัตว์บางแห่งก็รีบชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ขณะที่สัตว์ยังมีชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือว่าผิดหลักการ ‘ซะบีหะฮฺ’ 

• ไม่ควรใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ชำรุดเสียหายในกระบวนการเชือด ‘ซะบีหะฮฺ’ ท่านนบีมุฮัมมัดได้กำชับไว้ว่า มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมและต้องถูกเก็บซ่อนไว้จากสัตว์ที่จะเชือด 

• ไม่ควรเชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์ตัวอื่นหรือตัวที่จะถูกเชือดถัดไป วิธีการเช่นนี้ถือว่าผิดหลักมนุษยธรรมในขั้นตอนและกระบวนการเชือดสัตว์ที่ถูกต้อง

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาและวิธีการที่ถูกต้องในกรรมวิธีการเชือดสัตว์ ‘ซะบีหะฮฺ’ ที่ต้องดำเนินไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตั้งแต่การกล่าวนามผู้เป็นเจ้าก่อนเชือด เพื่อเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและความจริงที่ว่าทุกชีวิตนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การกล่าว ‘ตัสมียะฮฺ’ ยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกอ่อนโยนและเมตตาธรรมเพื่อป้องกันมิให้ผู้เชือดกระทำการสิ่งใดที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าสัตว์ที่กำลังถูกเชือดในนามของพระเจ้านั้นมีเป้าหมายเพียงเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวถือว่าต้องห้ามในอิสลาม

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ส่วนประกอบที่ถูกซ่อนไว้กับประโยชน์ของเครื่องหมายรับรองฮาลาล

ฉลากสินค้านั้น สร้างมาเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ด้วยเหตุนี้ รายละเอียดข้อมูลในฉลากควรมีความสมบูรณ์ และมีความหมายที่ชัดเจน

ฉลากนอกจากการออกแบบเพื่อให้ดึงดูดใจผู้บริโภคแล้ว ยังมีฉลากโภชนาการและส่วนประกอบที่สำคัญของสินค้าอีกด้วย ตรงบริเวณส่วนประกอบโดยส่วนใหญ่ไม่ระบุแหล่งที่มาของส่วนประกอบและมีส่วนประกอบบางประเภทถูกซ่อนไว้ ไม่ระบุไว้บนฉลาก อย่างเช่น สารที่ช่วยในกระบวนการผลิต (processing aids) สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน (anticaking agents) สารที่ใช้เป็นตัวพา (carriers) และส่วนประกอบเสริมอื่นๆ (incidental ingredients) ที่มาจากหลากหลายแหล่ง 

ส่วนประกอบที่ซ่อนไว้จึงถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญสำหรับผู้บริโภคมุสลิม ยกตัวอย่าง ในฉลากไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของสเตียเรท อาทิ เมกนิเซียมสเตียเรท (magnesium stearates) หรือแคลเซียมสเตียเรท (calcium stearates) ที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตลูกกวาดและหมากฝรั่ง ผู้ผลิตบางรายในยุโรปก็ใช้ไขมันพืชหรือไขมันสัตว์มากถึง 5 % ในกระบวนการผลิต แต่ถึงกระนั้นก็ยังระบุในฉลากว่าผลิตภัณฑ์ของตนนั้นเป็นช็อกโกแลตบริสุทธิ์ แน่นอนว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะระบุรายการส่วนผสมทั้งที่เป็นส่วนสำคัญและส่วนไม่สำคัญทุกอย่างลงไปบนฉลาก ดังนั้นการรับรองมาตรฐานฮาลาลในผลิตภัณฑ์ รวมถึงเครื่องหมายฮาลาล และตราฮาลาลที่เหมาะสม สามารถช่วยไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภคได้

