แนวทางปฏิบัติสำหรับการเชือดสัตว์ฮาลาล (ซะบีหะฮฺ) ในทางอุตสาหกรรม

ภายใต้บทบัญญัติและนิติศาสตร์อิสลามจะมีแนวทางปฏิบัติสำหรับการเชือดสัตว์ฮาลาล (ซะบีหะฮฺ) ทั้งที่เป็นข้อกำหนดพื้นฐานซึ่งเป็นข้อบังคับ และข้อกำหนดเพิ่มเติมที่ไม่ได้บังคับแต่อยู่ในสถานะที่ได้รับการส่งเสริมให้ปฏิบัติ 

::ข้อกำหนดพื้นฐาน::
• ปศุสัตว์และสัตว์ปีกจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ฮาลาลและมีชีวิตอยู่จนถึงกระบวนการเชือด
• การเชือดจะต้องกระทำโดยชาวมุสลิมที่บรรลุศาสนภาวะและมีสติปัญญาครบถ้วนสมบูรณ์ นอกจากนี้ผู้เชือดจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมวิธีการเชือดตามชนิดและขนาดของสัตว์ที่จะเชือด
• ขณะเชือดจะต้องกล่าวนามของผู้เป็นเจ้า (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร) โดยผู้ดำเนินการเชือดเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา
• การเชือดสัตว์จะต้องเริ่มที่ส่วนหน้าของลำคอด้วยการตัดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดดำใหญ่ หลอดลม และหลอดอาหาร แต่จะต้องไม่ตัดถึงเส้นประสาทไขสันหลังที่อยู่หลังกล้ามเนื้อลำคอ
• มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมและสามารถใช้ตัดได้อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้สัตว์รู้สึกทรมานจากการเชือด
• เลือดจะต้องไหลออกมาอย่างสมบูรณ์และสัตว์จะต้องเสียชีวิตเนื่องจากการเสียเลือด ไม่ใช่เสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น เช่น พิษบาดแผล ความเจ็บปวด หรืออุบัติเหตุ

::ข้อกำหนดเพิ่มเติม::
• ปศุสัตว์หรือสัตว์ปีกที่นำมาเชือดควรมีสุขภาพที่ดีปราศจากโรคและการติดเชื้อ
• ก่อนกระบวนการเชือด ปศุสัตว์หรือสัตว์ปีกควรได้รับน้ำดื่มและการปฏิบัติด้วยความเมตาตามหลักมนุษยธรรม เพื่อให้สัตว์ที่เชือดได้รู้สึกสงบ ผ่อนคลาย ไม่เครียด หรือไม่มีอาการตื่นเต้น
• ผู้เชือดควรหันหน้าไปทางนครมักกะฮฺ (กิบละฮฺ) ขณะทำการเชือด
• สามารถใช้วิธีที่ลดความอ่อนไหวของสัตว์ (Desensitize) หรือใช้วิธีควบคุมการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่จะเชือดด้วยการจับมัดตามความเหมาะสม เพื่อควบคุมสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ขณะทำการเชือด ‘ซะบีหะฮฺ’ หากสัตว์เกิดเสียชีวิตเนื่องจากการทำดีเซ็นซีไทส์ ชิ้นส่วนของสัตว์นั้นจะถือว่าต้องห้าม (หะรอม) แก่การบริโภคโดยชาวมุสลิม
• ไม่ควรตัดหรือชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งก่อนเชือดและหลังเชือดจนกว่าสัตว์จะอยู่ในสภาพที่สิ้นชีวิตอย่างสมบูรณ์

::สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ::
• ไม่ควรปล่อยให้สัตว์หิวโดยไม่ให้อาหารและน้ำแก่สัตว์
• ไม่ควรลับมีดขณะจับสัตว์มารอเชือด
• ไม่ควรลับมีดและสร้างความหวาดกลัวต่อหน้าสัตว์ที่กำลังจะถูกเชือด
• ไม่ควรเชือดจนทำให้ศีรษะของสัตว์ตัดขาดจากกัน หรือเชือดลึกไปจนถึงกระดูกลำคอของสัตว์
• ไม่ควรหักคอของสัตว์ขณะที่เลือดกำลังไหลอยู่
• ไม่ควรถลกหนังขณะที่สัตว์ยังมีชีวิตอยู่
• ไม่ควรใช้มีดที่ไม่คมหรือใช้มีดที่ไม่เหมาะสมกับขนาดของสัตว์ในการเชือดซะบีหะฮฺ

…………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ฉลากและบรรจุภัณฑ์กับข้อควรระวังในการผลิตอาหารฮาลาล

ในกระบวนการผลิตอาหารที่มีหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์อาหารในรูปแบบที่แตกต่างกัน แม้จะดูเหมือนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลโดยตรง แต่ประเด็นที่เป็นปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ก็มีส่วนสำคัญและส่งผลกระทบทางจิตใจต่อผู้บริโภคมุสลิมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุอาหารบางชนิดสร้างความคลางแคลงใจถึงสถานะของฮาลาล หลายกรณีที่สเตียเรทที่มีแหล่งที่มาทั้งจากสัตว์หรือจากพืช อาจถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตถุงพลาสติกและภาชนะ ขี้ผึ้งและสารเคลือบอื่นที่นำมาประยุกต์ในการผลิตพลาสติก กระดาษ ไปจนถึง ถ้วยหรือจานโฟม อาจใช้ไขมันสัตว์ที่อยู่ในระยะการอบอ่อนโดยใช้ความร้อนสูง ซึ่งความร้อนดังกล่าวสูงมากพอที่จะขจัดร่องรอยมิให้ทราบว่า ในขั้นตอนก่อนหน้ามีการใช้วัตถุดิบที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์มาก่อน ส่วนกระป๋องและถังโลหะก็อาจมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนจากไขมันสัตว์เช่นกัน

นอกจากนี้ การขึ้นรูป การม้วน และการตัดแผ่นเหล็กในกระบวนการผลิตภาชนะบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องใช้น้ำมันในขั้นตอนการผลิต ซึ่งน้ำมันที่ใช้อาจเป็นน้ำมันที่ได้จากสัตว์ บ่อยครั้งที่ภาชนะอย่างถังเหล็กจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งถังเหล็กเหล่านั้นอาจเคยบรรจุอาหารที่มีเนื้อสุกรหรือไขมันจากสุกรเป็นส่วนประกอบ ถึงแม้ว่าถังเหล็กจะผ่านการทำความสะอาดอย่างเคร่งครัดจนเราคิดว่าสะอาดแล้วก็ตาม ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปนเปื้อนต่อผลิตภัณฑ์ฮาลาล

ฉลากและการพิมพ์บนอาหารก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องคำนึง ไม่ว่าจะเป็นฉลากแบบกระดาษหรือแบบพลาสติก กาวทั่วไปหรือกาวร้อนที่นำไปใช้ติดฉลากบนผลิตภัณฑ์ การพิมพ์ฉลากบนผลิตภัณฑ์โดยตรงด้วยสารหรือน้ำหมึกที่สามารถรับประทานได้ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับกระบวนการพิมพ์ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย หากแต่วัตถุดิบที่ใช้พิมพ์เหล่านี้อาจมีส่วนประกอบที่ไม่ได้รับการอนุมัติตามมาตรฐานอาหารฮาลาล ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ผู้ผลิตเหล่านี้ทำการละเมิดข้อกำหนดของมาตรฐานฮาลาลหรือไม่ หากกระบวนการพิมพ์มีการไหลซึมเข้าไปในอาหาร แม้จะมีปริมาณที่เล็กน้อยก็ตาม? เป็นไปได้ว่าหน่วยงานที่รับรองฮาลาลบางหน่วยงานในหลายประเทศอาจพิจารณาว่า การรั่วซึมเหล่านี้สามารถทำให้สถานะฮาลาลของผลิตภัณฑ์อาหารเป็นโมฆะได้ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานรับรองฮาลาลหลาย ๆ หน่วยงาน โดยเฉพาะในประเทศนำเข้าจะให้ความสำคัญและให้ความใส่ใจในเรื่องของการปนเปื้อนข้ามในระหว่างกระบวนการบรรจุหีบห่อด้วยเช่นเดียวกัน

………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีฮาลาลของประเทศไทย

งานวิทยาศาสตร์ฮาลาล เริ่มต้นจากปัญหาข่าวลือก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ทาด้วยน้ำมันหมู นี่คือจุดเริ่มต้นของการค้นหาความจริงโดยใช้กระบวนการทางด้านวิทยาศาสตร์และความรู้หลักศาสนบัญญัติอิสลามมาพัฒนาเป็นวิทยาศาสตร์ฮาลาล ซึ่งปัจจุบันมีงานต่างๆที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนามาอย่างมากมาย ต่อยอดจากงานเดิมที่ยกระดับขึ้น 
.
เมื่อเข้าสู่ยุค 4.0 มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมายที่พร้อมจะต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีฮาลาล พัฒนาและยกระดับสินค้าฮาลาลจากประเทศไทย ส่วนหนึ่งของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารฮาลาลนั่นคือการขับเคลื่อนโลจิสติกส์ทางด้านข้อมูลที่ชื่อว่า HABIDAH ที่พัฒนาโดยทีมงานจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่

HABIDAH ย่อมาจากคำว่า Halal Big Data House เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ใช้รองรับและวิเคราะห์ข้อมูลด้านฮาลาลทั้งระบบ ซึ่งแต่เดิมยังเป็นข้อมูลที่กระจัดกระจายไปตามองค์กรต่างๆ ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางตรงข้ามหากระบบมีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันทั้งในส่วนของภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรศาสนา สถานประกอบการและผู้บริโภค จะทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางด้านสารสนเทศขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง และช่วยยกระดับมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดย HABIDAH เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลที่สมบูรณ์แบบและสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมและทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เรียกว่า ระบบ SPHERE หรือ System Protocol for Halal Electronic Resource Exchanges โดยระบบจะทำการรวบรวมและแลกเปลี่ยนในรูปแบบการให้และรับข้อมูลในเวลาเดียวกันเพื่อสามารถนำไปประมวลผลและทำงานให้ทันสมัยตลอดเวลา

หากจะเปรียบเทียบแล้ว ข้อมูลต่างๆที่มีในอุตสาหกรรมนั้น เปรียมเสมือนปุ๋ย น้ำและแร่ธาตุต่างๆ ที่ถูกดูดซึมโดยต้นไม้เล็กๆต้นหนึ่งซึ่งก็คือระบบ SPHERE และเมื่อต้นไม้ได้เจริญเติบโตจนสมบูรณ์และสามารถผลิดอกที่หว่านดำ จนสามารถนำไปรับประทานได้ จนกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่เรียกว่า HABIDAH (Halal Big Data House) นั่นเอง

…………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
Ref : www.halalthai.comhttps://www.youtube.com/watch?v=adj_Ehk2Fd0

ฮาลาลมีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมุสลิมเป็นจำนวนมาก และจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตกียวในปี 2020 สำนักข่าวจาร์กาต้ารายงานว่า ความนิยมการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในหมู่นักท่องเที่ยวมุสลิม ในปี 2017 มีจำนวน 700,000 คน ซึ่งร้อยละ 27 มาจากอินโดนีเซีย ตามดัชนีอันดับนักท่องเที่ยวมุสลิม MasterCard-Crescent (JMTI) คาดการว่า จะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นล้านคนในปี 2018 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของญี่ปุ่นที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็น 40 ล้านคนภายในปี 2020 จากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ด้วยจำนวนประชากรมุสลิมคิดเป็นหนึ่งในสี่ของประชากรโลกจึงเหมาะสมที่จะดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ฮาลาล มีเดีย เจแปน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททางด้านสื่อ ที่ให้ข้อมูลที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม เช่น สถานที่ละหมาด อาหารฮาลาล ผลิตภัณฑ์และอื่นๆ เพื่อให้ญี่ปุ่นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมุสลิม อากิฮิโระ ชูโกะ (Akihiro Shugo) ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า ‘เราสนับสนุนให้บริษัท และรัฐบาลท้องถิ่นส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาลและต้อนรับนักท่องเที่ยวมุสลิมให้เข้ามาในประเทศมากยิ่งขึ้น เรารับผิดชอบในการให้คำแนะนำร้านอาหารและร้านค้าเกี่ยวกับวิธีเข้าถึงลูกค้าที่เป็นมุสลิม’

ฮาลาล มีเดีย เจแปน เริ่มต้นในปี 2014 เนื่องจากความต้องการข้อมูลด้านภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆจากญี่ปุ่น แม้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ‘นอกเหนือจากนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้น 4-5 เปอเซนต์แล้วผู้ที่เข้ามาทำงาน ทำธุรกิจและศึกษาต่อจากประเทศมุสลิมก็เพิ่มขึ้นในประเทศนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้นความต้องการข้อมูลประเภทนี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้’ อากิฮิโระ กล่าวเสริม

ทุกวันนี้ ฮาลาล มีเดีย เจแปน เป็นผู้สนับสนุนหลักให้เกิดร้านอาหารที่เป็นมิตรกับมุสลิมให้มีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในประเทศ ‘เรายังเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้องให้กับลูกค้ามุสลิม ดังนั้นการรับผิดชอบของเราจึงค่อนข้างมาก’ การเห็นนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่นนั้นจะต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง ดังนั้นญี่ปุ่นทำมันได้อย่างไร อากิฮิโระ อธิบายว่า

**การฝึกปฏิบัติรองรับฮาลาล**
ก่อนอื่นอากิฮิโระอธิบายว่าต้องจัดทำที่พักที่เหมาะสมสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซีย องค์การการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่น (JNTO) รายงานว่านักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 32.1% ในปี 2016 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมประมาณ 209 ล้านคนจากประชากรมุสลิมทั้งหมด 1.8 พันล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 24 % ของประชากรโลกทั้งหมด 

“ในปี 2016 มีนักท่องเที่ยวมุสลิมจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 60 % เดินทางไปยังญี่ปุ่น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวมาจากอินโดนีเซีย 27 %” (Jakatar Post)

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมานี้เนื่องมาจากประเทศอินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกมีประมาณ 209 ล้านคนจากประชากรมุสลิมทั่วโลก 1.8 พันล้านคน หรือประมาณ 24% ของประชากรโลกทั้งหมด

คาดการณ์ว่าประชากรมุสลิมจะเติบโตเร็วกว่าประชากรอื่นในโลก ดังนั้นการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดผลิตภัณฑ์ฮาลาล สะท้อนให้เห็นมูลค่าของผลิตภัณฑ์ฮาลาลในปี 2016 มีประมาณ 45.3 พันล้านเหรียญสหรัฐและคาดว่าจะเติบโตประมาณ 29% ในปี 2020

ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมเพิ่มขึ้นทั่วโลก ความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับมุสลิมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากสถิติของ Statista สถิติการวิจัยด้านการตลาดและธุรกิจอัจฉริยะ รายงานว่า อาหารฮาลาลมีมูลค่าตลาดทั่วโลกประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2017 และคาดว่าจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2023

**มุมมองฮาลาลของชาวญี่ปุ่น** 
“คนญี่ปุ่นมองว่าฮาลาลเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น” อากิฮิโระกล่าวว่า ‘พวกเขายังคิดว่าอาหารฮาลาลรสชาติไม่ดีเท่ากับอาหารที่ไม่ฮาลาล แต่สิ่งนี้กำลังเปลี่ยนไปเนื่องจากมีความเข้าใจเรื่องฮาลาลเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน’ โดยทั่วไปอาหารในญี่ปุ่นนั้นไม่ฮาลาล ‘ยกตัวอย่างเครื่องปรุงรสเช่น มิรินจากไวน์ข้าว ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่เป็นกุญแจสำคัญของซอสเทอริยากิ มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ นอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังเพิ่มแอลกอฮอล์ในมิโซะหรือซอสถั่วเหลืองเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา นี่คือจุดที่ มีเดีย ฮาลาล เจแปน เข้ามา อากิฮิโระอธิบายว่า “ เราแนะนำส่วนประกอบฮาลาลในญี่ปุ่นเช่น เครื่องปรุงที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือทำผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่นำเข้าจากต่างประเทศมาวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต และบอกพวกเขาถึงวิธีรับส่วนประกอบเหล่านี้ในราคาที่ถูกกว่า ‘โดยทั่วไปอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองฮาลาลจะมีราคาสูงกว่า เนื่องจากความพร้อมที่มีอย่างจำกัดในญี่ปุ่น’

**การตั้งกฎระเบียบ**
เจแปนไทมส์รายงานว่า ในปัจจุบันยังไม่มีกฎข้อบังคับในการออกใบรับรองฮาลาลสำหรับผลิตภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในญี่ปุ่น มาตรฐานฮาลาลในการออกใบรับรองแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับองค์กรที่ออกใบรับรอง อากิฮิโระยืนยันว่า ‘ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและออกใบรับรองฮาลาลในภาคสาธารณะของญี่ปุ่น หน่วยรับรองฮาลาลนั้นยังเป็นหน่วยงานเอกชนและด้วยเหตุนี้ทุกคนจึงสามารถออกใบรับรองในญี่ปุ่นได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุถึงจำนวนผลิตภัณฑ์ หรือบริษัทที่ได้รับการรับรองฮาลาลในญี่ปุ่น ปัจจุบันการเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับมุสลิม จึงได้พัฒนาเว็บไซต์และเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ halalgourmet.jp ช่วยให้ผู้เยี่ยมชมหรือลูกค้าสามารถเลือกตัวเลือกที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาได้” เขากล่าวและรู้สึกว่ามาตรฐานฮาลาลระดับชาติที่เป็นหนึ่งเดียวสามารถทำได้ในญี่ปุ่นหากภาครัฐประกาศกฎระเบียบอย่างเป็นทางการ

ความจำเป็นในการออกใบรับรองฮาลาลหรืออย่างน้อยที่สุด กฎระเบียบด้านฮาลาลไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์สำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิมเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์สำหรับมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศนี้อีกด้วย อากิฮิโระยอมรับว่าไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการของจำนวนชาวมุสลิมในปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น “เป็นเพราะเราไม่ได้ระบุการนับถือศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชนของญี่ปุ่น ดังนั้นจึงไม่มีใครบันทึกจำนวนประชากรมุสลิมที่แน่นอนในญี่ปุ่นได้ แต่ประมาณการอยู่ระหว่าง 100,000 ถึง 200,000 คนและรวมถึงมุสลิมญี่ปุ่น 10,000 ถึง 20,000 คน

อากิฮิโระกล่าวว่า สถิติเชิงบวกของนักท่องเที่ยวมุสลิมที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเสริมการปรับปรุงและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลในญี่ปุ่น ความพยายามของญี่ปุ่นได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมุสลิมเป็นอย่างมาก เรารับรู้สิ่งนี้ได้จากการจัดอันดับให้เป็นประเทศอับดับสี่ของโลกสำหรับประเทศที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม การจัดอันดับไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม ใครจะไปรู้ว่าประเทศญี่ปุ่น อาจนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการรับรองฮาลาลให้เป็นมาตรฐานสำหรับส่วนที่เหลือของโลก ‘เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้’ อากิฮิโระกล่าวสรุปด้วยรอยยิ้มเล็กๆที่รับรู้ได้

……………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
โดย Su Aziz In Focus, digital magazine
ที่มา : https://infocus.wief.org

อาหารที่ต้องห้ามจากตัวบทอัลกุรอาน

**ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับอาหารฮาลาล-หะรอม**

หลักคำสอนโดยทั่วไปจากอัลกุรอานนั้น กำหนดว่า โดยพื้นฐาน แล้วอาหารทั้งหมดถือว่า ฮาลาล ยกเว้น สิ่งที่ได้รับการระบุอย่างชัดเจนว่าหะรอม อาหารทั้งหมดจึงถูกทำให้ฮาลาลตามที่ตัวบทอัลกุรอานได้ระบุไว้

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงบริโภคสิ่งที่ดีและสะอาดที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ” (สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 172)

ส่วนอาหารที่ได้รับการระบุเจาะจงว่าเป็นที่ต้องห้ามในอัลกุรอาน มีตามโองการต่าง ๆ ดังนี้

“พระองค์ทรงห้ามพวกเจ้าเพียงแต่สัตว์ที่ตายเองและเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศในนามอื่นนอกเหนือจาก อัลลอฮฺ …” (สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 173)

“ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้วซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกกล่าวอุทิศในนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺ และสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และสัตว์ที่ถูกตีตาย และสัตว์ที่ตกจากที่สูงตาย และสัตว์ที่ถูกขวิดตาย และสัตว์ที่ถูกสัตว์ร้ายกัดกินเว้นแต่ที่พวกเจ้าเชือดทัน และสัตว์ที่ถูกเชือดพลีบนแท่นหินบูชา และการที่พวกเจ้าเสี่ยงทายด้วยไม้ติ้ว เหล่านั้นล้วนเป็นการละเมิด … ” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 3)

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมาอื่น ๆ เป็นสิ่งต้องห้ามตามโองการดังต่อไปนี้

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! แท้จริงค็อมรฺ (น้ำเมา) และการพนัน และการบูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว เป็นสิ่งโสมมจากการกระทำของชัยฏอน (มารร้าย) ดังนั้น พวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 90)

เนื้อสัตว์เป็นกลุ่มอาหารที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเลือด เนื้อสุกร เนื้อสัตว์ที่ตายเอง หรือเนื้อที่ผ่านการเชือดสังเวยเพื่อสิ่งอื่นนอกเหนือจากผู้เป็นเจ้า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นที่ต้องห้ามอย่างเคร่งครัดในหลักการอิสลาม นอกเหนือจากนี้ เนื้อสัตว์ที่ได้รับการพิจารณาว่าฮาลาลจะต้องเป็นสัตว์ที่ถูกกล่าวด้วยนามของ อัลลอฮฺในขณะที่กระทำการเชือดอีกด้วย

“ดังนั้นพวกเจ้าจงบริโภค [เนื้อของสัตว์] ที่พระนามของ อัลลอฮฺถูกกล่าวเหนือมันเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธาต่อบรรดาอายาต (โองการ/สัญญาณ) ของพระองค์” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 118)

“และพวกเจ้าจงอย่าบริโภคจากสิ่งที่พระนามของอัลลอฮฺมิได้ถูกกล่าวเหนือมัน และแท้จริงนั่นเป็นการฝ่าฝืน และแท้จริงบรรดาชัยฏอน (มารร้าย) จะกระซิบกระซาบเสี้ยมสอนพวกพ้องของมันเพื่อพวกเขาจะได้โต้เถียงกับพวกเจ้า และถ้าหากพวกเจ้าเชื่อฟังปฏิบัติตามพวกมันแล้ว แน่นอนพวกเจ้าอยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (สูเราะฮฺที่ 6 อายะฮฺที่ 121)

จากตัวบทอัลกุรอานที่กล่าวมาข้างต้น สรุปได้ว่า มุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคอาหารทุกชนิดที่สะอาดและบริสุทธิ์ ยกเว้นอาหาร ผลิตภัณฑ์ หรือ สิ่งใดที่ได้รับการปนเปื้อนจากสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
1. ซากสัตว์ หรือ สัตว์ที่ตายเอง
2. เลือดที่ข้นแข็ง หรือ เลือดที่ไหลจากตัวสัตว์
3. สุกร รวมถึงผลพลอยได้จากสุกรทุกชนิด
4. สัตว์ที่ไม่ได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺขณะเชือด
5. สัตว์ที่ถูกฆ่าตายในลักษณะที่เลือดของมันถูกป้องกันไม่ให้ไหลออกจากร่างกายจนหมดสิ้น
6. สัตว์ที่ได้รับการกล่าวนามอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮฺขณะเชือด
7. สิ่งมึนเมาทุกชนิด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
8. สัตว์กินเนื้อที่มีเขี้ยวเล็บ*(1) เช่น สิงโต สุนัข หมาป่า หรือ เสือ
9. สัตว์ปีกที่มีกรงเล็บแหลมคม (ประเภทนกล่าเหยื่อ) เช่น เหยี่ยว นกอินทรี นกฮูก หรือ นกแร้ง
10. สัตว์บก เช่น กบ*(2) หรือ งู*(3)

……………………………………………….
*(1) “ท่านนบีได้ห้ามกินสัตว์ป่าใด ๆ ก็ตามที่มีเขี้ยว และนกที่มีกรงเล็บ” (รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม) – ผู้แปล
*(2) บางทรรศนะของนักวิชาการ เช่น ในมัซฮับมาลิกีย์ให้ความเห็นว่ากบไม่ได้มีตัวบทที่ชัดเจนว่าห้ามบริโภค – ผู้แปล
*(3) บางทรรศนะของนักวิชาการได้จัดประเภทงูให้อยู่ในหมวดสัตว์มีพิษและเป็นอันตราย – ผู้แปล

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

หะล้าลยิวกับหะล้าลมุสลิม

คัชรูต (ในภาษาฮิบรู) เป็นระบบของกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องอาหารของชาวยิว

โคเชอร์ (kosher, หรือในภาษาฮิบรูเรียกว่า “คะชูร”) หมายถึง “เหมาะสม หรือดีสำหรับใช้” ตามกฎหมายของยิว — ความหมายคล้ายๆ หะล้าล ของเรา

ตัวอย่างของอาหารโคเชอร์ ได้แก่ : เนื้อส่วนหน้า *ของวัวที่เชือดตามวิธีทางศาสนา, ผลไม้ ผัก, ปลาทุกชนิดที่มีครีบ*, เหล้าองุ่นทุกชนิด*, ชีสทุกอย่าง*, เจลาติน*

เทรอิฟ (ในภาษายิดดิช) หรือ เทรฟาห์ (ในภาษาฮิบรู) ซึ่งหมายความว่า “ไม่เหมาะสมสำหรับใช้” หรือ “สิ่งต้องห้าม”

ตัวอย่างของอาหารเทรฟาห์ ได้แก่ เลือด, เนื้อหมู, กระต่าย*, สัตว์น้ำจำพวกมีเปลือก*, นกป่าอย่างเช่นไก่ป่า*, เป็ดป่า* และนกล่าเหยื่อ — อาหารตรงที่มีเครื่องหมาย * นั้นแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง “โคเชอร์” กับ “หะล้าล” เช่นเดียวกับ “เทรฟาห์” กับ “หะรอม”

ความแตกต่างที่เด่นชัดระหว่าง “โคเชอร์” กับ “หะลาล” มีดังนี้

อิสลามห้ามสิ่งมึนเมาทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเหล้า เหล้าองุ่นและยาเสพติด ส่วนคัชรูตถือว่าเหล้าองุ่นทุกอย่างเป็น “โคเชอร์” ดังนั้น รายการอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และมีเครื่องหมาย “โคเชอร์” ติดอยู่จึง “ไม่หะลาล”

เจลาตินถูกถือว่าเป็น “โคเชอร์” โดยไม่คำนึงถึงว่าทำมาจากอะไร ถ้าทำมาจากหมู มุสลิมก็ถือว่าเป็นที่ “หะรอม” (ต้องห้าม) ดังนั้น อาหารที่มีส่วนผสมของเจลาตินที่ทำมาจากหมู เช่น ขนมหวานบางอย่าง โยเกิร์ตบางชนิดที่ติดตรา “โคเชอร์” จึงไม่เป็นที่อนุมัติให้กินตามหลักการอิสลาม

ชาวยิวมิได้กล่าวพระนามของพระเจ้าในการเชือดสัตว์ เพราะชาวยิวรู้สึกการกล่าวนามพระเจ้าเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์ แต่ในทางตรงข้าม มุสลิมจะกล่าวพระนามของอัลลอฮในการเชือดสัตว์ทุกครั้ง

รู้จักข้อใช้ข้อห้ามในเรื่องอาหารของยิวแล้วก็ต้องกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” ในความเมตตาของอัลลอฮฺที่ไม่ได้สร้างข้อกำหนดที่ยุ่งยากวุ่นวายขนาดนั้นให้กับมุสลิม แต่มุสลิมเราต่างหากที่ทำให้เรื่องของ หะล้าล-หะรอม กลายเป็นเรื่องยุ่งๆ อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

……………………………………………………………..
คัดลอกและแก้ไขบางส่วนจาก ความแตกต่างระหว่าง “โคเชอร์” กับ “หะลาล”, โดย M.M. Hussaini อ.บรรจง บินกาซัน แปล

ที่มา:http://maansajjaja.blogspot.com/2007/07/blog-post.html

หลักการให้อาหารแก่สัตว์ในอิสลาม

“พวกเจ้าจงกินและจงดื่มจากปัจจัยยังชีพของอัลลอฮฺ และจงอย่าก่อกวนในผืนแผ่นดิน ในฐานะผู้บ่อนทำลาย” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2:60)

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มุสลิมในอเมริกาเหนือเปิดร้านอาหารที่ยึดตามหลักการอิสลามเพิ่มจำนวนสูงขึ้น หากขับไปตามถนนดันดัส (Dundas) ในมิสซิสซอกา (Mississauga) ประเทศแคนาดา หรือจะเดินเล่นที่เดียร์บอร์น (Dearborn) มิชิแกน (Michigan) คุณจะเห็นร้านอาหารและร้านขายเนื้อสัตว์ฮาลาลนับร้อยแห่งในพื้นที่เหล่านี้

ในทศวรรษที่ผ่านมา บางรัฐอย่าง นิวเจอร์ซี (new jersey) กลายเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล กฏหมายได้บัญญัติเพื่อเป็นแนวทางแก่พ่อค้าหรือผู้จัดจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติตามเมื่อมีฉลากฮาลาลติดบนสินค้า

ในปี 2003 ทางหน่วยงานในแคนาดาได้ประกาศว่า วัวอายุ 8 ปี ในรัฐแอลเบอร์ตา Alberta ได้ล้มตายจากโรควัวบ้า (Bovine Spongiform Encephalopathy : BSE) ทางด้านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของแคนาดา นาย Lyle Vanclief ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ทันที เพื่อยืนยันว่า วัวในรัฐแอลเบอร์ตา (Alberta) นั้นจะไม่หลุดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารได้

วัวและปศุสัตว์นับพันในแคนาดาได้ถูกทำลายในเวลาต่อมา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐออเมริกาและประเทศอื่น ๆ ได้สั่งห้ามการนำเข้าเนื้อวัวจากแคนาดา

ขณะที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า วัวหนึ่งในล้านตัวอาจมีการเจริญเติบโตของโรควัวบ้าเมื่อโปรตีนในสมองของวัวเป็นพิษ การระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษในช่วงปลายปี 1980 เป็นผลมาจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง วัวและปศุสัตว์ถูกเลี้ยงโดยให้กินซากสัตว์จากฟาร์มอื่นเป็นอาหาร

เมื่อมนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโรควัวบ้าเข้าสู่ร่างกาย พวกเขาก็จะติดเชื้อ และจะเป็นโรคสมองเป็นรูพรุนหรือโรคสมองฝ่อ (Creutzfeldt-Jakob disease) จะกลายเป็นอัมพาตจนเสียชีวิตในที่สุด

ตั้งแต่ปี 1997 ประเทศแคนาดาได้สั่งห้ามการให้อาหารสัตว์ที่จำพวกโปรตีนที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยกันเอง (เช่น วัว ควาย แกะ แพะ กระทิง หรือกวาง) แก่สัตว์ประเภทอื่น

อาหารที่ถูกห้ามแก่ปศุสัตว์หรือสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องนั้นจะมีคำเตือนเขียนไว้ว่า “ห้ามให้แก่วัว แกะ กวาง หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่น ๆ กินเป็นอาหาร”

การคาดการณ์ที่จะเกิดโรควัวบ้าในปศุสัตว์ของแคนาดาและการกักบริเวณวัวนับพันตัว นับเป็นการเตือนให้เท่าทันภัยแก่ชุมชนมุสลิมทั้งแคนาดาเป็นอย่างดี

ในขณะที่มาตรฐานฮาลาลมีการตรวจสอบและวินิจฉัยการเชือดวัวตามบทบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่มีกลไกเพื่อตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ในแต่ละวันอย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้ 

ความจริงแล้ว มุสลิมจำนวนมากไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวิธีการจำแนกอาหารฮาลาลมากนัก ตามกฏหมายชะรีอะฮฺนั้นยังมีเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องการตรวจสอบวิธีการเชือดสัตว์ที่ถูกต้องเสียอีก

ตามกฏชะรีอะฮฺ สัตว์ที่ถูกเชือดจะถือว่าฮาลาลก็ต่อเมื่ออาหารที่ถูกให้นั้นฮาลาล ดังนั้นการให้อาหารสัตว์จึงมีบทบาทสำคัญในการจำแนกอาหารฮาลาล

อาหารสัตว์จะต้องมาจากพืชผัก ไม่อนุญาตให้มีการให้อาหารจากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยาโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะยาโกรทฮอร์โมนทำมาจากสุกร การทำให้สลบในสัตว์ที่ทำกันอย่างแพร่หลายนั้นควรหลีกเลี่ยง เลือดก็ต้องมีการไหลออกมาให้หมดจากตัวสัตว์ที่ถูกเชือด

เชค อะหมัด คุตตี้ ผู้รู้ชาวแคนาดากล่าวว่า ประเด็นปัญหาการให้อาหารของปศุสัตว์นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นกับตนเองหรือหน่วยงานมุสลิมก่อนหน้าจะมีการระบาดของโรควัวบ้า (BSE)

“ปัญหานี้มีความท้าทายต่อเราผู้ที่เป็นมุสลิมที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานฮาลาลของเรานั้นสามารถดำเนินการได้ไม่เฉพาะในเรื่องการเชือดสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญมากในเรื่องของการเลื้ยงดูและการขยายพันธุ์”

เชค อะหมัด คุตตี้ กล่าวว่า การให้อาหารสัตว์เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง และควรให้ความสำคัญเหนือกว่าเรื่องถกเถียงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การพิจารณาว่าฮาลาลหรือไม่

“การให้อาหารสัตว์มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่มุมทางกฏหมายชะรีอะฮฺ มากกว่าปัญหาที่มุสลิมได้ถกเถียงกันในเรื่องการเชือดด้วยเครื่องจักรดีกว่าการเชือดด้วยมือหรือไม่ ? การทำให้สัตว์สลบก่อนเชือดดีกว่าหรือไม่? มุสลิมสามารถบริโภคสัตว์จากการเชือดของชาวคริสเตียนหรือยิวได้หรือไม่?” เชค อะหมัด คุตตี้กล่าว

อะหมัด ศ็อกร์ จากแคลิฟอเนีย ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) และผู้ประพันธ์หนังสือ “Understanding Halal Food”และ “A Muslim Guide to Food Ingredients” ได้กล่าวในเว็บไซท์ soundvision.com ว่า มีเนื้อฮาลาลบางส่วนที่ไม่ฮาลาล โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่สัตว์ได้กินเข้าไป

“ศาสนาอิสลามได้บัญญัติว่า หากสัตว์ตัวหนึ่งได้รับเนื้อสดหรือเลือดเข้าไปขณะตัวของมันนั้นฮาลาล มันจะกลายเป็นสิ่งที่หะรอม และเพื่อให้มันฮาลาล ท่านจะต้องกักบริเวณสัตว์ตัวนั้นเป็นเวลา 40 วัน ก่อนที่จะนำมาเชือดเพื่อทำให้มันฮาลาล”

:: ชุมชนมุสลิมได้ดำเนินการใด ๆ บ้างหรือไม่ ในการตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ ? ::
ชุมชนมุสลิมในออนตาริโอได้รับการกำชับไม่ให้เกิดการไขว้เขวระหว่างปัญหาของโรควัวบ้ากับเรื่องของฮาลาล ซึ่งมีวัวเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่ติดเชื้อจากโรควัวบ้าในพื้นที่แถบอเมริกาเหนือ (Alberra) จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งแคนาดาและอเมริกาได้อนุญาตอย่างลับ ๆ ให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารของสัตว์เป็นโดยในบางพื้นที่มีการเก็บค่าบริการ 

