โมโนกลีเซอไรด์และไดกลีเซอไรด์ (E471) ฮาลาลหรือไม่?

โมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์เป็นสารที่แยกมาจากไขมัน หรือที่เรียกว่า กรดไขมัน มักถูกนำมาใช้เป็นอิมัลซิฟายเออร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่นำมาใช้ในการรวมกันของน้ำมันหรือไขมันและน้ำที่กระจายตัวรวมเป็นเนื้อเดียว (เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำมันและน้ำแยกจากกัน)

โมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ สามารถผลิตได้จากพืชหรือสัตว์ หากได้มาจากพืช สารเหล่านั้นถือว่าฮาลาล หากได้มาจากสัตว์ สารเหล่านั้นถือว่าเป็นที่ต้องสงสัยจำเป็นที่จะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในการตรวจสอบว่าสารเหล่านี้ฮาลาล

ผู้บริโภคอาหารฮาลาลควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีโมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ จนกว่าสารเหล่านั้นจะได้รับการระบุว่าเป็นโมโนกลีเซอไรด์ และ ไดกลีเซอไรด์ที่มาจากพืช 100% (หรือมีหลักฐานยืนยันสถานะฮาลาลของผลิตภัณฑ์….ผู้แปล) สารตัวนี้ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมาก อาทิเช่น ขนมอบ เนยถั่ว มาการีน เนยขาว และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

…………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
แหล่งที่มา http://www.ifanca.org/

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวิธีการจำแนกกลีเซอรีนจากสุกร ในเครื่องสำอางด้วยเทคนิค ATR- FTIR

งาน THAILAND HALAL ASSEMBLY 2016 เมื่อวันที่ 9-11 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานแสดงสินค้า นิทรรศการ งานสัมมนาวิชาการทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งการนำเสนอโปสเตอร์งานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล 

ในการนำเสนอโปสเตอร์งานวิจัยของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทีมนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ได้ทำการวิจัยและพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้ามา สนับสนุนกระบวนการการรับรองฮาลาลประเทศไทยและฮาลาลโลก ซึ่งมีงานวิจัยหลายชิ้นด้วยกัน งานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ “การจำแนกกลีเซอรีนจากสัตว์และจากพืชโดยเทคนิค ATR-FTIR เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเครื่องสำอางฮาลาลอย่างรวดเร็ว”
.
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับกลีเซอรีนกันก่อน กลีเซอรีนหรือกลีเซอรอล เป็นส่วนประกอบของไขมันซึ่งถูกแยกออกมาในปฏิกิริยาการผลิตสบู่ กรีเซอรีนมีลักษณะเป็นของเหลวหนืดใส ไม่มีสี มีรสหวาน กลีเซอรีนสามารถละลายได้ดีในแอลกอฮอล์และน้ำ แต่ไม่ละลายในไขมัน เนื่องจากกลีเซอรีนมีคุณสมบัติทางเคมีที่หลากหลายจึงสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สารเคมีอื่นๆ โดยทั่วไปมักจะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและยา 

กลีเซอรีนยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม เภสัชภัณฑ์และเครื่องสำอาง เพื่อนำมาใช้เป็นสารดูดซับความชื้นจากอากาศ ดังนั้นผลิตภัณฑ์จะยังคงมีความชื้นหากเปิดออกในบางครั้ง กลีเซอรีนยังช่วยให้เครื่องสำอางเกลี่ยได้ง่ายบนผิวหนัง ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีกลีเซอรีนเป็นส่วนประกอบอย่าง ครีมทาหน้า โลชั่นยับยั้งการเกิดริ้วรอย โลชั่นทาผิว รองพื้น และผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว เป็นต้น 

ส่วนกลุ่มเภสัชภัณฑ์ที่มีกลีเซอรีน ได้แก่ น้ำยาบ้วนปาก โลชั่นบำรุงผิวสำหรับผิวหยาบกร้าน ครีมให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว ยาสีฟัน ยาหยอดหู ยาหยอดตา เป็นต้น

เป็นเรื่องยากสำหรับผู้บริโภคที่จะรับทราบข้อมูล หากกลีเซอรีนมีอยู่ในเครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์เป็นกลีเซอรีนที่มาจากสัตว์หรือกลีเซอรีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสุกร ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบกลีเซอรีนจึงได้ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อพิสูจน์แหล่งที่มาของกลีเซอรีนในอาหาร เครื่องสำอางและเภสัชภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านฮาลาลและการคุ้มครองผู้บริโภค

การจำแนกกลีเซอรีนด้วยเทคนิค ATR-FTIR (Attenuated Total Reflection Fourier Transform Infrared (ATR-FTIR) Spectroscopy) เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ พิสูจน์และศึกษาโมเลกุลของสาร ซึ่งอยู่ในสถานนะของแข็ง ของเหลวหรือก๊าซ ข้อมูลที่ได้จะเกิดจากการสั่น (Vibration) และการหมุน (Rotation) ของโมเลกุล โมเลกุลดูดกลืนแสงในช่วงของอินฟาเรด โมเลกุลจะถูกกระตุ้นเป็นโมเลกุลที่มีพลังงานสูงกว่าสภาวะพื้น ซึ่งเป็นพลังงานที่พอจะทำให้โมเลกุลเกิดการสั่นและการหมุนได้ ส่วนการวิเคราะห์แบบ ATR จะใช้อุปกรณ์เสริม (accessory) ต่อพ่วงเข้าไปกับเครื่อง FT-IR โดยในกรณีของ ATR เป็นเทคนิคที่ใช้สำหรับการศึกษาพื้นผิวของวัตถุ และวิธีนี้สามารถใช้ได้ดีกับตัวอย่างที่มีลักษณะทึบแสงหรือมีความหนามากเกินกว่าที่จะวิเคราะห์ด้วยวิธี Transmission ได้ โดยแสงอินฟาเรดจะตกกระทบสารตัวอย่างที่วางทาบอยู่บน window cell ซึ่งมุมแสงตกกระทบมีค่าน้อยกว่า 90 องศา แสงจะทะลุเข้าไปในผิวชิ้นงานได้เพียงไม่กี่ไมโครเมตรและแสงส่วนที่เหลือจากการดูดกลืนโดยพอลิเมอร์ที่ผิวสะท้อนออกมาเพื่อเข้าสู่ดีเทคเตอร์

จากการศึกษาการจำแนกความแตกต่างระหว่างกลีเซอรีนจากพืชและสัตว์ด้วยเทคนิค ATR-FTIR พบว่าในช่วงความยาวคลื่น 864-895 cm-1 และ 1,020 -1,099 cm-1 จาก spectrum เป็นช่วงที่ดีที่สุดในการนำมาใช้จำแนกระหว่างกลีเซอรีนจากพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่มีประโยชน์ในการตรวจสอบความเป็นฮาลาลของ กลีเซอรีนในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมุสลิมในการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางฮาลาลทั้งในประเทศและทั่วโลก

……………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
……………………………………………………..
ข้อมูลจาก
Kunthira Salae, Sukrit Sirikwanpong, Sathaporn Ngamukote, Kasinee Katelakha, Vanida Nopponpunth& Winai Dahlan. (2016). Classification of plant-and Animal-based glycerin by using ATR-FTIR: A rapid screening tool applicable for halal cosmetics. Bankok: The Halal Science Center Chulalongkorn University 

พัชรา นวลเพชร. (2555). การตรวจวิเคราะห์ผมย้อมสีทางนิติวิทยาศาสตร์โดยเทคนิค UV-Visible Spectrophotometry และเทคนิค Attenuanted Total Refection Fourier Transform Infrared Spectroscopy (ATR-FTIR). ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, 

Siamchemi. (2016). กลีเซอรีนน/กลีเซอรอล. ค้นเมื่อ 4 มกราคม 2560, จากhttp://www.siamchemi.com/กลีเซอรีน/ 

Consumer Association of Penang. (2010). Halal Haram: an important book for Muslim consumer. Malysia : Penang press.

เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ฮาลาลหรือไม่ แล้วมุสลิมดื่มได้หรือไม่ ?

กฎพื้นฐานของอาหารและเครื่องดื่ม คือ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ ระบุในชารีอะอฺ ว่าเป็นสิ่งที่ หะรอม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มเหล้า

จากฮาดิษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)” (รายงานโดย บุคอรีย์) 

เล่าจากอาอิซะห์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งทำให้มึนเมาเป็นของต้องห้าม และสิ่งที่ฟะร๊อกหนึ่ง [1] ทำให้มึนเมา ดังนั้น ปริมาณเพียงเต็มกอบมือหนึ่งก็ถือว่าต้องห้าม” (รายงานโดย ติรมีซีย์)

อันที่จริงหากเราได้ทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่เรียกว่า ‘การทำไวน์หรือเบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์’กระบวนการทำเบียร์และไวน์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือมีแอลกอฮอล์นั้นเหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าเบียร์หรือไวน์ที่ถูกผลิตขึ้นมาได้ระเหยเอาแอลกอฮอล์ออก แต่ไม่มีทางที่จะทำให้แอลกอฮอล์หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์ 

เราสามารถตรวจสอบกับโรงงานผลิตเบียร์และยืนยันถึงเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเท่าไหร่ (minimum amout of alcohol) เพราะระหว่างการผลิตของโรงงาน ยังมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่หลงเหลืออยู่โดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในเนื้อหาข้อกำหนดกฎหมายของอเมริกาและกฎหมายของยุโรปต่างก็อนุญาตให้โรงงานผลิตเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีปริมาณแอลกอฮอล์ได้น้อยสุดไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ 

ดังนั้น ทั้งไวน์และเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างว่าไม่มีแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มก็ตาม

ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรที่จะได้ทราบ หากพวกเขายังไม่ทราบ ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านช่องทางการศึกษาและช่องทางสื่อที่เหมาะสม

ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เช่นกัน ซึ่งทางคณะกรรมการได้ชี้แจงสาเหตุหลัก ๆ ในการวินิจฉัยว่า หะรอม ดังนี้
1. ถูกดื่มไปเพื่อการทดแทนบางสิ่งซึ่งเป็นที่ต้องห้ามนั่นคือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์

2. วัฒนธรรมการดื่มไวน์และเบียร์ที่ดื่มสืบทอดกันมานั้นไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับอิสลามฉะนั้นจึงเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์จึงต้องการปิดประตูสู่การละเมิดทั้งในตัวบทและเจตนารมณ์ของหลักการอิสลาม ด้วยการฟัตวาให้เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)

………………………………………………………..
[1] ฟะร๊อกหนึ่ง เท่ากับสิบหกชั่ง
:: อ้างอิงจาก ::
– ฟัตวาของ IOL Shari`ah Researchers 
– ฟัตวาของ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศสิงคโปร์ 
…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง

แนวทางทั่วไปสำหรับกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล

เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
เป็นที่ทราบกันดีว่าเนื้อสัตว์ที่ชาวมุสลิมได้รับอนุญาตให้บริโภคต้องมีแหล่งที่มาจากสัตว์ที่ฮาลาลเท่านั้น และสัตว์ที่ฮาลาลก็ต้องผ่านกรรมวิธีการเชือดที่ถูกต้องตามหลักการ ซึ่งผู้ดำเนินการเชือดต้องเป็นชาวมุสลิมที่มีวัยวุฒิเหมาะสม ในขณะที่เชือดผู้เชือดจำเป็นต้องกล่าวนามของผู้เป็นเจ้า มีดที่ใช้จะต้องแหลมคมและตัดเข้าไป ณ บริเวณลำคอเพื่อให้เลือดไหลออกมาอย่างรวดเร็วและให้สัตว์ที่ถูกเชือดนั้นเสียชีวิตเร็วที่สุด ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเลี้ยงดู ให้อาหาร ให้ที่พักพิง กระบวนการขนส่ง จนถึงการเชือด ทั้งหมดนี้จะต้องกระทำไปด้วยด้วยความเมตตาและมีมนุษยธรรมตามหลักจริยศาสตร์อิสลาม การกระทำใด ๆ ที่เป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์นั้นถือว่าต้องห้ามในอิสลาม 

ปลาและอาหารทะเล 
เพื่อความเข้าใจในการยอมรับข้อจำกัดการบริโภคปลาและอาหารทะเล สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาคือความหลากหลายของสำนักทางนิติศาสตร์อิสลามและวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของชาวมุสลิมในแต่ล่ะท้องที่ ชาวมุสลิมทั่วไปยอมรับการบริโภคปลาที่มีเกล็ด ขณะที่มุสลิมบางกลุ่มไม่ยอมรับการบริโภคปลาที่ไม่มีเกล็ด นอกจากนี้ ความแตกต่างยิ่งเพิ่มมากขึ้นในอาหารทะเลจำพวกหอย หรือหมึก (Molluscs) และสัตว์ที่มีเปลือกหุ้มลำตัวเป็นปล้อง (Crustaceans) เช่น กุ้ง กั้ง ปู ข้อกำหนดเหล่านี้ไม่ได้จำกัดใช้เฉพาะปลาและอาหารทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสารแต่งกลิ่นรสและส่วนผสมที่ได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

นมและไข่
นมและไข่ที่ได้จากสัตว์ที่ฮาลาลย่อมมีสถานะฮาลาลด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่แล้วในประเทศตะวันตกนมจะมีแหล่งที่มาจากโคนม ส่วนไข่ก็จะมีแหล่งที่มาจากแม่ไก่ ขณะที่แหล่งที่มาอื่น ๆ จะต้องได้รับการระบุไว้บนฉลากให้ชัดเจน ผลิตภัณฑ์มากมายที่ทำมาจากนมและไข่ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม ได้แก่ ชีส เนย และครีม เป็นต้น ขณะที่ชนิดของเอนไซม์ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเอนไซม์หลายชนิดที่ถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตชีส อาจมีทั้งเอนไซม์ที่ฮาลาลและหะรอม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเอนไซม์เหล่านั้น เอนไซม์ที่มาจากจุลินทรีย์และจากสัตว์ที่ผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการนั้นมีสถานะฮาลาล ถึงกระนั้น เอนไซม์ที่มีแหล่งที่มาจากสุกรนั้นถือว่าต้องห้าม ดังนั้น แหล่งที่มาของเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตชีสและผลิตภัณฑ์ประเภทนมต่าง ๆ จะมีสถานะฮาลาล หะรอม หรือต้องสงสัยนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของมัน นอกจากนี้ สารเติมแต่งอื่น ๆ เช่น อิมัลซิไฟเออร์ หรือ สารยับยั้ง เชื้อรา เป็นอีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงในกระบวนการตรวจสอบในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ประเภทนมและไข่

พืชและวัตถุดิบจากพืช
อาหารที่มีแหล่งที่มาจากพืชถือว่ามีสถานะฮาลาล ยกเว้น ‘ค็อมรฺ’ (สิ่งที่ทำให้เกิดอาการมึนเมา) ย่อมมีสถานะหะรอมตามหลักการอิสลาม ในปัจจุบัน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตคือการใช้โรงงาน เครื่องมือ และอุปกรณ์ร่วมกันระหว่างผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชและสัตว์ ซึ่งโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนข้ามจึงมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ในบางโรงงาน กระบวนการบรรจุกระป๋องของผลิตภัณฑ์ประเภทเนื้อสุกร ถั่ว และข้าวโพดนั้นใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เราสามารถหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้ามเหล่านี้ได้จากการทำความสะอาดที่ถูกต้องเหมาะสม และแยกเครื่องมืออุปกรณ์ใช้ระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาลและไม่ฮาลาลออกจากกัน นอกจากนี้ ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดหน้าที่ใดที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ เช่น สารลดฟอง จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงในกระบวนการแปรรูปผัก การจงใจใส่ส่วนผสมต้องห้ามลงในผลิตภัณฑ์ประเภทพืชและผักทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีสถานะหะรอม ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบและระมัดระวังในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตและแปรรูปเพื่อรักษาสถานะของฮาลาลไว้ในผลิตภัณฑ์เหล่านี้

…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

เนยแข็งหรือชีสทุกชนิดฮาลาลหรือไม่ ?

การผลิตเนยแข็งหรือชีส ต้องใช้เอนไซม์เพื่อให้เกิดการจับตัวเป็นก้อนหรือทำให้นมตกตะกอนร่วมกับส่วนผสมอื่นเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆ ในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งเอนไซม์ต่าง ๆ เหล่านี้สามารถได้มาจากสัตว์ จากพืช หรือจากจุลินทรีย์ แหล่งที่มาของเอนไซม์จากสัตว์ ได้แก่ สุกร และวัว เอนไซม์ที่ได้จากสุกรที่เรียกว่า เปปซิน นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เอนไซม์อีกชนิดหนึ่งที่ได้จากสุกรหรือปศุสัตว์ขนาดเล็ก คือ ไลเปส (ไลเปสสามารถสร้างได้โดยใช้จุลินทรีย์ ซึ่งฮาลาล) เอนไซม์อีกชนิดหนึ่งที่ได้จากเยื่อบุกระเพาะอาหารของลูกวัวที่ยังไม่หย่านม เรียกว่า เรนเนต ซึ่งเรนเนตนี้อาจได้มาจากลูกวัวที่ซะบีฮะห์ (การเชือดที่ถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม) นอกจากนี้เอนไซม์ยังสามารถผลิตได้โดยการใช้เชื้อจุลินทรีย์ เอนไซม์จากจุลินทรีย์นั้นฮาลาล และเป็นเอนไซม์ที่ไม่ได้ผลิตมาจากเนื้อสัตว์

เรนเนต คือ เอนไซม์ที่ทำให้โปรตีนเคซีนในน้ำนมตกตะกอน กลายเป็นก้อนนม (curd) นำไปตากแห้งแล้วตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ในเรนเนตมีเอนไซม์ ที่ทำให้ตกตะกอนโปรตีนในนม เรียกว่า โคไมซิน ปัจจุบันโคไมซินบริสุทธิ์ยังสามารถผลิตโดยผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมของเชื้อจุลินทรีย์ โดยการนำยีนโคไมซินจากลูกวัวไปผลิตซ้ำและใส่เข้าไปในเซลล์ของจุลินทรีย์ เรนเนตจากลูกวัวยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันโดยกลุ่มผู้ผลิตเนยแข็งหรือชีสเป็นการเฉพาะนอกจากนี้เอนไซม์จากสุกร เช่น เอนไซม์ไลเปส ก็ยังมีใช้ในชีสที่ให้รสชาติเข้มข้น อย่างชีสที่สุกงอมเต็มที่ เช่น โรมาโน่ ชีส (romano cheese)

ปัจจุบันนี้ เนยแข็งหรือชีสในตลาดอเมริกาเหนือส่วนมากเป็นที่น่าสงสัย อย่างไรก็ตาม IFANCA (สภาอาหารและโภชนาการอิสลามแห่งอเมริกา) ได้ให้การรับรองเนยแข็งหรือชีสพิเศษบางชนิด ส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์เนยแข็งหรือชีสไม่แสดงรายการแหล่งที่มาของเอนไซม์ ดังนั้น จึงต้องสอบถามผู้ผลิตถึงที่มาของเอนไซม์ แน่นอนว่ามีความเป็นไปได้ที่แหล่งที่มาอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบโดยทั่วไป

สุดท้ายนี้ ผลิตภัณฑ์เนยแข็งหรือชีสอาจมีส่วนผสมอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่แต่ละรายการยังต้องได้รับการตรวจสอบ ซึ่งชีสที่ทราบแหล่งที่มาของเอนไซม์ที่ใช้ในการผลิตหรือมีการรับรองฮาลาลจากหน่วยงานที่ได้รับความน่าเชื่อถือ เป็นทางเลือกที่ดีกว่าที่จะนำมาใช้ประกอบอาหารฮาลาล

……………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก http://www.ifanca.org/

แหล่งที่มาของเรนเนทในการตกตะกอนนม

เนยแข็ง (ตอนที่ 2)

เรนเนทจากสัตว์นั้นได้มาจากกระเพาะของลูกวัว เพื่อให้ได้เรนเนท สัตว์จะต้องถูกฆ่าก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นนำกระเพาะของลูกวัวตัดเป็นชิ้นๆ ขจัดไขมันออกและทำให้แห้ง แช่ในสารละลายเพื่อทำให้ยุ่ยและผสมกับสารละลายเกลือก่อนที่เรนนินจะถูกสกัดออกมา สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่นั่นก็คือ สัตว์ดังกล่าวได้ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามหรือไม่?

เรนเนทจากพืชคล้ายกับเอนไซม์ที่มาจากพืช (ได้แก่ โบรมิเลนจากสัปปะรด ฟิซินจากผลมะเดื่อฯลฯ) เรนเนทจากจุลินทรีย์มีเอนไซม์ที่คล้ายกับเรนเนทจากลูกวัว แต่เรนเนทที่ได้มีกลิ่นที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยเรนเนททั้ง 3 แหล่ง เรนเนทที่มาจากสัตว์ (โดยทั่วไปเป็นเรนเนทที่มาจากลูกวัว) เป็นเอนไซม์ที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด

เรนเนทเป็นส่วนที่จำเป็นสำหรับการทำเนยแข็ง การทำเนยแข็งเริ่มต้นด้วยน้ำนม เชื้อจุลินทรีย์เริ่มต้นถูกเติมลงไปในนมเพื่อทำการหมัก ซึ่งในที่สุดก็จะก่อตัวในรูปเคิร์ด (ก้อนนม) หลังจากนั้นตัดเป็นก้อนเล็กๆและอุ่นให้ความร้อนเพื่อกำจัดเวย์ส่วนที่เป็นน้ำของนมออกไป ก้อนนมดังกล่าวจะถูกทำให้คงรูปเพื่อทำให้เกิดรูปร่างตามความต้องการ เกลือจะถูกเติมลงไปในก้อนนม ขั้นตอนสุดท้ายนำเนยแข็งที่ได้ทำการฉาบหรือเคลือบก้อนนมและเคลื่อนย้ายเขาสู่การบ่มก่อนนำไปขาย

……………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
ข้อมูลจากหนังสือ : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press

ปัจจัยที่ต้องคำนึงเมื่อพิจารณาสภาพฮาลาลของเนยแข็ง

เนยแข็ง (ตอนที่ 3)

ตามที่ระบุไว้ใน Cheese Market News (มิถุนายน ปี 2000) ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก่อนที่เนยแข็งจะได้รับการพิจารณาว่าฮาลาล มีดังต่อไปนี้ :

• แหล่งที่มาของนม ต้องเป็นแหล่งของนมที่ได้รับอนุญาตตามหลักศาสนบัญญัติอิสลาม เช่น วัว ควาย แพะ แกะ อูฐ เป็นต้น

• เอนไซม์ เอนไซม์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตเนยแข็ง ไม่เพียงแต่เพื่อการตกตะกอนเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้สำหรับการบ่มและการปรับปรุงกลิ่นให้ดีขึ้นอีกด้วย เอนไซม์เรนเนทจากวัวซึ่งได้จากลูกวัวที่ไม่ผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนบัญญัติอิสลามนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับในศาสนาอิสลาม 

• วัตถุป้องกันการจับตัวเป็นก้อน เนยแข็งshredded ส่วนใหญ่ มีการเติมสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนบางชนิด ซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้ควรมาจากแหล่งที่ฮาลาล

• วัตถุกันเสีย วัตถุกันเสียและสารยับยั้งเชื้อราควรมาจากแหล่งที่ฮาลาลทั้งหมด เนื่องจากสารกันเสียเหล่านี้อาจจะมีอิมัลซิไฟเออร์ที่ได้มาจากสัตว์ หากมาจากสัตว์ที่เราไม่ทราบแหล่งที่มา วัตถุกันเสียดังกล่าวเป็นเรื่องหลักที่น่ากังวลสำหรับมุสลิม 

• กลิ่น ส่วนใหญ่กลิ่นเนยแข็งสามารถหาได้โดยทั่วไป ซึ่งกลิ่นเหล่านี้จะต้องไม่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย (หรือผลิตภัณฑ์สุดท้ายต้องมีแอลกอฮอล์ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด…..ผู้แปล) จนกระทั่งไขมันสัตว์ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มกลิ่นให้ปรากฏเด่นจัดยิ่งขึ้น ไขมันดังกล่าวจะต้องมาจากแหล่งที่ฮาลาล

• วัตถุรักษากลิ่น ผู้ผลิตเนยแข็งบางรายใช้วัตถุรักษากลิ่น เพื่อคงรักษากลิ่นของเนยแข็งให้มีความโดดเด่นโดยเฉพาะ แหล่งที่มาของวัตถุรักษากลิ่นควรมาจากแหล่งที่ฮาลาล ปัญหาก็คือ วัตถุรักษากลิ่นบางชนิดมีส่วนประกอบจากไขมันสัตว์ ซึ่งอาจจะทำให้เนยแข็งที่มีสิ่งเหล่านี้ ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้บริโภคมุสลิม
.
ส่วนประกอบเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อการผลิตเนยแข็งฮาลาลเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบสำคัญต่อผลพลอยได้จากเนยแข็งอย่างเช่น เวย์อีกด้วย ผงเวย์บ่อยครั้งถูกเติมลงไปในการแปรรูปอาหาร เช่น เครื่องดื่มและบิสกิต ด้วยเหตุที่เวย์มีปริมาณเอนไซม์ค่อนข้างมาก เช่นนี้ผู้บริโภคมุสลิมจึงควรให้ความสนใจเกี่ยวกับอาหารที่มีเวย์เป็นส่วนประกอบด้วย

มุสลิมที่ชื่นชอบรับประทานเนยแข็งควรมีความรู้เกี่ยวกับเนยแข็งและผลิตภัณฑ์ที่มีเนยแข็งเป็นส่วนประกอบ ที่อาจจะมีสารหะรอมผสมอยู่ ฉลากของผลิตภัณฑ์ควรจะระบุว่าเนยแข็งที่ผลิตขึ้นนั้นใช้เรนเนท จากพืช จุลินทรีย์หรือจากสัตว์ ภายใต้กฎข้อบังคับด้านอาหาร ปี 1985 (ของประเทศมาเลเซีย….ผู้แปล) ที่บังคับให้ผู้ผลิตอาหารแจ้งส่วนประกอบที่ใช้บนฉลากผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตเนยแข็งและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเนยแข็งเป็นส่วนประกอบโดยส่วนมากไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของเรนเนทในผลิตภัณฑ์สุดท้าย สำหรับมุสลิมที่ต้องการนำเนยแข็งมารับประทาน แนะนำให้เลือกเนยแข็งที่มีการรับรองฮาลาลที่มีความน่าเชื่อถือ หรือผลิตจากประเทศมุสลิมหรือใช้เรนเนทที่ทำจากพืชหรือจากจุลินทรีย์

……………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
ข้อมูลจากหนังสือ : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press
ภาพจาก : https://www.spokedark.tv/lifestyle/health/uncategorized-health/cheese-is-good-4-health/

เนยแข็งคืออะไรและฮาลาลหรือไม่?

เนยแข็ง (ตอนที่ 1)

เนยแข็งหรือชีสที่บางท่านอาจจะรู้จักหรือไม่เป็นที่รู้จัก วันนี้เรามาเรียนรู้สินค้าประเภทนี้คืออะไร ผลิตอย่างไร และเกี่ยวข้องยังไงกับประเด็นด้านฮาลาล หะรอม สินค้าประเภทไหนบ้างที่มีส่วนส่วนประกอบสินค้าชนิดนี้ ลองมาทำความเข้าใจการผลิตเนยแข็งหรือชีส จากฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานีกันครับ

เนยแข็งหรือชีสเป็นรายการอาหารประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคจำนวนมาก เป็นอาหารที่รับประทานร่วมกับขนมปังหรือนำมาใช้ทำขนมอบมุสลิมจำเป็นต้องทราบสิ่งที่เติมลงไปในการทำเนยแข็ง 

วิธีที่พบมากที่สุดในการตกตะกอนนม คือ การใช้เอนไซม์ที่เตรียมได้จากเรนเนท ซึ่งโดยทั่วไปสกัดมาจากกระเพาะของลูกวัว กระทั่งการบริโภคลูกวัวไม่ทันต่อความต้องการเรนเนทในการเตรียมเนยแข็ง ปัญหาความขาดแคลนเอนไซม์นี้จึงได้รับการพัฒนาขึ้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นวิธีปฏิบัติกันโดยทั่วไปในการผสมเรนเนทที่สกัดจากกระเพาะของลูกวัวกับเอนไซม์เปบซินซึ่งส่วนมากได้มาจากกระเพาะของสุกร เอนไซม์เหล่านี้ ได้เปลี่ยนน้ำนมจากของเหลวให้กลายเป็นก้อนแข็งซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการผลิตเนยแข็ง การผสมเรนเนทจากลูกวัวและเปบซินจากสุกร เป็นการผสมที่เกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการทำเนยแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยทั่วไปศัพท์คำว่า “เรนเนท” หมายถึง เอนไซม์ทั้งหมดที่เติมลงในน้ำนมเพื่อช่วยในขั้นตอนการการตกตะกอนของการทำเนยแข็ง

สิ่งที่ทำให้เนยแข็งเป็นที่ถกเถียงกันในศาสนาอิสลามนั่นก็คือ แหล่งที่มาของเรนเนทที่ใช้ในขั้นตอนดังกล่าว ซึ่งเรนเนทสามารถได้มาจากสัตว์ จากพืชหรือจากจุลินทรีย์

โปรดติดตามตอนต่อไป

……………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press

ทำไมแอลกอฮอล์ถึงเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิม?

ในช่วงต้นของการประทานอัลกุรอาน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป บรรดาสหายของท่านนบีหลายท่านต่างก็ดื่มกันเป็นปกติ ก่อนที่คำสั่งห้ามจะได้รับการบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน ซึ่งคำสั่งห้ามนั้นได้ถูกประทานลงมาเป็น 3 ขั้นตอน โดยในขั้นตอนแรก อัลกุรอานได้รับการประทานลงมาความว่า:

พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับ เคาะมัร (น้ำเมา) และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า “ในมันทั้งสองนั้นมีโทษอันยิ่งใหญ่และมีประโยชน์[อยู่บ้าง]สำหรับมวลมนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์ของมันมากนัก” และพวกเขาจะถามเจ้าอีกว่า อะไรที่พวกเขาจะใช้จ่าย [ในหนทางของอัลลอฮฺ] จงกล่าวเถิดว่า “สิ่งที่เหลือจากการใช้จ่าย” ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺได้ทำให้เป็นที่ชัดแจ้งซึ่งบรรดาสัญญาณแก่พวกเจ้า เพื่อที่พวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ” สูเราะฮฺที่ 2 อายะฮฺที่ 219

จากอายะฮฺนี้ มุสลิมได้รับการแจ้งให้ทราบว่าการดื่ม เคาะมัร (สิ่งมึนเมา) นั้นมีโทษบาปอันยิ่งใหญ่ อัลกุรอานยังกล่าวถึงคุณประโยชน์ของแอลกอฮอล์ที่มีอยู่บ้าง ถึงกระนั้นอัลกุรอานก็ได้แจ้งให้เห็นถึงโทษของสิ่งมึนเมาซึ่งมีมากกว่าคุณประโยชน์ การประทานลงมาครั้งถัดไปของอัลกุรอานในประเด็นว่าด้วยแอลกอฮอล์มีความว่า: 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! พวกเจ้าจงอย่าเข้าใกล้การละหมาด ขณะที่พวกเจ้ากำลังมึนเมาอยู่ จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ในสิ่งที่พวกเจ้าพูด และจงอย่าเข้าใกล้การละหมาด ขณะที่พวกเจ้ามีญะนาบะฮฺ นอกจากผู้ที่ผ่านทางไปเท่านั้น จนกว่าพวกเจ้าจะอาบน้ำ และหากพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง หรือคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้ามาจากที่ถ่ายทุกข์ หรือพวกเจ้าสัมผัสผู้หญิง แล้วพวกเจ้าไม่พบน้ำ ก็จงมุ่งสู่ดินที่ดี แล้วจงลูบใบหน้าของพวกเจ้าและมือของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงยกโทษให้และอภัยให้เสมอ” สูเราะฮฺที่ 4 อายะฮฺที่ 43

จากการประทานอัลกุรอานอายะฮฺนี้ มุสลิมได้รับคำสั่งไม่ให้ทำการละหมาดในขณะที่พวกเขายังอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ซึ่งในสภาวะอย่างนี้จะเป็นอุปสรรคไม่ให้พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่อ่านหรือได้ยินในละหมาด เนื่องจากการละหมาดนั้นถูกบัญญัติให้มุสลิมปฏิบัติ 5 ครั้งต่อวัน ในเวลาที่กำหนดไว้ จึงอาจสรุปได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วยังสามารถทำการละหมาดได้ครบ 5 ครั้งภายใต้เวลาที่กำหนด ในสภาพที่มีสติไม่มึนเมา ถึงกระนั้นอัลกุรอานในอายะฮฺนี้ก็ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม จึงทำให้สหายของท่านนบีบางท่านยังคงดื่มกันอยู่ จนกระทั่งสุดท้ายได้มีคำสั่งห้ามออกมาอย่างชัดเจนในเรื่องของสิ่งมึนเมาและการกระทำอีกหลายอย่างที่เป็นที่ต้องห้าม ความว่า:

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! แท้จริงเคาะมัร (น้ำเมา) และการพนัน และการบูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว เป็นสิ่งโสมมจากการกระทำของชัยฏอน (มารร้าย) ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสีย เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 90
.
“แท้จริงชัยฏอนปรารถนาที่จะสร้างให้มีขึ้นมาระหว่างพวกเจ้าซึ่งความเป็นศัตรูและความเกลียดชัง โดยอาศัยเคาะมัร (น้ำเมา) และการพนัน และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺและจากการละหมาด แล้วพวกเจ้าจะยุติ[การกระทำอันเลวร้ายดังกล่าว]ไหม?” สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 91

“และพวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และพวกเจ้าจงเชื่อฟังเราะสูล และพวกเจ้าจงพึงระวัง [อย่าล่วงละเมิดใน บทบัญญัติแห่งพระองค์] ดังนั้นถ้าหากพวกเจ้าผินหลัง [จากการภักดีต่อพระองค์] พวกเจ้าทั้งหลายก็จงทราบเถิดว่า หน้าที่ขอเราะสูลของเราคือการเผยแผ่สารอันชัดแจ้งเท่านั้น” สูเราะฮฺที่ 5 อายะฮฺที่ 92

นี่คือสาสน์สุดท้ายที่กล่าวถึงแอลกอฮอล์ในฐานะ เคาะมัร (สิ่งที่ทำให้มึนเมา) ว่าเป็นสิ่งที่ต้องหลีกห่างไม่มีความคลุมเครือหรือข้อสงสัยใด ๆ สำหรับสิ่งนี้ การบริโภคแอลกอฮอล์ทุกชนิดนั้นถือว่าเป็นที่ต้องห้ามโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้ามสำหรับการบริโภค ไม่ว่าแอลกอฮอล์เหล่านั้นจะมีแหล่งกำเนิดมาจาก องุ่น อินทผลัม และลูกเกด ก็ตาม ถือว่าเครื่องดื่มนั้นมี นะญิส หรือ สิ่งสกปรก เช่นเดียวกัน การใช้แอลกอฮอล์จากแหล่งที่มาเหล่านี้ไม่ได้รับการอนุมัติ แม้จะไม่ได้นำแอลกอฮอล์เหล่านี้ไปใช้ในกระบวนการปรุงอาหารก็ตาม เช่น ในเครื่องสำอาง น้ำหอม หรือผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว ดังนั้น แอลกอฮอล์โดยส่วนใหญ่แล้วถือว่าเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ทั้งในอาหาร และถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สะอาด (นะญิส) สำหรับการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกรณีที่แอลกอฮอล์เหล่านี้มาจากแหล่งดั้งเดิม เช่น ในองุ่นและอินทผลัม เป็นต้น หากว่าแอลกอฮอล์นั้นทำมาจากแหล่งที่มาที่ฮาลาล ก็สามารถแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่ฮาลาลได้เช่นกัน ในทางกลับกัน เนื้อสุกรที่แหล่งที่มาของมันมาจากสุกร ถือว่าเป็นแหล่งที่มาที่ต้องห้าม (หะรอม) ดังนั้นผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบใด ๆ ที่มาจากเนื้อสุกรจึงนับว่าเป็นสิ่งที่หะรอมเช่นเดียวกัน

………………………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แปลและเรียบเรียงจากหนังสือ Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

การใช้ประโยชน์จากเจลาตินในเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

เจลาติน (ตอนที่ 7)

เจลาติน ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ถูกนำมาใช้เป็นยา เนื่องจากเป็นตัวประสานเพื่อทำให้เกิดเม็ดยาและยาอม เป็นตัวเคลือบเพื่อห่อหุ้มตัวยา เป็นตัวกลางในยาเหน็บทวาร ในฟองน้ำ (sponges) เพื่อหยุดการไหลของเลือด และเพื่อวัตถุประสงค์อื่นอีกมากมาย หากแต่การใช้เจลาตินในยา แตกต่างจากการใช้เจลาตินในอาหาร เนื่องจากอาหารเราสามารถจะหลีกเลี่ยงในการรับประทานหรือไม่ก็ได้ แต่ยานั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการรักษาชีวิต ยาบางชนิดไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการรับประทานได้ ด้วยเหตุนี้เจลาตินจากอาหารและยาจึงมีความจำเป็นที่ไม่เหมือนกัน ยาหลายชนิดก็ไม่ได้มีเจลาตินเป็นส่วนประกอบเสมอไป การรับประทานยาหรือใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ว่ายาตัวไหนมีความเสี่ยงต่อการเจือปนสิ่งต้องห้าม หรือตัวไหนอนุโลมให้บริโภคได้ แนะนำให้ปรึกษานักวิชาการศาสนาและแพทย์ผู้มีความชำนาญ …

เราลองมาดูกันว่าเจลาตินอยู่ในส่วนประกอบประเภทไหนบ้าง

::แคปซูล (Capsules)::
สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคปีนัง (CAP) ได้ดำเนินการสำรวจในปี 1991 พบว่า มีบริษัท เภสัชภัณฑ์รายใหญ่จำนวนสามบริษัทขายยาและวิตามินเสริมในประเทศมาเลเซียและสั่งยาโดยแพทย์ในคลินิก เป็นที่ทราบกันว่าการผลิตแคปซูล เจลาตินชนิดแข็งนั้นผลิตจากหนังของสุกรซึ่งมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา 

บริษัทที่เกี่ยวข้องคือ บริษัท Eli Lilly บริษัท Parke – Davis และบริษัท RP Scherer โดยเจลาตินประมาณ 60% ถูกนำมาใช้โดยบริษัท Parke -Davis และบริษัท RP Scherer ในประเทศแคนาดาเป็นประจำทุกปี ซึ่งมาจากหนังของสุกร
.
ข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเปิดเผยในหนังสือ ศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ/ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)/ ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) 

แคปซูลเจลาตินชนิดแข็งประกอบด้วยเจลาตินบริสุทธิ์และสีผสมอาหารในปริมาณเล็กน้อยที่ประสานเข้าด้วยกัน แคปซูลเจลาตินอีกชนิดคือ แคปซูลชนิดนิ่มหรือแคปซูลยืดหยุ่น ซึ่งมีวิตามินบางชนิดได้บรรจุในแคปซูลชนิดนี้ 

อุตสาหกรรมยาใช้เจลาติน 6.5% ของเจลาตินทั้งหมดที่ผลิตขึ้น โดยส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้เพื่อการผลิตแคปซูล นับตั้งแต่การค้นพบแคปซูลกว่า 130 ปีที่ผ่านมาโดย Mothes เภสัชกรชาวฝรั่งเศส ซึ่งอุตสาหกรรมได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

แคปซูลเจลาตินถูกนำใช้โดยผู้ผลิตยา เนื่องจาก
• เจลาตินเหล่านี้ละลายในกระเพาะอาหารหลังจากการรับประทานภายในไม่กี่นาที
• เจลาตินมีความคงตัว แม้เก็บไว้เป็นเวลานานและยาเกือบทุกประเภทที่เป็นของแข็งสามารถบรรจุในแคปซูลได้
• เจลาตินมีรสจืด

::ยาเม็ดและยาอม (Tablet and pastilles)::
เจลาตินทำหน้าที่เป็นสารยึดเกาะในการทำเม็ดยา ในกรณีนี้ เจลาตินจะผสมกับสารตัวเร่งก่อนการบีบอัดเป็นเม็ดยา ขั้นแรกสารตัวเร่งจะเปลี่ยนเป็นเม็ดเล็กหรือชิ้นส่วนเล็กๆ โดยการผสมเข้ากับเจลาตินก่อนที่สารจะถูกนำไปร่อนและทำให้แห้ง นอกจากนี้ได้เพิ่มสารที่ช่วยให้เกิดการกระจายตัว สารหล่อลื่น สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนก่อนบีบอัดเป็นเม็ดยา 

ในการทำยาอม (ยาอมแก้ไอ) เจลาตินและกลีเซอรีนถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและทำหน้าที่เชื่อมประสานในยาอม เป็นวัตถุให้ความเย็นแก่ลำคอและปล่อยสารเร่งปฏิกิริยาออกมาในช่วงเวลาสั้นๆ 

::ไมโคลเอนแคปซูเลชัน (Micro-encapsulation)::
ไมโคลเอนแคปซูเลชัน เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเคลือบยาด้วยการเคลือบเจลาตินชั้นบาง ๆ เป็นการเคลือบที่ความหนาประมาณ 1-500 ไมครอน เพื่อทำหน้าที่ :
• ป้องกันรสขมจากตัวยา 
• แยกสารสองชนิดที่ไม่สามารถผสมเข้าด้วยกัน
• ทำให้ยาแพร่ออกมาอย่างช้าๆ 
• ลดโอกาสการซึมผ่านของออกซิเจนที่ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ

::ยาเหน็บทวาร (Suppository)::
ยาเหน็บทวาร เป็นการเตรียมของแข็งชนิดหนึ่งในรูปกระสุนปืนหรือรูปทรงกรวยที่จะสอดเข้าไปในทวารหนักหรือไส้ตรง สารเร่งปฏิกิริยาจะหลอมละลายหรือกระจายไป ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาจำเพาะหรืออวัยวะเฉพาะส่วนของร่างกาย ตัวกลางที่สามารถนำมาใช้ประกอบไปด้วย ไขมัน ขี้ผึ้ง และเจลกลีเซอรอลเจลาติน (glycerol gelatin gel) ตัวอย่างจากเภสัชตำรับของอังกฤษ [British Pharmaceutical Codex (BPC)] กลีเซอรอลและเจลาตินที่เป็นตัวกลางมีองค์ประกอบของเจลาติน 14% และกลีเซอรอล 70% 

::ฟองน้ำเจลาติน (Gelatine sponge)::
ฟองน้ำเจลาตินช่วยในการรักษาบาดแผล เนื่องจากเจลาตินสามารถหยุดการไหลของเลือดได้เป็นอย่างดี จึงอำนวยความสะดวกในขั้นตอนการรักษา

ฟองน้ำเจลาติน ถูกนำมาใช้เป็นประจำในทางทันตกรรม การแพทย์และในการศัลยกรรมสำหรับอุดบาดแผลชั่วคราวเพื่อทำให้เลือดหยุดไหล ได้ทำการทดสอบเจลาตินทางเภสัชภัณฑ์โดยเฉพาะ ในการละลายในสารละลายของเหลวและทำให้เป็นฟองน้ำ ทำให้แห้งอย่างช้าๆ ตัด บรรจุ และผ่านการฆ่าเชื้อ เจลาตินมีคุณสมบัติพิเศษโดยตัวของเจลาตินเองมีพลังในการดูดซับสูงสำหรับเนื้อเยื่อของเหลวตลอดจนตัวที่เข้ากันได้กับเจลาติน ในบางครั้งตัวดูดซับถูกทำให้อิ่มตัวด้วยยาปฏิชีวนะ

::ผงผ่าตัด (Surgical powder)::
เจลาติน หลังจากได้รับความร้อนที่อุณหภูมิ 142 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตัวของเจลาตินจะสูญเสียสภาพการเกิดเจลในน้ำ เจลาตินในสภาพนี้ถูกนำมาใช้เป็นผงฆ่าเชื้อ เมื่อผงเจลาตินถูกโรยบนบาดแผลที่เปิด ก็จะช่วยเร่งในกระบวนการรักษาบาดแผล ซึ่งให้ผลที่คล้ายกับการใช้เจลาตินฟองน้ำห้ามเลือด 

::เจลาตินปิดบาดแผล (Gelatine dressing)::
วัสดุส่วนใหญ่เช่นยา Zinc paste ปิดแผล [เภสัชตำรับของประเทศสหรัฐอเมริกา (USP)] หรือ Unna Paste ซึ่งถูกนำมาใช้ในการรักษาแผลเปื่อยจากการกดทับโดยมีเจลาตินเป็นส่วนประกอบหลัก เจลนิ่มมี Zinc oxide (10%) และเจลาติน (15%) ในตัวกลางกลีเซอรีนที่เป็นน้ำกซึ่งระจายในชั้นแต่งบาดแผล นำมาใช้ในการปิดบาดแผลหลอดเลือด ตัวปิดบาดแผลประเภทนี้สามารถกำจัดออกไปหลังจากแช่ในน้ำอุ่น 

::วัตถุทดแทนพลาสม่า (Plasma substitute)::
เจลาตินได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวเพิ่มพลาสมาที่ดีเยี่ยม ซึ่งถูกนำมาใช้ในกรณีการไหลเวียนเลือดลดปริมาณลงอย่างเฉียบพลัน

……………………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
ข้อมูลจากหนังสือ : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press