เครื่องหมายฮาลาลที่อยู่บนผลิตภัณฑ์อาหารจะช่วยให้ผู้บริโภคมุสลิมไม่จำเป็นต้องคอยท่องรายการ E-number (รายการวัตถุเจือปนอาหารที่ได้รับอนุญาตใส่เข้าไปในอาหาร) ที่น่าสงสัยของผลิตภัณฑ์ในยุโรป หรือไม่ต้องคอยท่องรายการส่วนผสมทางเคมีทุกครั้งเวลาออกไปจับจ่ายซื้อของในท้องตลาด เพราะเครื่องหมายฮาลาลจากหน่วยงานที่ได้รับความน่าเชื่อถือไม่เพียงแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ฮาลาลแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจสอบ อนุมัติและรับรองจากสถาบันที่รับผิดชอบอีกด้วย

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

วิสัยทัศน์ใหม่ฮาลาลประเทศไทย ก้าวหน้าด้วยแบรนด์ฮาลาลเพชร

ปาฐกถาพิเศษโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

จบไปแล้วอย่างยิ่งใหญ่กับการจัดงาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2018 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ระหว่างวันที่ 14 – 16 ธันวาคม 2561 ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมและได้รับการตอบรับด้วยดีทั้งจากไทยและต่างประเทศ ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆเยอะแยะมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การปาฐกถาพิเศษของ รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อ “ วิสัยทัศน์ใหม่ฮาลาลประเทศไทย ก้าวหน้าด้วยแบรนด์ฮาลาลเพชร” ซึ่งท่านได้เริ่มกล่าวถึงที่มาของงานทางด้านฮาลาลเริ่มต้นจากบทบัญญัติศาสนาที่มาจากอัลกุรอานซึ่งกล่าวถึงคำว่า حلال จำนวน 6 ครั้งในโองการต่างๆและก้าวมาสู่มาตรฐานฮาลาลในปัจจุบัน 
.
ประเทศไทยเริ่มกระบวนการรับรองฮาลาล เมื่อปี พ.ศ. 2492 จากการรับรองกระบวนการเชือดสัตว์ ต่อมาปี พ.ศ. 2541 มีการประกาศใช้มาตรฐานฮาลาล มอก. 1701 –2541 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศของไทย ในกระบวนการรับรองฮาลาลประเทศไทย ประชากรมุสลิมทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับรองฮาลาลที่มาจากโครงสร้างการคัดเลือก เริ่มตั้งแต่มุสลิมในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยคัดเลือกอิหม่ามประจำมัสยิด อิหม่ามคัดเลือกกรรมการอิสลามประจำจังหวัด กรรมการอิสลามประจำจังหวัดคัดเลือกกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและจุฬาราชมนตรีซึ่งทำหน้าที่ลงนามอนุมัติการรับรองฮาลาลเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะได้รับการรับรอง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ดูแลงานทางด้านฮาลาล ที่ดำเนินงานภายใต้แนวทาง “ศาสนารับรอง วิทยาศาสตร์รองรับ” 

ในส่วนงานด้านวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาทสำคัญในงานฮาลาลประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ฮาลาลไทย เนื่องจากความซับซ้อนของกระบวนการผลิตที่มีการเจือปนสิ่งต้องห้ามในผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ด้วยเหตุนี้การใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาตรวจพิสูจน์สภาพฮาลาลและงานการมาตรฐานฮาลาลอย่างระบบ HAL-Q ก่อนการขอการรับรองฮาลาล รวมทั้งงานวิจัยและพัฒนาสบู่ดินเพื่อชำระล้างนญิสหนักในอุตสาหกรรม จึงมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากประเทศไทย

ยุทธศาสตร์การนำฮาลาลประเทศไทยก้าวไกลสู่สากลนั้น ประเทศไทยให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานฮาลาลมาโดยตลอด ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลและสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านฮาลาลอย่างสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามมติคณะรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยและได้ผลักดันสู่มาตรฐาน Thailand Diamond Halal

Thailand Diamond Halal หรือฮาลาลเพชร มีการเพิ่มมาตรฐานใหม่ๆรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ เปลี่ยนวิสัยทัศน์ฮาลาลประเทศไทยใหม่ จากโลโก้ฮาลาล มาเป็นแบรนด์ฮาลาล จากสินค้าฮาลาลจำหน่ายตลาดมุสลิมมาสู่สินค้าฮาลาลเพื่อทุกคน (Halal for All) โดยนำแนวทางฮาลาลแม่นยำ (Precision Halalization) ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเสริมศักยภาพฮาลาลของไทย อย่าง “ระบบ SPHERE” ซึ่งเป็นระบบศูนย์ข้อมูลการแลกเปลี่ยนทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ด้านฮาลาล ด้วยการนำระบบ Big DATA ที่เชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์ฮาลาลไว้ในทุกกระบวนการตั้งแต่การยื่นขอรับรองการผลิต การตรวจสอบ ไปจนถึงการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆของทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน การนำ App HALAL ROUTE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนมือถือเพื่อเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวฮาลาลของไทย และฐานข้อมูล H-Number ซึ่งหมายถึง Halal Number ที่เป็นฐานข้อมูลวัตถุเจือปนหรือสารเติมแต่งฮาลาลที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัมผัส สี กลิ่นรส การปรับปรุงคุณภาพและการเก็บรักษาเข้ามาทดแทนฐานข้อมูล E-Number ที่ใช้กันโดยทั่วไปในอุตสาหกรรมซึ่งมีทั้งที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล เพื่อเป็นการลดการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการในการยืนยันสภาพฮาลาลของวัตถุดิบ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและเพิ่มประสิทธิภาพการรับรองฮาลาลประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการแข่งขันของตลาดสินค้าฮาลาล ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมฮาลาลต่อไป

…………………………………………….
#THAILANDHALALASSEMBLY2018
#PrecisionHalalization


ฟิกฮ์ อิสติฮาละฮ์ การบูรณาการวิทยาศาสตร์กับหลักนิติศาสตร์อิสลาม

แนวคิดอิสติฮาละฮ์นั้นเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปใช้ร่วมกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาทางออกและกำหนดท่าทีในเรื่องฮาลาลและหะรอมของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสังคมในปัจจุบัน

ทางทีมฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานีได้จัดทำ e-book เล่มเล็กเกี่ยวกับความเข้าใจในประเด็นอิสติฮาละฮ์กับการบูรณาการทางด้านวิทยาศาสตร์และหลักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งเป็นผลงานการศึกษาของ Mohammad Aizat Jamaludin จากสถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ฮาลาล มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย และ Mohd Anuar Ramli จากแผนกฟิกฮ์และอุศูล คณะอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยมาลายา 

โดยเนื้อหาใน e-book เล่มเล็กชิ้นนี้ เป็นการวิเคราะห์โดยใช้หลักนิติศาสตร์อิสลามกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพิจารณาการอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารบางประเภทกับการนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยในการอธิบายความรู้ และสร้างความเข้าใจในประเด็นใหม่ๆของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่เชื่อมโยงกับหลักนิติศาสตร์อิสลาม e-book เล่มเล็กชิ้นนี้ จะโฟกัสในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้แอลกอฮอล์และเจลาตินในผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวคิดอิสตะฮาละฮ์กับวิทยาศาสตร์

ทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า e-book เล่มเล็กเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับท่านและสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ต่อไป อินชาอัลลอฮ

…………………………………………………………………
Link e-book 
https://drive.google.com/open…

ปรัชญาเรื่องอาหารในอิสลาม

อาหารเป็นมากกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต อาหารถือว่าเป็นแหล่งที่มาขั้นปฐมภูมิในการเติมเต็มสารัตถะทางจิตวิญญาณของเราและการทำงานจากภายในที่จำเป็นต้องมีสำหรับทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง เพื่อการตระหนักรู้และชีวิตที่สมดุล แท้จริงการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เน้นย้ำในอัล-กุรอานและอัส-สุนนะฮฺต่อบทบาทของอาหารในความสัมพันธ์ของมนุษย์กับผู้เป็นเจ้าของเขา ตลอดจนในวิธีการที่มนุษย์จะจัดการกับเรื่องนี้ ตั้งแต่การจัดหาไปจนถึงการบริโภค และขอบเขตของผลกระทบที่มีต่อชีวิตที่จะยกระดับจิตสำนึกและเติมเต็มความรู้สึกด้วยความเกรงกลัวต่อผู้เป็นเจ้า ท่านลองอ่านจากสูเราะฮฺ อัร-เราะอฺดฺ ที่ว่า 

“และพระองค์คือผู้ทรงแผ่แผ่นดิน และในนั้นทรงทำให้มันมีภูเขามั่นคง และลำน้ำมากหลาย และจากพืชผลทุกชนิดทรงให้มีจำนวนคู่ ทรงให้กลางคืนครอบคลุมกลางวัน แท้จริงในการนั้นแน่นอนย่อมเป็นสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ใคร่ครวญ,และในแผ่นดินมีเขตแดนติดต่อใกล้เคียงกัน และมีสวนพฤกษา เช่น ต้นองุ่น และต้นที่มีเมล็ด และต้นอินทผลัมที่มาจากรากเดียวกัน และมิใช่รากเดียวกัน ได้รับแหล่งน้ำเดียวกัน และเราได้ให้บางชนิดดีเด่นกว่าอีกบางชนิดในรสชาติ แท้จริงในการนั้น แน่นอนเป็นสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ใช้ปัญญา” [13:3-4]

อาหารในอายะฮฺนี้ เช่นเดียวกับอายะฮฺอื่น ๆ ถูกเชื่อมโยงกับห่วงโซ่แห่งการสร้าง เพราะมันมิได้สิ้นสุดเพียงแค่นี้ ยิ่งไปกว่านั้นอัล-กุรอานได้บอกเราว่าการทดสอบครั้งแรกที่มนุษย์ต้องเผชิญ – ขณะที่อยู่ในสวนสวรรค์ – นั้นเกี่ยวข้องกับต้นไม้ต้นหนึ่ง อันเป็นแหล่งที่มาของอาหาร ดั่งเช่นชาวอิสราเอลต้องตกอยู่ในความทุกข์ยากเนื่องจากพวกเขาไม่ชอบที่จะรับประทานอาหารที่พระองค์ทรงมอบให้กับพวกเขา ซึ่งกำหนดช่วงเวลาหนึ่งและยืนกรานขอให้นบีมูซาขอต่ออัลลอฮฺเพื่อให้เพิ่มความหลากหลาย เหมือนที่สานุศิษย์ของนบีอีซาได้รับอาหารจากสวรรค์ แต่เนื่องด้วยพวกเขาไม่ได้เอาใจใส่ต่อคำแนะนำของท่านนบีอีซาที่จะแสวงหาความมีศรัทธาอันแรงกล้าผ่านการกระทำมิใช่ความมหัศจรรย์ … พวกเขาได้รับการบอกกล่าวว่ าพวกเขาจะถูกตัดสินอย่างแน่นอนในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ หากว่าพวกเขาแสดงให้เห็นถึงความอกตัญญูต่ออัลลอฮฺ และเมื่อมันถึงช่วงเวลาสุดท้ายและสาส์นสุดท้ายของผู้เป็นเจ้าได้ประทานลงมา อัล-กุรอานและอัส-สุนนะฮฺเสนอสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการให้เหตุผลสำหรับการกำหนดเรื่องอาหารและการกินในฐานะว่าเป็นส่วนที่สำคัญของศาสนาและชีวิต หลักฐานสำหรับเรื่องนี้ในตัวบทที่ถูกประทานลงมาในอิสลามนั้นมีมากมาย มีตัวอย่างมากกว่า 100 อายะฮฺและหะดีษได้ให้คำตักเตือนที่เชื่อมโยงโดยตรงกับอาหารและการกิน รวมไปถึงหะดีษศอเฮี้ยะฮฺที่เตือนถึงการบริโภคอาหารหะรอม (สิ่งที่เป็นอันตรายหรือสิ่งที่ได้รับด้วยทางที่ผิดหลักนิติธรรม มีความอยุติธรรมตลอดจนช่องทางที่ได้รับผลประโยชน์) ที่จะทำให้การอิบาดะฮฺของคน ๆ หนึ่งนั้นไร้ผล

บางคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงมีการเชื่อมโยงกันนี้ระหว่างอาหารที่ไม่ดีกับสิ่งที่ทำให้เกิดผลเสียในความสัมพันธ์กับอัลลอฮฺ ตะอาลา? เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อ กระบวนการผลิต ตลอดจนการบริโภค คำสอนต่าง ๆ ของอิสลามเป็นเหมือนคำพยากรณ์ เหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์สามารถที่จะแทรกแซงสภาพแวดล้อมและปรับเปลี่ยนแหล่งอาหารได้มากขึ้นโดยการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะรวมไปถึงการเปลี่ยนธรรมชาติไปในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตด้วยกลไกลทางพันธุกรรม นับตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาบวกกับการดำเนินการทางธุรกิจที่แข่งขันกันมากขึ้นบริษัทขนาดใหญ่และข้ามชาติต่างแสวงหาผลกำไรเป็นเป้าหมายหลักของพวกเขา ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเวลานี้ที่จะบรรลุถึงสิ่งที่เรากำลังประสบกับอันตรายในปัจจุบันจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งในสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมของเรา ความขาดแคลนในเรื่องอาหารที่เพิ่มขึ้นรอบโลกและการแพร่กระจายที่เพิ่มขึ้นของความทุกข์ยากที่ไม่รู้ถึงการเยียวยาความเจ็บป่วยนี้มาก่อน

นี่ไม่ใช่สาส์นแห่งความวิบัติ แต่มันเป็นเรื่องที่มีความหวังและเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าเราทุกคนสามารถกระทำบางสิ่งที่จะปรับปรุงให้สถานการณ์ของโลกดีขึ้นและเป็นแรงบันดาลให้กับคนอื่นเสียมากกว่า สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเริ่มนั่นคือจะต้องรับประทานอาหารในวิถีที่ฮาลาล เรื่องนี้อาจจะต้องเรียนรู้ในสิ่งที่มันเป็น แต่ถ้าเรานึกถึงสิ่งที่มันห้ามมิให้มีการละเมิด การทำร้ายและการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ใช่แต่เพียงมนุษย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงสัตว์ตลอดจนสภาพแวดล้อมด้วยเช่นกัน เราจะต้องเข้าใจว่าทำไม นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนการเรียกร้องของผู้รู้จำนวนมากและองค์กรหลายแห่งในเรื่องการรับประทานออร์แกนิค (สารอินทรีย์) และการบริโภคอย่างชาญฉลาด

แต่ประการสำคัญที่สุดต้องรู้ว่ามันทั้งหมดเริ่มต้นด้วยกับการสนับสนุนทัศนคติและการปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องเกี่ยวกับการกินและอาหาร มันเป็นการขาดการอบรมศีลธรรมในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ในหลายวัฒนธรรมไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งได้นำอาหารกลับไปสู่สัญลักษณ์แห่งความละโมบและความตาย เราจะต้องทำงานร่วมกันที่จะทำให้อาหารนั้นกลับมาเป็นสัญลักษณ์และคำเปรียบเปรยแห่งความเอื้อเฟื้อ ความรัก ความทุ่มเท และความเห็นแก่ผู้อื่นอีกครั้ง เราทุกคนทำได้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก islamweb.net