เราะมะฎอนช่วงเวลาแห่งการลดน้ำหนัก (หรือเพิ่ม) ? ตอน 2

อัลกุรอานระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดี ๆ จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 168 

อาหารแปรรูปและอาหารหวานเหล่านี้เป็น “trigger foods” อาหารเหล่านี้ยังขับสารอาหารจากร่างกายของท่านและมักทำให้ร่างกายของท่านต้องการอาหารมากเพราะมันรู้สึกว่ายังไม่อิ่ม …

นอกจากนี้ การรับประทานขนมปังและแป้งมากเกินไปยังส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เดือนเราะมะฎอนมักเป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงชอบทำอาหารและแบ่งปันความสามารถในการทำอาหารของพวกเธอ

การทำขนมปังมักถูกมองว่าเป็นการแสดงฝีมือการทำอาหารและถูกบรรจุในเมนูของตารางเชิญชวนแขก

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่จะมองว่าการทำขนมปังจะเป็นสุดยอดของการทำอาหารละศีลอดช่วงเดือนเราะมะฎอน

หนังสือ The Zone Diet โดย Barry Sears และ McDougall Plan โดย Dr. McDougall อธิบายในรายละเอียดว่าแป้งสตาร์ช (starches) และธัญพืชจะช่วยเพิ่มน้ำหนักได้อย่างไร

หนังสือ “สุขภาพของคุณ ทางเลือกของคุณ” โดย Ted Morter, MD มีรายละเอียดเกี่ยวกับขนมปังมากขึ้น รวมถึงวิธีการที่เมล็ดธัญพืช พืชตระกูลถั่วตลอดจนนมและเนื้อสัตว์จะมีส่วนช่วยในการสร้างสภาพความเป็นกรดในร่างกายของเราซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการกินแป้งมากเกินไป คือต้องทำให้แน่ใจว่าคุณกินอาหารที่ถูกต้องตามสัดส่วนจากหมู่อาหารต่าง ๆ เพื่อความแน่ใจในการลดน้ำหนัก ..

ลองจินตนาการว่าท่านกำลังเตรียมมื้ออาหารของท่านที่มีแต่ผักเท่านั้นและยอมให้มีเนื้อ นมและธัญพืชเพื่อช่วยในการเพิ่มรสชาติเท่านั้น ….

จงจำกัดตัวเองให้ได้รับธัญพืชหนึ่งถ้วยต่อมื้อและใช้เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเป็นเครื่องปรุงรส

ลองเริ่มต้นนึกถึงผักขึ้นฉ่ายเป็นสิ่งที่ช่วยกระจายเนยถั่วแทนขนมปัง นึกถึงแครอทหั่นที่มีฮัมมูสแทนขนมปังพิตา (pita – ขนมปังลักษณะกลมแบน) และลองใช้ใบผักกาดหอมแทนแป้งตอติญ่า (tortilla – แผ่นแป้งบางที่ทำเป็นรูปวงกลม ที่ทำมาจากแป้ง flour) 

แต่ท่านอย่าได้เลิกรับประทานขนมปังและเนื้อสัตว์ ซึ่งยังต้องให้ความสำคัญกับมันแต่ให้เก็บมันไว้เป็นมื้อพิเศษเท่านั้น

เป้าหมายของคุณคือการบริโภคผักประมาณ 70% (รวมทั้งผลไม้แต่น้อยกว่าผัก) และที่เหลืออีก 30% เป็นธัญพืช ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนมและเนื้อสัตว์

นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ช่วยลดน้ำหนักเพราะว่ามัน “ขม” หรือมีน้ำในอัตราที่สูง ตามปกติแล้วสมุนไพรหรืออาหารรสขมนั้นจะช่วยขับไขมันผ่านระบบได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า

ท่านยังคงต้องรับประทานอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่พอเหมาะและถูกสัดส่วน มันไม่ใช่อาหารที่ท่านสามารทานได้โดยไม่จำกัด …

อาหารขมและเต็มไปด้วยน้ำ ได้แก่ : ผักโขม เมล็ดควินหวา (พืชตระกูลข้าวของชาวอินคาเป็นเมล็ดพืชประเภทข้าวชนิดหนึ่ง) ข้าวโอ๊ต ข้าวโพดข้าวถั่ว ถั่วอะซูกิ (adzuki) แตงกวาบวบ สควอช (เป็นพืชผักกลุ่ม ฟักทอง ฟักและแฟง) มันฝรั่งหวาน ผักขึ้นฉ่าย ผักคะน้า กะหล่ำปลีกะหล่ำปลีและกะหล่ำอื่น ๆ เป็นต้น

ท่านสามารถปรุงอาหารด้วยเครื่องเทศที่ช่วยเร่งการเผาผลาญ เครื่องเทศเหล่านี้ประกอบด้วย กระวาน พริกป่น อบเชย ขิง

การหยุดออกกำลังกายอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเราะมะฎอน คนส่วนใหญ่ลดภาระงานของพวกเขาโดยอ้างว่า “เป็นเดือนเราะมะฎอน ดังนั้น ฉันจึงควรพักผ่อน”

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วเรื่องนี้อาจไม่เป็นจริง หากสุขภาวะของท่านเปลี่ยนแปลงบ่อย มีความเครียดจากการถือศีลอดอาจแสดงว่าท่านจะต้องระมัดระวัง 

อย่างไรก็ตามหากท่านไม่แข็งแรงพอจนไม่อาจมีชีวิตได้อย่างปกติในช่วงเดือนเราะมะฎอน ท่านก็ไม่ควรถือศีลอด เราจำเป็นต้องออกกำลังกายเพื่อให้เลือดมีการสูบฉีดและน้ำเหลืองมีการไหลเวียนในร่างกายของเรา

ดูแลเอาใจใส่ขณะถือศีลอด

การลดน้ำหนักในช่วงเดือนเราะมะฎอน หัวใจจะสูบฉีดเลือด ส่วนเท้าและขาจะช่วยปั๊มน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองเป็นสิ่งที่ช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ดำเนินไปได้และกำจัดไขมันส่วนเกินและสารพิษในระบบ หากต้องการให้น้ำเหลืองไหลคล่อง ท่านจะต้องเดินเร็ว ๆ ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าการออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยลดน้ำหนักได้ ดังนั้นอย่าเพิ่งสิ้นหวังหากมันไมได้ช่วยอะไรมาก

โปรดจำไว้ว่าท่านไม่ควรทำงานหนักเกินไปและการออกกำลังกายอย่างพอดีจะช่วยให้มีแรงจูงใจที่จะทำการบำบัดด้วยวิธีอื่น ๆ 

การดื่มกาแฟและชาที่เพิ่มขึ้นเพื่อการเข้าสังคมจะมีส่วนในการเพิ่มน้ำหนักในช่วงเดือนเราะมะฎอน คาเฟอีน (ที่พบในกาแฟ ชา ซ็อกโกแลต และแม้แต่ชาและกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีน) อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

เนื่องจากน้ำอัดลมและคาเฟอีนจะกรองแคลเซียมออกจากระบบของร่างกาย ซึ่งหมายความว่า ท่านจะรู้สึกหิวตลอดเวลาทำให้ต้องกินมากขึ้น

การใช้ชาสมุนไพรแทนกาแฟและชา สามารถช่วยในการลดน้ำหนัก ผมขอแนะนำให้ใช้สารผสม “เดี่ยว” หรือสารผสมลดน้ำหนักที่ผ่านการทดสอบมาแล้วเป็นเวลาหลายร้อยปีและยังคงใช้อยู่จนทุกวันนี้

สูตรลดน้ำหนักสมุนไพรจำนวนมากในท้องตลาดได้รับการทดสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน แต่เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

แรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องมีการสร้างสูตรใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงทำให้สูตรการลดน้ำหนักที่มีอยู่ในท้องตลาด ไม่ได้รับการทดสอบ เพื่อหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่ออวัยวะต่าง ๆ และมีสูตรอีกจำนวนมากที่มีส่วนผสมอันน่าตกใจ ซึ่งมีการผสมสมุนไพรโดยขาดความรอบคอบ

ประการที่สอง แต่ละคนมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับรูปแบบกระบวนการทำงานในอวัยวะต่าง ๆ ของพวกเขารวมถึงวิถีการดำเนินชีวิต โรคภูมิแพ้หรือสภาวะสุขภาพของพวกเขา 

ชาที่ช่วยให้คนหนึ่งคนน้ำหนักลด อาจทำให้อีกคนน้ำหนักเพิ่มขึ้นย่อมเป็นได้

แพทย์สมุนไพรมักกำหนดรายการต่อไปนี้ เมื่อมีการจัดสูตรยาได้แก่ สมุนไพรฟางข้าวโอ๊ต ดอกแดน’ดะไลออน หญ้าอัลฟัลฟ่า เม็ดยี่หร่า ลูกซัด นมธัญพืช และสมุนไพรอื่น ๆ ที่จะทำความสะอาดตับหรือระบบน้ำเหลือง

แพทย์ด้านสมุนไพรมักแนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหยบางอย่างในห้องอาบน้ำหรือห้องนวด เช่น ต้นสน ใบมะกรูด น้ำมันส้ม โรสแมรี่ หรือ น้ำมันดอกเสจ (sage oil) 

เป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่า การอดหลับอดนอนอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเป็นเรื่องปกติที่ในเดือนเราะมะฎอนหลายคนจะนอนหลับไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่เพียงพออาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด อาจส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

การรับประทานไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ การไม่รับประทานอาหารสะฮูรจะกระตุ้นการตอบสนองของการอดอาหารในร่างกาย ซึ่งจะทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของท่านช้าลงไปเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน

เหมือนกับว่าอาหารที่ท่านรับประทาน “เคลื่อนอย่างช้า ๆ” แทน “ความรวดเร็ว” หากท่านข้ามมื้อเช้า ระบบการเผาผลาญอาหารของท่านจะเฉื่อยชาและทำให้ท่านมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น

การรับประทานวิตามินในเดือนเราะมะฎอน อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน วิตามินดีเสริมหรือวิตามินรวมส่งผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก หลายคนคิดว่าเนื่องจากที่พวกเขาไม่ได้รับประทานอาหารที่เคยทานในเดือนเราะมะฎอน ดังนั้นจึงควรทดแทนด้วยการกินวิตามิน

วิตามินไม่ควรนำมาใช้ด้วยเหตุผลดังกล่าวและควรได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพเสมอ วิตามินอาจทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ภาวะขาดสารอาหาร หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เมื่อได้รับอย่างไม่เหมาะสม

สุดท้ายต้องจำไว้ว่าเดือนเราะมะฎอนไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเวลาของการลดน้ำหนัก อย่าให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนักในเดือนนี้

ท่านต้องเพ่งความสนใจไปที่ความหมายของเดือนเราะมะฎอน จงดำเนินตามผู้ที่มีสุขภาพดีที่ได้รับการแนะนำโดยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม แล้วท่านจะพบน้ำหนักนั้นลดลง

………………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

เราะมะฎอนช่วงเวลาแห่งการลดน้ำหนัก (หรือเพิ่ม)? ตอนที่ 1.

ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “พวกท่านทั้งหลายจงถือศีลอด แล้วท่านทั้งหลายจะมีสุขภาพดี”

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอาจถูกมองว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งก็ย่อมได้ อย่างไรก็ตาม การลดน้ำหนักในระหว่างการถือศีลอดของเดือนเราะมะฎอนนั้นจะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง มีหะดีษจำนวนมากได้ให้คำแนะนำกับเราว่า จะรับประทานอาหารเพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดีได้อย่างไรในช่วงถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน

อย่างไรก็ตาม คมเรามักจะลืมนิสัยการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะในช่วงเดือนเราะมะฎอน จนมีคำเหน็บแนมว่า “เดือนเราะมะฎอนมีกับดักอาหารมากกว่าเดือนอื่นๆ”

ดังนั้น ในขณะที่เราต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการถือศีลอดและการเป็นมุสลิมที่ดี เราอาจจะหลงจากแนวทางของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม โดยการทำลายกฎเกณฑ์ในเรื่องการมีสุขภาพดีโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

“หลุมพรางแห่งเดือนเราะมะฎอน” ที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือการรับประทานอิฟฏ็อร (อาหารละศีลด) ที่มากทันทีหลังจากอะซานมัฆริบ (การเชิญชวนสู่การละหมาดช่วงเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า) การรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนเดิม แปลกใหม่ อาหารที่เค็มจัด อาหารที่หวานจัด การบริโภคชาหรือกาแฟที่เพิ่มมากขึ้น การนอนไม่เพียงพอ อาหารไม่ครบมื้อ การรับประทานขนมปังหรืออาหารอื่นที่มากจนเกินไป การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการงดออกกำลังกาย

การรับประทานอาหารละศีลอดจำนวนมากทันทีหลังจากเสียงอะซานนั้น เป็นเรื่องที่หะดีษเองมิได้ส่งเสริม การไหลทะลักของอาหารอย่างมากมายที่บริโภคหลังจากถือศีลอดทั้งวันนั้น อาจทำให้ระบบย่อยอาหารแน่นเฟ้อขึ้นมากได้

ด้วยเหตุนี้ จึงขอแนะนำให้มุสลิมละศีลอดของพวกเขาด้วยอินทผลัมและน้ำ หรือจะเป็นน้ำซุปง่าย ๆ แล้วละหมาดมัฆริบ จากนั้นค่อยรับประทานอาหารละศีลอดในจำนวนพอดีๆ

หลังจากละหมาดตะรอวีหฺอาจควรทานอาหารมื้อเบา ๆ อีกหนึ่งมื้อ การรับประทานอาหารละศีลอดเกินความพอดีนั้นจะก่อให้เกิดปัญหา เนื่องจากมันอาจกลายเป็นอาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย (Trigger foods)

Trigger foods (อาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย) คืออาหารที่ทำให้คนกระหายมากขึ้นและต้องการอาหารซ้ำ ๆ เดิม ๆ น้ำตาลเป็นหนึ่งในกลุ่มอาหาร “Trigger foods” อันเป็นที่ชื่นชอบ

สิ่งที่ตรงข้ามกับ “Trigger foods” (อาหารที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย) คืออาหารแบบ “Ideal foods” (อาหารที่ถูกสุขลักษณะ) ท่านสามารถขจัด trigger foods โดยการคอยสังเกตหรือการบำบัดทางธรรมชาติ (ไม่ว่า ดีท็อกซ์ อโรมา-เธอราปี โยคะ สมุนไพร) แต่ละคนควรรู้ว่าพวกเขาแพ้อาหารอะไร อาหารไหนที่เป็น “trigger foods” และอาหารไหนเป็น “Ideal foods”

การรับประทานมากเกินไปนั้นเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อการลดน้ำหนักในช่วงเราะมะฎอน อัลกุรอานระบุเรื่องนี้ว่า “พวกเจ้าจงกินจากสิ่งที่ดีทั้งหลาย ที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า และพวกเจ้าอย่าได้ฝ่าฝืน … ” สูเราะฮฺ ฏอฮา อายะฮฺที่ 81

หลายคนไม่ตระหนักว่า พวกเขากำลังรับประทานอาหารมากขึ้นเนื่องจากพวกเขาไม่พยายามเลยอย่างไรก็ตามโปรดจำไว้ว่าในช่วงที่เหลือของปี ผู้คนรับประทานอาหารเช้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะต้องรีบไปทำงานหรือโรงเรียนแล้วทานอาหารกลางวันมื้อเล็กน้อยแต่มื้อเย็นกลับกินอย่างหนัก จากนั้นพวกเขาก็นอนหลับ

ในบางวัฒนธรรมพวกเขารับประทานอาหารกลางวันเป็นมื้อหนักและจากนั้นรับประทานอาหารค่ำมื้อเบา ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนเราะมะฎอน การละศีลอดนั้นมีแนวโน้มว่าจะรับประทานอาหารหนักแล้วรับประทานต่อเนื่องจนไปถึงกลางดึกพร้อม ๆ กับครอบครัวและมิตรสหาย

การรับประทานอาหารสะฮูรนั้นมักเป็นมื้อหนักเช่นเดียวกัน ซึ่งในเวลานี้มันจะช่วยควบคุมในการกินแต่ละวันเพื่อ “ตรวจสอบตามสภาพที่เป็นจริง” การรับประทานอาหารรูปแบบใหม่ ๆ หรืออาหารแปลก ๆ เป็นปัญหากับการลดน้ำหนักในช่วงเดือนเราะมะฎอนด้วยเช่นกัน

ในความเป็นจริง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตอาจทำให้เกิดความเครียดและมีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

ความเครียดอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นในคนที่มี่ความไวต่อความเครียด หากท่านเป็นคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงแต่ชอบให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่า “ทุกสิ่งย่อมมีที่ทางของมันและทุกสิ่งนั้นอยู่ที่ทางของมัน” หรือท่านเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดกับการอยู่ในบ้าน ท่านอาจจะเป็นคนที่ไม่สามารถรับมือกับความเครียดอันเกิดจากการเปลี่ยนได้เป็นดีนัก

ท่านกินอะไร

วิตามินบีรวมสามารถช่วยให้คนรับมือกับความเครียดได้ นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่สามารถช่วยลดความตึงเครียดลงได้

การรับประทานอาหารแบบใหม่ ๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงที่อาจทำให้ท่านแพ้อาหารบางอย่างที่รับประทานเข้าไป ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ท้องเป็นสระน้ำของร่างกายและหลอดเลือดได้นำไปสู่มัน (ร่างกาย) เมื่อกระเพาะอาหารมีสุขภาพดี หลอดเลือดดำจะถ่ายโอนความมีสุขภาพดีจากมันด้วย เมื่อกระเพาะอาหารป่วย หลอดเลือดดำจะถ่ายโอนความป่วยนั้นด้วย”

