8 เทคนิค สู่ความสำเร็จในการทำ “ธุรกิจฮาลาล”

BIHAPS WEEKLY ep.4

กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน นอกจากจะทำให้เรารับรู้ข่าวสารในโลกได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้คนเราสามารถเห็นความสำเร็จมากมายของคนในสังคม ทั้งความสำเร็จในชีวิต ครอบครัว สังคม รวมไปถึงการประกอบธุรกิจ ความสำเร็จทางธุรกิจนอกจากจะมอบทรัพย์สินเงินทองมากมายให้แก่ผู้เป็นเจ้าของแล้ว บางธุรกิจยังสามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้อีกด้วย หลายๆท่าน คงกำลังคิดอยากจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เพื่อที่จะสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง ชุมชน สังคมอาศัยอยู่ ในความเป็นจริงการที่เราจะประสบความสำเร็จในธุรกิจนั้นมันง่ายอย่างที่พบเจอหรือเปล่า? คำตอบนั้นไม่มีสูตรสำเร็จขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆอย่าง อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษารวบรวมข้อมูล ตัวอย่าง “ธุรกิจฮาลาล” ที่ประสบความสำเร็จ ว่ามีลักษณะการดำเนินงานที่คล้ายๆกันดังนี้

1.การตั้งเรื่องของผลกำไรเป็นเป้าหมายรอง
การตั้งเป้าหมายที่ผลกำไรนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ควรจัดลำดับของเป้าหมายตามความสำคัญ โดยคำนึงถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และคอยตรวจสอบการทำธุรกิจให้เป็นไปในแนวทางของอิสลาม สร้างความเชื่อมั่นและมอบสิ่งดีๆให้แก่ผู้บริโภค อินชาอัลลอฮ ธุรกิจของเราจะเติบโตได้อย่างมั่นคง

2.ความซื่อสัตย์และความยุติธรรม
ความซื่อสัตย์และความยุติธรรมต่อผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำธุรกิจ และยิ่งเมื่อเป็นธุรกิจที่ผู้ดำเนินกิจการเป็นมุสลิมแล้ว จะต้องเพิ่มความรับผิดชอบมากขึ้น เพราะตามหลักอิสลามผู้บริโภคจะต้องได้รับการคุ้มครองจากการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม

3.ความสะอาด
ความสะอาดนั้นส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคโดยตรงดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ท่านจะต้องให้ความสำคัญกับความสะอาด ไม่เพียงในบริเวณที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเท่านั้น ยังต้องรวมไปถึงอุปกรณ์ บริเวณจัดเก็บวัตถุดิบ และส่วนต่างๆที่อาจส่งผลต่อสินค้าและบริการ

4.การกำหนดเป้าหมาย
ในการทำธุรกิจเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ เราควรกำหนดเป้าหมาย (เนียต) ให้ชัดเจนเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจ และหมั่นทำการตรวจสอบความเป็นไปเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “แท้จริง การงานนั้น ตั้งอยู่บนการเจตนา และ ทุกกิจการงาน ขึ้นอยู่กับการเนียต” (บันทึกโดย บุคครีย์)

5.การทำงานร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ
การทำงานร่วมกันกับคู่ค้าทางธุรกิจและซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยังเป็นการสร้างสังคมที่ดีของนักธุรกิจ ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ที่ดีในที่นี้นอกจากจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลต่อตัวของผู้ประกอบการเองด้วย

6.การสร้างมาตรฐานและการรับรอง
มุสลิมให้ความสำคัญกับการบริโภคสินค้าและบริการที่ฮาลาล ดังนั้นการเตรียมความพร้อมให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของตนเอง ให้สามารถตรวจสอบพิจารณาสภาพฮาลาลของสินค้าและบริการตามข้อกำหนดด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค (ผู้บริโภคนั้นมีสิทธิในการรับรู้ถึงที่มาของวัตถุดิบ รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อ)

7.ความมุ่งมั่น /การทำงานหนัก
ความมุ่งมั่นและการทำงานอย่างหนักไม่เพียงแต่เป็นซุนนะห์ (แนวทางปฏิบัติตามแบบอย่างท่านศาสดา) การทำงานอย่างหนักถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ความสม่ำเสมอในการทำงานจะทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆได้

8.ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งหะรอม
อย่าให้ธุรกิจของท่านยุ่งเกี่ยวกับสิ่งหะรอม (สิ่งต้องห้าม) ตามหลักอิสลาม เพราะมันจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภครวมไปถึงกิจการของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะสิ่งที่อิสลามกำหนดให้เป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) นั้นเป็นสิ่งที่อันตรายต่อมนุษย์ทุกคน

สุดท้ายนี้อยากให้ผู้อ่านลองสำรวจกิจการของตัวเองเบื้องต้นจากบทความนี้ดูครับ ว่ากิจการหรือธุรกิจของท่านตอนนี้มีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุงเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะการประกอบธุรกิจนั้นถือเป็นฟัรดูกีฟายะห์ (ข้อบังคับที่คนใดคนหนึ่งในชุมชนมุสลิมต้องปฏิบัติ) อีกทั้งธุรกิจยังเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังท่านศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดที่ปลดเปลื้องทุกข์ใดๆ ของผู้ศรัทธาคนหนึ่งจากความทุกข์ยากในโลกดุนยา อัลลอฮฺจะปลดเปลื้องหนึ่งความทุกข์ให้กับเขาจากความทุกข์ยากทั้งหลายในอาคิเราะฮฺ และผู้ใดที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ลำบาก อัลลอฮฺจะทรงทำให้เขาพบความสะดวกง่ายดายในดุนยาและอาคิเราะฮฺ” (มุสลิม)

ติดตามบทความดีๆ ได้ทุกสัปดาห์กับ BIHAPS WEEKLY สัปดาห์หน้าเรามีอะไรดีๆมานำเสนอ พบกันในเพจ Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) ก่อนจะลากันไปในสัปดาห์นี้ ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จกับชีวิต ธุรกิจหรือกิจการต่างๆที่ดำเนินอยู่ และเป็นที่พึงพอใจของพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) วัสลาม

บทความโดย
อมีน มะหมัด
ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)

#BIHAPSWEEKLY #BIHAPS #HSCPN

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *