หลักเกณฑ์พื้นฐานของส่วนประกอบ GMO ในอาหารฮาลาล

โดยพื้นฐานแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ถือว่าฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องห้าม ประเด็นเรื่องการแก้ไขดัดแปลงพันธุวิศวกรรมอาหารและส่วนประกอบจึงไม่ได้รับการระบุไว้อย่างเจาะจงในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด) เพราะประเด็นเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกพัฒนาเมื่อไม่นานมานี้เอง ถึงกระนั้นการดัดแปลงพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ถูกห้ามจึงถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ตัวอย่างเช่น เนื้อสุกรถูกระบุไว้ว่าต้องห้าม ดังนั้นผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นผลจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาจากสุกร ผลิตภัณฑ์นั้นจึงถือว่าต้องห้ามด้วยเช่นกัน

• พระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่มีอำนาจกำหนดบัญญัตินิติธรรมแก่มวลมนุษย์ 

• นักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายการค้นพบและพัฒนาการใหม่ ๆ ได้ โดยที่นักวิชาการศาสนาสามารถตีความการค้นพบและพัฒนาการใหม่ ๆ นั้นว่าละเมิดกับหลักคำสอนทางศาสนาหรือไม่ การอนุญาตในสิ่งที่หะรอมและการห้ามในสิ่งที่ฮะลาลนั้นเทียบเท่าชิรกฺ ซึ่งหมายถึงการตั้งภาคีต่อสิ่งอื่นเทียบเคียงกับพระเจ้า จึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงถ้าหาก GMOs นั้นเป็นสิ่งที่หะรอมชัดเจน แต่นักวิชาการมุสลิมกลับไปตีความว่ามันเป็นสิ่งฮาลาล แน่นอนว่าที่กล่าวมานี้เป็นเพียงกรณีสมมุติเท่านั้น 

• โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่หะรอมมักข้องเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นอันตรายและไม่ดีต่อสุขภาพ 

• ถ้าหากว่าการดัดแปลงพันธุกรรมอาหารหรือส่วนประกอบใดที่ได้รับการชี้ชัดว่าเป็นอันตรายและไม่ดีต่อสุขภาพ การดัดแปลงพันธุกรรมอาหารและส่วนประกอบนั้นจะไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันนักวิชาการอิสลามจะประกาศสถานะของมันว่าหะรอมทันที 

• ย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับการใช้สิ่งอื่นทดแทนสิ่งที่หะรอม สำหรับส่วนประกอบที่หะรอมนั้นเรามีการทดแทนที่เรียกว่าเทคโนโลยีชีวภาพ กระทั่งกลางปีทศวรรษที่ 1980 เอนไซม์เปปซินจากสุกร (Porcine pepsin) เริ่มถูกนำมาใช้ในการผลิตเนยแข็งบางชนิด แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาที่เอนไซม์ไคโมซิน (Chymosin) จากการดัดแปลงพันธุกรรมเริ่มเป็นที่รู้จัก การใช้เอนไซม์เปปซินจากสุกรแทนที่สารเรนเนต (Rennet) จากกระเพาะลูกวัวจึงเริ่มเลือนหายไป ซึ่งนี่เป็นแนวโน้มเชิงบวกสำหรับเทคโนโลยีชีวภาพที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในพื้นที่อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล 

• การประโคมข่าวว่าสิ่งที่ฮาลาลนั้นไม่ฮาลาลถือว่าเป็นเรื่องที่หะรอมด้วยเช่นกัน อนึ่งถ้าหากการดัดแปลงพันธุกรรมอาหารเป็นสิ่งที่หะรอมชัดเจน ก็จะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการถกเถียงในหมู่นักวิชาการ สำหรับสิ่งใดที่ไม่ฮาลาลนั้นได้รับการกล่าวไว้อย่างชัดแจ้งแล้วทั้งในอัลกุรอานและแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด 

• เจตนาที่ดีไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งหะรอมให้กลายเป็นสิ่งฮาลาลได้ หลักการนี้ถูกนำไปใช้กับสุกรและสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่ถูกระบุไว้ว่าหะรอม แม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะพยายามทำเนื้อสุกรให้สะอาดปราศจากโรคภัยก็ตาม หรือพยายามเพาะเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของสุกรในห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปใช้บริโภคเป็นอาหารเป็นการเฉพาะ ถึงกระนั้นก็ยังคงถือว่าหะรอม 

• สิ่งที่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัยควรได้รับการหลีกเลี่ยง บางทีหลักการนี้อาจจะเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุดสำหรับการบริโภค มุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่ต้องสงสัย ซึ่งมีแบบฉบับชัดเจนจากท่านนบีมุฮัมมัด 

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ผู้บริโภคมุสลิมจะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภค หากมีความรู้สึกว่าอาหารที่ดัดแปลงพันธุกรรมนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสงสัย ปัจจุบัน GMOs ที่อยู่ในหมวดต้องสงสัยเกิดจากการดัดแปลงพันธุกรรมที่มาจากสัตว์ต้องห้าม

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง 
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production 
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry 

วัตถุเจือปนอาหารและ E-Number ในผลิตภัณฑ์อาหาร

วัตถุเจือปนอาหาร ถูกเติมเข้าไปในอาหารเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และชะลอการเน่าเสียของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ยังถูกเติมเข้าไปเพื่อช่วยในกระบวนผลิต ทำหน้าที่เป็น อีมัลซิไฟเออร์ สารช่วยเพิ่มปริมาตรให้ผลิตภัณฑ์ เป็นสารกันบูด และปรับปรุงคุณภาพอาหารในแง่ของสี รสชาติ เนื้อสัมผัสและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร

E-number คือ รหัสของวัตถุเจือปนอาหารที่กำหนดโดย สหภาพยุโรป ให้สามารถใช้ได้ทั่วไปในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศทั่วโลก ถ้าวัตถุเจือปนอาหารมี E-number ก็หมายความว่า วัตถุเจือปนอาหารเหล่านั้นได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองให้ใช้ได้ทุกแห่งของสหภาพยุโรป ปัจจุบัน E-number ได้นำมาใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก การจำแนก E-number ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มไว้ ดังนี้

– E100-199 – สี
– E200-299 – วัตถุกันเสีย
– E300-399 – ออกซิแด้นท์, ฟอสฟาเทส, วัตถุกันหืน
– E400-499 -วัตถุทำให้ข้น,วัตถุช่วยคงความชุ่มชื้น, วัตถุกันการรวมตัวเป็นก้อน, สารที่ทำให้คงตัวและสารอีมัลซิไฟเออร์
– E500-599 -เกลือและส่วนผสมอื่นๆ
– E600-699 -สารปรุงแต่งรส
– E900-999 -สารเคลือบผิวอาหาร, วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล, ส่วนประกอบที่ใช้เพื่อปรับคุณภาพแป้ง
– E1000-1399 -สารเจือปนอาหารต่างๆ
– E1400-1499 -สารปรับคุณภาพแป้ง

E- Number ฮาลาลหรือไม่ ?

E-number เกือบทั้งหมดนั้นโดยพื้นฐานแล้วได้รับอนุญาตและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าวัตถุเจือปนอาหารทั้งหมดนั้นจะฮาลาลเสมอไป สารเติมแต่งจำพวกกรดไขมันจำนวนมาก ได้ถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และมันเป็นเรื่องกังวลสำหรับมุสลิม ถึงแหล่งที่มาของสารเติมแต่งเหล่านั้น หากสารเติมแต่งได้มาจากพืช สารเหล่านี้ก็เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ถ้าหากได้มาจากสัตว์ สารเติมแต่งเหล่านั้นอาจจะฮาลาลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสัตว์ชนิดใด และดำเนินการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลามหรือไม่ (กรณีเป็นสัตว์บกที่อนุมัติ เช่น วัว แพะ แกะ ฯลฯ ยกเว้นปลา ตั๊กแตนและสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ ซึ่งไม่ต้องผ่านการเชือด)

ไม่เพียงแต่สารที่มาจากกรดไขมันเท่านั้น แต่ยังมีสารเติมแต่งที่ใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย และสารที่ผลิตมาจากแมลงอีกด้วย เนื่องด้วยสภาพของสารเคมีที่ปรากฏ ทำให้การมองด้วยตาเปล่าไม่สามารถเห็นร่องรอยของต้นกำเนิดของวัตถุดิบนั้นว่ามาจากอะไร ผลิตมาจากต้นกำเนิดที่ฮาลาลหรือไม่ มีเพียงผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือกระบวนการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ เท่านั้นที่สามารถให้ข้อมูลได้

…………………………………………………………………….
เรียบเรียงจาก
http://www.eathalal.ca/2010/06/halal-and-haram-e-numbers.html 
http://www.thirdthai.ac.th/E-learning/kaaato/1/lesson07/content/02.htm
http://www.food-info.net/uk/qa/qa-fi47.htm
http://maansajjaja.blogspot.com/2007/03/blog-post_20.html

เลซิทิน ฮาลาลหรือไม่?

เลซิทินเป็นอิมัลซิไฟเออร์ ที่พบได้ในพืชอย่างถั่วเหลือง ในไข่แดงและแหล่งที่มาจากสัตว์ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น อิมัลซิไฟเออร์คือองค์ประกอบที่ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ไขมันหรือน้ำมันและน้ำรวมเข้าด้วยกัน (เพื่อป้องกันการแยกชั้นของน้ำมันและน้ำ)

หากเลซิทินได้มาจากพืช ไข่แดง หรือจากสัตว์ฮาลาลที่ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม จึงจะถือว่าเลซิทินดังกล่าวฮาลาล ปัจจุบันเลซิทินที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ผลิตมาจากถั่วเหลือง และยังเป็นไปได้ที่อาจจะมีเลซิทินที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์

เว้นเสียแต่ว่า เลซิทินได้ระบุบนฉลากส่วนประกอบว่าเป็นเลซิทินจากถั่วเหลืองหรือเลซิทินจากพืช ด้วยเหตุนี้คุณจำเป็นต้องตรวจเครื่องหมายรับรองฮาลาลหรือตรวจเช็คเลซิทินกับผู้ผลิตเพื่อพิจารณาถึงแหล่งที่มาของเลซิทิน

……………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : http://www.ifanca.org/

ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นสิ่งสกปรก (นญิส) และห้ามนำมาใช้เสมอไป

คำว่า แอลกอฮอล์ในที่นี้หมายถึง เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกกล่าวไว้ใน อัลกุรอาน ด้วยคำว่า คอมัร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และถูกนำมาใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ในสมัยโบราณมันถูกดื่มเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งทำมาจากการนำผลไม้ไปหมัก เช่น องุ่น และอินทผลัม ในปัจจุบันยังทำมาจากธัญพืช เช่น ข้าวไรท์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพด ส่วนมันฝรั่งและหางนมก็ยังนำมาใช้ในการทำแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย

ประเด็นหลักของการนำแอลกอฮอล์มาใช้ในปัจจุบันนั่นก็คือ เพื่อต้องการผลิตเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเป็นตัวทำละลายในอาหาร ในเครื่องสำอาง และในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ยา ตามกฎหมายแล้วเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สามารถมีเอทิลแอลกอฮอล์ ได้ระหว่าง 0.5 ถึง 80 % โดยปริมาตร ในอุตสาหกรรมการทำแอลกอฮอล์ให้บริสุทธิ์ สามารถมีปริมาณแอลกอฮอล์ได้ถึง 95 %

จากที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เราทราบว่าเอทิลแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากสมบัติของมันทำให้เกิดการมึนเมา แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะมีคำว่าแอลกอฮอล์ที่ปรากฏบนชื่อของสารเหล่านั้นก็ตาม อย่างเช่น