อาหารที่ท่านแพ้อาจทำให้กระเพาะอาหารของท่านเจ็บป่วยได้ส่งผลให้เกิดอาการหอบหืด ลมพิษ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าอาการแพ้หรือการตอบสนองไวต่ออาหารอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

หลายคนมีน้ำหนักลดลงไปอย่างน่าใจหาย เมื่อพบว่าคนเองมีอาการภูมิแพ้จนทำให้งดอาหารเหล่านั้นไป อาหารที่ก่อภูมิแพ้ที่พบโดยทั่วไปได้แก่ ไข่ ถั่วลิสง นม ข้าวสาลี ถั่วเหลืองและอื่น ๆ อีกหลายชนิด

ประเภทของอาหารที่ท่านเลือกกินในช่วงเดือนเราะมะฎอนอาจทำลายความพยายามในการลดน้ำหนักของท่านได้ หากว่าท่านกินอาหารที่เค็มเกินไปร่างกายของท่านจะเก็บน้ำไว้และทำให้ท้องอืด

ในขณะเดียวกัน การขาดน้ำอาจทำให้ร่างกายสะสมสารพิษและไขมันอื่น ๆ ได้ง่ายกว่าเนื่องจากไม่มีของเหลวเพียงพอที่จะชะล้างสารพิษออกจากร่างกาย

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

รายการอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดสำหรับเดือนเราะมะฎอนของท่าน

เราะมะฎอน หมายถึง การฟื้นฟูจิตวิญญาณและร่างกาย เพราะฉะนั้น มุสลิมจะต้องเฝ้าสังเกตในสิ่งที่จะรับประทานและเพ่งความสนใจไปยังอาหารที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและอีกทั้งยังให้ความชุ่มชื้นและความมีชีวิตชีวาตลอดเดือนอันประเสริฐนี้

นักโภชนการเตือนการรับประทานอาหารประเภททอด โดยเฉพาะช่วงละศีลอดซึ่งจะทำให้ท่านรู้สึกท้องแน่น อีกทั้งกรณีการรับประทานสะฮูรที่ไม่ดีต่อสุขภาพนั้น จะทำให้ท่านรู้สึกกระหายตลอดช่วงกลางวันของการถือศีลอด

หนึ่งในอาหารที่ดีเพื่อใช้รับประทานสำหรับละศีลอด (อิฟฏอรฺ) คือ ปลาซึ่งมีทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินดีและโอเมก้า 3 นอกจากนี้ ความเอร็ดอร่อยกับการรับประทานปลายังสามารถปรับปรุงคุณภาพของการนอนหลับอันเนื่องจากมันย่อยง่าย

อาหารที่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือ ข้าวกล้อง ซึ่งย่อยง่าย ข้าวกล้องจะช่วยกระตุ้นการย่อยอาหารและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของคุณได้ดี อุดมด้วยแร่ธาตุที่จำเป็น เช่น ฟอสฟอรัส ธาตุสังกะสี และโฟเลต (เป็นหนึ่งในตระกูลวิตามินบีรวม รู้จักกันทั้งในชื่อ วิตามินบีซี (Bc) หรือวิตามินเอ็ม) ซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและให้พลังงาน รวมไปถึงวิตามิน A วิตามิน C และวิตามิน E อีกด้วย

ตามรายงานจาก Muslim Hands UK อาหารสะฮูรที่มีโปรตีนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งที่จะทำให้ท่านอยู่ได้ตลอดทั้งวัน แหล่งโปรตีนที่ดี วิตามิน A วิตามิน D วิตามิน E วิตามิน B6 และวิตามิน B12 แคลเซียม เหล็ก และสังกะสี คือ ไข่

สลัดที่มีผักสดในแบบต่าง ๆ นั้น ถือว่าเป็นอาหารที่ดีมื้อหนึ่งที่ท่านจะต้องรับประทานในเดือนเราะมะฎอนเพราะเป็นเหมือนอาหารมื้อเบา ๆ ที่ครบถ้วนเต็มไปด้วยโปรตีนและวิตามิน

ส่วนผลไม้ควรรับประทานทุกวันในช่วงละศีลอดและสะฮูร อย่างไรก็ตาม ผลไม้บางชนิดได้รับการยอมรับเป็นพิเศษและควรบริโภคให้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ถือศีลอด

แตงโม แคนตาลูป ฮันนีดิว (แตงสายพันธุ์หนึ่งของแตงเมลอน) และแตงกวาเป็นผลไม้ที่ดีเยี่ยมสำหรับผู้ถือศีลอด มันคือแหล่งที่มาอันดีเยี่ยมของเส้นใยและมีปริมาณน้ำมากเพื่อช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้นในช่วงเวลาที่อดอาหาร

กล้วยอุดมไปด้วยโพแทสเซียม โปรตีน และเส้นใยอาหาร โพแทสเซียมมีส่วนสำคัญในการรักษาระดับของเหลวในร่างกาย อีกทั้งมันยังควบคุมการเคลื่อนไหวของสารอาหารและของเสียที่เข้าและออกจากเซลล์ กล้วยยังเป็นแหล่งพลังงานที่ดีช่วยลดความเครียด ปรับอารมณ์ รักษาแผลพุพองและอาการจุกเสียดท้อง

อินทผลัมเป็นผลไม้ที่สมบูรณ์แบบที่ให้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ พลังงาน น้ำตาล และเส้นใย แม้ว่ามันจะมีขนาดเล็กก็ตาม แต่อินทผลัมกลับอุดมไปด้วยคุณค่ามากกว่าที่คุณคิดเสียอีก

การบริโภคมะละกอในช่วงเราะมะฎอนนับว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่งต่อสุขภาพของคุณ อันเนื่องจากมันอุดมไปด้วยเส้นใย แคลอรี่ และน้ำตาล ซึ่งช่วยให้การย่อยอาหารดีขึ้น 88% ของน้ำที่มีเนื้อเยื้อ มะละกอจึงดีสำหรับเส้นผมและผิวหนังของท่าน

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

อาหารฮาลาล : ราชทัณฑ์รัฐโอคลาโฮม่าบริการอาหารฮาลาลได้มาตรฐานแก่นักโทษมุสลิม

ผู้จัดการฝ่ายบริการอาหารสำหรับนักโทษในศูนย์แก้ไขพฤติกรรม John Lilley กล่าวว่า การเตรียมอาหารฮาลาลต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าการเตรียมอาหารสำหรับนักโทษทั่วๆ ไป ถึงแม้จะไม่ใช่งานที่หนักหนา แต่ต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบในขั้นตอนต่างๆ อาทิ การแยกครัวและอุปกรณ์ การล้างน้ำเดิน การแยกบรรจุภัณฑ์ การแยกเตาไมโครเวฟ และแม้แต่จุดแจกอาหาร

เจ้าหน้าที่เรือนจำของรัฐในโอคลาโฮมา กล่าวว่า นับตั้งแต่ศาลรัฐโอคลาโฮมาได้ออกคำสั่งให้เรือนจำทุกแห่งทั่วรัฐ จัดบริการทางเลือกด้านอาหารให้กับนักโทษ ก็มีนักโทษที่เป็นมุสลิมทั้งดั้งเดิม และที่เข้ารับอิสลามใหม่หลังจากเข้ามารับโทษในเรือนจำ ขอใช้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าวจำนวนมาก ไม่รวมนักโทษที่เป็นชาวยิวและอื่นๆ โดยที่จากเดิมในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มีการบริการอาหารฮาลาลแก่นักโทษทั่วรัฐจำนวน 7,424 มื้อ เพิ่มขึ้นเป็น 11,502 มื้อในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือคิดเป็นกว่า 38,000 มื้อ ในจำนวนอาหารทั้งหมด 6.5 ล้านมื้อ ที่จัดบริการให้กับนักโทษในโอคลาโฮมา ในช่วง 4 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2555

โฆษกกรมราชทัณฑ์รัฐโอคลาโฮมา ระบุว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม มีนักโทษมุสลิมเข้าร่วมในการประกอบศาสนกิจกว่า 600 คน 

หลายปีที่ผ่านมาเรือนจำต่าง ๆ เสิร์ฟอาหารที่ทำจากเนื้อโคเช่อร์ (ฮาลาลของชาวยิว) หรืออาหารที่เพียงแต่ไม่ใส่หมู หรืออาหารมังสวิรัติ แก่นักโทษมุสลิม จนกระทั่งฝ่ายศาสนาในกรมราชทัณฑ์ได้ออกคำแนะนำใหม่ด้านอาหารฮาลาล รวมทั้งข้อกำหนดให้ทางเลือกแก่นักโทษ ซึ่งผ่านการเห็นชอบและตกลงกันในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ หลังจากศาลได้พิจารณาคำร้องขอของนักโทษ มาดีน อับดุลฮาซีบ หรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่าเจอรี่ แอล.โธมัส จากเรือนจำลอตั้น ที่ร้องเรียนเกี่ยวกับการเสิร์ฟอาหารที่เพียงไม่ใส่หมู หรือเนื้อสัตว์แก่นักโทษมุสลิม เมื่อปีที่ผ่านมา

ในการร้องเรียนครั้งนั้น โธมัส ได้รับเงินชดเชยจำนวน 63,000 ดอลล่าร์ จากราชทัณฑ์ ทั้งๆ ที่เขาเป็นนักโทษคดีอาญาร้ายแรงจากความผิดฐานข่มขืนและลักขโมย หลังจากนั้นมีการร้องเรียนคล้ายๆ กันนี้ในเรือนจำจอร์เจีย แคลิฟอร์เนียและโอไฮโอ ทำให้ทางราชทัณฑ์จำต้องพิจารณาทางเลือกด้านอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามมาตรฐานแก่นักโทษมุสลิม

เรือนจำ John Lilley มีมุสลิม 10 คน และอนุศาสนาจารย์ได้ยืนยันว่า ทั้งหมดปฏิบัติศาสนกิจครบถ้วน

ข่าวเว็ปไซต์ newsok.com

รอมฎอนและกีฬา : ความท้าทายสำหรับนักกีฬามุสลิม ?

รายการแข่งขันกีฬาบางประเภทมีตารางการแข่งขันตรงกับช่วงเดือนรอมฎอน นักกีฬามุสลิมกังวลว่าอาจจะมีเกมการแข่งขันในระหว่างที่ถือศีลอด ด้วยความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาที่สำคัญนี้และหาทางออก ข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วยเรื่องราวของ Sir Roger Gilbert Bannister ผู้ที่เหล่านักกีฬาน่าจะรู้จักบุรุษท่านนี้เป็นอย่างดี

Sir Bannister เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่วิ่งระยะหนึ่งไมล์ภายในเวลาไม่ถึง 4 นาที เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 1952 ที่เฮลซิงกิ เมื่อเขาเข้าเส้นชัยเป็นที่สี่ โรเบิร์ตหนุ่มเสียใจมาก เขาคิดถึงขนาดที่ว่าจะเลิกวิ่งแข่งขันอีกต่อไป แต่แล้วเขาก็เอาชนะความผิดหวังของเขาได้ เขาก้าวพ้นประสบการณ์อันข่มขื่นของเขา ด้วยความท้าทายใหม่ คือ เขาตัดสินใจที่จะเป็นนักกีฬาคนแรกที่วิ่งในระยะทางหนึ่งไมล์โดยใช้เวลาให้น้อยกว่าสี่นาที

ในช่วงเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์และนักกีฬาเชื่อว่าเป้าหมายนี้เป็นไปไม่ได้ ผู้คนต่างกล่าวว่ามันเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของมนุษย์ โรเบิร์ตหนุ่มไม่ยอมแพ้ต่อคำกล่าวอ้างในเรื่องนี้ เขาเพิ่มความเข้มข้นในโปรแกรมการฝึกฝนของเขา และหลังจากนั้นสองปีเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1954 Robert Bannister ได้ถูกบันทึกชื่อลงในกินเนสบุค

แต่เดี๋ยวก่อน นี่ไม่ใช่เหตุผลที่โรเบิร์ตหนุ่มของเราได้กลายเป็นที่รู้จัก Sir Bannister เป็นที่รู้จักไม่ใช่เพราะเป็นคนแรกที่วิ่งระยะทางหนึ่งไมล์ในสี่นาที แต่เพราะเขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้ชายที่ได้รับการบันทึกสถิติของเขาในกินเนสบุคโดยมีระยะเวลาที่สั้นที่สุด เพียง 46 วันต่อมาสถิติของโรเบิร์ตหนุ่มก็ถูกทำลายโดย John Landy นักกีฬาชาวออสเตรเลีย

ทั้งหมดที่ Bannister ได้ทำคือการพิสูจน์ว่าเป้าหมายนี้สามารถทำได้จริง ด้วยการทำเช่นนั้นเขาช่วยแก้ไขความเชื่อที่ผิดพลาดที่ได้รับการยึดถือมาอย่างยาวมานานและฉุดรั้งเหล่านักกีฬาเป็นเวลาหลายปี Bannister ไม่เพียงแค่เปลี่ยนสถิติของเหล่านักกีฬาเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนมุมมองของพวกเขา เปลี่ยนการรับรู้ของพวกเขา และเปิดประตูสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายในปัจจุบันในหมู่โค้ชการพัฒนามนุษย์ ที่เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “The Bannister effect”

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ทรงพลังของความรู้สึกนึกคิดที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าความสามารถ มันพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่คุณคิดว่าเป็นไปไม่ได้ จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอาหารแท่งให้พลังงานหรือพาวเวอร์บาร์จะเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและเพิ่มพละกำลังให้แก่นักกีฬาหากเขาหรือเธอ ‘เชื่อ’ เช่นนั้น [1]

ประวัติศาสตร์เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดในเรื่องของพลังมหัศจรรย์ ความทรหดอดทน และการบรรลุผลสำเร็จที่น่าอัศจรรย์ของมุสลิมในระหว่างที่พวกเขาได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เรามี “Bannister effect” ของเราเองจากบันทึกเรื่องราวอันยาวนานของประวัติศาสตร์ เริ่มตั้งแต่รอมฎอนแรกที่ชาวมุสลิมได้ถือศีลอด

ในปี 624 พลังอันน่าทึ่งที่เชื่อมต่อกันของความคิดจิตใจและร่างกายได้เป็นที่ประจักษ์ชัด ในระหว่างการสู้รบในสงครามบะดัรฺ มุสลิมที่ถือศีลอดสามารถต่อสู้และได้รับชัยชนะเหนือบรรดามุชริกจากเมืองมักกะห์ในเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์นี้

ในปี 710 เช่นเดียวกันในเดือนรอมฎอน กองทัพมุสลิมที่นำโดย ฏอริก บิน ซิยาด ได้พิชิตกษัตริย์โรเดอร์ริก และเข้าสู่คาบสมุทรไอบีเรีย และเริ่มต้นการปกครองแบบอิสลามอันน่าอัศจรรย์เหนือนครอันดาลุเซีย ซึ่งใช้เวลากว่า 800 ปี ในการเผยแผ่อิสลามและสร้างอารยธรรมตลอดพื้นที่ของทวีปแอฟริกาและยุโรป

ในปี 1260 สุลต่านซัยฟุดดีน กุตุซ แห่งราชวงศ์มัมลูก ได้นำกองทัพอียิปต์เข้าสู่สงครามที่สมรภูมิอัยน์ ญาลูต และได้พิชิตกองทัพที่ถูกขนานนามว่าไร้พ่ายของชาวมองโกลที่ปาเลสไตน์ และยุติทศวรรษแห่งความทุกข์ทรมานและความยากลำบากของมุสลิม [2] อีกทั้งยังสามารถปราบปรามชาวมองโกลที่ได้ชัยชนะกองทัพต่าง ๆ จากทั้งยุโรปและเอเชีย

นอกจากนี้ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเรา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม หรือ 10 รอมฎอน 1973 กองทัพอียิปต์ที่ต่อสู้กับอิสราเอลได้ทำลายตำนานของป้อมปราการบาเลฟไลน์และข้ามคลองสุเอซไปยังดินแดนที่ถูกยึดครองของซีนายในขณะที่มุสลิมกำลังถือศีลอด

วิทยาศาสตร์ได้ล้มเหลวในการอธิบายถึงความทรหดอดทนและผลงานอันน่าทึ่งนี้ของบรรดามุสลิมที่ถือศีลอดในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์ ‘ Bannister effect ‘ อาจพิสูจน์พลังของจิตใจที่อยู่เหนือร่างกาย และแสดงให้เราเห็นถึงพลังที่น่าอัศจรรย์ของจิตใต้สำนึกของเราเหนือสรีรวิทยาของเรา แต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงความจำเริญอันยิ่งใหญ่ในช่วงวันอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้

การวิจัยแสดงให้เห็นว่าเจตจำนงที่หนักแน่นเป็นเครื่องมืออันทรงพลังอย่างยิ่งและเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ดีที่สุดของจิตใต้สำนึก

และในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยกับเจตนาที่บริสุทธิ์ของเรา ร่างกายของเราอาจได้รับการตั้งโปรแกรมเพื่อปรับสรีรวิทยาให้บรรลุสู่หนทางปาฏิหาริย์ที่เหนือการยืนหยัดอดทดและอดกลั้นไม่ดื่มกินเท่านั้น ด้วยความตั้งใจที่เรียบง่ายแต่จริงใจ เรากำลังวางแผนจิตใต้สำนึกของเราเพื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและความทรหดอดทน

มีอะไรมากมายในรอมฎอนที่ไม่ใช่เพียงแค่การอดอาหารทางกายภาพหรือการขัดเกลาวิญญาณ ตามที่เราเห็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า การถือศีลอดอย่างจริงใจสามารถบรรลุปาฏิหาริย์ได้อย่างไร การถือศีลอดสามารถเพิ่มความทรหดอดทนและเพิ่มพลังให้ทั้งสมรรถภาพทางจิตใจและร่างกายได้อย่างไร ข้าพเจ้าไม่สามารถอธิบายได้ในที่นี่ แต่พึงระลึกถึงถ้อยคำของผู้เป็นเจ้า

“พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ ? พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วน ผู้ทรงตระหนักยิ่ง” (สูเราะห์ อัล มุลก์ – 67:14)

::เคล็ดลับที่เป็นประโยชน์สำหรับนักกีฬา::
หากคุณต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมมาสนับสนุนความคิดที่ว่าคุณสามารถถือศีลอดและยังคงสามารถแข่งขันด้วยกับประสิทธิภาพสูงสุดของคุณ คุณจะไม่พบอะไรมากแต่วิทยาศาสตร์นั้นเปลี่ยนแปลงท่าทีอยู่บ่อยครั้ง

ความคิดเห็นและทฤษฎีเกี่ยวกับอาหารชนิดใดบ้างที่ต้องรับประทาน และช่วงเวลาใดที่จะต้องรับประทานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลายครั้งหลายหนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เมื่อไม่นานมานี้นักโภชนาการจะแนะนำไม่ให้ทานคาร์โบไฮเดรตก่อนการแข่งขันเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้เกิดการหลั่งอินซูลินและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้นักโภชนาการกลับแนะนำให้นักกีฬากินคาร์โบไฮเดรตก่อนที่จะมีการแข่งขันเพื่อกระตุ้นการสะสมกำลังของกล้ามเนื้อ

แม้ในขณะนี้ การศึกษาแสดงให้เห็นว่าผลกระทบของอาหารและการควบคุมอาหารในการแข่งขันของนักกีฬาเป็นแนวคิดแบบปัจเจกบุคคลโดยสิ้นเชิงซึ่งแตกต่างกันตามรายบุคคลและตามสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายร้อยประการ ที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อและมุมมองทางจิตใจของนักกีฬา

ดังนั้น ขณะที่ Smolin และ Grosvenor แนะนำว่า “นักกีฬาควรทดสอบผลของมื้ออาหารก่อนการแข่งขันในระหว่างการฝึกซ้อม ไม่ใช่ในระหว่างการแข่งขัน” [3]

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าอยากเน้นย้ำว่าการวางโปรแกรมทางจิตใจและร่างกายของเราต้องได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี

อิสลามเป็นศาสนาแห่งความสมดุลและความพอดีที่สนับสนุนความเข้าใจในวิธีการทั้งหลายทางโลกนี้พร้อม ๆ กับเครื่องมือทางด้านจิตวิญญาณ ความนึกคิด และอารมณ์ การควบคุมอาหารที่ได้สมดุลครบถ้วนทั้งสารอาหารและวิตามินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการออกกำลังกายคือแก่นสำคัญสำหรับผลงานในการแข่งขันที่เหมาะสม นักกีฬายังคงสามารถรับสารอาหารที่จำเป็นได้ในช่วงเวลาที่ไม่ต้องถือศีลอด 

จงตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณรับประทานอาหารที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตเพื่อเติมเต็มปริมาณไกลโคเจนสำรองไว้ในกล้ามเนื้อ (ร่างกายของคุณใช้ไกลโคเจนสำรองนี้เป็นเชื้อเพลิงในการให้พลังงานระหว่างการออกกำลังกาย)

หลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการแปรรูปและน้ำตาลเชิงเดี่ยว และทดแทนด้วยการกินธัญพืชโฮลเกรน ผักผลไม้ ถั่วและพืชตระกูลถั่วให้มาก ๆ และที่สำคัญที่สุดดื่มน้ำมาก ๆ ในระหว่างช่วง สะฮูร เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะมีน้ำเพียงพอตลอดทั้งวัน

………………………………………………………..
อ้างอิง:
[1] Smolin & Govner. 1997. Nutrition: science and applications. Saunders College Publishing.
[2] As-Sergany, R. n.d. http://islamstory.com
[3] Smolin & Govner. 1997. Nutrition: science and applications. Saunders College Publishing.
……………………..

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Amira Ayad

:: รอมฎอนกับการกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดี (1) ::

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน 
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอด ไม่ใช่แค่เปลี่ยนเวลาโดยยังบริโภคอาหารมากเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิม การถือศีลอดที่ถูกต้องหมายถึงต้องลดการบริโภคอาหารให้น้อยลงด้วย หาไม่แล้วก็อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่หวัง ก่อนอื่นควรรู้ว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนที่ว่าสร้างประโยชน์มากมายนั้นสร้างอะไรบ้าง ประการแรกที่รอมฎอนให้ประโยชน์คือการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจากเดิมสามมื้อกลายเป็นสองมื้อ เรื่องนี้หากไม่เคยฝึกมาก่อนย่อมทำได้ไม่ง่ายเลย ปรัชญาเบื้องหลังประโยชน์ในเรื่องการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ว่านี้คือการเปลี่ยนความเคยชินซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

คนเราทำงานจำเป็นต้องมีวันหยุดไม่เช่นนั้นร่างกายคงล้าจนกระทั่งทรุดโทรม การหยุดงานเสาร์อาทิตย์รวมทั้งการพักเที่ยงไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าจากงานวิจัยการหยุดพักเป็นช่วงๆเช่นนี้ให้ผลสัมฤทธิ์ต่องานมากมาย การหยุดงานจะหนึ่งวันหรือสองวันในหนึ่งสัปดาห์ส่งผลให้กายและใจที่ผ่านการพักผ่อนมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้คุณภาพดีอีกต่างหาก

ระบบทางเดินอาหารก็ไม่ต่างกัน ทางเดินอาหาร นับตั้งแต่ปาก หลอดคอ กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ตับอ่อน ตับ ถุงน้ำดี ต้องทำงานหนักจากการกินอาหารปริมาณมากบ่อยครั้ง สุดท้ายประสิทธิภาพของทางเดินอาหารย่อมลดลง ทำงานช้าลง มีสิ่งอุดตันมากขึ้น การขับถ่ายอาจมีปัญหา การสร้างเอนไซม์และน้ำย่อยอาจไม่เพียงพอกับปริมาณที่บริโภคมากเกินไปในแต่ละวัน

คนที่บริโภคอาหารมากเกินโดยไม่เคยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมยังกินซ้ำซากทุกวันทั้งปี ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักกระทั่งล้า ผลสุดท้ายคือโรคที่เกิดกับทางเดินอาหาร อย่างเช่น โรคหูติ่งในลำไส้ โรคกระเพาะอาหาร บ้างก็เจอปัญหาท้องผูก หนักหน่อยอาจเจอมะเร็ง ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงคนที่บริโภคมากกระทั่งเจอปัญหาโรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันสูงในเลือดและอีกสารพัดโรคเรื้อรังซึ่งกลายเป็นโรคอันดับหนึ่งของศตวรรษที่ 20 และ 21 ไปแล้ว

การแพทย์แผนอินเดียเก่าแก่กว่าห้าพันปีที่เรียกว่าอายุรเวท และแพทย์แผนจีนโบราณอายุกว่าสี่พันปียืนยันตรงกันว่าการลดการบริโภคช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยทำให้ร่างกายได้สารอาหารที่เหมาะกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ การบริโภคไม่มากนักช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหารและสุขภาพร่างกายของผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีให้ดีขึ้น ส่วนเด็ก ๆ ที่กำลังเจริญเติบโตการไม่สนับสนุนให้บริโภคมากเกินไป สอนให้เด็กหลีกเลี่ยงอาหารขยะ ผลที่ตามมาคือสุขภาพร่างกายของเด็กดีขึ้น สติปัญญาแจ่มใสขึ้น ทำให้เด็กเหล่านี้ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอ้วนในวัยผู้ใหญ่ได้

นักวิจัยชาวตะวันตกพบว่า การฝึกกระบวนการลดการบริโภคที่ดีที่สุดคือใช้วิธีถือศีลอดแบบมุสลิม โดยเปลี่ยนเวลารับประทานอาหาร ลดอาหารจากสามมื้อเป็นสองมื้อ ที่สำคัญ คือ ปริมาณที่บริโภคในสองมื้อนั้นต้องลดลงจากปกติ ทำได้อย่างนี้สุขภาพจึงจะดีขึ้น ปัญหาของมุสลิมจำนวนไม่น้อยในเดือนรอมฎอนคือเปลี่ยนเวลาในการบริโภคอาหารแต่กลับเพิ่มปริมาณการบริโภค ผลดีที่จะได้กลับไม่ได้ น้ำหนักตัวแทนที่จะลดกลับเพิ่ม ทำอย่างนั้นแทนที่จะได้ผลดีนอกจากไม่ได้แล้วยังอาจเป็นผลเสีย ต้องระวังกันหน่อย

……………………………………………..
ที่มา : https://www.facebook.com/drwinaidahlan

ฟิกฮฺ อิสติฮาละฮฺ การบูรณาการวิทยาศาสตร์กับหลักนิติศาสตร์อิสลาม (ตอนที่ 1)

ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านอาหารเป็นผลให้เกิดผลิตภัณฑ์และส่วนผสมอาหารใหม่ ๆ หลากหลายชนิดที่ปรากฏอยู่ในท้องตลาด เทคโนโลยีเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะในการผลิตหรือผลิตซ้ำ (reproduce) จากส่วนผสมที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ชุมชนศาสนารวมถึงมุสลิมต่างเพิ่มความวิตกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บางอย่างซึ่งเคยรับรู้มาก่อน เช่น มุสลิมได้อาหารที่ผลิตจากหมูรวมทั้งผลิตภัณฑ์ของมัน ซากสัตว์ เลือด ไวน์ เป็นต้น การขาดความเข้าใจของผู้บริโภคมุสลิมในเรื่องนี้อาจนำไปสู่ความยุ่งยากในการเลือกซื้ออาหารในตลาดที่ฮาลาลอย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงของอุตสาหกรรมอาหารในโลกมุสลิมคือที่มาของเจลาตินและแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร

แอลกอฮอล์โดยหลักแล้วใช้เป็นตัวทำละลายในผลิตภัณฑ์อาหาร อาจใช้เป็นตัวสารเพิ่มกลิ่นและรสอาหารโดยเฉพาะในการปรุงอาหาร ช็อกโกแลต ไอศครีม ขนมปังกรอบและผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้วผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแอลกอฮอล์เช่น น้ำส้มสายชู มาร์ไมต์ (marmite) เป็นที่นิยมบริโภคอย่างมากรวมทั้งมุสลิมโดยที่ไม่แน่ใจในแหล่งที่มาของอาหารเหล่านี้มากนัก (Main & Chaudry ,2004)

ขณะที่เจลาตินใช้กันอย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นส่วนผสมที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของอาหาร โดยปกติแล้วนักวิชาการด้านนิติศาสตร์อิสลามต่างเห็นว่า การใช้เจลาตินที่ได้มาจากเนื้อสัตว์ซึ่งเชือดตามหลักการศาสนาเป็นสิ่งที่ฮาลาล แต่ประเด็นที่เป็นเรื่องถกเถียงในระหว่างนักนิติศาสตร์อิสลาม คือ เจลาตินที่มาจากหมูหรือซากสัตว์เป็นสิ่งที่ฮาลาลหรือไม่ บางส่วนเห็นว่าเจลาตินที่มีแหล่งที่มาต้องห้ามเป็นสิ่งที่หะรอม ขณะที่ทรรศนะส่วนหนึ่งเห็นว่าเจลาตินที่ได้มาจากแหล่งที่มาต้องห้ามเป็นสิ่งที่ฮาลาลนั่นคืออนุมัติให้บริโภคได้เพราะตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการอิสติหาละฮ์ (Hammad, 2004)

ในการถกเถียงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์หนึ่งไปเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง นักวิชาการมุสลิมมีแนวโน้มที่จะใช้อิสติหาละฮฺหรืออินกิลาบ (การเปลี่ยน) (Wahbah 1997) อิสติหาละฮ์เป็นภาษาอาหรับมาจากรากศัพท์ของคำว่า (ح و ل) ซี่งหมายถึงเปลี่ยน (Ibn Manzur 1990: Wher) มีความหมายพ้องกับคำว่า (حال) หรือเปลี่ยน (انقلب) และการเปลี่ยนรูป (تغير) (al-Razi 1997) ดังนั้น อิสติหาละฮ์ในทางภาษาจึงหมายถึงการเปลี่ยนรูปและการเปลี่ยนแปลง (conversion) (wahbah 1997) ตามความเห็นของก็อลอะฮ์ญี ในมุอญัม ลูเฆาะฮ์ อัลฟุเกาะฮาอ์ การอิสติหาละฮ์ของสารหนึ่งไปเป็นอีกสารหนึ่งโดยที่ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นสารเดิมได้อีก มุมมองนี้สอดคล้องกับความเห็นของสะอ์ดี อบูญัยยิบซึ่งกล่าวว่า อิสติหาละฮ์เป็นคำที่ถูกกล่าวถึง เมื่อสารใดสารหนึ่งได้เปลี่ยนไปอย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น การที่เมล็ดพืชเติบโตและกลายเป็นต้นไม้หรือการที่มูลของสิ่งมีชีวิตได้กลายเป็นฝุ่นดิน (Al-Ayid n.d.)

นักนิติศาสตร์อิสลามได้ให้นิยามคำว่าอิสติหาละฮฺไว้หลากหลาย อย่างไรก็ตามความหมายโดยพื้นฐานต่างก็มีความเหมือนกันนั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสารหนึ่งไปเป็นสารหนึ่ง (Muhammad 1996) วะฮ์บะฮ์ (1997) ยังได้นิยามอิสติหาละฮฺว่าเป็นการเปลี่ยนสถานะหรือเปลี่ยนคุณสมบัติเช่นการเปลี่ยนของสิ่งที่นาญิสเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ (อัฏฏอฮิร์) นาซิฮ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากมุมมองนี้ โดยพื้นฐานคือการเปลี่ยนสิ่งที่สกปรก (นาญิส- หะรอม) ไปเป็นสารอื่น การเปลี่ยนดังกล่าวครอบคลุมถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและคุณสมบัติเช่น ชื่อ กลิ่น รสชาติ สี และสภาพธรรมชาติของมัน ดังนั้นอิสติหาละฮฺสามารถนิยามได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์หนึ่งในทางกายภาพและทางเคมี (Aizat & Radzi 2009)

อิสติหาละฮฺครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงสามด้าน ประการแรก การเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพ ประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีและสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงทั้งกายภาพและทางเคมี (Aizat & Radzi 2009) การเปลี่ยนแปลงทางกายประกอบไปด้วยการเปลี่ยนกลิ่น รสชาติและสีส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเป็นการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในในผลิตภัณฑ์ (Wahbah 1997) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนทั้งลักษณะทั้งทางกายภาพและเคมี สารตัวนั้นได้เปลี่ยนเป็นสารตัวใหม่อย่างสมบูรณ์ (Nazih 2004) ตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ คือ การเปลี่ยนหนังสัตว์ยกเว้นหนังสุนัขและสุกร ซึ่งเปลี่ยนเป็นเครื่องหนังโดยผ่านกระบวนการฟอก สำหรับตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ได้แก่ การเปลี่ยนของไวน์กลายเป็นน้ำส้มสายชูผ่านกระบวนการหมัก ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางเคมีนั้น จะเห็นว่าทั้งไวน์และน้ำส้มสายชูยังอยู่ในสถานะของเหลวแต่มีความแตกต่างในคุณสมบัติทางเคมี

ฟิกฮ์เป็นคำภาษาอาหรับ ซึ่งในทางภาษาหมายถึงการเข้าใจอย่างละเอียดและลึกซึ้งและโดยทั่วไป หมายถึง การได้รับความรู้ศาสนา (Ibn Manzur 1990) อิบนุค็อลดูนได้อธิบายฟิกฮฺว่าเป็น “ความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์แห่งวิวรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการงานของแต่ละบุคคล” (อัฟอะลุล อัลอิบัด) โดยเขาจะต้องให้เกียรติกับบัญญัติแห่งฟากฟ้าซึ่งได้แก่ สิ่งต้องกระทำ (วาญิบ) สิ่งที่ห้าม (หะรอม) สิ่งที่ควรปฏิบัติ (มันดูบ) และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง (มักรูฮฺ) หรือการอนุญาต (มุบาฮ์) (Levy 1957) เมื่อนิยามเจาะจงลงไป ฟิกฮ์จึงเข้าใจได้ว่า เป็นความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ชะรีอะฮ์ในทางปฏิบัติซึ่งนำมาจากหลักฐานที่เป็นรายละเอียด (อัลอิลมุล บิลอะห์กาม อัช-ชะริอิยฺยะฮ์ อัลอะอ์มาลิยฺยะฮ์ มินอะดิลละตะฮา อัลตัฟศีลิยฺยะฮ์) (อบูซะเราะฮฺ 1958) ยิ่งไปกว่านั้น ฟิกฮ์ครอบคลุมถึง อัลอิบาดะฮ์ (การเคารพเชื่อฟัง) อัลมุอามาลาต (การติดต่อหรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น) อัลมุนากาหาต (การแต่งงาน) อัลมะวาริษ (การจัดการมรดก) ฟิกฮ์อัลอัฏอิมะฮฺ (อาหาร) และอื่น ๆ

**โครงสร้างของอิสติหาละฮฺ**
ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์อาหารในแนวคิดอิสติหาละฮฺ โดยการเปลี่ยนแปลงครอบคลุมสามองค์ประกอบ ได้แก่ วัตถุดิบ ตัวกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลิตภัณฑ์สุดท้าย กระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากปฏิกิริยาระหว่างวัตถุดิบกับตัวกระทำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโดยวิธีธรรมชาติหรือการเลียนแบบธรรมชาติ สารสุดท้ายที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีความแตกต่างจากวัสดุตั้งต้นทั้งทางกายภาพและทางเคมี

…………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

อ้างอิง :
Abu Jayyib, S. 1988, al-Qamus al-fiqhi: lughatan waistilahan, Damsyik : Dar al-Fikr.
Istihalah menurut perspektif fiqh dan sains: aplikasi terhadap beberapa penghasilan produk makanan. Jurnal Syariah 17 (1), 169-193
Al-‘Ayid, A. et al. n.d. Mu’jam al-Arabi al-Asasi, Tunis: al-Munazzamah al-‘Arabiyah li al-Tarbiyyah wa al-Thaqafah wa al-‘Ulum.
Al-Fayyumi 1985. Al-Misbah al-Munir fi Gharib al-Syarh al-Kabir, Beirut: al-Maktabah al-‘llmiyah
Al-Jurjani 2000 al-Ta’rifat, Beirut: Dar al-Nafa’ is.
Al-Razi 1977. Mukhtar al-Sihhah, Beirut: Dar al-Fikr al-Arabi.
Ghananim, Q. I. 2008. Al-Istihalah wa Ahkamuha fi al-Fiqh al-Islami, Jodan: Dar al-Nafais.
Hoque, M.S. et al. 2010. Effect of heat treatment of film-forming solution on the properties of film from cuttlefish (sepia pharaonis) skin gelatin. J. of Food Engineering. 96, 66-73
Ibn Manzur 1990. Lisan al-‘Arab, Beirut: Dar Sadir.
Ibn Taymiyyah 2005. Majmu’ah al-Fatawa Ibn al-Taymiyyah, Egypt: Dar al-Wafa’ 3rd edition, vol. 21.
Jasser, A. 2010. Script-Based Rational Evidences, in: Jasser A. , Maqasid al-Shariah as philosophy of Islamic law. Kuala Lumpur, Islamic Book Trust, pp.107-135.
Karim, A.A. & Rajeev, B.2008. Fish gelatin: properties, challenges, and prospect as an alternative to mammalian gelatin. Food Hydrocolloids. 23, (3), 563-576
Majma’ al-Lughah al-‘Arabiyyah 2004. Al-Mu’jam al-Wasit, Egypt: Maktabah al-Syuruq al-Dauliyyah, vol.4.
Main, N.R. & Chaudy, M.M. 2004. Halal food production, London: CRC Press.
Nazih, H. 2004. Al-Mawad al-Muharramah wa al- Najisah fi al- Ghzali’ wa al-Dawa’ bayna al-Nazariyyah wa al-Tatbiq, Syria: Dar al-Qalam
Nurdeng D. 2009 Lawful and unlawful foods in Islamic law focus on Islamic medical and ethical aspect International Food Research Jornal. 16, 469-478.
Nyazee, I.A.K. 2000. The Source of Islamic law, in: Nyazee I. A. K., Islamic Jurisprudence. Pakistan: The International Institute of Islamic Thought, pp. 144.
Qal ‘ahji, Muhammad Rawwas 1996. Mu’jam lughah al-fuqaha’ , Beirut; Dar al-Nafa’is.
Schreiber, R. & Gareis, H. 2007 The raw material ‘Ossein’ , in: Schreiber R. and Gareis H., Gelatine Handbook-Theory and Industrial Practice. Weinham: Wiley-VCH. Pp. 63-71.
Syarbini 1994. al-Iqna‘ fi Halli Alfaz Abi Syuja‘ , Beirut: Dar al-Kutub al-‘Ilmiyyah.
Wahbah, Z. 1997. Al-Fiqh al-Islami wa adillatuh, Syria Dar al-Fikr, vol. 1.
Wehr, H. 1947. A dictionary written Arabic, (ed.) J. Milton Cowan. Beirut: Librairie Du Liban.

ประโยชน์ 4 ประการที่มีต่อสุขภาพจากการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

เดือนรอมฎอน เป็นช่วงเวลาของการถือศีลอด การเสียสละ การให้ ความมีน้ำใจ และการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ซึ่งหวังว่าคุณลักษณะทั้งหมดนี้จะก้าวข้ามเดือนรอมฎอนไปสู่เดือนอื่น ๆ โดยจะอยู่กับเราตลอดทั้งปี แน่นอนว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ อย่างไรก็ตามเดือนที่สำคัญนี้ยังให้ประโยชน์แก่เราอีกหลายประการทั้งทางจิตใจและร่างกาย

จากท่านอบู นุอัยม์ เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัดกล่าวว่า “ศูมูว วะตัศฮูว” ซึ่งแปลความหมายได้ว่า “จงถือศีลอดแล้วท่านจะมีสุขภาพดี” แม้ในทางวิทยาศาสตร์ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าเดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยความประเสริฐ ในการประชุมนานาชาติในหัวข้อ “สุขภาพและรอมฎอน” ซึ่งจัดขึ้นที่คาซาบลังกาในปี 1994 ครอบคลุมเรื่องราวกว่า 50 หัวข้อในประเด็นจริยศาสตร์ทางการแพทย์ของรอมฎอนและได้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มพูนสุขภาพของผู้ที่ถือศีลอด

หากพบเห็นผลกระทบที่เสียบ้างก็มักจะเกิดจากการที่รับประทานอาหารขณะละศีลอดที่มากเกินไป หรือการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามจะต้องคอยระวังว่าหากการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่าน เช่น การเป็นโรคเบาหวานชนิดที่หนึ่ง (Type 1 Diabetics) ไม่แนะนำให้ท่านถือศีลอดเพราะอาจทำให้สุขภาพของท่านย่ำแย่ลงไปอีก

สำหรับผู้ที่สามารถถือศีลอด ลองเรียนรู้เกี่ยวกับประโยชน์อันเหลือเชื่อของการถือศีลอดต่อชีวิตโดยรวมของเรา ให้ความสงบแก่อารมณ์ ความคิด และจิตใจ 

สำหรับผู้ถือศีลอด ย่อมมีความหมายที่สำคัญยิ่งต่อจิตวิญญาณ มุสลิมฝึกฝนความเอื้ออาทรด้วยการบริจาค ผูกพันสายใยครอบครัวด้วยการละศีลอดร่วมกัน ฝนฝนจิตวิญญาณด้วยการละหมาด และการควบคุมตนเองด้วยการปฏิบัติมารยาทที่ดีงาม นิสัยเหล่านี้สร้างความรู้สึกสงบสุขและความพึงพอใจในตนเอง

:: ช่วยปรับปรุงระดับไขมันในเลือดของคุณ ::
จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1997 ในวารสาร Annals of Nutrition Metabolism แสดงให้เห็นว่าการถือศีลอดจะช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิดเลว แอลดีแอล (“LDL” cholesterol) ได้ถึงร้อยละ 8 ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดร้อยละ 30 และช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีหรือ “HDL” ได้ถึงร้อยละ 14.3 ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) 

เรื่องนี้สามารถอธิบายถึงพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายของเรา ในเดือนรอมฏอนหลายคนจะนิยมบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น อินทผลัม ถั่ว ซุปถั่วเลนทิล และมักจะทำอาหารกินกันในบ้าน จากการศึกษาโดยรวมพบว่าการบริโภคไขมันอิ่มตัวซึ่งพบในเนยไขมันหมู เนื้อ ไขมัน และอาหารจานด่วนจะลดลงในรอมฎอน ยิ่งไปกว่านั้นการละหมาดตะรอวีฮฺในยามค่ำคืน เป็นส่วนหนึ่งของการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ซึ่งสำหรับบางคนแล้วอาจมากกว่าในเวลาปกติ

:: การถือศีลอดยังช่วยปัญหาการเสพติด ::
การเสพติดอาจจะมาในรูปแบบต่าง ๆ รอมฎอนนับเป็นโอกาศที่ดีในการเลิกละจากสิ่งเสพติดเหล่านี้ เพราะเดือนรอมฎอนสอนให้รู้จักควบคุมตัวเองได้เกือบตลอดวัน คุณจะรู้สึกได้ว่าการเลิกจากสิ่งเสพติดทั้งหมดของคุณอาจไม่ยากอย่างที่คุณคิดก็เป็นได้

เลือกที่จะเลิกสิ่งเสพติดมาหนึ่งอย่างก่อนในเดือนนี้ เช่น บุหรี่ การพูดโกหก ช็อกโกแลต หรือแม่แต่การซุบซิบนินทาจากนั้นกล่าวโบกมืออำลา 

:: ส่งเสริมการลดไขมันและลดน้ำหนักตัว ::
การบริโภคไขมันโดยรวมแล้วมีปริมาณที่ลดลงในเดือนรอมฏอน อย่างไรก็ตามหากคุณรักษานิสัยการกินตามปกติย่อมมีแนวโน้มที่คุณจะกินอาหารที่น้อยลงและช่วยลดน้ำหนัก สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริงในเดือนรอมฎอน หากแหล่งพลังงานหลักของคุณคือไขมัน การทำกิจกรรมที่เบา ๆ ในช่วงกลางวันจะช่วยทำลายไขมันให้ลดลงได้เพิ่มอีก 

รอมฎอนเป็นโอกาสอันดีในการฝึกตัวเองและหันไปสู่การกินเพื่อสุขภาพ เมื่อคุณถือศีลอด คุณเรียนรู้ที่จะควบคุมความอยากของคุณ ดังนั้นในตอนท้ายของเดือนรอมฎอนคุณจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และคุณจะได้รับความเข้มแข็งอีกครั้งหนึ่งในการที่จะปฎิเสธอาหารที่ล่อใจ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก english.alarabiya.net

ฉลองอีดอย่างไรไม่ทำลายสุขภาพ

เมื่อสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน เราจะเฉลิมฉลองกันในวันอีด อันเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความปิติยินดี การบริจาคที่มากมายตลอดจนการเลี้ยงอาหารหลากหลายชนิดที่แสนเอร็ดอร่อย 

ในช่วงของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนร่างกายของคุณจะค่อยๆปรับตัวในการรับประทานอาหารในช่วงเวลาที่เจาะจงของแต่ละวัน สำหรับหลายคนอาจเป็นสิ่งที่ไม่ปกติและยุ่งยากที่จะปฏิบัติในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันคุณจะรู้สึกได้ว่าคุ้นเคยกับมันและมีความสุขกับการถือศีลอด 

เมื่อกลับสู่สภาพพฤติกรรมการกินแบบเดิมๆก่อนรอมฎอน ระบบร่างกายอาจช็อกและอาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงเช่นระบบย่อยอาหาร อาการแน่นท้อง จุกเสียดและน้ำหนักที่ไม่พึงประสงค์ เราน่าจะทราบดีว่าการกินอย่างมากมายในช่วงวันอีดกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

นี่คือเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะทำให้ช่วงวันอีดเต็มไปด้วยความสุขและไม่ทำลายสุขภาพ

ก่อนละหมาดศุบฮ์ ควรจะทานอะไรบ้างเช่นอินทผลัมนิดๆหน่อยๆ
หลังละหมาดศุบฮ์แนะนำให้ทานอาหารเบา ๆ เช่นนม (ละบัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนมไขมันต่ำหรือนมพร่องมันเนย

แล้วค่อยตามด้วยอาหารเช้ามื้อพอประมาณ เช่น พวกธัญหารกับนมสดไขมันต่ำและกล้วยหรือขนมปังโฮลวีต, ชีสไขมันต่ำพร้อมด้วยมะเขือเทศหั่นบาง ๆ พยายามทานอาหารมื้อหลักในวันอีดให้ตรงกับช่วงละศีลอดและสุหูรฺในเดือนรอมฎอน ซึ่งจะทำให้ร่างกายค่อยๆปรับตัวกับการกินในช่วงเวลาปกติ จำกัดสัดส่วนของอาหารเพื่อลดอาการกระเพาะไม่ย่อยรวมทั้งอาการจุกเสียดท้อง

ปรับเปลี่ยนของหวานด้วยการลดไขมันและแทนที่น้ำตาลด้วยน้ำผึ้งหรืออินทผลัม เพราะทั้งสองอย่างมีคุณค่าทางอาหารสูงและช่วยให้รสชาติอาหารเอร็ดอร่อย

ด้วยเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์เหล่านี้จะช่วยให้คุณมีความสุขกับวันอีดทั้งยังไม่ทำลายสุขภาพ ขณะเดียวกันยังทำให้คุณกลับไปรับประทานอาหารสามมื้อตามปกติและออกกำลังได้อย่างราบรื่น

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
ที่มา : http://www.nestle-family.com/my

งานวิจัยสำรวจผู้ป่วยโรคเบาหวานกับการถือศีลอด

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะเรื้อรังที่ร่างกายสามารถทนทานอินซูลิน หรือไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอ ส่งผลต่อการนำน้ำตาลจากอาหารเข้าเซลล์เพื่อไปใช้เป็นพลังงาน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานประเภทนี้ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 108 ล้านคนในปี 1980 เป็น 422 ล้านคนในปี 2014

เนื่องจากการจัดการสภาวะนี้ขึ้นอยู่กับการรับประทานอาหารที่ถูกต้องในช่วงเวลาที่แน่นอน รอมฎอนจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความท้าทายสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตามลักษณะของเงื่อนไขในการถือศีลอดเปิดกว้างให้ผู้ที่มีอาการป่วยดังกล่าวสามารถได้รับการยกเว้นจากการถือศีลอดเนื่องจากความเสี่ยงต่อสุขภาพโดยทั่วไป

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง (คือ ถูกกำหนดให้ถือ) ในบรรดาวันที่ถูกนับไว้แล้วผู้ใดในพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้น คือการชดเชยอันได้แก่การให้อาหาร (มื้อหนึ่ง) แก่คนยากจนคนหนึ่ (ต่อการงดเว้นจาการถือหนึ่งวัน) แต่ผู้กระทำความดีโดยสมัครใจมันก็เป็นความดีแก่เขา และการที่พวกเจ้าจะถือศีลอดนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดียิ่งกว่าสำหรับพวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้” (อัลกุรอาน 2 : 183-184)

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวนมากกลับเลือกที่จะถือศีลอดซึ่งอาจจะมีผลกระทบที่เป็นอันตรายได้หากระดับน้ำตาลในเลือดของพวกเขาลดลงต่ำเกินไปในช่วงที่อดอาหาร (สภาวะนี้เรียกว่าสภาวะ hypoglycemia) หรือน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงเกินไปหลังจากที่เริ่มรับประทานอาหาร (สภาวะ hyperglycemia) หากไม่ได้ทำการรักษาด้วยยาอย่างถูกต้อง

ในปี 2016 เภสัชกร Ehab Mikhael จากมหาวิทยาลัยแบกแดดแห่งอิหร่าน ได้เผยแพร่ผลการศึกษาซึ่งเขาได้ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตัวยาใหม่ ๆ สำหรับผู้อดอาหารในรอมฎอนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

การศึกษาทดสอบประสิทธิภาพของยาบางชนิดในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่ก่อให้เกิดภาวะ hypoglycemia การรักษาด้วยวิธีนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เลือกที่จะอดอาหารในช่วงรอมฎอน

ยาชนิดใหม่ ๆ เหล่านี้ทำงานโดยการยับยั้งการสลายตัวของกลูโคส (ในทางตรงกันข้ามกับการหลั่งอินซูลินเช่นเดียวกับยาอื่น ๆ) และส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเข้าสู่สภาวะ hypoglycemia ได้ตามที่ผู้ที่อดอาหารเคยประสบจากการขาดสารอาหารในช่วงเวลาที่อดอาหาร

นอกจากนี้ การรักษารูปแบบใหม่เหล่านี้มีผลข้างเคียงน้อยมากกับความรู้สึกผิดปกติของกระเพาะอาหารและความกระหายที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยาตัวอื่น ๆ ที่เคยใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรกำลังพยายามที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2 เพื่อให้สามารถอดอาหารได้อย่างปลอดภัยในช่วงรอมฎอน

แม้ว่าข้อมูลจะไม่ได้รับการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการทำงานของยาดังกล่าว แต่นักวิจัยกำลังค้นคว้าเพื่อยืนยันว่าตัวยานี้มีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าผู้ใช้จะอดอาหารหรือไม่ก็ตาม
.
พวกเขาจะทำเช่นนี้โดยการตรวจสอบการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดของผู้เข้าร่วมการทดสอบทั้งในช่วงรอมฎอน รวมทั้งก่อนและหลังรอมฎอนในช่วงที่พวกเขาไม่ได้อดอาหาร นี่เป็นโอกาสที่ดีในการประเมินประสิทธิผลของยาที่ใช้ทดสอบ

การวิจัยนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะในปัจจุบันนี้เนื่องจากการถือศีลอดมีช่วงเวลาที่ยาวที่สุดอยู่ในพื้นที่แถบซีกโลกเหนือ

“ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะช่วยให้คำแนะนำในการจัดการผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการถือศีลอดในช่วงรอมฎอนแต่เราต้องการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เรากำลังทำการศึกษาวิจัยในเรื่องเหล่านี้” Melanie Davies ศาสตราจารย์จากหน่วยวิจัยชีวการแพทย์สถาบันโภชนาการแห่งเมืองลัฟบะระมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าวแก่ วารสาร The Diabetes Times

ทีมงานจะยังทำการตรวจสอบอีกว่าการออกกำลังกายร่วมกับการถือศีลอดเป็นเวลานานส่งผลอย่างไรบ้างต่อผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2

ผลของการศึกษาเหล่านี้ ถือเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้มุสลิมที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานสามารถถือศีลอดได้ในอนาคต

……………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net by Hannah Morris