อะไรคือเงื่อนไขของเนื้อกุรบาน (อุฎฮิยะฮฺ) ในหลักการอิสลาม?

:: คำถาม ::

อัสลามุอะลัยกุม ท่านพอจะมีฟัตวา (ข้อชี้ขาดปัญหาศาสนา) ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวคิดและเงื่อนไขของการเชือดสัตว์พลีหรือไม่?

:: คำตอบ ::

วะอะลัยกุมมุสสะลาม

เราขอขอบคุณอย่างยิ่งและมีความซาบซึ้งเป็นอย่างมากสำหรับความไว้วางใจที่ท่านได้มอบให้กับเรา เราขอวิงวอนต่ออัลลอฮฺให้เราบรรลุถึงความคาดหวังเหล่านี้และทำให้เราสามารถปฏิบัติภารกิจของเราที่มีต่อประชาชาติอิสลาม

สำหรับคำถามของท่านเกี่ยวกับการเชือดพลีในอิสลาม (หรือที่เรียกในภาษาอาหรับว่า อุฎฮิยะฮฺ) เราขอย้ำว่า อุฎฮิยะฮฺเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่งในอิสลาม ในการที่เราจะได้รำลึกถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอัลลอฮฺ ความโปรดปรานของพระองค์ที่มีต่อเราและการภักดีของท่านนบีอิบรอฮีม ผู้ซึ่งเป็นบิดาของเราและในการทำอุฎฮิยะฮฺนี้ มีความความดีและความจำเริญอันมากมาย ดังนั้นมุสลิมจะต้องเอาใจใส่ต่อความสำคัญอันยิ่งใหญ่นี้ ต่อไปนี้จะขอสรุปให้เห็นถึงพิธีกรรมที่สำคัญนี้

อุฎฮิยะฮฺเป็นการพาดพิงไปยังสัตว์ (อูฐ วัว ควาย หรือแกะ) ในการเชือดพลี นี่เป็นการทำการอิบาดะฮฺอุทิศเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเท่านั้น อุฎฮิยะฮฺเกิดขึ้นในประเทศที่ผู้คนทำการเชือดสัตว์พลีอาศัยอยู่ ในช่วงเวลาหลังจากละหมาดอีดในวันนะหฺรฺหรือวันอีด อัฎฮา จนกระทั่งถึงวันสุดท้ายของตัชรีก (วันที่ 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ) ด้วยเจตนาของการเชือดสัตว์พลี ดังที่อัลลอฮฺ ทรงตรัสว่า “ดังนั้นเจ้าจงละหมาดเพื่อพระเจ้าของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี” สูเราะฮฺ อัล เกาษัร อายะฮฺที่ 2

พระองค์ทรงตรัสด้วยว่า “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า แท้จริงการละหมาดของฉัน และการอิบาดะฮฺของฉัน และการมีชีวิตของฉัน และการตายของฉันนั้นเพื่ออัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลกเท่านั้น” สูเราะฮฺ อัล อันอาม อายะฮฺ 162

“และสำหรับทุ ๆ ประชาชาติเราได้กำหนดสถานที่ทำพิธีกรรม เพื่อพวกเขาจักได้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา คือสัตว์สี่เท้า (เช่น อูฐ วัว แพะ แกะ) ฉะนั้นพระเจ้าของพวกเจ้าคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้นสำหรับพระองค์เท่านั้น พวกเจ้าจงนอบน้อมและจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผุ้จงรักภักดีนอบน้อมถ่อมตนเถิด” สูเราะฮฺ อัล หัจญฺ อายะฮฺที่ 34

อุฎฮิยะฮฺ เป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺ(ที่เน้นหนัก) ตามทรรศนะของผู้รู้ส่วนใหญ่ ผู้รู้บางคนกล่าวว่ามันเป็นวาญิบ (บังคับ) เสียด้วยซ้ำ เรื่องนี้จะอภิปรายในรายละเอียดดังต่อไปนี้

หลักการพื้นฐานนั้นจะต้องกระทำตามเวลาที่กำหนดจากผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในนามของตนเองและสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวของเขา และเขาอาจรวมรางวัลการตอบแทนแก่ใครก็ได้ตามที่ปรารถนาทั้งยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว

:: เงื่อนไขของอุฎฮิยะฮฺ ::

1. สัตว์จะต้องมีอายุตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งแกะจะต้องมีอายุ 6 เดือน แพะต้องมีอายุ 1 ปี วัวต้องมีอายุ 2 ปี และอูฐต้องมีอายุ 5 ปี

2. สัตว์ต้องสมบูรณ์ไม่มีข้อบกพร่องเนื่องจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “4 ประการที่ไม่สามารถทำการเชือดสัตว์พลี สัตว์มีตาเดียวที่มีรอยตำหนิอย่างชัดเจน สัตว์ป่วยที่มีอาการป่วยอย่างชัดเจน สัตว์พิการที่มีความพิการอย่างชัดเจนและสัตว์ที่ผอมแห้งมีแต่กระดูก (ศอฮี้ยฺ อัล ญามิอฺ หมายเลข 886)

ส่วนการมีข้อตำหนิเพียงเล็กน้อยนั้นไม่ทำให้สัตว์ขาดคุณสมบัติ แต่มันเป็นมักรูฮฺ (เป็นที่น่ารังเกียจ) ที่จะทำการเชือดพลีสัตว์ เช่น สัตว์ที่เขาหรือหูนั้นหายไป หรือสัตว์ที่มีรอยถลอกที่หูของมัน อุฎฮิยะฮฺนั้นคือการกระทำของการอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ และอัลลอฮฺ คือความดีงามที่จะทรงตอบแต่สิ่งที่ดีเท่านั้น ใครก็ตามที่ให้เกียรติกับศาสนาของอัลลอฮฺ ดังนั้นจะต้องกระทำสิ่งดังกล่าวนี้ด้วยหัวใจที่มีศรัทธาแรงกล้า

3. ห้ามขาย หากว่าสัตว์ตัวหนึ่งถูกเลือกมาเพื่อทำการเชือดพลี ดังนั้นมันจึงไม่อนุมัติให้ขายมันหรือแจกจ่ายมันไปในทางอื่นๆ นอกจากจะมีการแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ดีกว่า หากว่าสัตว์นั้นคลอดลูกออกมา ลูกของมันควรจะถูกเชือดพลีไปพร้อมกับมันด้วย นอกจากนี้ยังอนุญาตที่จะขี่มันหากว่ามีความจำเป็น
หลักฐานสำหรับเรื่องนี้มีรายงานจากอิหม่าม บุคอรียฺและมุสลิมจากอบู ฮุรอยเราะฮฺ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เห็นชายคนหนึ่งกำลังขี่อูฐและบอกกับเขาว่า “จงขี่มัน” ท่านกล่าวว่า “มันเป็นสัตว์เพื่อการเชือดพลี” ท่านกล่าวเป็นครั้งที่สองและสามอีกว่า “จงขี่มัน”

4. จะต้องเชือดสัตว์พลีในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งเกิดเริ่มต้นหลังจากการละหมาดและการคุฏบะฮฺของวันอีด ไม่ใช่เริ่มเมื่อตอนละหมาดและคุฏบะฮฺกำลังเริ่มขึ้น จนกระทั่งถึงตะวันตกดินของวันตัชรีกสุดท้าย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ทำการเชือดสัตว์พลีก่อนละหมาด เขาจะต้องทำการเชือดสัตว์พลีอีกครั้ง (เพราะการเชือดสัตว์พลีก่อนละหมาดไม่นับว่าเป็นกุรบ่าน)” (บุคอรีย์และมุสลิม)

ท่าน อาลี บิน อบี ฏอลิบ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “วันแห่งนะหฺรฺหรือการเชือดสัตว์พลีนั้นเป็นวันอัฎฮาและสามวันหลังจากนั้น” นี่คือทรรศนะของหะซัน อัล บัศรียฺ อะฏออฺ บิน อบู เราะบาหฺ อัล เอาซาอียฺ อัช ชะฟาอียฺ และอิบนุ อัล มุนซิร รอหิมาฮุมุลลอฮฺ

:: จะต้องทำอะไรบ้างกับการเชือดสัตว์พลี ? ::

1.มันเป็นมุสตะฮับหรือส่งเสริมให้กระทำสำหรับคนที่ทำการเชือดสัตว์พลีที่จะไม่รับประทานสิ่งใดในวันนั้นก่อนที่เขาจะรับประทานมันหากว่าเป็นไปได้ เนื่องจากหะดีษของท่านนบี กล่าวว่า “แต่ละคนจะต้องรับประทานจากการเชือดพลีของเขา” (ศอฮี้ยฺ อัล ญามิอฺ 5349) การรับประทานสิ่งนี้จะต้องหลังจากละหมาดและคุฏบะฮฺอีดแล้ว นี่คือความเห็นของบรรดาผู้รู้ รวมไปถึง ท่านอลี บิน อบี ฏอลิบ อิบนุ อับบาส อิหม่าม มาลิก อิหม่าม อัช-ชะฟีอียฺและคนอื่น ๆ หลักฐานสำหรับเรื่องนี้คือหะดีษของบุรอยเฎาะฮฺ รดิยัลลอฮุ อันฮุ “ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม จะไม่ออกไปในวันอีดฟิตรีจนกว่าท่านจะรับประทาน และท่านจะไม่กินในวันอีดอัฎฮาจนกว่าท่านจะทำการเชือดสัตว์พลี” (อัล บานียฺ กล่าวว่า สายรางานของมันนั้นศอฮี้ยฺ อัล มิชกาต 1/452)

2. จะเป็นการดีกว่าการที่บุคคลหนึ่งทำการเชือดสัตว์พลีด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากว่าเขาไม่เชือด สมควรอย่างยิ่งที่เขาจะต้องปรากกฏตัวขณะที่มีการเชือด

3. ส่งเสริมที่จะให้แบ่งเนื้อออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกสำหรับการบริโภคเอง ส่วนที่สองสำหรับการแจกจ่ายเป็นของขวัญ และอีกส่วนเป็นการแจกจ่ายในการบริจาค นี่คือทรรศนะของอิบนุ มัสอูดและอิบนุ อุมัร รอดิยัลลอฮุ อันฮุมา บรรดาผู้รู้ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามันไม่เป็นที่อนุญาตที่จะขายเนื้อ ไขมันหรือหนังของมัน

ในหะดีษ ศอฮี้ยฺ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ใครก็ตามที่ขายหนังของเนื้อสัตว์เชือดพลี นั้นจะไม่นับว่าเป็นการเชือดพลีสำหรับเขา” ศอฮี้ยฺ อัล ญามิอฺ 6118

จะต้องไม่มอบส่วนใดเป็นค่าตอบแทนแก่คนเชือดหรือชำแหละเนื้อ เนื่องจาก ท่านอบี บิน อบี ฏอลิบ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า “ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม สั่งให้ฉันเอาใจใส่กับการเชือดสัตว์พลีและแจกจ่ายเนื้อและหนังของมันในการบริจาค และจะต้องไม่ให้ (เนื้อกุรบ่าน) ส่วนใดก็ตามกับคนฆ่าหรือและชำแหละเนื้อเป็นค่าตอบแทน” ท่านกล่าวว่า “แต่เราจะให้อย่างอื่นจากสิ่งที่เรามี” (บันทึกโดย บุคอรียฺและมุสลิม)

แต่มีบางส่วนกล่าวว่าอนุญาตที่จะมอบเนื้อ (กุรบาน) บางส่วนให้กับคนฆ่าและชำแหละเป็นของขวัญ และเป็นที่อนุญาตที่แจกจ่ายบางส่วนให้กับคนที่ไม่ใช่มุสลิม หากว่าเขาเป็นคนจน เป็นญาติพี่น้อง หรือเป็นเพื่อนบ้าน เพื่อที่จะให้เปิดหัวใจของเขามาสู่อิสลาม

อัลลอฮฺเท่านั้นผู้ทรงรู้ดียิ่ง
………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก www.witness-pioneer.net
#อีดอัฎฮา#ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนักงานปัตตานี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *