หน้าที่ของเจลาตินในอาหาร

เจลาติน (ตอนที่ 3)

เจลาตินถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ไม่เพียงแต่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้น แต่ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นสารยึดเกาะและการถ่ายภาพ

หน้าที่ของเจลาตินในอาหาร
1. เป็นวัตถุเจือปนอาหาร
• วัตถุให้ความคงตัว 
ไอศกรีม : เจลาตินเป็นวัตถุให้ความคงตัวชนิดหนึ่งซึ่งถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมไอศกรีม การใช้เจลาตินในไอศกรีมนั้นเพื่อป้องกันการการก่อตัวของผลึกน้ำแข็ง เจลาตินยังป้องกันไอศกรีมจากการละลายอย่างรวดเร็วได้อีกด้วย เพื่อที่ไอศกรีมจะยังคงรูปในสภาพของแข็งและขณะเดียวกันยังช่วยให้ได้เนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่ม (เจลาตินประมาณ 0.2-0.6% ถูกเติมลงไปในขั้นตอนการผสมไอศกรีม)

น้ำตาลไอซิ่ง : เจลาตินถูกนำมาใช้เป็นวัตถุให้ความคงตัวในน้ำตาลไอซิ่ง หน้าที่ของเจลาตินคือ เพื่อป้องกันของเหลวจากน้ำที่ซึมออกภายในเค้กเนื่องจากการผสมน้ำตาลไอซิ่ง นอกจากนี้ยังช่วยให้รูปร่างของไอซิ่งดียิ่งขึ้น เจลาตินประมาณ 1-2% ถูกเติมลงไปในน้ำตาลไอซิ่ง ก่อนที่จะวางขาย

• อีมัลซิไฟเออร์
เจลาตินถูกนำมาใช้เป็นสารเพื่อให้เกิดการผสมกันระหว่างน้ำกับน้ำมัน ตัวอย่างเช่น ในการผสมน้ำมันมะนาวและน้ำเชื่อม ในการผสมนี้เจลาตินประมาณ 0.2% ถูกนำมาใช้เพื่อให้วัตถุดิบดังกล่าวผสมเป็นเนื้อเดียวกัน 

• วัตถุให้ความข้นหนืด 
เจลาตินประมาณ 0.1% ถูกนำมาใช้เพื่อให้ความข้นหนืดแก่กลิ่น เพื่อนำมาใช้ในไอศกรีม

• สารที่ทำให้เกิดเจล 
เจลาตินถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเยลลีเมื่อเทียบกับการใช้สาหร่ายทะเล ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากจุดหลอมเหลวของเจลาตินนั้นมีค่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสาหร่ายทะเล การทำเจลาตินจึงง่ายด้วยการละลายในน้ำร้อน คุณสมบัตินี้ยังให้ผลดีอีกอย่างนั่นคือ ทำให้เยลลี่มีความนุ่มและละลายได้ในปาก เยลลี่ที่เกิดจากสาหร่ายทะเลนั้นมีความเหนียวมากเกินไป (มีจุดหลอมละลายสูงเมื่อเทียบกับเจลาติน) จึงจำเป็นต้องเคี้ยว ด้วยเหตุนี้สาหร่ายทะเลจึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค

ลูกอมเยลลี (Jujubes) อาจจะมีเจลาติน 7-9% ในขณะที่ Jellybeans ชนิดแข็งมีเจลาติน 2-7% เจลาตินยังถูกนำมาใช้ในการทำหมากฝรั่งกลิ่นผลไม้อีกด้วย ปริมาณเจลาตินที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์นี้คือ 0.4-1.5% เจลาตินยังถูกเติมลงในลูกอม ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความสุขในการเคี้ยว

เจลาตินยังถูกนำมาใช้เป็นสารที่ทำให้เกิดเจลในเนื้อเบอร์เกอร์ อย่างเช่น เพื่อทำให้น้ำซุปและน้ำเกรวี่มีความข้นหนืด อาหารประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋องที่มีขายอย่างแพร่หลาย จะมีเจลาตินประมาณ 8-10%

2. เป็นกาวในขนมหวาน
เจลาตินถูกนำมาใช้เพื่อเป็นกาวยึดขนมหวานในบางประเภท เจลาตินที่ถูกนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้จะถูกละลายในน้ำเชื่อมเข้มข้น ซึ่งมีเจลาตินประมาณ 1.5-1.9% เช่น ในการตกแต่งหน้าเค้กอาจจะมีเจลาตินประมาณ 1.5%

3. เป็นสารทำให้เกิดฟอง
ตัวอย่างขนมหวานชนิดหนึ่งที่ทำโดยใช้เจลาตินเป็นสารที่ทำให้เกิดฟองนั่นคือ มาร์ชเมลโล ไข่ขาวยังถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสารทำให้เกิดฟองเช่นเดียวกัน แต่โดยทั่วไปไข่ขาวและเจลาตินถูกนำมาใช้ควบคู่กันเพื่อทำขนมหวานประเภทนี้

………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Consumers Association of Penang. (2006). HARAM HARAM :an Important book for muslim consumers. Pinang. Pulau Pinang Press

ไขมันสัตว์ในผลิตภัณฑ์อาหาร

กรณีของกลีเซอรีนและโมโนกลีเซอไรด์จากไขมัน

คุณทราบหรือไม่ว่า อาหารจำพวก ขนมปัง มักกะโรนี ไอศกรีม ขนมหวาน ทอฟฟี่และเนยถั่ว อาจมีส่วนประกอบที่ต้องสงสัยต่อผู้บริโภคมุสลิม สิ่งนี้คือ โมโนกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสารที่ได้มาจาก กลีเซอรีน?

กลีเซอรีน คืออะไร ?

กลีเซอรีนหรือกลีเซอรอล เป็นของเหลวหนืดใส ไม่มีสี มีรสหวาน โดยทั่วไปมักนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและยา

กลีเซอรีนดิบนั้น เตรียมได้จากการแยกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ระหว่างกระบวนการผลิตสบู่ นั่นคือ กรดไขมันหรือ แอลกอฮอล์ของไขมัน (Fatty alcohol) และยังสามารถผลิตได้จากเศษเหลือ (by product) จากปิโตรเลียม เช่น โพรปิลีน (propylene)

ถ้ากลีเซอรีนได้มาจากไขมันสัตว์ กลีเซอรีนที่ได้ก็จะกลายเป็นส่วนประกอบที่ต้องสงสัยสำหรับมุสลิม เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่าไขมันสัตว์ที่มานั้นเป็นสัตว์ชนิดใด ดังนั้น กลีเซอรีนจึงเป็นส่วนประกอบที่ต้องสงสัย จนกว่าเราจะรู้แหล่งที่มาว่าได้มาอย่างไร

โมโนกลีเซอไรด์ คืออะไร? 

ขั้นตอนแรกของการนำกลีเซอรีนมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร นั่นคือ การเตรียม โมโน- และ ไดกลีเซอไรด์ก่อน ในขั้นตอนการผลิตโมโนและไดกลีเซอร์ไรด์นั้น กลีเซอรีนถูกให้ความร้อนร่วมกับไขมันและ โซเดียมไฮดรอกไซด์ปริมาณเล็กน้อย เพื่อกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาทางเคมี เอสเทอร์ที่ได้ คือ อีมัลซิไฟเออร์พื้นฐานในอาหาร

เกือบ 90% ของ โมโนกลีเซอไรด์ ถูกนำมาใช้แปรรูปอาหารในทางอุตสาหกรรม เป็นสารที่ทำให้เกิดอีมัลซิไฟเออร์ เนื่องจากโมโนกลีเซอไรด์ ทำหน้าที่เพิ่มความนุ่มให้กับอาหาร นอกจากนี้แล้วโมโนกลีเซอไรด์ยังสามารถรักษาหรือเพิ่มปริมาณให้กับอาหาร

อาหารที่มีส่วนประกอบของโมโนกลีเซอไรด์ 
โมโนกลีเซอไรด์ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมอาหาร ในจำพวกอาหารที่มีโมโนกลีเซอไรด์ มีดังนี้

ขนมปัง โมโนกลีเซอไรด์ ในอัตราส่วนที่มาก ถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในขนมปังหรือในผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายกับขนมปัง การมีโมโนกลีเซอไรด์จะช่วยคงสภาพความนุ่มของผลิตภัณฑ์เอาไว้หลังผ่านการอบหรือในระหว่างการเก็บรักษา ขนมปังที่ทำขึ้นโดยปราศจากการใช้โมโนกลีเซอไรด์ จะไม่คงสภาพความนุ่มของผลิตภัณฑ์เอาไว้หลังจากการอบ

มักกะโรนี มักกะโรนีที่ผสมกับโมโนกลีเซอไรด์จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง ไม่เหนียวและสามารถทนต่ออุณหภูมิที่สูงในระหว่างการปรุง

เค้ก ในเค้กที่ไม่ใช้ยีสต์นั้น โมโนกลีเซอไรด์มีหน้าที่เป็นอีมัลซิไฟเออร์ในการรวมกันระหว่างไขมันและน้ำในระบบโปรตีน โมโนกลีเซอไรด์จะปรับปรุงโครงสร้างฟองอากาศและเพิ่มแรงยึดเกาะของชั้นโปรตีนในเค้กที่ผสม เพราะฉะนั้น เค้กที่ใช้โมโนกลีเซอไรด์ในการทำนั้นเนื้อจะแน่น นุ่มและอร่อย

ไอศกรีม โมโนกลีเซอไรด์เป็นอีกส่วนประกอบที่ได้รับความนิยมต่อการนำมาเป็นส่วนผสมในไอศกรีมสิ่งนี้จะช่วยให้อีมัลชันของไขมันมีความคงตัวในระหว่างการผสม ส่งผลให้ไอศกรีมมีรูปร่างลักษณะที่ดี

มาการีน ในมาการีน โมโนกลีเซอไรด์จะช่วยให้ความคงตัวของอิมัลชันในระหว่างการแปรรูปและระหว่างการเก็บรักษา

ครีมเทียม ครีมเทียมที่ได้ผสมด้วยกับโมโนกลีเซอไรด์ เป็นผลให้ได้หยดไขมันมีขนาดเล็กมาก และในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษารูปร่างเดิมเอาไว้ ดังนั้น ครีมเทียมจะยังคงมีสีขาวเมื่อผสมเข้ากับกาแฟ

เนยถั่ว ในเนยถั่ว โมโนกลีเซอไรด์ที่ผสมเข้าไปเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการกระจายตัวของไขมัน โมโนกลีเซอไรด์ยังช่วยในกระบวนการทำเนยถั่วให้ง่ายต่อการกระจายบนหน้าขนมปัง

ทอฟฟี่ โมโนกลีเซอไรด์เป็นตัวทำให้เกิดอีมัลซิไฟเออร์ ด้วยเหตุนี้ การเติมสารนี้ลงไปเพื่อให้เกิดความคงตัวในการผสมระหว่างไขมันและน้ำ การมีอยู่ของโมโนกลีเซอไรด์ยังช่วยป้องกันการเหนียวติดบนฟันของคาราเมลและทอฟฟี่เมื่อรับประทาน และยังช่วยป้องการติดแน่นต่อเครื่องจักรที่ใช้ห่อผลิตภัณฑ์ในระหว่างการแปรรูป

โมโนและได-กลีเซอร์ไรด์ ฮาลาลหรือไม่? 
สภาอาหารและโภชนาการอิสลามแห่งอเมริกา (Islamic Food and Nutrition Council of America (IFANCA )องค์กรชั้นนำที่ให้การรับรองฮาลาลในอเมริกเหนือ ได้ตอบคำถามที่มักจะถูกถามบ่อยบนเว็บไซต์ขององค์กร เกี่ยวกับโมโน-และไดกลีเซอไรด์ ความว่า

“โมโนและไดกลีเซอไรด์ เป็นส่วนประกอบของไขมันที่ถูกนำมาใช้เป็นอิมัลซิไฟเออร์ ซึ่งอิมัลซิไฟเออร์ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างไขมันหรือน้ำมันกับน้ำให้กระจายรวมเป็นเนื้อเดียวกัน (ป้องกันการแยกชั้นของน้ำมันและน้ำ)

โมโนและไดกลีเซอไรด์ สามารถได้มาจากพืชหรือสัตว์ เมื่อมีแหล่งที่มาจากพืช โมโน-และไดกลีเซอไรด์เหล่านั้นก็จะฮาลาล แต่หากมีแหล่งที่มาจากสัตว์ โมโน-และไดกลีเซอไรด์เหล่านั้นตกในประเด็นต้องสงสัย ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมที่จำเป็นต่อการตัดสินว่าโมโน-และไดกลีเซอไรด์เหล่านี้ฮาลาล ผู้บริโภคสินค้าฮาลาลควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของโมโนและไดกลีเซอไรด์ จนกว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะระบุบนฉลากว่าโมโนและกลีเซอไรด์ได้มาจากพืช 100 % โมโน-และไดกลีเซอไรด์นั้นถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์จำนวนมากประกอบด้วยขนมปัง เนยถั่ว มาการีน เนยขาว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ”

หน่วยงานบริการอิสลามแห่งอเมริกา (Islamic Services of America (I.S.A.) หน่วยงานให้บริการการรับรองและบริการตรวจประเมินฮาลาลแห่งสรัฐอเมริกาและอเมริกาเหนือ ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เนื่องจากบ่อยครั้งไม่มีตัวชี้เฉพาะเจาะจงเกี่ยวข้องกับแหล่งที่มาเริ่มต้นของโมโนและได-กลีเซอไรด์ จึงต้องตั้งสมมุติฐานอย่างหนึ่งว่าแหล่งที่มาเริ่มต้นอาจมาจากสุกร เนื่องจากคุณสมบัติและต้นทุนที่ต่ำของสุกรทำให้อุตสาหกรรมนิยมนำวัตถุดิบจากสุกรเหล่านี้มาใช้ อาจจะกล่าวได้ว่า มันมีโอกาสอย่างมากต่อผลิตภัณฑ์ที่มีโมโนและได-กลีเซอไรด์ที่คุณพบเห็นในร้านค้าเป็นสินค้าหะรอม

ถ้าโมโนและได-กลีเซอไรด์เหล่านี้มาจากวัว ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะได้รับการพิจารณาเป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาล หากสัตว์เหล่านั้นได้จากการเชือด กระบวนการแปรรูปจากหนัง กระดูก ที่สอดคล้องกับชารีอะฮฺ และมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ

ถ้าแหล่งที่มาเริ่มต้นของโมโนและไดกลีเซอไรด์ได้มาจากพืช เช่นถั่วเหลือง เมล็ดคาโนล่า (หรือจากปาล์ม) ก็จะถือว่าโมโนและได-กลีเซอไรด์ที่ได้นั้นฮาลาล

…………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือ HALAL HARAM . สมาคมผู้บริโภครัฐปีนัง มาเลเซีย 
http://www.ifanca.org/faq/ 
http://www.isaiowa.org/News/20110614/7/Are-Mono-Diglycerides-Halal.aspx

การใช้กลิ่นวานิลลา (Vanilla) ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล

วานิลลา (Vanilla) เป็นกลิ่นที่ได้จากฝักของกล้วยไม้สกุล Vanilla ต้นกำเนิดจากเม็กซิโก ชื่อวานิลลามาจากคำในภาษาสเปนว่า “ไบย์นียา” (vainilla) ซึ่งแปลว่า ฝักเล็ก ๆ วานิลลามักถูกนำมาใช้แต่งกลิ่นในการทำอาหารประเภทของหวานและไอศกรีม

มีการนำวานิลลา 5 ชนิดที่แตกต่างกันมาทำไอศกรีมและผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ ได้แก่ กลิ่นวานิลลาธรรมชาติ วานิลลาสกัด กลิ่นวานิลลาเทียม วานิลลินและฝักวานิลลาแห้ง

1. กลิ่นวานิลลาธรรมชาติ (Natural Vanilla flavor) บ่อยครั้งใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายเนื่องจากกลิ่นวานิลลาธรรมชาติได้สกัดมาจากฝักวานิลลาที่แช่ลงในแอลกอฮอล์และน้ำ ฝักของวานิลลาที่เหลือหลังจากการสกัดด้วยแอลกอฮอล์สามารถนำมาใช้เป็นวานิลลาหรือ vanilla specks แต่นักวิชาการศาสนา (อูลามะอฺ) บางท่านคิดว่ามันไม่ฮาลาล เนื่องจากวานิลลาเหล่านี้ได้ผ่านการแช่ด้วยกับแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะไม่มีแอลกอฮอล์หลงเหลืออยู่ในฝักหลังการสกัดแล้วก็ตาม

2. วานิลลาสกัด (Vanilla Extract) ซึ่งตามมาตรฐานของ FDA กำหนดให้มีแอลกอฮอล์ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 35 % วานิลลาสกัดนั้นถูกนำมาใช้ในไอศกรีม คุกกี้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ วานิลลาสกัดไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นส่วนประกอบที่ฮาลาล

3. กลิ่นวานิลลาเทียม (Artificial Vanilla Flavor) จะทำโดยมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลายก็ได้ ไอศครีมนมรสวนิลายี่ห้อวัลเล่ย์แปซิฟิกขายในปี 2007 ในงานประชุมวิชาการของ ISNA ที่ทำโดยใช้กลิ่นวนิลลาเทียมจากโพรพิลีน ไกลคอลเป็นเป็นตัวทำละลายแทนการใช้แอลกอฮอล์ โพรพิลีนไกลคอลเป็นตัวทำละลายที่ฮาลาล เช่นเดี่ยวกับไอศกรีมยี่ห้อ Baskins Robbins บางชนิดที่ทำโดยใช้กลิ่นสังเคราะห์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ตามที่บริษัทระบุ

4. วานิลลิน (Vanillin) เป็นส่วนประกอบที่ฮาลาล เนื่องจากไม่มีการนำแอลกอฮอล์มาใช้ในระหว่างการผลิต ซึ่งเป็นกลิ่นสังเคราะห์ที่ทำมาจากวัตถุดิบฮาลาล

5. ฝักวานิลลาแห้ง (Dried Vanilla Beans) แตกต่างจากฝักวานิลลาที่ผ่านการสกัดด้วยแอลกอฮอล์ ฝักวานิลลาแห้งเป็นฝักที่แห้งโดยธรรมชาติจากต้นวานิลลาและยังเป็นส่วนประกอบที่ฮาลาล 100% อีกด้วย เป็นไปได้ว่าอาจมีการนำวานิลลามาใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารซึ่งถ้าหากคุณสังเกตเห็นวานิลาหรือ vanilla specks เป็นส่วนประกอบในอาหารต่างๆ กรุณาสอบถามไปยังผู้ผลิตต่อวิธีการทำวานิลลาดังกล่าว

…………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. ปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา :
http://th.wikipedia.org/
http://www.muslimconsumergroup.com/

ภาพประกอบ 
http://www.alittlebitwonderful.com/ 
http://www.vanillareview.com/
https://offthelist.wordpress.com/
http://theheritagecook.com/

การกำหนดสถานะฮาลาลของอาหารแต่ละประเภท

มีการแบ่งอาหารออกเป็น 4 ประเภทกว้าง ๆ เพื่อสร้างความสะดวกในการรับรองสถานะฮาลาลของอาหารและเพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดแนวทางในอุตสาหกรรม ดังนี้

1. เนื้อสัตว์และสัตว์ปีก
4 ใน 5 กลุ่มของปัจจัยที่ควรระวังในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลอยู่ในหมวดเนื้อสัตว์และสัตว์ปีก (ซากสัตว์หรือสัตว์ที่ตายเอง, การเชือด, เนื้อสุกร และเลือดอยู่ในประเภทนี้ ยกเว้นแอลกอฮอล์และสิ่งมึนเมา) ดังนั้น ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่สูงขึ้นจึงควรได้รับการปฏิบัติไว้ ตั้งแต่ชนิดของสัตว์ที่ต้องฮาลาล ไม่มีใครที่เชือดสุกรด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้องตามหลักการอิสลามแล้วบอกว่ามันฮาลาลได้ ผู้ที่ทำการเชือดสัตว์จะต้องเป็นมุสลิมที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขณะเชือดจะต้องกล่าวพระนามของอัลลอฮฺ มีดที่ใช้เชือดจะต้องแหลมคมเพื่อใช้ตัดเส้นเลือดใหญ่ หลอดลม และหลอดอาหาร เลือดที่ไหลจากการเชือดจะต้องไหลออกมาจนหมด อิสลามนั้นให้ความสำคัญกับหลักมนุษยธรรมและความเมตตากรุณาในการเลี้ยงดูฟูมฟัก ดังนั้น การชำแหละชิ้นส่วนหรืออวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์จะต้องไม่เกิดขึ้นจนกว่าสัตว์นั้นจะสิ้นชีวิตอย่างสมบูรณ์

2. ปลาและอาหารทะเล 
เพื่อทำการตรวจสอบสภาพของปลาและอาหารทะเลให้เป็นที่ยอมรับได้ ผู้ผลิตจำเป็นต้องเข้าใจความหลากหลายของสำนักคิดทางนิติศาสตร์อิสลาม ไปจนถึงการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของมุสลิมที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว มุสลิมทั้งหมดยอมรับว่าปลาที่มีเกล็ดนั้นบริโภคได้ มีเพียงมุสลิมบางส่วนที่ไม่ยอมรับปลาที่ไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก เป็นต้น ความต่างในหมู่มุสลิมเกี่ยวกับอาหารทะเลยิ่งมีเพิ่มมากขึ้นไปอีก เช่น สัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก หรือ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเข้าใจความต้องการที่หลากหลายของกลุ่มเป้าหมายเนื่องจากความแตกต่างทางภูมิภาค อาทิ การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นรสอาหารทะเล เป็นต้น

3. นมและไข่
หากมาจากสัตว์ที่ฮาลาลย่อมถือว่าฮาลาล แหล่งที่มาของนมที่ได้รับความนิยมในตะวันตกคือวัว ส่วนแหล่งที่มาหลักของไข่ก็คือไก่ วัตถุดิบอื่น ๆ ทั้งหมดจะต้องมีการติดฉลากเพื่อระบุแหล่งที่มา ปัจจุบันนี้ มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากมายที่ทำทั้งจากนมและไข่ เช่น นมถูกนำมาใช้สำหรับการผลิตชีส เนย และครีม โดยส่วนใหญ่แล้ว ชีสที่ทำมาจากจุลินทรีย์หรือสัตว์ที่เชือดด้วยกรรมวิธีที่ฮาลาลย่อมถือว่าฮาลาล ขณะที่เอนไซม์บางชนิดนั้นหะรอม หากสกัดจากแหล่งที่มาของสุกร หรือเอนไซม์บางชนิดก็อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย หากได้มาจากสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการเชือดที่ฮาลาล ในทำนองเดียวกัน สารอิมัลซิไฟเออร์ (emulsifiers) สารยับยั้งเชื้อรา (mold inhibitors) และสารประกอบเชิงหน้าที่อื่นๆ (functional ingredients) หากไม่ระบุแหล่งที่มาชัดเจน อาจทำให้สถานะของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับนมและไข่อยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัยแก่การบริโภค

4. พืชและผัก
วัตถุดิบเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วถือว่าฮาลาล ยกเว้นเพื่อผลิตเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสิ่งมึนเมาอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ในโรงงานแปรรูปปัจจุบัน ผักและเนื้อสัตว์อาจมีกระบวนการแปรรูปในโรงงานเดียวกันและใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กับการปนเปื้อนข้าม ส่วนสารประกอบเชิงหน้าที่อื่นๆ (functional ingredients) บางชนิดที่ได้จากสัตว์ อาจถูกนำมาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ตกอยู่ในหมวดคลุมเครือสงสัย ดังนั้นสารที่ช่วยในกระบวนการผลิตและกรรมวิธีการผลิตเหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสถานะของอาหารที่มีต้นกำเนิดเดิมจากพืช ซึ่งถือว่ามีสถานะฮาลาลในตัวมันเองอยู่แล้ว

จากการพิจารณาหลักการและข้อบังคับต่าง ๆ เป็นที่ชัดแจ้งว่า ปัจจัยหลายประการที่ใช้ในการกำหนดสถานะว่าฮาลาลหรือหะรอมนั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติของชนิดอาหาร รูปแบบกระบวนการ และวิธีการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่มาจากสุกรจะได้รับการพิจารณาว่าหะรอม เนื่องจากแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นหะรอมโดยตัวมันเอง ในทำนองเดียวกัน เนื้อวัวที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีการเชือดตามหลักการอิสลามนั้นถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับ รวมไปจนถึงอาหารที่ถูกขโมยมา หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับหลักคำสอนอิสลามนั้นถือว่าหะรอมเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากนี้ อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายหรือทำให้เกิดอาการมึนเมาถือว่าหะรอมอย่างมิต้องสงสัย แม้จะมีปริมาณที่เล็กน้อยก็ตาม เพราะสารเหล่านี้นับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

…………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจากหนังสือ : Halal food production
โดย Mian N. Riaz, Muhammad M. Chaudry

“อาหารที่มีลาโนลิน (lanolin) ผสมอยู่ทานได้หรือไม่”

:: [คำถาม] ::
ลาโนลิน (ไขมันธรรมชาติจากขนแกะ) ฮาลาลหรือหะรอม เนื่องจากมันเป็นส่วนประกอบหนึ่งในเครื่องดื่มที่ผมได้ดื่ม ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน

:: [คำตอบ] ::
มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ
ลาโนลิน คือสารที่เป็นน้ำมันสีเหลืองซึ่งสกัดมาจากน้ำมันหล่อเลี้ยงบนขนแกะ รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าขี้ผึ้งขนแกะ (wool wax หรือ wool grease)

ไม่มีความผิดบาปแต่ประการใดในการบริโภคอาหารที่มีลาโนลินเมื่อมันสกัดมาจากขนแกะ หากว่าแกะนั้นได้ถูกเชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม กรณีนี้ย่อมเป็นที่ชัดเจน เพราะถือว่าสัตว์ตัวนั้นสะอาดสามารถรับประทานเนื้อของมันได้ เช่นเดียวกับขนของมันหรือส่วนอื่นๆถือว่าสะอาดไม่ใช่นญิส (สิ่งสกปรก)

ส่วนกรณีที่เป็นขนแกะซึ่งได้มาขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เชือดอย่างถูกต้องตามหลักการอิสลาม กรณีนี้ความเห็นที่ถูกต้องของนักวิชาการถือว่าขนของมันสะอาด (ไม่ใช่นญิสหรือซากสัตว์) แม้ว่าจะไม่ได้รับการเชือดตามหลักการที่กล่าวมาก็ตาม

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมิยะฮ์ (ขออัลลอฮฺทรงเมตตาท่าน) กล่าวว่า ขนทุกชนิด ขนนก ขนอูฐ ขนแกะนั้นถือว่าเป็นสิ่งสะอาด ไม่ว่าจะมาจากหนังสัตว์ที่กินได้หรือจากสัตว์ที่กินไม่ได้ ไม่ว่ามันจะมาจากสัตว์ที่เชือดแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่ ดูเหมือนว่านี่จะเป็นความเห็นที่มีน้ำหนักจากความเห็นของผู้รู้ (มัจญมูอ อัลฟะตาวา 21/38)

แม้ว่าจะมีความเห็นที่กล่าวว่า ขนสัตว์และผมโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นสิ่งนญิส หากนำมาจากสัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามหลักการอิสลาม แต่ลาโนลีนนี้เป็นสารสกัดที่ได้จากขนแกะ ดังนั้นมันจึงต่างกับการนำมาจากสิ่งนญิส นอกจากนั้นแล้วมันยังเป็นสารตัวใหม่ ซึ่งถือว่าผ่านกระบวนการอิสติฮาละฮ์ จึงถือว่าสะอาดและฮาลาล

วัลลอฮูอาลัม อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่ง

………………………………………

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา : Islamqa.Info

“10 สารเคมีอาหารในรูป E-number และ INS ที่ผู้บริโภคฮาลาลควรรู้จัก”

E-number และ INS (International Numbering System) เป็นระบบที่ใช้กำหนดรหัสของวัตถุเจือปนอาหารเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และชะลอการเน่าเสียของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ยังถูกเติมเข้าไปเพื่อช่วยในกระบวนผลิต ทำหน้าที่เป็น อีมัลซิไฟเออร์ สารช่วยเพิ่มปริมาตรให้ผลิตภัณฑ์ เป็นสารกันบูด และปรับปรุงคุณภาพอาหารในแง่ของสี รสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารอีกด้วย

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2527) และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2532) ให้นิยามวัตถุเจือปนอาหารไว้ว่า “วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ก็ตามแต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อ ประโยชน์ในทางเทคโนโลยีในการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่งซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร และให้หมายความรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร แต่ใช้รวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย”

ผู้บริโภคมุสลิมควรรู้จักบรรดา E-number ที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ E-number หรือ INS ที่มีตัวเลขดังต่อไปนี้หากพบเห็นบนฉลากอาหาร ควรหลีกเลี่ยงหรือหาสารทดแทนหรือหาชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยดังตัวอย่างต่อไปนี้

E120 – สีแดงจากแมลงโคชิเนียล นิยมใช้สร้างสีแดงในอาหารหลายชนิด สกัดมาจากแมลงโคชิเนียลได้จากประเทศแถบอเมริกาใต้ สีประเภทนี้องค์กรศาสนาอิสลามบางประเทศเช่น อินโดนีเซีย ให้การรับรองฮาลาล บางประเทศไม่ให้การรับรอง เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยกว่า

E153 – สีดำจากคาร์บอนหรือ Carbon black ส่วนใหญ่ทำจากกระดูกสัตว์ อาจพบได้กรณีที่มาจากถ่านไม้ซึ่งจะแจ้งไว้ ควรระวังกันหน่อย มีบางชนิดได้รับการรับรองฮาลาล

E422 – กลีเซอรอล ได้มาจากน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ คอยดูแลกันไว้บ้าง หากมาจากไขมันสัตว์อาจมาจากไขมันวัวที่อาจไม่เชือดตามหลักการอิสลามหรืออาจมาจากไขมันหมู ดูชนิดที่มีการรับรองฮาลาล

E441 – เจลาติน ส่วนใหญ่ได้จากสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังหมู บางชนิดได้มาจากกระดูกวัว หรือจากหนังปลา ปัจจุบันเริ่มมีเจลาตินฮาลาลเข้ามาทดแทนมากขึ้น เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาล อาจใช้ E407 หรือคาราจีแนนจากสาหร่ายทดแทน หากเห็น E407 แสดงว่ามีการใช้แทน E441

E470a, E470b – เกลือที่ใช้เป็นสารป้องกันการรวมตัวเป็นก้อน anti caking agent มักได้มาจากไขมันสัตว์ แต่อาจมาจากไขมันพืชก็ได้เช่นกัน ตรวจดูที่การรับรองฮาลาล

E471 – โมโนหรือไดกลีเซอไรด์ เตรียมมาจากไขมันซึ่งอาจเป็นไขมันสัตว์ เช่น วัว หมู คอยตรวจสอบด้วย พักหลังมีการใช้ไขมันพืชประเภทปาล์มมากขึ้น

E472a-f – เกลือที่ได้มาจาก E471 อาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืชก็ได้ ควรตรวจสอบจากการรับรองฮาลาล

E473-E479 – เกลือเตรียมได้จากกรดไขมันซึ่งอาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืช ควรตรวจสอบการรับรองฮาลาล

E542 – เกลือฟอสเฟต มักได้จากกระดูกสัตว์

E635 – ไดโซเดียม 5 ไรโบนิวคลิโอไทด์ สารเพิ่มรสชาติมักผลิตจากสัตว์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ H numbers เพื่อทดแทน E numbers อยากรู้ว่าสารตัวไหนใช้ได้หรือไม่ได้ให้ดูจาก แอปพลิเคชัน H numbers หรือเว็ปไซต์ https://h4e.halalthai.com/
……………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี

ที่มา :
https://www.facebook.com/…/a.14832560653…/1690781201229850/…
https://www.facebook.com/…/a.20208291647…/1019523968067614/…
http://www.halalinfo.ifrpd.ku.ac.th/…/144-halal-news-intere…

“กาแฟขี้ช้าง ฮาลาลหรือไม่ ?”

หลายคนคงเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า “เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง” ที่เป็นลักษณะของคนไม่รู้จักพอในสิ่งที่ตนมี แต่ปัจจุบัน อาจจะพูดกันใหม่ว่า “เห็นช้างขี้ กินขี้ช้าง” หรือ “เห็นช้างขี้ โกยขี้ช้างไปขาย” กันเสียแล้ว กับมูลค่าของมูลช้างที่มันขับถ่ายออกมาพร้อมกับเมล็ดกาแฟที่ชื่อว่า “Black ivory coffee” หรือกาแฟขี้ช้าง ซึ่งเป็นกาแฟที่แพงที่สุดในโลกขณะนี้

ขั้นตอนการทำกาแฟขี้ช้าง เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟไทยอาราบิก้า จากแหล่งที่ปลูกบนความสูง 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วนำมาให้ช้างกิน เมื่อช้างขับถ่ายออกมา ควาญช้างก็จะนำไปตากแห้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับพฤติกรรมการกินแบบปกติ แต่รอให้ช้างกินผลกาแฟโดยสมัครใจ ควาญช้างจึงต้องคอยสังเกตดูว่าช้างจะขับถ่ายออกมาเมื่อใด จากนั้นจะนำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาดและคัดเลือกขนาดเมล็ดกาแฟที่ใหญ่และสมบูรณ์อีกครั้ง

ผลผลิตที่ได้จากเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไป แล้วขับถ่ายออกมา ซึ่งเอนไซม์ในกระบวนการย่อยอาหาร จะทำให้โปรตีนในเมล็ดกาแฟที่มีคุณสมบัติทำให้เกิดรสขม แตกตัวกลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เมื่อโปรตีนถูกสลายให้ลดลง ความขมจึงลดลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้กาแฟที่ผลิตออกมามีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ คือมีกลิ่นช็อกโกแลต และมีทั้งรสชาติของดาร์ก ช็อกโกแลต มอลต์ รวมทั้งเครื่องเทศ แต่ไม่มีรสขมบาดปาก

คุณเบลค ดินคิน ชาวแคนาดา ผู้ริเริ่มผลิตกาแฟขี้ช้าง ภายใต้ชื่อการค้า “แบลค ไอวอรี คอฟฟี” ได้บอกเหตุผลที่ผลิตภัณฑ์มีราคาแพงนั้น เป็นเพราะกระบวนการผลิตที่ลำบากซับซ้อน ต้องคัดผลกาแฟที่มีคุณภาพให้ช้างกิน โดยตอนนี้ใช้พันธุ์อาราบิก้าของไทย ซึ่งต้องให้ช้างกินถึง 33 กิโลกรัม เพื่อที่จะได้กาแฟขี้ช้างมา 1 กิโลกรัม เวลาช้างกินกาแฟ ช้างจะเคี้ยวด้วย เมล็ดกาแฟบางส่วนก็จะแตกหักหรือถูกย่อยไป ส่วนที่เหลือขับถ่ายออกมานั้นจะเลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีเมล็ดกาแฟที่สูญหายไปตอนที่ช้างลงไปอาบและขับถ่ายในน้ำ ขณะนี้ กาแฟขี้ช้างไทย ดังไกลทั่วโลก ที่สำคัญก็คือแพงที่สุดในโลกด้วย ราคาถึงกิโลกรัมละ 34,000 บาท หรือตกราคาแก้วละ 1,200 บาท กันเลยทีเดียว

::มุมมองอิสลามในประเด็นกาแฟขี้ช้าง::
คำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี ที่ 04/2556 อนุญาตการรับประทานกาแฟขี้ช้างโดยเงื่อนไขของการอนุญาติคือ
1. เมื่อช้างกินกาแฟเข้าไปแล้วถ่ายออกมา ต้องเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์ คือมีความแข็งเหลืออยู่หากนำไปเพาะในดินก็จะงอกได้อีก
2. ต้องไม่นำเมล็ดกาแฟที่แตกและไม่สมบูรณ์มาใช้
3.ต้องล้างทำความสะอาดนญิสที่ปนเปื้อนออกให้หมด

โดยส่วนหนึ่งของฟัตวาได้กล่าวว่า “เมื่อปรากฏว่าเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไป แล้วถ่ายออกมายังคงมีสภาพที่แข็ง เมล็ดกาแฟ จึงมิใช่ตัวนะญิส หากแต่เป็นสิ่งที่ปนเปื้อนนะญิส (มุตะนัจญิส) ดังนั้นเมื่อเมล็ดกาแฟถูกล้างให้ สะอาดจาก นะญิสที่ปนเปื้อนมากับมูลช้างตามวิธีการล้างที่ถูกต้อง เมล็ดกาแฟนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่สะอาดและสามารถรับประทานได้”

วันนี้เรามีกาแฟขี้ชะมด กาแฟขี้ช้าง ต่อไปเราอาจจะเห็นการวิจัยและพัฒนากาแฟจากขี้วัว ขี้แพะ หรือขี้ของสัตว์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

……………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ.สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
.
ข้อมูลจาก
http://pantip.com/topic/31192203
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000073400
http://www.gracezone.org/index.php/motivate/1850-coffee-elephant
http://news.mthai.com/hot-news/world-news/207390.html
http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=421967
https://drive.google.com/file/d/0BwikEGfSn1PUR0lMX3Vod3lOUXM/view

เจลาติน (ตอนที่ 1)

เจลาติน1

เจลาติน คืออะไร?

หลายคนคงเคยได้ยินสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า เจลาติน เจ้าสารตัวนี้จะเกี่ยวพันกับอาหารและสินค้าต่างๆจำนวนมาก ทั้งที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล แล้วสารตัวนี้คืออะไร ฮาลาลหรือไม่ เรามาทำความรู้จักกับสารที่ชื่อว่า “เจลาติน”

อ่านเพิ่มเติม “เจลาติน (ตอนที่ 1)”