1. น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohols) ไม่ได้มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ แต่สารเหล่านี้ถูกเรียกว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสูตรทางเคมีของสารนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์หรือโพลีออล(polyols) นั้นเป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งทั้งหมดนั้นฮาลาล ยกเว้น Erythritol (ที่ทำโดยผ่านกระบวนการหมักที่ก่อให้เกิดแอลกอฮอล์) และถ้า Lactittol นั้นทำจากหางนม (Whey) ที่ไม่ฮาลาล (ผลพลอยได้จากการทำชีทซึ่งอาจใช้เอนไซม์จากกระเพาะหมูในการตกตะกอน) ดังนั้นสารนี้ก็ไม่ฮาลาลเช่นเดียวกัน แต่ถ้า Lactitol ทำมาจากน้ำตาลซูโครส ดังนั้นสารนี้ก็จะฮาลาลด้วย

2. ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) ยังถูกใช้ในหลายกระบวนการเช่นเดียวกับในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้านและโลชั่นบำรุงผิว ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม”แอลกอฮอล์ขจัดคราบ” นี่คือแอลกอฮอล์ฮาลาล เนื่องจากสารนี้ไม่ก่อให้เกิดการมึนเมา

3. เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) หรือเมทานอลหรือแอลกอฮอล์ไม้ และยังเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาลอีกด้วย แต่เป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นพิษถูกนำมาใช้เพื่อแปลงสภาพเอทานอลหรือแอลกอฮอล์เพื่อให้เอทิลแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติ

4. เบนซิล แอลกอฮอล์ (benzyl alcohol) นั้นเป็นสารประกอบอินทรีย์และนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในหมึก สี สารเคลือบเรซิน ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาล

5. แอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติพิเศษ และแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติโดยสมบูรณ์ (Specially Denatured Alcohol and Completely Denatured alcohol) ซึ่งเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่ถูกทำให้สูญเสียสภาพธรรมชาติจากเดิมด้วยการเติมสารเคมีบางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการใช้เพื่อการบริโภค สารเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งนักวิชาการด้านศาสนา (อูลามะฮฺ) หลายท่านอนุญาตให้นำมาใช้กับผิวหนัง

6. บิวทิลแอลกอฮอล์ (Butyl alcohol) ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในสี

7. ซีทิล แอลกอฮอล์ (Cetyl alcohol) ก็ไม่ใช่ เอทิลแอลกอฮอล์ เช่นกัน แต่เป็นแอลกอฮอล์ของกรดไขมัน หรือ wax ซีทิล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู ซึ่งถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ ซีทิล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

8. สเตียรอล แอลกอฮอล์ (Stearyl alcohol) ซึ่งผลิตได้จากไขมันของกรดสเตียริก ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ มันถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สเตียรอล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันของกรดสเตียริกที่ได้จากพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ สเตียรอล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

……………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลและเรียบเรียงจาก
http://www.muslimconsumergroup.com/
Riaz, M. N., and Chaudry M.M. (2004). Halal Food Production. CRC Press

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวิธีการจำแนกกลีเซอรีนจากสุกร ในเครื่องสำอางด้วยเทคนิค ATR- FTIR

งาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2016 เมื่อวันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงสินค้า นิทรรศการ งานสัมมนาวิชาการทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการนำเสนอโปสเตอร์งานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล 

ในการนำเสนอโปสเตอร์งานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้ทำการวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้ามา สนับสนุนกระบวนการการรับรองฮาลาลประเทศไทยและฮาลาลโลก ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นด้วยกัน งานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ “การจำแนกกลีเซอรีนจากสัตว์และจากพืชโดยเทคนิค ATR-FTIR เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเครื่องสำอางฮาลาลอย่างรวดเร็ว”
.
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับกลีเซอรีนกันก่อน กลีเซอรีนหรือกลีเซอรอล เป็นส่วนประกอบของไขมันซึ่งถูกแยกออกมาในปฏิกิริยาการผลิตสบู่ กรีเซอรีนมีลักษณะเป็นของเหลวหนืดใส ไม่มีสี มีรสหวาน กลีเซอรีนสามารถละลายได้ดีในแอลกอฮอล์และน้ำ แต่ไม่ละลายในไขมัน เนื่องจากกลีเซอรีนมีคุณสมบัติทางเคมีที่หลากหลายจึงสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ โดยทั่วไปมักจะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและยา 

กลีเซอรีนยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เพื่อนำมาใช้เป็นสารดูดซับความชื้นจากอากาศ ดังนั้นผลิตภัณฑ์จะยังคงมีความชื้นหากเปิดออกในบางครั้ง กลีเซอรีนยังช่วยให้เครื่องสำอางเกลี่ยได้ง่ายบนผิวหนัง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีกลีเซอรีนเป็นส่วนประกอบอย่าง ครีมทาหน้า โลชั่นยับยั้งการเกิดริ้วรอย โลชั่นทาผิว รองพื้น และผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เป็นต้น 

ส่วนกลุ่มเภสัชภัณฑ์ที่มีกลีเซอรีน ได้แก่ น้ำยาบ้วนปาก โลชั่นบำรุงผิวสำหรับผิวหยาบกร้าน ครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ยาสีฟัน ยาหยอดหู ยาหยอดตา เป็นต้น

เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะรับทราบข้อมูล หากกลีเซอรีนมีอยู่ในเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์เป็นกลีเซอรีนที่มาจากสัตว์หรือกลีเซอรีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสุกร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบกลีเซอรีนจึงได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อพิสูจน์แหล่งที่มาของกลีเซอรีนในอาหาร เครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านฮาลาลและการคุ้มครองผู้บริโภค

การจำแนกกลีเซอรีนด้วยเทคนิค ATR-FTIR (Attenuated Total Reflection Fourier Transform Infrared (ATR-FTIR) Spectroscopy) เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ พิสูจน์และศึกษาโมเลกุลของสาร ซึ่งอยู่ในสถานนะของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ ข้อมูลที่ได้จะเกิดจากการสั่น (Vibration) และการหมุน (Rotation) ของโมเลกุล โมเลกุลดูดกลืนแสงในช่วงของอินฟาเรด โมเลกุลจะถูกกระตุ้นเป็นโมเลกุลที่มีพลังงานสูงกว่าสภาวะพื้น ซึ่งเป็นพลังงานที่พอจะทำให้โมเลกุลเกิดการสั่นและการหมุนได้ ส่วนการวิเคราะห์แบบ ATR จะใช้อุปกรณ์เสริม (accessory) ต่อพ่วงเข้าไปกับเครื่อง FT-IR โดยในกรณีของ ATR เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับการศึกษาพื้นผิวของวัตถุ และวิธีนี้สามารถใช้ได้ดีกับตัวอย่างที่มีลักษณะทึบแสงหรือมีความหนามากเกินกว่าที่จะวิเคราะห์ด้วยวิธี Transmission ได้ โดยแสงอินฟาเรดจะตกกระทบสารตัวอย่างที่วางทาบอยู่บน window cell ซึ่งมุมแสงตกกระทบมีค่าน้อยกว่า 90 องศา แสงจะทะลุเข้าไปในผิวชิ้นงานได้เพียงไม่กี่ไมโครเมตรและแสงส่วนที่เหลือจากการดูดกลืนโดยพอลิเมอร์ที่ผิวสะท้อนออกมาเพื่อเข้าสู่ดีเทคเตอร์

จากการศึกษาการจำแนกความแตกต่างระหว่างกลีเซอรีนจากพืชและสัตว์ด้วยเทคนิค ATR-FTIR พบว่าในช่วงความยาวคลื่น 864-895 cm-1 และ 1,020 -1,099 cm-1 จาก spectrum เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการนำมาใช้จำแนกระหว่างกลีเซอรีนจากพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ในการตรวจสอบความเป็นฮาลาลของ กลีเซอรีนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมุสลิมในการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางฮาลาลทั้งในประเทศและทั่วโลก

……………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
……………………………………………………..
ข้อมูลจาก
Kunthira Salae, Sukrit Sirikwanpong, Sathaporn Ngamukote, Kasinee Katelakha, Vanida Nopponpunth& Winai Dahlan. (2016). Classification of plant-and Animal-based glycerin by using ATR-FTIR: A rapid screening tool applicable for halal cosmetics. Bankok: The Halal Science Center Chulalongkorn University 

พัชรา นวลเพชร. (2555). การตรวจวิเคราะห์ผมย้อมสีทางนิติวิทยาศาสตร์โดยเทคนิค UV-Visible Spectrophotometry และเทคนิค Attenuanted Total Refection Fourier Transform Infrared Spectroscopy (ATR-FTIR). ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, 

Siamchemi. (2016). กลีเซอรีนน/กลีเซอรอล. ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, จากhttp://www.siamchemi.com/กลีเซอรีน/ 

Consumer Association of Penang. (2010). Halal Haram: an important book for Muslim consumer. Malysia : Penang press.

เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ฮาลาลหรือไม่ แล้วมุสลิมดื่มได้หรือไม่ ?

กฎพื้นฐานของอาหารและเครื่องดื่ม คือ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ ระบุในชารีอะอฺ ว่าเป็นสิ่งที่ หะรอม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มเหล้า

จากฮาดิษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)” (รายงานโดย บุคอรีย์) 

เล่าจากอาอิซะห์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งทำให้มึนเมาเป็นของต้องห้าม และสิ่งที่ฟะร๊อกหนึ่ง [1] ทำให้มึนเมา ดังนั้น ปริมาณเพียงเต็มกอบมือหนึ่งก็ถือว่าต้องห้าม” (รายงานโดย ติรมีซีย์)

อันที่จริงหากเราได้ทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่เรียกว่า ‘การทำไวน์หรือเบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์’กระบวนการทำเบียร์และไวน์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือมีแอลกอฮอล์นั้นเหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าเบียร์หรือไวน์ที่ถูกผลิตขึ้นมาได้ระเหยเอาแอลกอฮอล์ออก แต่ไม่มีทางที่จะทำให้แอลกอฮอล์หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์ 

เราสามารถตรวจสอบกับโรงงานผลิตเบียร์และยืนยันถึงเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเท่าไหร่ (minimum amout of alcohol) เพราะระหว่างการผลิตของโรงงาน ยังมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่หลงเหลืออยู่โดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในเนื้อหาข้อกำหนดกฎหมายของอเมริกาและกฎหมายของยุโรปต่างก็อนุญาตให้โรงงานผลิตเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีปริมาณแอลกอฮอล์ได้น้อยสุดไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ 

ดังนั้น ทั้งไวน์และเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างว่าไม่มีแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มก็ตาม

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรที่จะได้ทราบ หากพวกเขายังไม่ทราบ ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านช่องทางการศึกษาและช่องทางสื่อที่เหมาะสม

ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เช่นกัน ซึ่งทางคณะกรรมการได้ชี้แจงสาเหตุหลัก ๆ ในการวินิจฉัยว่า หะรอม ดังนี้
1. ถูกดื่มไปเพื่อการทดแทนบางสิ่งซึ่งเป็นที่ต้องห้ามนั่นคือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์

2. วัฒนธรรมการดื่มไวน์และเบียร์ที่ดื่มสืบทอดกันมานั้นไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับอิสลามฉะนั้นจึงเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์จึงต้องการปิดประตูสู่การละเมิดทั้งในตัวบทและเจตนารมณ์ของหลักการอิสลาม ด้วยการฟัตวาให้เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)

………………………………………………………..
[1] ฟะร๊อกหนึ่ง เท่ากับสิบหกชั่ง
:: อ้างอิงจาก ::
– ฟัตวาของ IOL Shari`ah Researchers 
– ฟัตวาของ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศสิงคโปร์ 
…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

แนวทางทั่วไปสำหรับกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล

เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
เป็นที่ทราบกันดีว่าเนื้อสัตว์ที่ชาวมุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคต้องมีแหล่งที่มาจากสัตว์ที่ฮาลาลเท่านั้น และสัตว์ที่ฮาลาลก็ต้องผ่านกรรมวิธีการเชือดที่ถูกต้องตามหลักการ ซึ่งผู้ดำเนินการเชือดต้องเป็นชาวมุสลิมที่มีวัยวุฒิเหมาะสม ในขณะที่เชือดผู้เชือดจำเป็นต้องกล่าวนามของผู้เป็นเจ้า มีดที่ใช้จะต้องแหลมคมและตัดเข้าไป ณ บริเวณลำคอเพื่อให้เลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็วและให้สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นเสียชีวิตเร็วที่สุด ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลี้ยงดู ให้อาหาร ให้ที่พักพิง กระบวนการขนส่ง จนถึงการเชือด ทั้งหมดนี้จะต้องกระทำไปด้วยด้วยความเมตตาและมีมนุษยธรรมตามหลักจริยศาสตร์อิสลาม การกระทำใด ๆ ที่เป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นถือว่าต้องห้ามในอิสลาม 

ปลาและอาหารทะเล 
เพื่อความเข้าใจในการยอมรับข้อจำกัดการบริโภคปลาและอาหารทะเล สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือความหลากหลายของสำนักทางนิติศาสตร์อิสลามและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของชาวมุสลิมในแต่ล่ะท้องที่ ชาวมุสลิมทั่วไปยอมรับการบริโภคปลาที่มีเกล็ด ขณะที่มุสลิมบางกลุ่มไม่ยอมรับการบริโภคปลาที่ไม่มีเกล็ด นอกจากนี้ ความแตกต่างยิ่งเพิ่มมากขึ้นในอาหารทะเลจำพวกหอย หรือหมึก (Molluscs) และสัตว์ที่มีเปลือกหุ้มลำตัวเป็นปล้อง (Crustaceans) เช่น กุ้ง กั้ง ปู ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้จำกัดใช้เฉพาะปลาและอาหารทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารแต่งกลิ่นรสและส่วนผสมที่ได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นมและไข่
นมและไข่ที่ได้จากสัตว์ที่ฮาลาลย่อมมีสถานะฮาลาลด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วในประเทศตะวันตกนมจะมีแหล่งที่มาจากโคนม ส่วนไข่ก็จะมีแหล่งที่มาจากแม่ไก่ ขณะที่แหล่งที่มาอื่น ๆ จะต้องได้รับการระบุไว้บนฉลากให้ชัดเจน ผลิตภัณฑ์มากมายที่ทำมาจากนมและไข่ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม ได้แก่ ชีส เนย และครีม เป็นต้น ขณะที่ชนิดของเอนไซม์ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเอนไซม์หลายชนิดที่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตชีส อาจมีทั้งเอนไซม์ที่ฮาลาลและหะรอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเอนไซม์เหล่านั้น เอนไซม์ที่มาจากจุลินทรีย์และจากสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการนั้นมีสถานะฮาลาล ถึงกระนั้น เอนไซม์ที่มีแหล่งที่มาจากสุกรนั้นถือว่าต้องห้าม ดังนั้น แหล่งที่มาของเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตชีสและผลิตภัณฑ์ประเภทนมต่าง ๆ จะมีสถานะฮาลาล หะรอม หรือต้องสงสัยนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของมัน นอกจากนี้ สารเติมแต่งอื่น ๆ เช่น อิมัลซิไฟเออร์ หรือ สารยับยั้ง เชื้อรา เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในกระบวนการตรวจสอบในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ประเภทนมและไข่

พืชและวัตถุดิบจากพืช
อาหารที่มีแหล่งที่มาจากพืชถือว่ามีสถานะฮาลาล ยกเว้น ‘ค็อมรฺ’ (สิ่งที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา) ย่อมมีสถานะหะรอมตามหลักการอิสลาม ในปัจจุบัน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตคือการใช้โรงงาน เครื่องมือ และอุปกรณ์ร่วมกันระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชและสัตว์ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนข้ามจึงมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในบางโรงงาน กระบวนการบรรจุกระป๋องของผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสุกร ถั่ว และข้าวโพดนั้นใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เราสามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้ามเหล่านี้ได้จากการทำความสะอาดที่ถูกต้องเหมาะสม และแยกเครื่องมืออุปกรณ์ใช้ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาลและไม่ฮาลาลออกจากกัน นอกจากนี้ ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดหน้าที่ใดที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ เช่น สารลดฟอง จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงในกระบวนการแปรรูปผัก การจงใจใส่ส่วนผสมต้องห้ามลงในผลิตภัณฑ์ประเภทพืชและผักทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีสถานะหะรอม ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบและระมัดระวังในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและแปรรูปเพื่อรักษาสถานะของฮาลาลไว้ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้

…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

อีด อัฎฮา คืออะไร ?

เมื่อสิ้นสุดจากเทศกาลฮัจญ์ (การเดินทางไปแสวงบุญประจำปี ณ นครมักกะฮฺ) ชาวมุสลิมทั่วโลกจะร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุด อีด อัฎฮา (เทศกาลแห่งการรำลึกถึงการเสียสละ) เทศกาลรื่นเริงประจำปีของชาวมุสลิมนี้จะตรงกับวันที่ 10 เดือนซุล ฮิจญะฮฺ (ชื่อเดือนที่ 12 ตามปฏิทินจันทรคติของศาสนาอิสลาม) ซึ่งในปีนี้จะอยู่ในช่วงต้นเดือนกันยายน 

:: อีด อัฎฮา เป็นเทศกาลที่รำลึกถึงอะไร ? ::
ในระหว่างประกอบพิธีฮัจญ์ มุสลิมจะต้องรำลึกถึงบททดสอบและชัยชนะของท่านนบีอิบรอฮีม 

ในอัลกุรอานได้อธิบายคุณลักษณะของนบีอิบรอฮีมดังนี้

“แท้จริง อิบรอฮีมนั้นเป็นแบบอย่างอันดีเลิศ เป็นผู้ภักดีต่ออัลลอฮฺ เป็นผู้เที่ยงธรรม และเขามิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี เป็นผู้กตัญญูกตเวทีต่อความโปรดปรานของพระองค์ พระองค์ทรงเลือกเขา และทรงชี้แนะทางแก่เขาสู่ทางที่เที่ยงตรง” (สูเราะฮฺ อัน นะหลฺ 16:120 – 121)

หนึ่งในบททดสอบครั้งสำคัญของท่านนบีอิบรอฮีม คือ การที่ท่านได้รับคำบัญชาจากอัลลอฮฺให้เชือดพลีลูกชายของท่าน (นบีอิสมาอีล) เป็นการถวายให้แก่พระองค์ เมื่อได้ยินคำสั่งเช่นนี้ท่านนบีอิบรอฮีมก็น้อมรับที่จะยอมทำตามคำบัญชาของพระองค์ แต่เมื่อท่านนบีอิบรอฮีมแสดงท่าทีถึงความพร้อมในการเผชิญกับบททดสอบแห่งการเสียสละครั้งนี้ อัลลอฮฺก็ได้ทรงประทานสัญญานแห่งการเปิดเผยแก่ท่านนบีอิบรอฮีมก่อนว่า แท้จริง “การเสียสละ” ของเขาครั้งนี้ได้ประสบผลสำเร็จแล้ว ซึ่งท่านนบีอิบรอฮีมได้แสดงให้เห็นว่าความรักของท่านที่มีต่อผู้เป็นเจ้านั้นอยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้ว่าท่านจะต้องสละชีวิตของท่านเองหรือคนรักของท่าน ท่านก็พร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อแสดงถึงการยอมจำนนโดยสิ้นเชิงต่อพระผู้เป็นเจ้า

:: ทำไมชาวมุสลิมต้องเชือดสัตว์พลีในวันนี้ ? ::
ในช่วงเทศกาลอีด อัฎฮา ชาวมุสลิมจะทำการรำลึกถึงบททดสอบของท่านนบีอิบรอฮีมด้วยการกุรบาน หมายถึงการเชือดอูฐ วัว (ควาย) แพะ หรือ แกะในวันอีด อัฎฮา และวันตัชรีก (หลังวันอีด อัฎฮา 3 วัน) เพื่อให้ตนนั้นได้ใกล้ชิดต่อผู้เป็นเจ้า 

การทำ ‘กุรบาน’ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนไม่ใช่มุสลิมมีความเข้าใจผิดต่อศาสนกิจครั้งนี้อยู่เสมอ

อัลลอฮฺได้ทรงประทานอำนาจและเกียรติแก่มนุษย์เหนือสัตว์ ซึ่งพระองค์ได้อนุญาตให้เราบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อประทังชีวิตได้ แต่ด้วยเงื่อนไขที่ว่าสัตว์ที่เรานำไปใช้บริโภคนั้นจะต้องผ่านการกล่าวนามของผู้เป็นเจ้าขณะเชือด โดยพื้นฐานแล้ว ชาวมุสลิมเชือดสัตว์ในลักษณะเดียวกันนี้ตลอดทั้งปี ด้วยการเอ่ยนามของผู้เป็นเจ้า (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร) ขณะทำการเชือด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่คอยย้ำเตือนและให้เรารำลึกถึงความหมายและความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต 

เนื้อที่ได้จากกุรบานในวันอีด อัฎฮา ส่วนใหญ่จะถูกนำไปแจกจ่ายให้กับผู้อื่น โดยเนื้อที่ได้จะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนเท่ากัน ส่วนหนึ่งจะแบ่งบริโภคภายในครอบครัวและเครือญาติใกล้ชิด ส่วนที่สองจะแบ่งให้กับเพื่อนฝูงมิตรสหาย ส่วนสุดท้ายจะนำไปแจกจ่ายให้กับคนยากจน การกระทำเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความเต็มใจที่จะมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่กัน ตามคำบัญชาของผู้เป็นเจ้า อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของความเต็มใจที่แสดงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากปัจจัยที่เรามีเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมิตรภาพและช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส มันเป็นการตระหนักสำนึกถึงความโปรดปรานที่เราได้รับจากผู้เป็นเจ้า และเราควรเปิดใจและแบ่งปันความโปรดปรานที่เราได้รับให้กับคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

เป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องเข้าใจว่า ‘การเสียสละ’ ที่ปฏิบัติกันในหมู่ชาวมุสลิมจากการเชือดพลีนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการชดใช้บาปหรือใช้เลือดเพื่อชำระตัวเองจากบาป ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในความเข้าใจผิดที่คนรุ่นก่อนเคยประสบ ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า

“เนื้อของมันและเลือดของมันหาได้บรรลุสู่อัลลอฮฺไม่ แต่ที่จะบรรลุถึงพระองค์ก็เพียงความยำเกรงที่มีมาจากพวกเจ้าเท่านั้น เช่นนั้น เราได้อำนวยประโยชน์ของมันแก่พวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้สดุดีในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ เนื่องเพราะพระองค์ได้ทรงชี้นำพวกเจ้า และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่มวลผู้กระทำความดีเถิด” (สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ 22:37)

ความหมายที่อยู่เบื้องหลังการปฏิบัติเหล่านี้นั้นอยู่ที่ทัศนคติ ซึ่งก็คือความประสงค์อย่างเต็มหัวใจของเราที่จะเสียสละและอุทิศชีวิตเพื่อยืนหยัดอยู่บนเส้นทางอันเที่ยงตรง เราทุกคนต่างก็ต้องเสียสละกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นความสนุกหรือความสำคัญสำหรับเรา มุสลิมที่แท้จริงซึ่งเป็นผู้ยอมจำนน ยอมตน และยอมตามอย่างสิ้นเชิงต่อผู้เป็นเจ้า เป็นผู้ที่เต็มใจน้อมรับที่จะปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์โดยบริบูรณ์ ด้วยหัวใจอันมั่นคง ศรัทธาอันบริสุทธิ์ และการเชื่อฟังด้วยความเต็มใจนั่นเองที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์จากเรา

:: นอกจากนี้แล้ว ชาวมุสลิมมีการปฏิบัติอะไรอื่นในเทศกาลนี้อีกบ้าง ? ::
ในเช้าวันแรกของวันอีด อัฎฮา ชาวมุสลิมทั่วโลกจะเข้าร่วมพิธีละหมาดตอนเช้า ณ บริเวณลานกว้างหรือตามมัสยิดท้องถิ่นของตน หลังจากประกอบพิธีละหมาดเสร็จสิ้นแล้ว ชาวมุสลิมก็จะเดินทางเยี่ยมเยียนครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงเพื่อทำการแลกเปลี่ยนคำอวยพรและของขวัญ บ่อยครั้งที่สมาชิกในครอบครัวจะกลับไปยังหมู่บ้านและจัดเตรียมการเชือดกุรบาน ซึ่งเนื้อสัตว์ที่ได้จากกุรบานจะถูกแจกจ่ายไปยังผู้คนในช่วงเทศกาลหรือไม่นานหลังจากนั้น

…………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
#อีดอัฎฮา #ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

การกำหนดสถานะฮาลาลของอาหารแต่ละประเภท

มีการแบ่งอาหารออกเป็น 4 ประเภทกว้าง ๆ เพื่อสร้างความสะดวกในการรับรองสถานะฮาลาลของอาหารและเพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดแนวทางในอุตสาหกรรม ดังนี้

1. เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
4 ใน 5 กลุ่มของปัจจัยที่ควรระวังในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอยู่ในหมวดเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก (ซากสัตว์หรือสัตว์ที่ตายเอง, การเชือด, เนื้อสุกร และเลือดอยู่ในประเภทนี้ ยกเว้นแอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมา) ดังนั้น ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่สูงขึ้นจึงควรได้รับการปฏิบัติไว้ ตั้งแต่ชนิดของสัตว์ที่ต้องฮาลาล ไม่มีใครที่เชือดสุกรด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามแล้วบอกว่ามันฮาลาลได้ ผู้ที่ทำการเชือดสัตว์จะต้องเป็นมุสลิมที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขณะเชือดจะต้องกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมเพื่อใช้ตัดเส้นเลือดใหญ่ หลอดลม และหลอดอาหาร เลือดที่ไหลจากการเชือดจะต้องไหลออกมาจนหมด อิสลามนั้นให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรมและความเมตตากรุณาในการเลี้ยงดูฟูมฟัก ดังนั้น การชำแหละชิ้นส่วนหรืออวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์จะต้องไม่เกิดขึ้นจนกว่าสัตว์นั้นจะสิ้นชีวิตอย่างสมบูรณ์

2. ปลาและอาหารทะเล 
เพื่อทำการตรวจสอบสภาพของปลาและอาหารทะเลให้เป็นที่ยอมรับได้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องเข้าใจความหลากหลายของสำนักคิดทางนิติศาสตร์อิสลาม ไปจนถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของมุสลิมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว มุสลิมทั้งหมดยอมรับว่าปลาที่มีเกล็ดนั้นบริโภคได้ มีเพียงมุสลิมบางส่วนที่ไม่ยอมรับปลาที่ไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก เป็นต้น ความต่างในหมู่มุสลิมเกี่ยวกับอาหารทะเลยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่น สัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก หรือ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเข้าใจความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเป้าหมายเนื่องจากความแตกต่างทางภูมิภาค อาทิ การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นรสอาหารทะเล เป็นต้น

3. นมและไข่
หากมาจากสัตว์ที่ฮาลาลย่อมถือว่าฮาลาล แหล่งที่มาของนมที่ได้รับความนิยมในตะวันตกคือวัว ส่วนแหล่งที่มาหลักของไข่ก็คือไก่ วัตถุดิบอื่น ๆ ทั้งหมดจะต้องมีการติดฉลากเพื่อระบุแหล่งที่มา ปัจจุบันนี้ มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายที่ทำทั้งจากนมและไข่ เช่น นมถูกนำมาใช้สำหรับการผลิตชีส เนย และครีม โดยส่วนใหญ่แล้ว ชีสที่ทำมาจากจุลินทรีย์หรือสัตว์ที่เชือดด้วยกรรมวิธีที่ฮาลาลย่อมถือว่าฮาลาล ขณะที่เอนไซม์บางชนิดนั้นหะรอม หากสกัดจากแหล่งที่มาของสุกร หรือเอนไซม์บางชนิดก็อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย หากได้มาจากสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการเชือดที่ฮาลาล ในทำนองเดียวกัน สารอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifiers) สารยับยั้งเชื้อรา (mold inhibitors) และสารประกอบเชิงหน้าที่อื่นๆ (functional ingredients) หากไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน อาจทำให้สถานะของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนมและไข่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัยแก่การบริโภค

4. พืชและผัก
วัตถุดิบเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วถือว่าฮาลาล ยกเว้นเพื่อผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสิ่งมึนเมาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในโรงงานแปรรูปปัจจุบัน ผักและเนื้อสัตว์อาจมีกระบวนการแปรรูปในโรงงานเดียวกันและใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กับการปนเปื้อนข้าม ส่วนสารประกอบเชิงหน้าที่อื่นๆ (functional ingredients) บางชนิดที่ได้จากสัตว์ อาจถูกนำมาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ตกอยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย ดังนั้นสารที่ช่วยในกระบวนการผลิตและกรรมวิธีการผลิตเหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสถานะของอาหารที่มีต้นกำเนิดเดิมจากพืช ซึ่งถือว่ามีสถานะฮาลาลในตัวมันเองอยู่แล้ว

จากการพิจารณาหลักการและข้อบังคับต่าง ๆ เป็นที่ชัดแจ้งว่า ปัจจัยหลายประการที่ใช้ในการกำหนดสถานะว่าฮาลาลหรือหะรอมนั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของชนิดอาหาร รูปแบบกระบวนการ และวิธีการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มาจากสุกรจะได้รับการพิจารณาว่าหะรอม เนื่องจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นหะรอมโดยตัวมันเอง ในทำนองเดียวกัน เนื้อวัวที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการอิสลามนั้นถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับ รวมไปจนถึงอาหารที่ถูกขโมยมา หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนอิสลามนั้นถือว่าหะรอมเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายหรือทำให้เกิดอาการมึนเมาถือว่าหะรอมอย่างมิต้องสงสัย แม้จะมีปริมาณที่เล็กน้อยก็ตาม เพราะสารเหล่านี้นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

…………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

มังสวิรัติ กับความเข้าใจเบื้องต้นสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตอนที่ 1

ผู้บริโภคฮาลาลหลายคนอาจคิดว่าผลิตภัณฑ์มังสวิรัตินั้นมีแหล่งที่มาจากพืช ดังนั้น ผลิตภัณฑ์มังสวิรัติเหล่านี้จึงได้รับการพิจารณาว่าฮาลาลไปในตัว ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจถึงอาหารมังสวิรัติด้วยเช่นกันเพื่อสามารถที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่างฮาลาลและมังสวิรัติได้

การรับประทานมังสวิรัตินั้นประกอบไปด้วยตัวเลือกและทางเลือกที่มากมายหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวิถี ปรัชญา และศาสนาของแต่ละคนที่ได้เลือกไว้ให้กับตนเองสำหรับการดำเนินชีวิต ความนิยมชมชอบและแนวทางในการคัดเลือกการรับประทานมังสวิรัติอาจแตกต่างกันไป ตั้งแต่ประเภทที่ไม่รับประทานอะไรเลยนอกจากพืชผักบางชนิดที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วว่าสิ่งที่รับประทานจะไม่มีผลกระทบต่อการทำลายพืช ไปจนถึงการรับประทานทุกอย่างยกเว้นเนื้อสัตว์ (เนื้อแดง) นี่คือตัวอย่างประเภทของมังสวิรัติที่แบ่งตามระดับจากผ่อนปรนมากที่สุดไปจนถึงเข้มงวดมากที่สุด 

– มังสวิรัติ Pesco: สามารถรับประทานปลา ไข่ และผลิตภัณฑ์ประเภทนมได้ แต่หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปีกและเนื้อสัตว์

– มังสวิรัติ Lacto-Ovo: สามารถบริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทผักได้ทุกประเภท รวมถึงไข่และผลิตภัณฑ์ประเภทนม แต่หลีกเลี่ยงการเชือดเนื้อสัตว์ทุกรูปแบบ ตั้งแต่เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก และปลา สำหรับผู้ใดที่ไม่รับประทานไข่แต่รับประทานผลิตภัณฑ์ประเภทนมได้จะเรียกว่า มังสวิรัติ Lacto ขณะที่มังสวิรัติ Ovo จะรับประทานไข่แต่ไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ประเภทนม

– มังสวิรัติ Vegans: ไม่สามารถรับประทานสิ่งใดก็ตามที่มีแหล่งกำเนิดมาจากสัตว์ได้ วีแกนจะหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งสัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์และอนุพันธ์จากสัตว์อื่น ๆ ก็ไม่สามารถรับประทานได้ด้วยเช่นกัน อาทิ เจลาติน ไข่ นม ชีส โยเกิร์ต และผลิตภัณฑ์ประเภทนมอื่น ๆ เป็นต้น ส่วนกุ้ง หอย ปลา และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเลอื่น ๆ ก็ไม่สามารถรับประทานได้ ยิ่งกว่านี้ วีแกนยังพยายามหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานน้ำผึ้ง นมผึ้ง และโคชินิล หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแมลงชนิดต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ ตามความสามารถการรับรู้ของวีแกน พวกเขาจะไม่เจตนารับประทานสิ่งใดก็ตามที่มีส่วนผสมของสัตว์ซ่อนอยู่หรือเป็นส่วนประกอบในอาหาร

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า Fruitarians และ Foodists ซึ่งจะปฏิบัติตามลักษณะการรับประทานที่คล้ายคลึงกับประเภทของ Vegans โดยที่พวกเขาจะรับประทานผัก ผลไม้ เมล็ดพืช ถั่ว ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปหรือปรุงด้วยความร้อนน้อยที่สุด Fruitarians เชื่อว่าอาหารจากพืชผลไม้เหล่านี้นั้นสามารถเก็บเกี่ยวได้ โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำลายสิ่งมีชีวิตเพื่อนำมันมารับประทาน

การรับประทานมังสวิรัตินั้น ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติกิจการทางความเชื่อหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ซึ่งผู้ศรัทธาของศาสนาจำนวนมากตั้งแต่ศาสนาอิสลาม ศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ คริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ ศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้าย (มอร์มอน) ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ และศาสนาเชน อาจรับประทานมังสวิรัติภายใต้ขอบเขตใดขอบเขตหนึ่งโดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่าพวกเขาปฏิบัติตามความเชื่อของลัทธิมังสวิรัติ

การรับประทานมังสวิรัติในกระแสหลักมักอยู่ในประเภท Lacto-Ovo อย่างไรก็ตาม มังสวิรัติแบบ Vegans เริ่มจะเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศตะวันตก การเปรียบเทียบส่วนใหญ่จึงถูกจำกัดอยู่ระหว่างมังสวิรัติแบบ Lacto-Ovo กับ Vegans มากกว่าประเภทอื่น ๆ ของการรับประทานมังสวิรัติ

……………………………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry