ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของการประเมินดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลกปี 2024

รายงานจากเดือนพฤษภาคมปี 2024 ที่ผ่านมา ทางมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง ได้จัดทำรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ปี 2024 หรือ The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index 2024 : GMTI) ซึ่งเป็นการจัดอับดับการท่องเที่ยวฮาลาลหรือจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมจาก 145 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการจัดอันดับดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก พร้อมทั้งให้ข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับตลาดการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญของการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม แนวโน้ม โอกาสและประเด็นสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงศึกษาประชากรศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวมุสลิม

จากจำนวนประชากรมุสลิมโลกปัจจุบันปี 2024 มีจำนวน 2.12 พันล้านคน และคาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.47 พันล้านคนในปี 2024 [1] ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมุสลิมประมาณ 3.64 ล้านคน [2] มีมัสยิดประมาณ 4,059 แห่ง [3] ซึ่งร้อยละ 85 อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ แต่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลกอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือกลุ่ม OIC รองจากประเทศสิงค์โปร์ สหราชอาณาจักร ไต้หวันและฮ่องกง และอยู่ในอันดับที่ 32 ของการจัดอันดับทั้งหมด จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับจำนวน 145 ประเทศ

กรอบการประเมินดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกได้ใช้ ACES 3.0 Framework ซึ่งเปิดใช้ครั้งแรกในปี 2017 ครอบคลุมการประเมินการเดินทางที่เป็นมิตรของชาวมุสลิม ACES ที่ย่อมาจาก A: Access การเข้าถึงหรือการเดินทางเข้าประเทศ C : Communications การสื่อสาร หรือการเข้าถึงกลุ่มตลาดและการสื่อสารไปยังตลาดกลุ่มเป้าหมาย E : Environment สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว และ S : Service บริการ หรือการให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางชาวมุสลิม จากจำนวนคะแนนการประเมินทั้งหมด 100 คะแนน แบ่งประเด็นการประเมินที่ประกอบด้วย

1. การบริการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก (service) ร้อยละ 40 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริการด้านฮาลาล ประกอบด้วย การบริการสถานที่ละหมาด (10%) อาหารฮาลาล (10%) สนามบินที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม (10%) โรงแรมหรือที่พักที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม (5%) และ มรดกทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สะดวกในการเดินทาง (5%)

2. สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทาง (Environment) ร้อยละ 30 ประกอบด้วย ความปลอดภัยโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยว (10%) ข้อจำกัดหลักศรัทธา (5%) เช่น ข้อจำกัดการแต่งกายของนักท่องเที่ยวหญิงมุสลิมที่จะส่งผลต่อการประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5%) การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก (5%) และจำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมในจุดหมายปลายทาง (5%)

3. การเข้าถึงและการสื่อสาร (C: Communications) ร้อยละ 15 ประกอบด้วย การตลาดปลายทาง (5%) ในส่งเสริม บริการและอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม ความสามารถในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว (5%) และการตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อความชอบและความต้องการของนักท่องเที่ยว (5%)

4. ความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ (Access) ร้อยละ15 ประกอบด้วย ข้อกำหนดด้านวีซ่าของนักท่องเที่ยว (5%) การเชื่อมต่อและความถี่ของเที่ยวบิน (5%) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง (5%) ที่อำนวยความสะดวก การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวของจุดหมายปลายทาง [1]

จึงถือได้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศไทยที่ต้องการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่น ร้านอาหารฮาลาล สถานที่ละหมาด และอื่นๆ ในเมืองหลักของการท่องเที่ยว ผู้ให้บริการควรมีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจในข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวมุสลิมในเบื้องต้น นอกจากนี้ การสื่อสาร การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโดยตรงไปยังเป้าหมายและสร้างการรับรู้ว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม การเพิ่มสถานที่ละหมาดและการบริการอาหารฮาลาลในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของไทย รวมทั้งการสื่อสารที่เจาะไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ หรือภาษามาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ เครื่องหมายฮาลาลของสถานที่ท่องเที่ยวที่บริการอาหารฮาลาล ถือเป็นมาตรฐานสากลและเป็นหัวใจสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อีกด้วย
……………………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
………………..
Ref.
[1] The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024 [Online]. [cited 2024 Jul 5]. Available from: https://www.crescentrating.com/…/global-muslim-travel…
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2561). จำนวนศาสนิกชนจำแนกตามศาสนา พ.ศ. 2551 2554 2557 และ 2561. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 จาก http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/04.aspx
[3] สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย. (2567). สถิติจำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 จาก https://www.facebook.com/profile/100066664478238/search/?q=%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%94%202566

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *