ระวังเบคอนแบบเกล็ด (Bacon bits) คุณอาจบริโภคโดยไม่รู้ตัว

เบคอนแบบเกล็ด (Bacon bits) ธรรมชาตินั้นได้ผลิตมาจากเบคอนแท้ๆที่ทำมาจากหมู ส่วนเบคอนบิทเทียมนั้นได้ทำมากจากโปรตีนพืช โดยเฉพาะโปรตีนจากถั่วเหลือง ซึ่งได้แต่งสีและแต่งกลิ่นรสพร้อมด้วยส่วนประกอบอื่นๆ แม้ว่าเบคอนบิทจากธรรมชาติไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับการผลิตเป็นอาหารฮาลาล แต่อาจใช้เบคอนบิทเทียมแทน ตราบใดที่สี กลิ่นและส่วนประกอบอื่นๆอีกเล็กน้อย ตลอดจนอุปกรณ์ในการผลิตนั้นได้ผ่านฮาลาล 

เจลาตินในผลิตภัณฑ์รักษาเส้นผม

เจลาตินถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในแชมพู แชมพูบำรุงเส้นผม ครีมนวด ครีมแต่งผม สเปรย์ผม และยาบำรุงเส้นผม การมีอยู่ของเจลาตินในผลิตภัณฑ์รักษาเส้นผม ทำให้ง่ายต่อการหวีผมทั้งที่เปียกและแห้ง นอกจากนี้เจลาตินยังถูกนำมาใช้เพื่อลดเวลาในการทำแห้งและปรับปรุงเส้นผมให้เงางาม

ทำไมหนังหมูถึงถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง?

หนังหมูนั้นมีราคาถูกและหาซื้อได้ง่ายในหลายๆประเทศ มันเบากว่าหนังกลับที่มาจากหนังวัว เนื่องจากราคาถูก หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดและขายได้ราคาดี เดิมทีหนังหมูถูกนำมาใช้บุภายในกระเป๋าเนื่องจากมีความบางและแข็งแรง แต่ขณะนี้ได้ใช้ประโยชน์ในหลายๆผลิตภัณฑ์ เนื่องมาจาก กำไรที่ได้จากการสั่งซื้อสูง

……………………………………………
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
– เราจะแยกแยะหนังหมูออกจากหนังชนิดอื่นได้อย่างไร?

– ถุงมือนิรภัยบ่อยครั้งทำมาจากหนังหมู

– ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังหมู

http://www.facebook.com/?ref=hp#!/profile.php?id=100001679454198

เจลาตินในน้ำผลไม้

การเติมเจลาตินเข้าไปในน้ำผลไม้ เพื่อทำหน้าที่เป็นสารช่วยให้เกิดการตกตะกอน มันขจัดความขุ่นและช่วยเพิ่มความใส่ให้กับผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิตน้ำผลไม้บางรายใช้เจลาตินเพื่อทำให้น้ำผลไม้มีความเข้มข้นขึ้นและยังเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย เนื่องจากตัวของเจลาตินเอง มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดฟอง มันจึงเป็นเรื่องง่ายต่อการแปรรูปเพื่อให้ได้ปริมาณและรสชาติที่เพิ่มขึ้น

เจลาตินในโยเกิร์ต

การผลิตโยเกิร์ตรสผลไม้ที่ได้จากกวนและผ่านการพาสเจอร์ไรซ์นั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากสารที่ทำให้เกิดความคงตัวเช่น เจลาติน ผู้ผลิตโยเกิร์ตโดยส่วนใหญ่ผลิตโยเกิร์ตแบบธรรมดายังใช้เจลาตินเพื่อเพิ่มความแน่นเนื้อและคุณค่าทางโภชนาการ และยังช่วยป้องกันการแยกชั้นของเวย์อีด้วย คุณสมบัติที่ทำให้เกิดความคงตัวของเจลาตินนี้ยังทำให้เกิการแพร่กระจายของอุณหภูมิอย่างสม่ำเสมอในผลิตภัณฑ์

“พอสมควร” จริยธรรมการกินแบบอิสลาม

รศ.ดร วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารประกอบการอบรม “โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล”

จริยธรรมอิสลามสอนให้ผู้ศรัทธามีความมัธยัธถ์  ไม่ฟุ่มเฟือย ตลอดจนเดินสายกลางสำหรับการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมรวมถึงในเรื่องของการกินด้วย  ตลอดชีวิตของท่านศาสดา  ท่านได้วางรูปแบบจริยธรรมหลายหลาก  รวมถึงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการกินของท่านศาสดาได้รับการบันทึกไว้โดยสาวกหลายต่อหลายคน  ผู้เขียนนำเอาแบบอย่างเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นถ้อยคำง่ายๆ ได้คำที่เหมาะสม คำหนึ่ง คือ “พอสมควร”  อันเป็นคำที่อธิบายจริยธรรมการกินแบบอิสลามพอสมควรไม่สุดโด่งเกินไปเสมอ คำว่า “พอสมควร” จึงหมายถึงความไม่ฟุ่มเฟือย (ในภาษาอาหรับคือคำว่า “มะนิสตะเตาะห์ตุม”)  ซึ่งเป็นหลักการสำหรับด้านจริยธรรมการกินการอยู่แบบอิสลาม คำว่า “พอสมควร” หรือ พ-อ-ส-ม-ค-ว-ร ของผู้เขียนสามารถถอดความได้ดังนี้

                พ – หมายถึง “พรอันประเสริฐ” หรือการขอพร (ภาษาอาหรับใช้คำว่า “ดุอาห์” หรือ Du’a) อิสลามสอนให้ผู้ศรัทธาขอพรต่ออัลลอฮ์ (ซุบห์ฯ) ก่อนและหลังการกระทำกิจกรรมทุกกิจกรรม  เป็นต้นว่าเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร มุสลิมจะกล่าวคำว่า “บิสมิลลาฮิลเราะห์ฮีม”  อันมีความหมายว่าด้วยพระนามของอัลลอฮ์ (ซุบห์ฯ)  ที่ทรงประทานอาหารมาให้ตลอดจน ทำให้ผู้ศรัทธาดำรงตนอยู่ในความเป็นมุสลิม

                อ – หมายถึง “อนามัย” อันได้ความสะอาดและอนามัยในส่วนอื่นๆ จากข้อมูลด้านจริยวัตรของท่านศาสดาที่เกี่ยวข้องกับการ รับประทานอาหารท่านศาสดาล้างมือด้วยน้ำก่อนลงมือรับประทานอาหารเสมอ  ท่านใช้มือขวาในการหยิบจับอาหาร และแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร อิสลามเน้นในเรื่องความสะอาดดังที่มีบทบัญญัติว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงโปรดผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวและผู้ที่ทำตนให้สะอาด” 

(อัลกุรอ่าน 2 : 222)  ท่านศาสดามีวจนะไว้ว่า “ความสะอาดในระหว่างการรับประทานอาหาร การทำละหมาดและการทำกิจกรรมอื่น  เหตุนี้เองที่ทำให้หลักเกณฑ์การเตรียมอาหารเพื่อมุสลิมเข้มงวดในเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ

                ส – หมายถึง “สงเคราะห์”  จริยธรรมอิสลามสอนให้มุสลิมสงเคราะห์แก่ผู้อื่น ในกรณีของอาหารมุสลิมจำเป็นต้องแบ่งปันหรือสงเคราะห์อาหารแก่ผู้อื่นที่ขาดแคลน  ดังมีวจนะของท่านศาสดาว่า “อาหารสำหรับหนึ่งคนเพียงพอสำหรับสองคน อาหารสำหรับสองคนเพียงพอสำหรับสี่คน และอาหารสำหรับสี่คนเพียงพอสำหรับคนแปดคน”  มีความหมายว่าให้แบ่งปันอาหารของตนเองแก่ผู้อื่น  และอาหารที่แบ่งปันให้แก่ผู้อื่นนั้นจำเป็นต้องมีคุณภาพที่เท่าเทียมกับอาหารที่ตนเองรับประทาน  ท่านศาสดามีจริยวัตรว่าเมื่อมีการทำบุญเลี้ยงอาหารแก่แขกท่านจะคำนึงถึงเพื่อนบ้านหิวโหย  ในกรณีของการเป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าของงานท่านศาสดาสอนให้มุสลิมสงเคราะห์บริการอาหารแก่แขก  เจ้าของบ้านเริ่มการรับประทานอาหารก่อนแขกและหยุดรับประทานอาหารภายหลังแขกเสมอ

                ม – หมายถึง  “เหมาะสม”  หรือความพอเหมาะสม อิสลามสอนให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลาง ครั้งหนึ่งท่านศาสดาเคยขอร้องให้สาวก  ซึ่งถือศีลอดอย่างยาวนานให้ละเว้นการถือศีลอด แต่ให้กลับไปดำรงตนเป็นพ่อบ้านซึ่งต้องดูแลครอบครัว อิสลามไม่ปรารถนาให้ผู้ศรัทธาดำรงตนอยู่ในหลักการใดหลักการหนึ่งในศาสนาจนเกินความพอดี  จริยธรรมการกินของอิสลามจึงให้คำนึงถึงความพอเหมาะพอสมเป็นสำคัญไม่ดำรงตนไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป

                ค – หมายถึงการ “ควบคุม”  อิสลามแนะนำให้ควบคุมโดยรับประทานอาหารแต่น้อยไม่มากจนเกินไป ท่านศาสดาหยุดการรับประทานอาหารก่อนอิ่มเสมอ ท่านแนะนำให้รับประทานอาหารเพียงหนึ่งในสามของกระเพาะโดยแบ่งกระเพาะอาหารเป็นสามส่วน ให้รับประทานอาหารหนึ่งส่วน ดื่มน้ำหนึ่งส่วนและส่วนที่เหลือคิดปล่อยไว้เป็นช่องว่างเพื่อให้เป็นช่องสำหรับการหายใจ มีวจนะของท่านศาสดากล่าวว่า ปฏิเสธกินอาหารด้วยเจ็ดลำไส้ ขณะที่มุสลิมกินด้วยหนึ่งลำไส้ จริยธรรมการกินแบบอิสลามจึงเป็นการกินแต่น้อย ดูแลปริมาณอาหารมิให้รับประทานมากจนเกินไป ท่านศาสดากล่าวว่า “การกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น”

                ว – หมายถึง “วิรัต” ซึ่งแปลได้ใจความว่าการงดเว้นทางด้านจริยธรรมการกิน อิสลามมีบัญญัติให้งดเว้นในสองส่วน ประการแรกคืองดเว้นการรับประทานอาหารหะรอมหรืออาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุมัติในอิสลาม ได้แก่ เนื้อสุกร เลือด สัตว์อนุมัติที่ไม่ผ่านการเชือดตามบัญญัติอิสลาม เหล้า ของมึนเมา ฯลฯ ประการที่สองคืองดเว้นการกิน การดื่ม และอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งปวงในช่วยการถือศีลอดอาหารหนึ่งเดือนในช่วงเดือนเราะมะดอน จึงเป็นหนึ่งในจริยธรรมการกินแบบอิสลามโดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อการมีสุขภาพที่ดี เป็นปรับระบบการย่อยอาหารซึ่งท่านศาสดาได้มีวจนะไว้ว่า “แท้จริง (ประโยชน์อย่างหนึ่ง) การถือศีลอดนั้นเพื่อการมีสุขภาพที่ดี” วิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันได้ยอมรับวิธีการรักษาสุขภาพด้วยการอดอาหารตามแบบอย่างอิสลาม

                ร – หมายถึง “ร่วมกัน” จริยธรรมอิสลามสอนให้มุสลิมทำกิจกรรม  ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารด้วย อิสลามแนะนำให้มุสลิมในครอบครัวเดียวกันรับประทานอาหารร่วมกัน ดังเช่น การรับประทานอาหารในช่วงเดือนถือศีลอด  ท่านศาสดาเคยมีวจนะไว้ว่า “จงกินอาหารร่วมกันอย่าให้แยกจากกัน แท้จริงการขอพระนั้นมีผลมากขึ้นเมื่อมีผู้อื่นร่วมด้วยเสมอ” การร่วมกันนี้เป็นหนึ่งในสามประการที่ศาสตราจารย์ Alexander Leif แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าเป็นเคล็ดลับหนึ่งในสามประการโดยร่วมกับ 1) การรับประทานอาหารน้อยและ 2) การใช้พลังงานสม่ำเสมอทำให้มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพเกินกว่าร้อยปี

ความยุ่งยากซับซ้อนของวัตถุดิบที่พบในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสมัยใหม่

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Directory HAL-Q 2009

                อิสลามเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตมากกว่าที่จะเป็นศาสนาตามนิยมที่เคยเข้าใจกัน อิสลามแตกต่างจากหลายศาสนาตรงที่มิได้แยกแยกศาสนาออกจากกิจกรรมอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในอิสลามแล้ว ยังเป็นศาสตร์ที่ถูกพัฒนาจนกระทั่งเคยก้าวหน้าอย่างมากในโลกอิสลามต่างหาก

                บ่อยครั้งที่คัมภีร์อัลกุรอานและอัลหะดิษ (คำพูดของท่านนบีมูฮัมหมัด ซ.ล.) กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆในเชิงเหตุผล ทั้งยังแนะนำให้ผู้ศรัทธาใช้สติปัญญาในการแยกแยะ สิ่งนี้ตีความได้ว่าอิสลามสนับสนุนให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแนวทางหนึ่งของการใช้ปัญญาที่ว่านี้ ตัวอย่างในเรื่องที่ปรากฏอยู่ในอัลหะดิษ

                สิ่งอนุมัติทั้งหลาย(หะล้าล)นั้นชัดเจน สิ่งต้องห้าม(หะรอม)ก็ชัดเจน และสิ่งที่อยู่ระหว่างนั้นคือสิ่งคลุมเครือ(มัสบูฮ์)ที่มนุษย์ส่วนมากนั้นไม่ทราบ ใครที่ระวังเท่ากับเขาได้ปกป้องศาสนาและเกียรติของเขา ในขณะที่ใครเข้าไปเกี่ยวข้องเท่ากับเขาได้เข้าไปในสิ่งต้องห้าม…(อัลหะดิษ รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

                ตัวอย่างตามหะดิษบทนี้มีให้เห็นตามอุตสาหกรรมอาหารยุคปัจจุบัน สิ่งอนุมัติและสิ่งต้องห้ามชัดเจนอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ตรงที่สิ่งคลุมเครือ อันได้แก่สารต่างๆที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ดาษดื่น สารเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมากที่แปลสภาพไปจากเดิมจนไม่มีเค้าเดิมหลงเหลืออยู่ สารบางชนิดอาจได้เดินทางนับหมื่นไมล์ก่อนจะกลายเป็นอย่างที่เห็น เป็นต้นว่าเริ่มจากข้าวโพดในอเมริกากลาง แปรรูปในอเมริกาเหนือ ถูกส่งไปสกัดเป็นสารอนุพันธุ์ในยุโรป จากนั้นนำไปผสมสารจากสัตว์ชนิดหนึ่งที่นำมาจากเอเชียตะวันออก นำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารกระป๋องในประเทศไทย ประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหาคือองค์กรศาสนาอิสลามทีทำหน้าที่รับรองฮาลาลให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่มีความซับซ้อนเหล่านี้จำเป็นจะต้องสร้างความชัดเจนกับวัตถุดิบเหล่านี้ให้ได้ว่าฮาลาลหรือหะรอม โดยต้องกำหนดความคลุมเครือที่มีอยู่ออกไปให้หมด

                การดำเนินงานขององค์กรศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องและระมัดระวังเท่ากับองค์กรนั้นได้ปกป้องอิสลามไว้ แต่หากไม่เป็นไปตามนั้นเท่ากับว่าองค์กรได้ล่วงละเมิดในสิ่งที่อิสลามห้าม การรับรองฮาลาลจึงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และองค์กรศาสนาอิสลามจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ

                มีตัวอย่างวัตถุดิบที่มีความซับซ้อนที่กลายเป็นประเด็นที่องค์กรศาสนาอิสลามจำต้องให้ความสนใจอยู่หลายประการ “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้รับตัวอย่างวัตถุดิบที่เป็นประเด็นเหล่านั้นมา เพื่อทำการวิเคราะห์อยู่บ่อยครั้ง วัตถุดิบที่คลุมเครือไม่ทราบแน่ชัดว่าฮาลาลหรือหะรอมเหล่านั้นถูกส่งมาจากองค์กรศาสนาอิสลามบ้าง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบ้างทั้งในประเทศและต่างประเทศบ้าง อันเป็นไปตามหลักการที่อิสลามได้สอนไว้

สูเจ้าจงถามผู้เชี่ยวชาญ หากสูเจ้าไม่รู้ (อัลกุรอาน ซูเราะห์ อัลอัมบิยะห์ 21: 7)

ความรู้ในโลกมีอยู่มากมายเกินกำลังที่คนๆนึง หรือองค์กรๆหนึ่งจะล่วงรู้ได้ทั้งหมด เหตุนี้เองที่อิสลามให้เสาะหาความรู้และเมื่อยังไม่รู้ให้สอบถามผู้รู้ เมื่อเกิดเรื่องราวบางประการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลสามารถเกื้อหนุนได้ ศูนย์จึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้รู้ ตอบคำถามให้แก่ผู้ที่ส่งตัวอย่างวัตถุดิบมาทำการวิเคราะห์ โดยขอยกเฉพาะวัตถุดิบตัวอย่างที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  1. กรณีสารแอลซีสเทอีน (L-Cysteine) ในผลิตภัณฑ์แป้ง

ครั้งหนึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้รับตัวอย่างแป้งสาลีมาจากองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศมอรีเซียส(Mauritius) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆในมหาสมุทรอินเดียตังอยู่ใกล้เกาะใหญ่มาดากัสการ์ มีประชากร 1.3 ล้านคนเป็นมุสลิมร้อยละ 18-22 มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประชากรกลุ่มอื่น สำหรับแป้งสาลีที่ว่านี้นำเข้ามาจากประเทศจีนและกลายเป็นประเด็นปัญหาด้านความคลุมเครือโดยผู้ส่งตัวอย่างมาไม่ทราบว่าอะไรคือปัญหา

ศูนย์ทำการตรวจสอบหลายครั้งโดยได้รับการติดต่อจากองค์กรที่จัดส่งส่งตัวอย่างมาให้แทบตลอดเวลา จากการตรวจสอบทั้งทางเอกสารและทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ในที่สุดได้ทราบว่าแป้งสาลีชนิดนี้ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำบะหมี่ พิซซ่า และขนมปัง มีการเติมสารแอลซิสเทอีน (L-Cysteine) ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มโมเลกุลที่ยึดเกาะเกี่ยวกันของแป้งช่วยให้นวดแป้งเพื่อตีเป็นแผ่นบางหรือทำเป็นเส้นได้เร็วขึ้นมาก เหมาะแก่การใช้ในอุตสาหกรรม ปัญหาคือสารแลซิสเทอีนที่ว่านี้เป็นสารสกัดจากเส้นผมมนุษย์ ซึ่งเคยเป็นข่าวว่าหญิงจีนในชนบทต้องการหารายได้เล็กๆน้อยๆเลี้ยงดูครอบครัวโดยการไว้ผมยาวและขายเส้นผมนั้นแก่โรงงานสกัดสารซิสเทอีน

เศษส่วนจากมนุษย์นั้นไม่ใช่นญิส (สิ่งสกปรกตามหลักการศาสนาอิสลาม) แต่นักวิชาการศาสนาอิสลามให้นับว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำมาใช้บริโภคเนื่องจากมนุษย์นั้นถูกอัลลอฮ (ซ.บ.) สร้างขึ้นอย่างมีเกียรติ(เรื่องชิ้นส่วนองมนุษย์นั้น ยังมีการมองที่แตกต่างในเรื่องว่าเป็นนญิสหรือไม่ เช่น มัซฮับฮานาฟี เวลาละหมาดคนตาย ต้องละหมาดนอกมัสยิดเพราะถือว่า ศพคนเป็นนญิส ดังนั้นควรพูดเฉพาะประเด็นที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างมาอย่างมีเกียรติ ไม่สามารถนำมาบริโภคได้)

2.  กรณีสารโซเดียมอิโนซิเอตในผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแผ่น
เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 นี้เอง บริษัทผลิตมันฝรั่งแผ่น (Potato chip) ในประเทศปากีสถานส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบมาให้ ผู้จัดส่งแจ้งว่าเกิดข่าวลือในปากีสถานทำนองว่าผลิตภัณฑ์นี้หะรอมแต่ไม่มีใครทราบว่าหะรอมจากสาเหตุใด เป็นข่าวลือที่ทำให้ทางบริษัทเสียหายมาก

จากการตรวจสอบทั้งทางเอกสารและการใช้เทคนิคทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ ท้ายที่สุดพบประเด็นปัญหามาจากสารโซเดียมอิโนซิเอต (Na-Inosiate) ที่เป็นสารเพิ่มรสชาติ(Tast enhancer) แก่ผงชูรสหรือ MSG สารโซเดียมอิโนซิเอตที่ว่านี้ผลิตขึ้นจากมันสำปะหลัง โดยในกระบวนการผลิตมีการใช้เอนไซม์จากแบคทีเรียบางชนิด ประเด็นปัญหาคือ การเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่ว่านี้ มากรใช้น้ำเลี้ยงเชื้อที่ผลิตจากน้ำตาลโดยมีการนำไขมันเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานแก่แบคทีเรีย ไขมันที่ว่านี้คือไขมันหมู

ประเด็นปัญหานี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2543 ในประเทศอินโดนีเซียครั้งนั้นเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ผงชูรส ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการใช้วัตถุดิบประเภทเดียวกัน และมีการใช้น้ำเลี้ยงเชื้อที่เรียกว่า Bactosoytone ที่มีไขมันหมูเป็นองค์ประกอบ การผลิตเอนไซม์เกิดขึ้นในโรงงานหนึ่ง ขณะที่การผลิตผงชูรสเกิดขึ้นอีกโรงงานหนึ่ง เป็นความซับซ้อนในกระบวนการผลิตยุคปัจจุบัน ซึ่งครั้งนี้เกิดประเด็นอีกครั้งในประเทศปากีสถาน โดยทางโรงงานยืนยันว่าวัตถุดิบโซเดียมอิโนซิเอตมาจากประเทศไทยซึ่งผลิตจากหลายโรงงาน กระทั่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากตรวจสอบไม่ได้ว่ามาจากจังหวัดใด

3.   กรณีเอนไซม์จากเลือดในผลิตภัณฑ์ซูริมิ
ซูริมิ (Surimi) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อปลาทะเลบดนำมาผ่านกระบวนการล้างเพื่อแยกเอาส่วนของไขมันและองค์ประกอบอื่นๆออก เหลือเฉพาะโปรตีนไมโครไฟบริล (Microfibrillar Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำในเนื้อปลามีคุณสมบัติในการเกิดเจลที่มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะเป็นผงสีขาว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหลายชนิด เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ปูอัด และผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์หลายชนิด

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่นำเทคโนโลยีการผลิตซูริมิจากญี่ปุ่นมาใช้ มีโรงงานผลิซูริมิหลายแห่ง หลายโรงงานมิได้ผลิตซูริมิแต่นำเอาซูริมิมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาลได้รับตัวอย่างซูริมิจากหลายโรงงานมาทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบประเด็นปัญหา จากการตรวจสอบเอกสารพบว่าในกระบวนการผลิตซูริมิของโรงงานบางแห่ง เคยมีรายงานการใช้เอนไซม์บางชนิดที่ผลิตได้จากเลือดสัตว์ที่จัดเป็นนญิส (สิ่งสกปรกตามหลักการศาสนาอิสลาม) ในกรณีโรงงานผลิตซูริมิในประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ยังตรวจไม่พบการใช้เอนไซม์ดังกล่าว แต่ได้แจ้งไปยังโรงงานผลิตซูริมิให้ระวังประเด็นปัญหาดังกล่าว

       ยังมีวัตถุดิบที่ผลิตขึ้นมาอย่างซับซ้อนอีกหลายชนิดที่พบในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งองค์กรณ์ศาสนาอิสลามที่ทำการตรวจรับรองฮาลาลจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้เปลี่ยนแปลงสภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม บ้างเป็นผง บ้างเป็นผลึก บ้างเป็นของเหลว มีสีบ้าง ไม่มีบ้าง แม้ผู้ตรวจมีประสบการสูงก็ยังยากทีจะตรวจพิสูจน์ด้วยตาตาเปลาได้ วัตถุดิบคลุมเครือหรือมัสบูฮ์เหล่านี้เปรียเสมือนอันตราย (Hazard) ที่จะต้องหาหนทางขจัดออกจากกระบวนการผลิต จำเป็นที่องค์กรศาสนาอิสลามจะต้องมีอาวุธเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น อาวุธหนึ่งที่องค์กรทางศาสนาอิสลามควรนำมาใช้ประโยชน์คือ ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่มีบุคลากรที่ประสบการณ์ยาวนาน ดีที่สุดคือนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนในการวินิจฉัยความถูกต้องของวัตถุดิบเหล่านั้นเป็นมุสลิมที่มีความรู้ความเข้าใจในงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อช่วยนักวิชาการศาสนาอิสลามในการทำหน้าที่ตัดสินสิ่งใดฮาลาล สิ่งใดหะรอม

“….ก็ใครเล่าคือผู้ที่อธรรมยิ่งกว่าผู้ที่ได้อุปโลกน์ความเท็จให้แก่อัลลอฮ์ เพื่อจะทำให้มนุษย์หลงผิด โดยไม่มีความรู้.. แท้จริงอัลลอฮ์นั้นจะไม่ทรงแนะนำกลุ่มชนที่อธรรม” (อัล อันอาม 6:114)

                ความไม่รู้และตัดสินด้วยความไม่รู้ ท้ายที่สุดย่อมหมายถึงการกล่าวเท็จแก่อัลลอฮ (ซ.บ.) ทำให้สิ่งที่ฮาลาลเป็นหะรอมหรือหะรอมเป็นฮาลาล กระทั่งนำสังคมไปสู่ความหลงผิดของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคมุสลิม ผู้ที่ทำเช่นนี้ย่อมไม่ได้รับทางนำ(ฮิดายะห์)จากอัลลอฮฺ

“และพวกเจ้าอย่างกล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า นี่เป็นที่อนุมัติและนี่เป็นที่ต้องห้าม (โดยไม่มีหลักฐานและพยาน) เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์แท้จริงบรรดาผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮนั้น พวกเขาจะไม่ได้รับความสำเร็จ” (ซูเราะห์ อันนะห์ล 16:116)

การถือศีลอดช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรค

การถือศีลอดหรืออดอาหารมีอยู่หลายวิธี จะขอนำเสนอ #การถือศีลอดแบบอิสลาม ให้กับพวกเราส่วนใครจะใช้วิธีการอดอาหารช่วงสั้นๆแบบ IF หรือ Intermittent Fasting ก็ไม่เป็นปัญหา วิธีการถือศีลอดแบบอิสลามโดยรับประทานอาหารมื้อแรกก่อนแสงตะวันขึ้นซึ่งคือเวลา 5.00 น. สำหรับกรุงเทพฯ อดอาหารอดน้ำทุกอย่างไปจนถึงเวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าซึ่งเป็นเวลา 18.30 น.โดยประมาณ รับประทานอีกหนึ่งมื้อโดยไม่มีมื้ออื่นหลังจากนั้น นอกจากอดอาหารแล้วยังควรลดอาหารต่อวันลงให้ได้พร้อมกันไปด้วย

การอดอาหารเช่นนี้มีงานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าช่วยเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกาย งานการศึกษาของ Cignarella F และคณะตีพิมพ์ในวารสาร Cell Metabolism ค.ศ.2018 พบว่าการอดอาหารลักษณะนี้ช่วยทำให้สมดุลภูมิคุ้มกันในร่างกายดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแบคทีเรียในทางเดินอาหารปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้นส่งอานิสงค์ให้กับมนุษย์ที่เป็นที่อาศัยของแบคทีเรียเหล่านี้ Secor SM และ Carey HV เขียนรายงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Compr Physiol ค.ศ.2016 ว่าการอดอาหารกระตุ้นให้ร่างกายปรับกลไกเพื่อความอยู่รอดโดยหนึ่งในนั้นคือการเพิ่มภูมิต้านทานโรค ดังนั้นในช่วงที่ต้องกักกันตนเองไว้กับบ้านจึงขอแนะนำให้ถือศีลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถือศีลอดในเดือนชะอฺบานหรือเดือน 8 ตามปฏิทินอิสลามซึ่งก็คือช่วงเวลานี้ 

Cr. Dr.Winai Dahlan
#drwinaidahlan#ดรวินัยดะห์ลัน

ชุดตรวจจับเนื้อสุกรอย่างง่าย (Easy to Use Pork Detection Kits)

เนื้อสุกร อาจเป็นกษัตริย์ของเนื้อในหลายๆประเทศ แต่หนึ่งในสี่ของประชากรโลกนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นข้อห้ามทางศาสนาในการบริโภคเนื้อสุกร ศาสนาอิสลามนั้นห้ามการบริโภคเนื้อสุกร เนื่องจากมันเป็นบาปและเป็นการกระทำของผู้ฝ่าฝืน ซึ่งได้กล่าวห้ามไว้ในอัล-กุรอานในหลายๆที่ ได้แก่ ซูเราะฮฺอัลบากอเราะฮฺ (2 : 173) ซูเราะฮฺอัลมาอีดะฮฺ (5 : 3) ซูเราะฮฺอัลอันอาม (6 : 145) และซูเราะฮฺอัลนะหฺลฺ (16 : 115) เป็นต้น

ปัจจุบันมีสินค้าหลายชนิดในท้องตลาดที่มีเนื้อสุกรหรือผลพลอยได้จากสุกรเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความยากลำบากสำหรับการปฏิบัติตัวของมุสลิมในการปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่ในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม และในขณะเดียวกันก็ดำรงไว้ซึ่งศาสนาของตัวเขา แต่ปัญหาใหญ่ของเทคโนโลยีอาหารสมัยใหม่ในปัจจุบันที่มีวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งอาจมาจากแหล่งที่ต้องสงสัยต่อสถานะฮาลาล- หะรอมของวัตถุดิบ และเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบผลิตภัณฑ์เนื่องจากรูปร่างและลักษณะปรากฏไม่สามารถทราบถึงแหล่งที่มาได้

เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา Tanaka Kikinzoku Kogyo ผู้ประกอบการชั้นนำด้านโลหะของประเทศญี่ปุ่น ได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาชุดตรวจจับเนื้อสุกร อย่างง่าย รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ ตามที่ทานากะได้แถลงข่าว ชุดตรวจสอบนี้ใช้อนุภาคนาโนทองคอลลอยด์ (colloidal gold nanoparticles) แขวนลอยอยู่ในของเหลวที่ให้ผลในรูป immunochromatographic ภายในเวลาเพียง 15 นาที ให้ผลที่แตกต่างกันระหว่างตัวอย่างที่เป็นเนื้อสุกรและตัวอย่างที่เป็นเนื้อวัว ดังภาพ

คุณสมบัติหลักของชุดตรวจสอบมีดังนี้
–          ชุดตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ภายใน 10- 15 นาที
–          ชุดตรวจสอบสามารถดำเนินการได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเฉพาะ
–          ชุดตรวจสอบสามารถตรวจจับเนื้อสุกรปรุงสุกต่ำสุดที่ระดับ 0.1 % และเนื้อสุกรดิบที่ระดับ 0.005%
–          ต้นทุนการตรวจสอบถูกกว่าวิธีการใดๆที่มีอยู่

ความไวของชุดตรวจสอบนี้แม้จะเป็นอุบัติเหตุจากการปนเปื้อนอาหารที่มีขนาดเล็กมากๆก็สามารถตรวจจับได้ สิ่งนี้เป็นที่สนใจทั้งผู้ผลิตอาหารในประเทศมุสลิมและบริษัทที่กำลังค้นหาธุรกิจในประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นสำคัญ

……………………………………………………………………………………………….
ที่มา : http://www.japancorp.net/press_release/22635/tanaka_precious_metals_to_supply_japan_and_islamic_countries_with_easy_to_use_pork_detection_kits_for_the_detection_of_pork_in_food
http://inventorspot.com/articles/pork_detection_kits_are_good_gold_39726



ความน่าสงสัยต่อสถานะฮาลาลของอาหารในร้านอาหารและโรงแรม (จากประสบการณ์ของประเทศมาเลเซีย)

อะไรคือหลักเกณฑ์ที่คุณพิจารณาเมื่อต้องการบริโภคอาหาร?  การมีพนักงานมุสลิม ความสะอาดของสถานที่ เครื่องหมายฮาลาล การประดับประดาด้วยอายะฮฺอัลกุรอานหรือการใช้วลี เช่น “ ม่มีหมู”?  คุณทราบหรือไม่ว่าสิ่งดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่หลักประกันว่าอาหารในสถานที่นั้นๆฮาลาล? จากการสำรวจของสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆนี้พบว่า  เจ้าของร้านอาหารกว่า  30 ร้านใน  Klang Valley ได้ประดับประดาด้วยอายะฮฺ อัลกุรอานในร้านของพวกเขาซึ่งเป็นวิธีการดึงดูดผู้บริโภคมุสลิม ในหมู่อายะอัลกุรอานเหล่านั้นคือ กาลิมะฮฺ อัลลอฮและมูฮัมหมัด อายัตพันดินาร์ (al-Thalaq 2-3) อายะฮฺกุรซีย์ และอัลฟาติหะฮฺ  ภาพของกะบะฮฺยังถูกนำมาแสดงในบางครั้ง ในขณะเดียวกันนั้นเจ้าของร้านยังคงมีพื้นที่สวดบูชาของพวกเขาในสถานที่เดียวกัน แม้ว่าปัญหานี้ได้รายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่สามารถกระทำการใดๆได้เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับต่อปัญหาเหล่านี้

          การบิดเบือนความจริงโดยเจ้าของร้านอาหารเหล่านี้ ที่พวกเขาขายอาหารฮาลาลเพียงเพื่ออาศัยเป็นเครื่องมือในการเพิ่มยอดขายของเขาด้วยรูปแบบที่หลอกลวง นักธุรกิจบางรายสนใจเพียงกำไรที่เพิ่มขึ้นเท่านั้นน แต่พวกเขาไม่ได้กังกลต่อความรู้สึกของมุสลิมในประเทศ ผู้คนจำนวนมากไม่เข้าใจว่า อาหารชนิดใดก็ตามจะต้องประกอบขึ้นตามกฎหมายทางด้านอาหารของมุสลิม  พวกเขาทราบเพียงอย่างเดียวว่า เนื้อหมูเท่านั้นที่ถูกห้ามในศาสนาอิสลาม โดยที่พวกเขาไม่ทราบเลยว่า แม้แต่อุปกรณ์ที่ใช้ปรุงอาหารและสถานที่จัดเก็บในห้องครัว ไม่ควรนำมาใช้เพื่อเตรียมอาหารที่ไม่ฮาลาลหากอุปกรณ์เดียวกันนั้นเป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้เพื่อเตรียมอาหารสำหรับมุสลิม การใช้เครื่องปรุงที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์เป็นสิ่งต้องห้ามอีกด้วย สำหรับนักธุรกิจบางราย พวกเขามีความคิดเพียงอย่างเดียวที่สำคัญนั่นคือ การมีเครื่องหมายฮาลาลในสถานที่ของเขาเพื่อที่ว่าผู้บริโภคมุสลิมจะอุดหนุนร้านค้าของพวกเขา

ในปีนัง คณะกรรมการอิสลามแห่งปีนัง (MAIPP) ได้ถอดถอนใบรับรองฮาลาลที่ได้ให้กับโรงแรมระดับสี่ดาว เนื่องจากพบว่ามีการใช้ชั้นใต้ดินของโรงแรมเป็นสถานที่ผลิตหมูย่าง โรงแรมได้เริ่มกิจกรรมนี้เมื่อมีการจัดการชั้นใต้ดินที่รับเหมาโดยผู้รับเหมาเอกชน สิ่งนี้ได้ถูกรายงานในสื่อมวลชนท้องถิ่น เมื่อการตรวจค้นได้ดำเนินการซึ่งเจ้าหน้าที่ MAIPP ต่างตกตลึงกับสิ่งที่พวกเขาได้เห็น เนื่องจากพวกเขาไม่เคยเห็นกรณีที่รุนแรงเช่นนี้มาก่อน

  หลักฐานจากการบันทึกของ MAIPP พบว่า โรงแรมได้ครอบครองหนังสือรับรองฮาลาลอย่างถูกต้อง นับตั้งแต่โรงแรมได้เริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 5 ปี และได้ทำการต่อสัญญาทุกๆปีโดยปราศจากปัญหาใดๆ เป็นที่ทราบกันว่า โรงแรมแห่งนี้มีสาขาใน Kuala Lumpur ซึ่งบ่อยครั้งได้ให้บริการหน่วยงานราชการจำนวนมาก เพื่อจัดสัมมนา จัดประชุมและการชุมนุมของพนักงานและเจ้าหน้าที่

         ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ได้บอกกับสื่อมวลชนว่า โรงแรมแห่งนี้ได้ทำตามข้อกำหนดที่ติดตั้งโดย MAIPP ตลอดเวลา เขากล่าวว่าอาหารที่บริการ ณ งานจัดเลี้ยง และบ้านกาแฟนั้นฮาลาล และมีการรับรองจาก MAIPP อย่างไรก็ตามมีพื้นที่ว่างบางแห่งในโรงแรมที่ให้ผู้ทำสัญญาจากภายนอกเช่า เพื่อทำเป็นร้านอาหาร โดยปราศจากการรับรองฮาลาล จนกระทั่งตอนนี้ก็ยังไม่มีการร้องเรียนใดๆจากทาง MAIPP เกี่ยวกับการรับรองฮาลาลนี้ เนื่องจากพวกเขาได้ดำเนินการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่วางไว้ ผู้จัดการด้านอาหารและเครื่องดื่มได้กล่าวว่า เขาไม่ได้รับการแจ้งให้ทราบว่าหนังสือรับรองฮาลาลของโรงแรมได้ถูกถอดถอน โรงแรมแห่งนี้คือหนึ่งใน 13 โรงแรมของปีนัง รวมทั้งโรงแรมต่างประเทศบางแห่งที่ได้รับการรับรองฮาลาลจาก MAIPP

          กรณีข้างต้นน่าจะเพียงพอต่อการเตือนสติผู้บริโภคมุสลิมเพื่อความระมัดระวังเมื่อพวกเขาเลือกรับประทานในร้านอาหารและโรงแรม

          ยังได้มีการตีพิมพ์รายงานที่ได้แจ้วว่า ในปีนัง MAIPP ได้ออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลในสถานประกอบการด้านอาหารทั้งหมด 116 รายการภายใต้ 13 ประเภท ประกอบด้วย โรงฆ่าสัตว์ (10), โรงแรม(15), nasi kandar (6), ส่วนประกอบอาหาร(1), ร้านกาแฟและอาหาร(21) MAIPP ยังได้ออกหนังสือรับรองฮาลาลแก่โรงงานผลิตเครื่องดื่มปรุงแต่งกลิ่นรส(11), ซอสถั่วเหลือง, เต้าเจี้ยวและ rojak sauce(6), ขนมปัง, เค้ก, และบิสกิต(8), น้ำมันปรุงอาหาร(6), หอมทอด(2), เครื่องเทศ(7), ขนมขบเคี้ยว(1) และผลิตภัณฑ์อาหาร(22)

         มุสลิมไม่ควรคิดเพียงว่าสภาพฮาลาลของอาหารต่างๆขึ้นอยู่กับกระบวนการเชือดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น พวกเขาจะต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า เครื่องครัว ถ้วยจาม และอุปกรณ์สำหรับปรุงอาหารต้องปราศจากสิ่งหะรอม ก่อนอาหารที่ได้รับบริการจะสามารถพิจารณาได้ว่าฮาลาล

เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการอภิปรายในรัฐสภาต่อการรับรองฮาลาล ผู้อภิปรายได้ยกปัญหาของภัตตาคารอาหารแห่งหนึ่งซึ่งบริการอาหารฮาลาล แต่มีสุราบนเมนูของพวกเขาควรได้รับการรับรองฮาลาลหรือไม่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (The Minister in the Prime Minister’s department) ดาโต๊ะ      อับดุลลอฮ มิด ซิน (Datuk Dr. Abdullah Md zin) ได้ให้คำตอบต่อการตั้งกระทู้ถามโดยกล่าวว่า ถ้ามีการปะปนรายการที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล ก็จะไม่ได้รับการรับรองฮาลาล

ยังชี้ให้เห็นว่า สุรานั้นได้ถูกบริการบนสายการบินมาเลเซีย ต่อคำถามนี้ ดาโต๊ะ อับดุลลอฮ ได้กล่าวว่า หากมีการร้องเรียน ดังนั้นทางกรมศาสนาก็จะทำการสืบสวน อย่างไรก็ตาม ตามที่ระบุในจดหมายมายัง CAP ลงวันที่ 12 กันยายน 2005 สายการบินมาเลเซีย ได้กล่าวว่า อาหารที่ได้บริการบนเที่ยวบินจาก Kuala Lumpur และ Penang ทั้งหมดนั้นฮาลาล และมีการรับรองฮาลาลจาก JAKIM

         ถึงแม้ว่า สุราจะไม่ถูกบริการของสายการบินภายในประเทศ แต่สุราได้ถูกบริการในระหว่างมื้ออาหารบนสายการบินระหว่างประเทศ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ถ้ามีรายการฮาลาลและไม่ฮาลาล ปะปนกันก็จะไม่ได้รับการรับรอง แล้วเหตุใดที่ JAKIM จึงรับรองว่าอาหารที่ให้บริการบนสายการบินมาเลเซียนั้นฮาลาล?

……………………………………………………………………………………..
แปลและเรียบเรียงจาก
Consumers Association of Penang. (2006) . HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers.  Pinang. Pulau Pinang Press. Page 36-38