ปี 2003 วอร์ชิงตันโพสท์รายงานว่า เกิดช่องโหว่ที่ปล่อยให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาบดเป็นผงและนำมาเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์

การประกาศห้ามในปี 1997 ไม่ได้ช่วยป้องกันการนำโปรตีนจากสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารแก่สัตว์ปีกและสุกร

วันที่ 28 พฤษภาคม 2003 สำนักงานตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดารายงานว่า “เนื้อและกระดูกของวัวที่อาจติดเชื้อที่ถูกผลิตเป็นอาหารสุนัขนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์จากการสัมผัสสินค้า”

ฟาร์มกักกันในบริติชโคลัมเบีย 3 แห่ง ซึ่งอยู่ใน “ระหว่างการตรวจสอบอาหารสัตว์” มีสัตว์ (60 ตัว) ถูกกำจัดเนื่องจาก ไม่สามารถสรุปได้ว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องในสถานที่เหล่านี่สัมผัสกับอาหารของสัตว์ปีกหรือไม่”

“เราในฐานะมุสลิมได้รับอนุญาติเพียงแค่ให้อาหารวัวหรือสัตว์เลื้ยงที่เป็นไปตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละประเภท ไม่สามารถนำเศษซากของสัตว์อื่นหรืออาหารที่ทำมาจากไขมันสัตว์นำมาเป็นอาหารของมันได้” 

ปัญหาของโรควัวบ้าจะยังคงเปิดพื้นที่ในการถกเถียงกันในหมู่มุสลิมแคนาดา ตราบใดที่ยังให้ความสำคัญกับการกำหนดวิธีการเชือดมากกว่าการพิจารณาเนื้อที่ฮาลาล

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติในกระบวนการเชือดสัตว์ฮาลาล

• ไม่ควรขว้างปาหรือเหวี่ยงสัตว์ลงบนพื้นอย่างแรง อีกทั้งยังห้ามลับมีดต่อหน้าสัตว์ที่จะทำการเชือด มีรายงานเมื่อครั้งหนึ่งท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.) ได้ผ่านไปเห็นชายผู้หนึ่งที่กำลังจะเชือดแพะของเขา โดยที่เขาได้เหวี่ยงแพะของตนเองลงบนพื้น และใช้เท้ากดศีรษะของมันและจากนั้นก็ลับมีดที่จะเชือดไปด้วย ท่านนบีจึงกล่าวว่า “แพะตัวนี้ไม่ได้สิ้นใจตายไปก่อนที่จะถูกเชือดหรอกหรือ? ท่านประสงค์ที่จะฆ่ามันถึงสองครั้งเชียวหรือ? ท่านอย่าได้เชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์อื่น และท่านอย่าได้ลับมีดของท่านต่อหน้าสัตว์ที่จะเชือด” 

• ไม่ควรใช้มีดระหว่างการเชือดกรีดลงไปถึงไขสันหลังหรือตัดส่วนหัวจนขาดจากกันโดยสิ้นเชิงในระหว่างการเชือด ซึ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการทุบหรือตีบริเวณส่วนหลังของลำคอสัตว์ให้เสียชีวิตภายในครั้งเดียว หรือที่เรียกกันว่า ‘Jhatka’ (เป็นกระบวนเชือดสัตว์โดยใช้ดาบฟันเข้าไปที่ลำคอจากด้านหลังของสัตว์) ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นที่รังเกียจสำหรับชาวมุสลิมอย่างยิ่ง

• ไม่ควรหักคอ ถลกหนัง หรือชำแหละชิ้นส่วนของสัตว์ก่อนที่สัตว์นั้นจะตายสนิท ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า “ท่านอย่าได้รีบเร่งที่จะจัดการกับวิญญาณ (ของสัตว์) ก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะอยู่ในสภาพสิ้นชีวิต” บางครั้งในธุรกิจการค้าที่ต้องการความรวดเร็วในการทำงาน โรงเชือดสัตว์บางแห่งก็รีบชำแหละชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ขณะที่สัตว์ยังมีชีวิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้ถือว่าผิดหลักการ ‘ซะบีหะฮฺ’ 

• ไม่ควรใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ชำรุดเสียหายในกระบวนการเชือด ‘ซะบีหะฮฺ’ ท่านนบีมุฮัมมัดได้กำชับไว้ว่า มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมและต้องถูกเก็บซ่อนไว้จากสัตว์ที่จะเชือด 

• ไม่ควรเชือดสัตว์ต่อหน้าสัตว์ตัวอื่นหรือตัวที่จะถูกเชือดถัดไป วิธีการเช่นนี้ถือว่าผิดหลักมนุษยธรรมในขั้นตอนและกระบวนการเชือดสัตว์ที่ถูกต้อง

จากที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาและวิธีการที่ถูกต้องในกรรมวิธีการเชือดสัตว์ ‘ซะบีหะฮฺ’ ที่ต้องดำเนินไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ตั้งแต่การกล่าวนามผู้เป็นเจ้าก่อนเชือด เพื่อเน้นย้ำถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตและความจริงที่ว่าทุกชีวิตนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ การกล่าว ‘ตัสมียะฮฺ’ ยังช่วยกระตุ้นความรู้สึกอ่อนโยนและเมตตาธรรมเพื่อป้องกันมิให้ผู้เชือดกระทำการสิ่งใดที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม นอกเหนือจากนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความคิดที่ว่าสัตว์ที่กำลังถูกเชือดในนามของพระเจ้านั้นมีเป้าหมายเพียงเพื่อใช้บริโภคเป็นอาหารเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานบันเทิง ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวถือว่าต้องห้ามในอิสลาม 

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

วิธีการแบบ Go Zero Waste (ลดอาหารเหลือทิ้งให้เป็นศูนย์) ในช่วงเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอนหวนกลับมาอีกครั้ง เดือนที่เต็มไปด้วยอาหารทอด อินทผลัม อาหารปรุงสดของแต่ละวันรวมทั้งอาหารเหลือจำนวนมาก …

หลังจากถือศีลอดตลอดทั้งวัน กับความรู้สึกหิวที่มากเกินควร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะตักอาหารจนเต็มจาน มากจนเกินความต้องการของเรา และจริงๆแล้วเราจะกินได้แค่ไหนกัน จะทำอย่างไรเมื่ออาหารที่เราจะรับประทานนั้นมีมากเกินไปกับด้วยความรู้สึกว่าหิวมากในตอนแรก จึงส่งผลให้อาหารเหลือทิ้งเป็นจำนวนมากมากเช่นเดียวกัน ในเดือนนี้ (รอมฎอน) ได้สอนเราในเรื่องความพอดีและการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ มันเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอันเนื่องมาจากอาหารที่เอร็ดอร่อยต้องถูกโยนทิ้งเป็นจำนวนมาก 

บี จอหน์สัน ผู้ก่อตั้งเว็บไซด์zerowastehome.com และนักเขียนหนังสือที่ขายดีเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า ‘Zero Waste Home’ (การขจัดขยะในบ้าน) โดยในปี 2016 เธอและครอบครัวของเธอได้ผลิตถังใบเล็กๆไว้ทิ้งสิ่งของที่ไม่เป็นประโยชน์ที่มีอยู่ทั้งปี เราพอจะนึกออกหรือไม่ว่าจะมีอะไรในบ้านบ้าง บีเสนอแนวทางง่ายๆสำหรับกำจัดของเหลือให้หมดจากชีวิต โดยดำเนินตาม 5R ได้แก่

1. Refuse (ขจัดทิ้ง) 
2. Reduce (ทำให้ลดลง) 
3. Reuse (นำกลับมาใช้ใหม่) 
4. Recycle (แปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่) 
5. Rot – in that order (ทำให้ย่อยสลายเพื่อให้เกิดประโยชน์)

ปฏิเสธในสิ่งที่ไม่จำเป็น Refuse, ลดของใช้จำเป็น Reduce, นำกลับมาใช้ซ้ำ Reuse แปรสภาพแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle ในส่วนที่ไม่สามารถขจัดทิ้ง ลดให้น้อยลงหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

แต่ทำไมเราจึงต้องมองในแบบ Zero Waste (ลดขยะให้เหลือศูนย์) เมื่อคุณทิ้งขยะ มันไม่ได้หมายความว่ามันจะหายไปในอากาศ แต่ขยะส่วนมากจะถูกส่งไปยัง สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยทั่วโลก

การศึกษาเรื่องขยะจากอาหารที่จัดทำในปี 2011 ซึ่งพบว่า ทั่วโลกมีขยะที่เป็นอาหารจำนวน 1.3 ล้านตัน โดยพบสูงสุดในยุโรปและอเมริกาเหนือ สถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยจะทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง อากาศไม่สามารถเข้าถึงขยะอินทรีย์บนสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยได้ ดังนั้นเมื่ออาหารเน่าเปื่อยและเน่าเสีย มันจะปล่อยก๊าซที่เรียกว่า “มีเทน” ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่จะทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกเป็นอันตราย อาหารที่ถูกทิ้งเหล่านั้นบ่งบอกว่าต้องใช้ทรัพยากรในการผลิต การขนย้ายและการเก็บรักษาจำนวนมากตามไปด้วย

..อิสลามกล่าวว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?..
หากว่าการเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมยังไม่เพียงพอ อัลลอฮฺ ตะอาลาเตือนเราไม่ให้ฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายด้วยกับอาหารของเรา ดังอายะฮฺ อัลกุรอานที่กล่าวว่า 

“และพระองค์นั้นคือผู้ที่ทรงให้มีขึ้น ซึ่งสวนทั้งหลายทั้งที่ถูกให้มีร้านขึ้น และไม่ถูกให้มีร้านขึ้น และต้นอินทผาลัมและพืช โดยที่ผลของมันต่าง ๆ กัน และต้นซัยตูน และต้นทับทิม โดยที่มีความละม้ายคล้ายกัน และไม่ละม้ายคล้ายกัน จงบริโภคจากผลของมันเถิดเมื่อออกผล และจงจ่ายส่วนอันเป็นสิทธิในมันด้วย ในวันแห่งการเก็บเกี่ยวมันและจงอย่าฟุ่มเฟือยทั้งหลาย” (Surah Al-An’am – 6:141)

อัลกุรอานกล่าวอีกว่า
“ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย ! จงเอาเครื่องประดับกายของพวกเจ้า ณ ทุกมัสยิดและจงกินและจงดื่ม และจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย” (Surah Al-A’raf – 7:31)

ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมของเราได้ให้คำแนะนำเพื่อที่จะช่วยให้เราหลีกเหลี่ยงการกินอาหารที่สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จากมิกดาม บิน มะอฺดีกะริบ กล่าวว่า “ฉันได้ยินท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ลูกหลานอาดัมจะไม่บรรจุลงในภาชนะใดที่เลวกว่าการบรรจุลงในท้อง เพียงพอแล้วที่ลูกหลานอาดัมที่จะรับประทานเพื่อที่จะยกหลัง (ประทังชีวิต) ของเขาได้ หรือหากจำเป็นจริง ๆ แล้วก็ (จงเตรียมท้องไว้สามส่วน) ส่วนหนึ่งสำหรับอาหาร ส่วนหนึ่งสำหรับเครื่องดื่ม และอีกส่วนหนึ่งสำหรับลมหายใจ”

Go Zero Waste (ลดอาหารเหลือทิ้งให้เป็นศูนย์) นั้นเป็นแนวคิดที่ดูค่อนข้างตึงเครียด ดังนั้นจึงมีเคล็ดลับเล็กๆน้อยๆที่จะช่วยให้ท่านจำกัดปริมาณขยะที่เกิดในครอบครัวของท่าน

::อาหารที่กินเหลือ::
บ่อยครั้งที่เราโฟกัสเพียงแค่อาหารอร่อยๆในขณะละศีลอด แต่ไม่จำเป็นที่เราต้องทานอาหารสดๆใหม่ๆทุกวัน เป็นเรื่องที่น่าเสียใจกับเดือนนี้ ซึ่งส่งเสริมในเรื่องความพอดี แต่คนกลับกินทิ้งกินขว้างเพียงเพราะพวกเขาต้องการทำอาหารสดใหม่ในทุกๆวัน หากว่าท่านไม่ต้องการกินอาหารเดิมสองวันติดต่อกัน ท่านก็สามารถแช่ช่องแข็งในส่วนเหลือเพื่อเก็บไว้รับประทานในวันหลังได้

::แบ่งออกเป็นส่วนๆ::
ในช่วงอิฟฏอร (การละศีลอด) ท่านอย่าตักอาหารใส่จานมากจนเกินพอดี หากอาหารในจานหมดแต่ท่านยังหิวอยู่ก็สามารถไปเต็มใหม่ได้ สิ่งที่คู่ควรอย่างยิ่ง คือการรับประทานอาหารในจานจน วิธีการง่ายๆ คือตักเพียงเล็กน้อยหากไม่อิ่มแล้วค่อยเติม

ท่านอนัส รอดิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า “เมื่อท่านรับประทานอาหาร ท่านจะเลียนิ้วของท่านสามครั้ง และท่านได้กล่าวว่า เมื่ออาหารคำหนึ่งของพวกท่านคนใดตกหล่น ท่านจงหยิบมาเช็ดสิ่งแปลกปลอมออกและจงกินมัน และอย่าได้ทิ้งมันให้กับชัยฏอน และท่านยังได้สั่งพวกเราให้กินจนหมดชามโดยไม่เหลือเศษทิ้งไว้ ท่านกล่าวว่า “เพราะแท้จริงแล้ว พวกท่านไม่รู้หรอกว่าอาหารส่วนใดจะเป็นส่วนที่มีความบะเราะกะฮฺ (ความจำเริญ)” บันทึกโดย มุสลิม

::จงหลีกเลี่ยงอาหารที่บรรจุหีบห่อ::
เมื่อซื้อสินค้าร้านขายของชำ จงเลือกซื้อผลไม้และผักที่สดใหม่ และใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่แทนการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้า

::จงเก็บเศษอาหารทั้งหมดมารวมกัน::
เมื่อท่านนำอาหารที่เหลือมารวมไว้บนพื้นดินหลังบ้าน ออกซิเจนจะเข้าถึงง่ายกว่าทำให้จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายทำงานได้ดี จนแทบจะไม่ผลิตก๊าซมีเทนขึ้นมาซึ่งแตกต่างจากพื้นที่ทิ้งขยะ หลังจากนั้น 9-12 เดือน สามารถนำเศษอาหารเหล่านั้นมาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นไม้และดอกไม้ได้

การรับประทานอาหารอย่างฟุ่มเพือยไม่ใช่สิ่งจำเป็น อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อโลกอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังสามารถได้รับผลตอบแทนพิเศษสำหรับเดือนเราะมะฎอนนี้ ด้วยการดำเนินตามสุนนะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัมไปพร้อมๆกับการทำอาหารให้มีรสชาติเอร็ดอร่อย และจงหลีกเหลี่ยงในสิ่งที่มากเกินความพอดีโดยการไม่ใส่อาหารในจานของท่านมากเกินไปในช่วงละศีลอด

………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา http://aboutislam.net/…/self-dev…/can-go-zero-waste-ramadan/

วัตถุเจือปนจากเลือดของวัวและสุกรได้รับอนุญาตใส่ในอาหาร

เลือด เป็นสิ่งต้องห้ามนำมาบริโภคในศาสนาอิสลาม อัลลอฮฺ (ซุบฮานะฮูวตะอาลา) กล่าวไว้ในอัลกุรอาน บทอัลมาอีดะฮฺ โองการที่ 3 ความว่า “ได้ถูกห้ามแก่พวกเจ้าแล้ว ซึ่งสัตว์ที่ตายเอง และเลือด และเนื้อสุกร และสัตว์ที่ถูกเปล่งนามอื่นจากอัลลอฮ์ ที่มัน (ขณะเชือด) …” จะเห็นได้ว่าเลือดเป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อการบริโภคที่ได้ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบัน มีการนำเลือด ผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร ในรูปของกาวเนื้อ (meat gule) หรือสารยับยั้งเอ็นไซม์ในผลิตภัณฑ์อาหารที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เรามาดูข้อมูลการนำเสนอในวารสารขององค์กรความปลอดภัยอาหารแห่งยุโรป (EFSA) ถึงการอนุญาตนำเลือดมาใช้ประโยชน์ใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทาง CAP (สมาคมคุ้มครองผู้บริโภครัฐปีนัง) ได้นำเสนอผ่านหนังสือ Halal Haram : An Important Book for Muslim Consumers กันครับ

วัตถุเจือปนอาหารที่ได้จากเลือดของวัวและสุกรถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ กลายเป็นกรณีศึกษาในปี 2005 โดยองค์กรความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (European food safety agency ; EFSA)

นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิขององค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (EFSA) พบว่า เอ็นไซม์ที่เตรียมขึ้นจากทรอมบิน (Thrombin) และไฟบริโนเจน (fibrinogen) นั้นปลอดภัย และ “มีความเป็นไปได้น้อยมาก” ในการเพิ่มความเสี่ยงการตอบสนองต่ออาการแพ้และโรคภูมิแพ้

ความเห็นที่ออกตามมาโดยคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้เตรียมการสอบสวนในกรณีดังกล่าว 

การรวมกันของทรอมบินและไฟบริโนเจนที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ เพื่อสร้างเนื้อสัตว์ขึ้นมาใหม่ให้ได้เนื้อที่มีขนาดและรูปร่างน่าพอใจ 

ทั้งทรอมบินและไฟบริโนเจนนั้น ได้จากพลาสม่าจากเลือดของวัวและสุกร ทรอมบินและไฟบริโนเจนที่เตรียมไว้จะนำมาใช้กับเนื้อ โดยทรอมบินได้เปลี่ยนไฟบริโนเจนให้เป็นไฟบริน (fibrin) ที่ทำปฏิกิริยากับ คอลาเจนทำให้สามารถประสานชิ้นเนื้อให้เกิดการสร้างชิ้นเนื้อขึ้นใหม่ตามขนาดรูปร่างหรือกรอบที่ต้องการและยังสามารถใช้กับเนื้อสัตว์ปีก ปลาและอาหารทะเลได้อีกด้วย

เนื้อที่สร้างขึ้นมาใหม่แสดงให้เห็นว่า มีการสูญเสียน้อยลงขณะผ่านการปรุงด้วยการทอดหรือย่าง โดยทั่วไปทรอมบินที่ใส่เข้าไปทำให้ระยะเวลาของการแปรรูปสั้นลงและความแข็งแรงในการเชื่อมประสานเพิ่มมากขึ้น 

ความคงตัวของทรอมบินค่อยข้างต่ำ เมื่อการเชื่อมประสานเสร็จสิ้นก็จะไม่มีกิจกรรมของทรอมบินตกค้างให้ตรวจพบ นอกจากนี้ทรอมบินที่หลงเหลือจะถูกยับยั้งในระหว่างการปรุงอาหาร (ความร้อนทำให้การคงตัวของทรอมบินค่อนข้างต่ำ) และถูกยับยั้งในกระเพาะอาหารหลังจากบริโภคเข้าไป (สภาพ pH ต่ำ)

เนื่องจากทรอมบินและไฟบริโนเจนได้มาจากส่วนที่กินได้ของสัตว์ จึงไม่จำเป็นต้องทดสอบทางพิษวิทยาตามที่ได้ร้องเรียน คณะกรรมการ EFSA กล่าว่า “การเตรียมทรอมบินและไฟบริโนเจนนั้นผลิตจากพลาสม่าที่ได้จากเลือดของวัวหรือสุกรซึ่งได้รวบรวมจากโรงฆ่าสัตว์ถูกสุขอนามัยภายใต้การตรวจสอบของสัตวแพทย์” 

หลายปีมานี้ ได้มีการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อที่มีการเติมเลือดหรือพลาสมาในหลายๆประเทศโดยไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ระดับความเข้มข้นของการเตรียมทรอมบินกับไฟบริโนเจนที่ถูกนำมาใช้นี้ อยู่ในช่วงระดับความเข้มข้นเดียวกันกับโปรตีนในผลิตภัณฑ์เนื้อ ด้วยการเติมเลือดหรือพลาสมาลงไป สืบเนื่องจากความเห็นของนักวิทยาศาสตร์เมื่อเร็วๆนี้ ตามที่นักวิจัยของ EFSA กล่าวว่า ทรอมบินบางส่วนที่ยังหลงเหลือจะที่ถูกยับยั้งโดย antithrombin III (มีอยู่ในขั้นตอนการเตรียมทรอมบินและไฟบริโนเจนอีกด้วย)

ผู้ทรงคุณวุฒิของ EFSA ได้สรุปออกมาว่า “การบริโภคผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่มีการเตรียมจากเอนไซม์นี้ ไม่น่าจะเป็นไปได้ในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการตอบสนองอาการแพ้หรือโรคภูมิแพ้ได้”
.
แม้จะมีการประกาศความปลอดภัยจากองค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งยุโรป (EFSA) แต่การเตรียมทรอมบินกับไฟบริโนเจน (และแน่นอนอาหารอื่นๆที่มีวัตถุเจือปนที่ได้จากเลือด) เป็นต้นเหตุของปัญหาสำหรับผู้บริโภคมุสลิม เนื่องจากทรอมบินถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการทำผลิตภัณฑ์อาหารที่คิดค้นขึ้น อาจจะอยู่ในผลิตภัณฑ์เช่น เบอร์เกอร์ ไส้กรอก ลูกชิ้นปลา เต้าหู้ปลา ก้ามปูเทียม และกุ้งเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมุสลิมควรระมัดระวังเมื่อบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าว

………………………………….
ที่มา : วารสาร EFSA, เมษายน ปี 2005
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
จากหนังสือ Halal Haram : An Important book for Muslim Consumers โดย Consumers Association of Penang