“10 สารเคมีอาหารในรูป E-number และ INS ที่ผู้บริโภคฮาลาลควรรู้จัก”

E-number และ INS (International Numbering System) เป็นระบบที่ใช้กำหนดรหัสของวัตถุเจือปนอาหารเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และชะลอการเน่าเสียของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ยังถูกเติมเข้าไปเพื่อช่วยในกระบวนผลิต ทำหน้าที่เป็น อีมัลซิไฟเออร์ สารช่วยเพิ่มปริมาตรให้ผลิตภัณฑ์ เป็นสารกันบูด และปรับปรุงคุณภาพอาหารในแง่ของสี รสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารอีกด้วย

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2527) และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2532) ให้นิยามวัตถุเจือปนอาหารไว้ว่า “วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ก็ตามแต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อ ประโยชน์ในทางเทคโนโลยีในการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่งซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร และให้หมายความรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร แต่ใช้รวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย”

ผู้บริโภคมุสลิมควรรู้จักบรรดา E-number ที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ E-number หรือ INS ที่มีตัวเลขดังต่อไปนี้หากพบเห็นบนฉลากอาหาร ควรหลีกเลี่ยงหรือหาสารทดแทนหรือหาชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยดังตัวอย่างต่อไปนี้

E120 – สีแดงจากแมลงโคชิเนียล นิยมใช้สร้างสีแดงในอาหารหลายชนิด สกัดมาจากแมลงโคชิเนียลได้จากประเทศแถบอเมริกาใต้ สีประเภทนี้องค์กรศาสนาอิสลามบางประเทศเช่น อินโดนีเซีย ให้การรับรองฮาลาล บางประเทศไม่ให้การรับรอง เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยกว่า

E153 – สีดำจากคาร์บอนหรือ Carbon black ส่วนใหญ่ทำจากกระดูกสัตว์ อาจพบได้กรณีที่มาจากถ่านไม้ซึ่งจะแจ้งไว้ ควรระวังกันหน่อย มีบางชนิดได้รับการรับรองฮาลาล

E422 – กลีเซอรอล ได้มาจากน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ คอยดูแลกันไว้บ้าง หากมาจากไขมันสัตว์อาจมาจากไขมันวัวที่อาจไม่เชือดตามหลักการอิสลามหรืออาจมาจากไขมันหมู ดูชนิดที่มีการรับรองฮาลาล

E441 – เจลาติน ส่วนใหญ่ได้จากสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังหมู บางชนิดได้มาจากกระดูกวัว หรือจากหนังปลา ปัจจุบันเริ่มมีเจลาตินฮาลาลเข้ามาทดแทนมากขึ้น เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาล อาจใช้ E407 หรือคาราจีแนนจากสาหร่ายทดแทน หากเห็น E407 แสดงว่ามีการใช้แทน E441

E470a, E470b – เกลือที่ใช้เป็นสารป้องกันการรวมตัวเป็นก้อน anti caking agent มักได้มาจากไขมันสัตว์ แต่อาจมาจากไขมันพืชก็ได้เช่นกัน ตรวจดูที่การรับรองฮาลาล

E471 – โมโนหรือไดกลีเซอไรด์ เตรียมมาจากไขมันซึ่งอาจเป็นไขมันสัตว์ เช่น วัว หมู คอยตรวจสอบด้วย พักหลังมีการใช้ไขมันพืชประเภทปาล์มมากขึ้น

E472a-f – เกลือที่ได้มาจาก E471 อาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืชก็ได้ ควรตรวจสอบจากการรับรองฮาลาล

E473-E479 – เกลือเตรียมได้จากกรดไขมันซึ่งอาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืช ควรตรวจสอบการรับรองฮาลาล

E542 – เกลือฟอสเฟต มักได้จากกระดูกสัตว์

E635 – ไดโซเดียม 5 ไรโบนิวคลิโอไทด์ สารเพิ่มรสชาติมักผลิตจากสัตว์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ H numbers เพื่อทดแทน E numbers อยากรู้ว่าสารตัวไหนใช้ได้หรือไม่ได้ให้ดูจาก แอปพลิเคชัน H numbers หรือเว็ปไซต์ https://h4e.halalthai.com/
……………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี

ที่มา :
https://www.facebook.com/…/a.14832560653…/1690781201229850/…
https://www.facebook.com/…/a.20208291647…/1019523968067614/…
http://www.halalinfo.ifrpd.ku.ac.th/…/144-halal-news-intere…

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *