ไอศกรีม อาจมีเจลาตินจากหมูเป็นส่วนประกอบ ตรวจสอบรายละเอีดยอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจซื้อ

ในกระบวนการผลิตไอศกรีม เจลาตินถูกนำมาใช้เพื่อทำหน้าที่เป็นสารให้ความคงตัวแก่ผลิตภัณฑ์ การมีอยู่ของเจลาตินนั้นสร้างความมั่นใจได้ว่า ไอศกรีมจะไม่แข็งจนเกินไปหากมันถูกเก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และก็บในระยะเวลาที่ยาวนานหรือจะไม่หลอมละลายได้โดยง่าย ไอศกรีมชนิด บลูม 200 และชนิดที่สูงกว่า ช่วยให้ไอศกรีมมีเนื้อสัมผัสที่นิ่มและละลายในปากอย่างนุ่มนวล เจลาตินยังไปขัดขวางการเติบโตของผลึกน้ำแข็งในระหว่างช่วงระยะเวลาการบ่ม และคุณสมบัติการเกิดฟองของเจลาตินยังเป็นตัวช่วยในขั้นตอนของการผสมวัตถุดิบด้วย

     เจลตินยังช่วยในการกระจายตัวของสารเติมแต่งและกลิ่นรสให้เข้ากันทุกจุดในตัวของไอศกรีม บลูมเจลาตินขนาดกลางและขนาดสูงนั้นได้นำมาใช้เพื่อให้ได้คุณสมบัติข้างต้นดังที่กล่าวมา เจลาตินยังคงรักษาความหนืดของไอศกรีมให้ต่ำลงอีกด้วย

………………………………………………

ที่มา หนังสิอ HALAL HARAM สมาคมผู้บริโภคมุสลิม
เพิ่มเติม

http://maansajjaja.blogspot.com/2009/02/blog-post.html

สารโซเดียมอิโนซิเอตในผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแผ่น

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Directory HAL-Q 2009

เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 นี้เอง บริษัทผลิตมันฝรั่งแผ่น (Potato chip) ในประเทศปากีสถานส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบมาให้ ผู้จัดส่งแจ้งว่าเกิดข่าวลือในปากีสถานทำนองว่าผลิตภัณฑ์นี้หะรอมแต่ไม่มีใครทราบว่าหะรอมจากสาเหตุใด เป็นข่าวลือที่ทำให้ทางบริษัทเสียหายมาก

            จากการตรวจสอบทั้งทางเอกสารและการใช้เทคนิคทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ ท้ายที่สุดพบประเด็นปัญหามาจากสารโซเดียมอิโนซิเอต (Na-Inosiate) ที่เป็นสารเพิ่มรสชาติ(Tast enhancer) แก่ผงชูรสหรือ MSG สารโซเดียมอิโนซิเอตที่ว่านี้ผลิตขึ้นจากมันสำปะหลัง โดยในกระบวนการผลิตมีการใช้เอนไซม์จากแบคทีเรียบางชนิด

           ประเด็นปัญหาคือ การเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่ว่านี้ มีการใช้น้ำเลี้ยงเชื้อที่ผลิตจากน้ำตาลโดยมีการนำไขมันเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานแก่แบคทีเรีย ไขมันที่ว่านี้คือไขมันหมู

ประเด็นปัญหานี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2543 ในประเทศอินโดนีเซียครั้งนั้นเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ผงชูรส ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการใช้วัตถุดิบประเภทเดียวกัน และมีการใช้น้ำเลี้ยงเชื้อที่เรียกว่า Bactosoytone ที่มีไขมันหมูเป็นองค์ประกอบ

         การผลิตเอนไซม์เกิดขึ้นในโรงงานหนึ่ง ขณะที่การผลิตผงชูรสเกิดขึ้นอีกโรงงานหนึ่ง เป็นความซับซ้อนในกระบวนการผลิตยุคปัจจุบัน ซึ่งครั้งนี้เกิดประเด็นอีกครั้งในประเทศปากีสถาน โดยทางโรงงานยืนยันว่าวัตถุดิบโซเดียมอิโนซิเอตมาจากประเทศไทยซึ่งผลิตจากหลายโรงงาน กระทั่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากตรวจสอบไม่ได้ว่ามาจากจังหวัดใด

กรณีเอนไซม์จากเลือดในผลิตภัณฑ์ซูริมิ

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Directory HAL-Q 2009

ซูริมิ (Surimi) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อปลาทะเลบดนำมาผ่านกระบวนการล้างเพื่อแยกเอาส่วนของไขมันและองค์ประกอบอื่นๆออก เหลือเฉพาะโปรตีนไมโครไฟบริล (Microfibrillar Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำในเนื้อปลามีคุณสมบัติในการเกิดเจลที่มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะเป็นผงสีขาว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหลายชนิด เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ปูอัด และผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์หลายชนิด

   ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่นำเทคโนโลยีการผลิตซูริมิจากญี่ปุ่นมาใช้ มีโรงงานผลิซูริมิหลายแห่ง หลายโรงงานมิได้ผลิตซูริมิแต่นำเอาซูริมิมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาลได้รับตัวอย่างซูริมิจากหลายโรงงานมาทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบประเด็นปัญหา

จากการตรวจสอบเอกสารพบว่าในกระบวนการผลิตซูริมิของโรงงานบางแห่ง เคยมีรายงานการใช้เอนไซม์บางชนิดที่ผลิตได้จากเลือดสัตว์ที่จัดเป็นนญิส (สิ่งสกปรกตามหลักการศาสนาอิสลาม) ในกรณีโรงงานผลิตซูริมิในประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ยังตรวจไม่พบการใช้เอนไซม์ดังกล่าว แต่ได้แจ้งไปยังโรงงานผลิตซูริมิให้ระวังประเด็นปัญหาดังกล่าว 

วัตถุดิบ สารเคมีและสิ่งฮาลาล-หะรอมที่ควรรู้จัก

รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  ปัจจุบันมีวัตถุดิบนับพันชนิด  สารเคมีนับหมื่นชนิด  ได้มาจากแหล่งต่างๆ  เมื่ออิสลามกำหนดให้อาหารบางอย่างหะรอมหรือไม่เป็นที่อนุมัติ  ย่อมหมายความว่าอนุพันธ์หรือสิ่งอื่นที่ผลิตขึ้นจากสิ่งที่หะรอมย่อมไม่เป็นที่อนุมัติด้วยเช่นเดียวกัน 

          อย่างไรก็ตาม  เมื่อเทคโนโลยีการผลิตอาหารและการผลิตสารเคมีเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารพัฒนามากขึ้น  สารที่ผลิตขึ้นใหม่มีลักษณะตลอดจนชื่อเรียกเปลี่ยนแปลงไปจนคนทั่วไปไม่สามารถบอกได้ว่าสารเหล่านั้นมีต้นตอมาจากวัตถุดิบใด ดังนั้นจึงมีอยู่บ่อยครั้งที่สิ่งหะรอมถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลด้วยความเข้าใจผิด 

         คณะทำงานเฉพาะกิจอาเซียนว่าด้วยการวางแนวทางอาหารฮาลาล  หรือที่เรียกกันว่าคณะกรรมการมาตรฐานฮาลาลอาเซียนจึงได้กำหนดนโยบายที่จะรวบรวมรายชื่อสารเคมีเจือปนอาหารไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อความสะดวกต่อคณะกรรมการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลของประเทศสมาชิก  อย่างไรก็ตาม  งานดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ

เนื้อหาในส่วนนี้จะกล่าวถึงสารเคมีและวัตถุดิบชนิดต่างๆที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลควรรู้จักและระมัดระวัง  โดยจัดเรียงตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษเป็นหลัก  เนื่องจากสารเคมีเหล่านั้นมักมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษ  ในเนื้อหานี้จะหลีกเลี่ยงการที่จะระบุว่าสิ่งนั้นๆหะรอม  เนื่องจากงานการตีความดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของผู้รู้ทางศาสนา(ที่มีข้อมูลในการพิจารณาอย่างเพียง) ผู้เขียนไม่มีหน้าที่ในกิจการดังกล่าว  นอกเสียจากว่าสิ่งนั้นๆหะรอมตามบทบัญญัติอย่างชัดเจน เช่น มีส่วนผสมของสุกรหรือเลือด 

      มีผลิตภัณฑ์มากมายที่มีองค์ประกอบที่ไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นปัญหา  อิสลามเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า มัซบูห์(Musbooh) หมายถึง สิ่งที่น่าเคลือบแคลง สิ่งที่น่าสงสัย(คำนาม)  หรือเรียกว่า ซุบฮัต(Subahat) สิ่งที่น่าเคลือบแคลงสงสัย(คำวิเศษณ์)  ตามหลักการอิสลาม  หากพบสิ่งใดน่าเคลือบแคลงหรือไม่มั่นใจ  อิสลามให้หลีกเลี่ยงหรือทำการตรวจสอบจนกว่าจะแน่ใจได้ว่าสิ่งนั้นฮาลาลจึงจะให้ใช้ประโยชน์ได้  หากไม่สามารถตรวจสอบได้ให้ยกเลิกการใช้

มิรินหรือไวน์หวานในผลิตภัณฑ์อาหารทะเล

มิริน (mirin)มิริน หรือ ไวน์หวาน หรืออาจเรียกว่า ไวน์ข้าว ที่ใช้เป็นเครื่องปรุงในอาหารญี่ปุ่น โดยการนำข้าวเหนียวมานึ่ง เติมยีสและเหล้าญี่ปุ่น หมักจนได้เป็นมิริน มีสีใสออกสีทองนิดๆ ข้นเหนียวเล็กน้อย และมีรสหวาน

ประวัติความเป็นมา  มีการกล่าวกันว่าเริ่มต้นหมักใช้กันมากว่า 400 ปี โดยช่วงเริ่มแรกนั้นมิรินเริ่ม ใช้เป็นเครื่องดื่มจนกระทั่งผลิตมาเป็นเครื่องปรุงอาหาร มิรินจึงเป็นตัวที่ทำให้เนื้อสัตว์นุ่มขึ้น และให้ความหวานที่กลมกล่อมแก่อาหาร

ชนิดต่างๆของมิริน มิรินแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ HON มิรินและ SHIN มิริน โดยทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันที่ปริมาณแอลกอฮอล์ โดย HON มิรินมีเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ประมาณ 14 % สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายสุราทั่วไป หรือตามห้างสรรพสินค้า ส่วนSHIN มิริน มีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยมาก ประมาณ 1 % แต่เป็นตัวที่ให้กลิ่นรสที่ดีกว่า HON มิริน โดยทั่วไป SHIN มิริน จะใช้ในการปรุงอาหารอื่นๆ

มิรินเป็นตัวที่ให้ความหวานที่แตกต่างจากน้ำตาล มันเป็นเครื่องปรุงที่ดีกว่า ที่ให้รสหวานเบาๆ สำหรับปรุงในอาหารญี่ปุ่น และมิรินยังเป็นเครื่องปรุงอาหารที่เติมลงไปแล้วให้ความมันเงา และกลิ่นรสที่ดี มันเป็นกุญแจสำคัญใน ผลิตภัณฑ์ซอสเทอริยากิ (Teriyaki Sauce) และยังให้ผลดีในการกลบกลิ่นคาวปลา บางครั้งก็ใช้ในส่วนประกอบของ ซูชิ (Shushi) ใช้กลบกลิ่นคาวปลา มิรินจึงนำมาใช้บ่อยในอาหารจำพวกซีฟูดส์ (Sea foods)

ในหนังสือ ซูริมิ : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อบด  โดย ศ.ดร.สุทธวัฒน์  เบญจกุล  อาจารย์ภาควิชา เทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซูริมิ(ซูริมิ (surimi) เป็นภาษาญี่ปุ่นที่ใช้เรียกเนื้อปลาบดที่ผ่านการล้างดวยน้ำ แล้วเติมสารที่ช่วยป้องกันการสูญเสียสภาพธรรมชาติของโปรตีน เช่น น้ำตาล หรือ ซอร์บิทอล นอกจากนี้อาจมีการเติมสารประกอบฟอสเฟตก่อนนำไปแช่แข็ง) ในประเทศญี่ปุ่น ขั้นตอนและวิธีการนำซูริมิ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น Kamaboko, Chikuwa(หมึกหลอด),  Satsuma-age(ทอดมันปลา), ปูเทียมหรือปูอัด, ไส้กรอกปลาและแฮมปลา

 ซึ่งพบว่าในกระบวนการมีการเติมเหล้ามิรินและสาเก แต่เมื่อนำผลิตภัณฑ์นั้นไปตรวจด้วยเครื่องตรวจหาปริมาณเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ก็จะไม่เจอ เนื่องจากมันได้ระเหยหายไปในกระบวนการการผลิต หรืออาจจะมีน้อยมาก ฉะนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่เราจะต้องสังเกตตราเครื่องหมายรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการอิสลาม ก่อนการบริโภค

จากหนังสือ ซูริมิ : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อบด  โดย ศ.ดร.สุทธวัฒน์  เบญจกุล 

ส่วนประกอบ ปูเทียมหรือปูอัด
ซูริมิ            100           กรัม
เกลือ           25             กรัม
น้ำผสมน้ำแข็ง         100-150    กรัม
น้ำตาล (ซูโครส)                 50-70       กรัม
แป้งมันฝรั่ง                        50            กรัม
โมโนโซเดียมกลูตาเมต    5              กรัม
ไรโบไทด์                        0.1           กรัม
ไกลซีน                          3             กรัม
โซเดียมซักซิเนต                0.3           กรัม
มิริน                          20-30       กรัม
ผงสกัดปู                           10-20        กรัม
กลิ่นปู                             3              กรัม

………………………………………………….

http://en.wikipedia.org/wiki/Sake
http://japanesefood.about.com/od/saucecondiment/p/mirinprofile.htm

www.wisegeek.com/what is mirin.html

สุทธวัฒน์ เบญจกุล. ซูริมิ :วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อปลาบด.—กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์,2549


“พอสมควร” จริยธรรมการกินแบบอิสลาม

รศ.ดร วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารประกอบการอบรม “โครงการการพัฒนาผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเกี่ยวกับมาตรฐานฮาลาล”

จริยธรรมอิสลามสอนให้ผู้ศรัทธามีความมัธยัธถ์  ไม่ฟุ่มเฟือย ตลอดจนเดินสายกลางสำหรับการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมรวมถึงในเรื่องของการกินด้วย  ตลอดชีวิตของท่านศาสดา  ท่านได้วางรูปแบบจริยธรรมหลายหลาก  รวมถึงจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการกินของท่านศาสดาได้รับการบันทึกไว้โดยสาวกหลายต่อหลายคน  ผู้เขียนนำเอาแบบอย่างเหล่านี้มาร้อยเรียงเป็นถ้อยคำง่ายๆ ได้คำที่เหมาะสม คำหนึ่ง คือ “พอสมควร”  อันเป็นคำที่อธิบายจริยธรรมการกินแบบอิสลามพอสมควรไม่สุดโด่งเกินไปเสมอ คำว่า “พอสมควร” จึงหมายถึงความไม่ฟุ่มเฟือย (ในภาษาอาหรับคือคำว่า “มะนิสตะเตาะห์ตุม”)  ซึ่งเป็นหลักการสำหรับด้านจริยธรรมการกินการอยู่แบบอิสลาม คำว่า “พอสมควร” หรือ พ-อ-ส-ม-ค-ว-ร ของผู้เขียนสามารถถอดความได้ดังนี้

                พ – หมายถึง “พรอันประเสริฐ” หรือการขอพร (ภาษาอาหรับใช้คำว่า “ดุอาห์” หรือ Du’a) อิสลามสอนให้ผู้ศรัทธาขอพรต่ออัลลอฮ์ (ซุบห์ฯ) ก่อนและหลังการกระทำกิจกรรมทุกกิจกรรม  เป็นต้นว่าเมื่อเริ่มรับประทานอาหาร มุสลิมจะกล่าวคำว่า “บิสมิลลาฮิลเราะห์ฮีม”  อันมีความหมายว่าด้วยพระนามของอัลลอฮ์ (ซุบห์ฯ)  ที่ทรงประทานอาหารมาให้ตลอดจน ทำให้ผู้ศรัทธาดำรงตนอยู่ในความเป็นมุสลิม

                อ – หมายถึง “อนามัย” อันได้ความสะอาดและอนามัยในส่วนอื่นๆ จากข้อมูลด้านจริยวัตรของท่านศาสดาที่เกี่ยวข้องกับการ รับประทานอาหารท่านศาสดาล้างมือด้วยน้ำก่อนลงมือรับประทานอาหารเสมอ  ท่านใช้มือขวาในการหยิบจับอาหาร และแปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร อิสลามเน้นในเรื่องความสะอาดดังที่มีบทบัญญัติว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงโปรดผู้ที่สำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวและผู้ที่ทำตนให้สะอาด” 

(อัลกุรอ่าน 2 : 222)  ท่านศาสดามีวจนะไว้ว่า “ความสะอาดในระหว่างการรับประทานอาหาร การทำละหมาดและการทำกิจกรรมอื่น  เหตุนี้เองที่ทำให้หลักเกณฑ์การเตรียมอาหารเพื่อมุสลิมเข้มงวดในเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญ

                ส – หมายถึง “สงเคราะห์”  จริยธรรมอิสลามสอนให้มุสลิมสงเคราะห์แก่ผู้อื่น ในกรณีของอาหารมุสลิมจำเป็นต้องแบ่งปันหรือสงเคราะห์อาหารแก่ผู้อื่นที่ขาดแคลน  ดังมีวจนะของท่านศาสดาว่า “อาหารสำหรับหนึ่งคนเพียงพอสำหรับสองคน อาหารสำหรับสองคนเพียงพอสำหรับสี่คน และอาหารสำหรับสี่คนเพียงพอสำหรับคนแปดคน”  มีความหมายว่าให้แบ่งปันอาหารของตนเองแก่ผู้อื่น  และอาหารที่แบ่งปันให้แก่ผู้อื่นนั้นจำเป็นต้องมีคุณภาพที่เท่าเทียมกับอาหารที่ตนเองรับประทาน  ท่านศาสดามีจริยวัตรว่าเมื่อมีการทำบุญเลี้ยงอาหารแก่แขกท่านจะคำนึงถึงเพื่อนบ้านหิวโหย  ในกรณีของการเป็นเจ้าของบ้านหรือเจ้าของงานท่านศาสดาสอนให้มุสลิมสงเคราะห์บริการอาหารแก่แขก  เจ้าของบ้านเริ่มการรับประทานอาหารก่อนแขกและหยุดรับประทานอาหารภายหลังแขกเสมอ

                ม – หมายถึง  “เหมาะสม”  หรือความพอเหมาะสม อิสลามสอนให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติตนอยู่ในทางสายกลาง ครั้งหนึ่งท่านศาสดาเคยขอร้องให้สาวก  ซึ่งถือศีลอดอย่างยาวนานให้ละเว้นการถือศีลอด แต่ให้กลับไปดำรงตนเป็นพ่อบ้านซึ่งต้องดูแลครอบครัว อิสลามไม่ปรารถนาให้ผู้ศรัทธาดำรงตนอยู่ในหลักการใดหลักการหนึ่งในศาสนาจนเกินความพอดี  จริยธรรมการกินของอิสลามจึงให้คำนึงถึงความพอเหมาะพอสมเป็นสำคัญไม่ดำรงตนไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป

                ค – หมายถึงการ “ควบคุม”  อิสลามแนะนำให้ควบคุมโดยรับประทานอาหารแต่น้อยไม่มากจนเกินไป ท่านศาสดาหยุดการรับประทานอาหารก่อนอิ่มเสมอ ท่านแนะนำให้รับประทานอาหารเพียงหนึ่งในสามของกระเพาะโดยแบ่งกระเพาะอาหารเป็นสามส่วน ให้รับประทานอาหารหนึ่งส่วน ดื่มน้ำหนึ่งส่วนและส่วนที่เหลือคิดปล่อยไว้เป็นช่องว่างเพื่อให้เป็นช่องสำหรับการหายใจ มีวจนะของท่านศาสดากล่าวว่า ปฏิเสธกินอาหารด้วยเจ็ดลำไส้ ขณะที่มุสลิมกินด้วยหนึ่งลำไส้ จริยธรรมการกินแบบอิสลามจึงเป็นการกินแต่น้อย ดูแลปริมาณอาหารมิให้รับประทานมากจนเกินไป ท่านศาสดากล่าวว่า “การกินน้อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น”

                ว – หมายถึง “วิรัต” ซึ่งแปลได้ใจความว่าการงดเว้นทางด้านจริยธรรมการกิน อิสลามมีบัญญัติให้งดเว้นในสองส่วน ประการแรกคืองดเว้นการรับประทานอาหารหะรอมหรืออาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสิ่งต้องห้าม ไม่อนุมัติในอิสลาม ได้แก่ เนื้อสุกร เลือด สัตว์อนุมัติที่ไม่ผ่านการเชือดตามบัญญัติอิสลาม เหล้า ของมึนเมา ฯลฯ ประการที่สองคืองดเว้นการกิน การดื่ม และอารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งปวงในช่วยการถือศีลอดอาหารหนึ่งเดือนในช่วงเดือนเราะมะดอน จึงเป็นหนึ่งในจริยธรรมการกินแบบอิสลามโดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อการมีสุขภาพที่ดี เป็นปรับระบบการย่อยอาหารซึ่งท่านศาสดาได้มีวจนะไว้ว่า “แท้จริง (ประโยชน์อย่างหนึ่ง) การถือศีลอดนั้นเพื่อการมีสุขภาพที่ดี” วิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันได้ยอมรับวิธีการรักษาสุขภาพด้วยการอดอาหารตามแบบอย่างอิสลาม

                ร – หมายถึง “ร่วมกัน” จริยธรรมอิสลามสอนให้มุสลิมทำกิจกรรม  ซึ่งรวมถึงการรับประทานอาหารด้วย อิสลามแนะนำให้มุสลิมในครอบครัวเดียวกันรับประทานอาหารร่วมกัน ดังเช่น การรับประทานอาหารในช่วงเดือนถือศีลอด  ท่านศาสดาเคยมีวจนะไว้ว่า “จงกินอาหารร่วมกันอย่าให้แยกจากกัน แท้จริงการขอพระนั้นมีผลมากขึ้นเมื่อมีผู้อื่นร่วมด้วยเสมอ” การร่วมกันนี้เป็นหนึ่งในสามประการที่ศาสตราจารย์ Alexander Leif แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยแล้วพบว่าเป็นเคล็ดลับหนึ่งในสามประการโดยร่วมกับ 1) การรับประทานอาหารน้อยและ 2) การใช้พลังงานสม่ำเสมอทำให้มีอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพเกินกว่าร้อยปี

ความยุ่งยากซับซ้อนของวัตถุดิบที่พบในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสมัยใหม่

รศ.ดร. วินัย ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Directory HAL-Q 2009

                อิสลามเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตมากกว่าที่จะเป็นศาสนาตามนิยมที่เคยเข้าใจกัน อิสลามแตกต่างจากหลายศาสนาตรงที่มิได้แยกแยกศาสนาออกจากกิจกรรมอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งในอิสลามแล้ว ยังเป็นศาสตร์ที่ถูกพัฒนาจนกระทั่งเคยก้าวหน้าอย่างมากในโลกอิสลามต่างหาก

                บ่อยครั้งที่คัมภีร์อัลกุรอานและอัลหะดิษ (คำพูดของท่านนบีมูฮัมหมัด ซ.ล.) กล่าวถึงเรื่องราวต่างๆในเชิงเหตุผล ทั้งยังแนะนำให้ผู้ศรัทธาใช้สติปัญญาในการแยกแยะ สิ่งนี้ตีความได้ว่าอิสลามสนับสนุนให้เกิดกระบวนการตรวจสอบ ซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแนวทางหนึ่งของการใช้ปัญญาที่ว่านี้ ตัวอย่างในเรื่องที่ปรากฏอยู่ในอัลหะดิษ

                สิ่งอนุมัติทั้งหลาย(หะล้าล)นั้นชัดเจน สิ่งต้องห้าม(หะรอม)ก็ชัดเจน และสิ่งที่อยู่ระหว่างนั้นคือสิ่งคลุมเครือ(มัสบูฮ์)ที่มนุษย์ส่วนมากนั้นไม่ทราบ ใครที่ระวังเท่ากับเขาได้ปกป้องศาสนาและเกียรติของเขา ในขณะที่ใครเข้าไปเกี่ยวข้องเท่ากับเขาได้เข้าไปในสิ่งต้องห้าม…(อัลหะดิษ รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม)

                ตัวอย่างตามหะดิษบทนี้มีให้เห็นตามอุตสาหกรรมอาหารยุคปัจจุบัน สิ่งอนุมัติและสิ่งต้องห้ามชัดเจนอยู่แล้ว ปัญหาอยู่ตรงที่สิ่งคลุมเครือ อันได้แก่สารต่างๆที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่มีอยู่ดาษดื่น สารเหล่านี้มีอยู่เป็นจำนวนมากที่แปลสภาพไปจากเดิมจนไม่มีเค้าเดิมหลงเหลืออยู่ สารบางชนิดอาจได้เดินทางนับหมื่นไมล์ก่อนจะกลายเป็นอย่างที่เห็น เป็นต้นว่าเริ่มจากข้าวโพดในอเมริกากลาง แปรรูปในอเมริกาเหนือ ถูกส่งไปสกัดเป็นสารอนุพันธุ์ในยุโรป จากนั้นนำไปผสมสารจากสัตว์ชนิดหนึ่งที่นำมาจากเอเชียตะวันออก นำไปเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารกระป๋องในประเทศไทย ประเด็นที่อาจจะเป็นปัญหาคือองค์กรศาสนาอิสลามทีทำหน้าที่รับรองฮาลาลให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่มีความซับซ้อนเหล่านี้จำเป็นจะต้องสร้างความชัดเจนกับวัตถุดิบเหล่านี้ให้ได้ว่าฮาลาลหรือหะรอม โดยต้องกำหนดความคลุมเครือที่มีอยู่ออกไปให้หมด

                การดำเนินงานขององค์กรศาสนาอิสลามอย่างถูกต้องและระมัดระวังเท่ากับองค์กรนั้นได้ปกป้องอิสลามไว้ แต่หากไม่เป็นไปตามนั้นเท่ากับว่าองค์กรได้ล่วงละเมิดในสิ่งที่อิสลามห้าม การรับรองฮาลาลจึงเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และองค์กรศาสนาอิสลามจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ

                มีตัวอย่างวัตถุดิบที่มีความซับซ้อนที่กลายเป็นประเด็นที่องค์กรศาสนาอิสลามจำต้องให้ความสนใจอยู่หลายประการ “ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้รับตัวอย่างวัตถุดิบที่เป็นประเด็นเหล่านั้นมา เพื่อทำการวิเคราะห์อยู่บ่อยครั้ง วัตถุดิบที่คลุมเครือไม่ทราบแน่ชัดว่าฮาลาลหรือหะรอมเหล่านั้นถูกส่งมาจากองค์กรศาสนาอิสลามบ้าง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบ้างทั้งในประเทศและต่างประเทศบ้าง อันเป็นไปตามหลักการที่อิสลามได้สอนไว้

สูเจ้าจงถามผู้เชี่ยวชาญ หากสูเจ้าไม่รู้ (อัลกุรอาน ซูเราะห์ อัลอัมบิยะห์ 21: 7)

ความรู้ในโลกมีอยู่มากมายเกินกำลังที่คนๆนึง หรือองค์กรๆหนึ่งจะล่วงรู้ได้ทั้งหมด เหตุนี้เองที่อิสลามให้เสาะหาความรู้และเมื่อยังไม่รู้ให้สอบถามผู้รู้ เมื่อเกิดเรื่องราวบางประการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลสามารถเกื้อหนุนได้ ศูนย์จึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้รู้ ตอบคำถามให้แก่ผู้ที่ส่งตัวอย่างวัตถุดิบมาทำการวิเคราะห์ โดยขอยกเฉพาะวัตถุดิบตัวอย่างที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  1. กรณีสารแอลซีสเทอีน (L-Cysteine) ในผลิตภัณฑ์แป้ง

ครั้งหนึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลได้รับตัวอย่างแป้งสาลีมาจากองค์กรศาสนาอิสลามในประเทศมอรีเซียส(Mauritius) ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆในมหาสมุทรอินเดียตังอยู่ใกล้เกาะใหญ่มาดากัสการ์ มีประชากร 1.3 ล้านคนเป็นมุสลิมร้อยละ 18-22 มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าประชากรกลุ่มอื่น สำหรับแป้งสาลีที่ว่านี้นำเข้ามาจากประเทศจีนและกลายเป็นประเด็นปัญหาด้านความคลุมเครือโดยผู้ส่งตัวอย่างมาไม่ทราบว่าอะไรคือปัญหา

ศูนย์ทำการตรวจสอบหลายครั้งโดยได้รับการติดต่อจากองค์กรที่จัดส่งส่งตัวอย่างมาให้แทบตลอดเวลา จากการตรวจสอบทั้งทางเอกสารและทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาล ในที่สุดได้ทราบว่าแป้งสาลีชนิดนี้ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ทำบะหมี่ พิซซ่า และขนมปัง มีการเติมสารแอลซิสเทอีน (L-Cysteine) ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มโมเลกุลที่ยึดเกาะเกี่ยวกันของแป้งช่วยให้นวดแป้งเพื่อตีเป็นแผ่นบางหรือทำเป็นเส้นได้เร็วขึ้นมาก เหมาะแก่การใช้ในอุตสาหกรรม ปัญหาคือสารแลซิสเทอีนที่ว่านี้เป็นสารสกัดจากเส้นผมมนุษย์ ซึ่งเคยเป็นข่าวว่าหญิงจีนในชนบทต้องการหารายได้เล็กๆน้อยๆเลี้ยงดูครอบครัวโดยการไว้ผมยาวและขายเส้นผมนั้นแก่โรงงานสกัดสารซิสเทอีน

เศษส่วนจากมนุษย์นั้นไม่ใช่นญิส (สิ่งสกปรกตามหลักการศาสนาอิสลาม) แต่นักวิชาการศาสนาอิสลามให้นับว่าเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำมาใช้บริโภคเนื่องจากมนุษย์นั้นถูกอัลลอฮ (ซ.บ.) สร้างขึ้นอย่างมีเกียรติ(เรื่องชิ้นส่วนองมนุษย์นั้น ยังมีการมองที่แตกต่างในเรื่องว่าเป็นนญิสหรือไม่ เช่น มัซฮับฮานาฟี เวลาละหมาดคนตาย ต้องละหมาดนอกมัสยิดเพราะถือว่า ศพคนเป็นนญิส ดังนั้นควรพูดเฉพาะประเด็นที่ว่า มนุษย์ถูกสร้างมาอย่างมีเกียรติ ไม่สามารถนำมาบริโภคได้)

2.  กรณีสารโซเดียมอิโนซิเอตในผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแผ่น
เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 นี้เอง บริษัทผลิตมันฝรั่งแผ่น (Potato chip) ในประเทศปากีสถานส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบมาให้ ผู้จัดส่งแจ้งว่าเกิดข่าวลือในปากีสถานทำนองว่าผลิตภัณฑ์นี้หะรอมแต่ไม่มีใครทราบว่าหะรอมจากสาเหตุใด เป็นข่าวลือที่ทำให้ทางบริษัทเสียหายมาก

จากการตรวจสอบทั้งทางเอกสารและการใช้เทคนิคทางห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ ท้ายที่สุดพบประเด็นปัญหามาจากสารโซเดียมอิโนซิเอต (Na-Inosiate) ที่เป็นสารเพิ่มรสชาติ(Tast enhancer) แก่ผงชูรสหรือ MSG สารโซเดียมอิโนซิเอตที่ว่านี้ผลิตขึ้นจากมันสำปะหลัง โดยในกระบวนการผลิตมีการใช้เอนไซม์จากแบคทีเรียบางชนิด ประเด็นปัญหาคือ การเพาะเลี้ยงแบคทีเรียที่ว่านี้ มากรใช้น้ำเลี้ยงเชื้อที่ผลิตจากน้ำตาลโดยมีการนำไขมันเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานแก่แบคทีเรีย ไขมันที่ว่านี้คือไขมันหมู

ประเด็นปัญหานี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2543 ในประเทศอินโดนีเซียครั้งนั้นเกิดปัญหากับผลิตภัณฑ์ผงชูรส ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการใช้วัตถุดิบประเภทเดียวกัน และมีการใช้น้ำเลี้ยงเชื้อที่เรียกว่า Bactosoytone ที่มีไขมันหมูเป็นองค์ประกอบ การผลิตเอนไซม์เกิดขึ้นในโรงงานหนึ่ง ขณะที่การผลิตผงชูรสเกิดขึ้นอีกโรงงานหนึ่ง เป็นความซับซ้อนในกระบวนการผลิตยุคปัจจุบัน ซึ่งครั้งนี้เกิดประเด็นอีกครั้งในประเทศปากีสถาน โดยทางโรงงานยืนยันว่าวัตถุดิบโซเดียมอิโนซิเอตมาจากประเทศไทยซึ่งผลิตจากหลายโรงงาน กระทั่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากตรวจสอบไม่ได้ว่ามาจากจังหวัดใด

3.   กรณีเอนไซม์จากเลือดในผลิตภัณฑ์ซูริมิ
ซูริมิ (Surimi) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อปลาทะเลบดนำมาผ่านกระบวนการล้างเพื่อแยกเอาส่วนของไขมันและองค์ประกอบอื่นๆออก เหลือเฉพาะโปรตีนไมโครไฟบริล (Microfibrillar Protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำในเนื้อปลามีคุณสมบัติในการเกิดเจลที่มีความยืดหยุ่นสูง มีลักษณะเป็นผงสีขาว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหลายชนิด เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ปูอัด และผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์หลายชนิด

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศที่นำเทคโนโลยีการผลิตซูริมิจากญี่ปุ่นมาใช้ มีโรงงานผลิซูริมิหลายแห่ง หลายโรงงานมิได้ผลิตซูริมิแต่นำเอาซูริมิมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ศูนย์วิทยาศาตร์ฮาลาลได้รับตัวอย่างซูริมิจากหลายโรงงานมาทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบเบื้องต้นไม่พบประเด็นปัญหา จากการตรวจสอบเอกสารพบว่าในกระบวนการผลิตซูริมิของโรงงานบางแห่ง เคยมีรายงานการใช้เอนไซม์บางชนิดที่ผลิตได้จากเลือดสัตว์ที่จัดเป็นนญิส (สิ่งสกปรกตามหลักการศาสนาอิสลาม) ในกรณีโรงงานผลิตซูริมิในประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ยังตรวจไม่พบการใช้เอนไซม์ดังกล่าว แต่ได้แจ้งไปยังโรงงานผลิตซูริมิให้ระวังประเด็นปัญหาดังกล่าว

       ยังมีวัตถุดิบที่ผลิตขึ้นมาอย่างซับซ้อนอีกหลายชนิดที่พบในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งองค์กรณ์ศาสนาอิสลามที่ทำการตรวจรับรองฮาลาลจำเป็นต้องให้ความใส่ใจ เนื่องจากวัตถุดิบเหล่านี้เปลี่ยนแปลงสภาพจนไม่เหลือเค้าเดิม บ้างเป็นผง บ้างเป็นผลึก บ้างเป็นของเหลว มีสีบ้าง ไม่มีบ้าง แม้ผู้ตรวจมีประสบการสูงก็ยังยากทีจะตรวจพิสูจน์ด้วยตาตาเปลาได้ วัตถุดิบคลุมเครือหรือมัสบูฮ์เหล่านี้เปรียเสมือนอันตราย (Hazard) ที่จะต้องหาหนทางขจัดออกจากกระบวนการผลิต จำเป็นที่องค์กรศาสนาอิสลามจะต้องมีอาวุธเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้น อาวุธหนึ่งที่องค์กรทางศาสนาอิสลามควรนำมาใช้ประโยชน์คือ ห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่มีบุคลากรที่ประสบการณ์ยาวนาน ดีที่สุดคือนักวิทยาศาสตร์ที่มีส่วนในการวินิจฉัยความถูกต้องของวัตถุดิบเหล่านั้นเป็นมุสลิมที่มีความรู้ความเข้าใจในงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อช่วยนักวิชาการศาสนาอิสลามในการทำหน้าที่ตัดสินสิ่งใดฮาลาล สิ่งใดหะรอม

“….ก็ใครเล่าคือผู้ที่อธรรมยิ่งกว่าผู้ที่ได้อุปโลกน์ความเท็จให้แก่อัลลอฮ์ เพื่อจะทำให้มนุษย์หลงผิด โดยไม่มีความรู้.. แท้จริงอัลลอฮ์นั้นจะไม่ทรงแนะนำกลุ่มชนที่อธรรม” (อัล อันอาม 6:114)

                ความไม่รู้และตัดสินด้วยความไม่รู้ ท้ายที่สุดย่อมหมายถึงการกล่าวเท็จแก่อัลลอฮ (ซ.บ.) ทำให้สิ่งที่ฮาลาลเป็นหะรอมหรือหะรอมเป็นฮาลาล กระทั่งนำสังคมไปสู่ความหลงผิดของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคมุสลิม ผู้ที่ทำเช่นนี้ย่อมไม่ได้รับทางนำ(ฮิดายะห์)จากอัลลอฮฺ

“และพวกเจ้าอย่างกล่าวตามที่ลิ้นของพวกเจ้ากล่าวเท็จขึ้นว่า นี่เป็นที่อนุมัติและนี่เป็นที่ต้องห้าม (โดยไม่มีหลักฐานและพยาน) เพื่อที่พวกเจ้าจะกล่าวเท็จต่ออัลลอฮ์แท้จริงบรรดาผู้กล่าวเท็จต่ออัลลอฮนั้น พวกเขาจะไม่ได้รับความสำเร็จ” (ซูเราะห์ อันนะห์ล 16:116)

สะเต๊ะรถเข็น : จุดเริ่มต้นความอร่อยที่กำลังจะกลายเป็นตำนานคู่เมืองปัตตานี

หากจะมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชั้นในระดับตำนานได้ สิ่งนั้นคงจะต้องเป็นสิ่งสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย ในทำนองเดียวกันกับสินค้าที่กำลังจะเป็นตำนาน แน่นอนว่าสิ่งนั้นต้องมีคุณภาพ มีคุณค่า มีเรื่องราวที่ทำให้คนจดจำ และหากสินค้านั้นเป็นอาหารด้วยแล้ว คุณภาพ คุณค่าและเรื่องราวที่จะทำให้คนโจษขานได้ก็คงต้องเป็นรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ เรื่องราวสูตรเด็ดที่ตกทอด รวมไปถึงคุณภาพที่เต็มปากเต็มคำที่ผู้ตนให้การยอมรับและนึกถึงเสมอเมื่อพูดถึงอาหารจานดังกล่าวและเมื่อรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน อาหารจานนั้นก็มีโอกาสขึ้นชั้นในระดับตำนานได้ต่อไป เรากำลังพูดถึงอาหารเมนูเด็ดเมนูหนึ่งครับที่เป็นที่กล่าวขานถึงอย่างมากในตัวเมืองปัตตานีกับเมนูธรรมดาที่ไม่ธรรมาดกันกับร้านที่ชื่อว่า “สะเต๊ะรถเข็น”

ในช่วงนั้นคุณพงษ์นรินทร์แต่งงานมีครอบครัว โดยทางครอบครัวภรรยาของคุณพงษ์นรินทร์มีร้านอาหารเล็ก ๆคือการขายสะเต๊ะบนรถเข็นริมทางเท้าที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งในช่วงนี้เองคุณพงษ์นรินทร์ก็ยังคงทำงานอยู่ที่เดิมต่อไป ยังไม่ได้เข้ามาช่วยทำกิจการอย่างเต็มตัว คงมีแต่ภรรยาที่ช่วยเหลือกิจการของทางครอบครัวที่ได้สูตรเด็ดตกทอดมาจนถึงรุ่นของคุณแม่ของภรรยา

แต่แล้วในปี 2554 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นเมื่อคุณแม่ของภรรยาผู้ริเริ่มดำเนินธุรกิจขายสะต๊ะริมทางได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งทำให้คุณพงษ์นรินทร์ต้องออกจากงานประจำที่ทำมาช่วยเหลือคุณโซเฟีย เจะและผู้เป็นภรรยามาบริหารร้านสะเต๊ะแทนซึ่งนับว่าเป็นเพียงรุ่นที่ 2 ของกิจการเท่านั้น

สะเต๊ะรถเข็นกับที่มาของชื่อเรียกที่ติดปากลูกค้า

เมื่อได้เข้ามาช่วยเหลือภรรยาในการบริหารร้านสะเต๊ะเต็มตัว คุณพงษ์นรินทร์จึงเริ่มมองเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจจากการเป็นเพียงร้านค้าริมถนน เขาจึงมองหาโอกาสความเป็นไปได้ที่จะย้ายร้านจากข้างทางนี้ให้มีที่ตั้งเป็นหลักเป็นแหล่ง ภาพที่คุณพงษ์นรินทร์เห็นกลุ่มลูกค้าที่เหนียวแน่นมาตั้งแต่รุ่นแม่ และโอกาสในการพัฒนาธุรกิจขายสะเต๊ะให้มีมาตรฐานเป็นที่รู้จักมากขึ้น จึงเกิดแนวคิดเปิดร้านสะเต๊ะในรูปแบบร้านอาหาร โดยชื่อร้านที่ตั้งก็มาจากการเรียกติดปากของลูกค้าว่า “สะเต๊ะรถเข็น” แต่คุณพงษ์นรินทร์ก็ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ ภายหลังจึงมีการเพิ่มเติมเมนูอาหารเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้าไม่ว่าจะเป็น ผัดไทยกุ้งสด หอยทอด  สุกี้ รวมไปจนถึงอาหารตามสั่ง เพื่อให้มีความหลากหลาย เป็นร้านอาหารแบบครบวงจร

รสชาติที่เลื่องลือคือตำนานที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่รุ่นคุณแม่ที่ได้สูตรเด็ดในการทำสะเต๊ะตกทอดมาจากอดีต สะเต๊ะของร้านสะเต๊ะรถเข็นเป็นสะเต๊ะสูตรดั้งเดิมที่ทานคู่กับน้ำจิ้มถั่วรสชาติกลมกล่อม ข้าวอัด และอาจาดรสเปรี้ยวแซ่บ สลัดรอเญาะราดน้ำแกงถั่ว ซึ่งเป็นพระเอกของร้านมาตั้งแต่เมื่อเริ่มก่อตั้ง ตัวเนื้อปิ้งมีความหอมกรุ่น มีรสชาติของสมุนไพรที่เข้มข้นถึงใจ ด้วยรสชาติที่น่าลิ้มลองนี้เองจึงถูกอกถูกใจไม่เพียงแต่เฉพาะคนในพื้นที่แต่ยังรวมไปถึงผู้คนในจังหวัดใกล้เคียงต่างก็ติดใจถึงกับต้องเดินทางมารับประทานถึงร้านเลยทีเดียว

คุณค่าอยู่ที่ความใส่ใจ ไม่เพียงแต่คุณภาพของสินค้า แต่ยังรวมไปถึงภาพลักษณ์ของร้านและความเป็นอยู่ของพนักงาน

เพราะความเอาใจใส่ดูแลไม่เพียงแต่รสชาติและคุณภาพของสินค้าเท่านั้น คุณพงษ์นรินทร์ยังใส่ใจไปจนถึงระบบจัดการร้านไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัตถุดิบที่ต้องตรงตามหลักฮาลาล สถานที่ผลิต หน้าร้าน ความสะอาดและการดูแลพนักงานเป็นอันดับต้น เพราะความเชื่อที่ว่าหากเราดูแลพนักงานได้อย่างดี พนักงานก็จะดูแลลูกค้าให้เราได้อย่างดี
เช่นเดียวกัน

ร้านสะเต๊ะรถเข็นของคุณพงษ์นรินทร์จึงเป็นร้านอาหารที่เหมาะกับลูกค้าทุกเพศ ทุกวัยที่ชื่นชอบอาหารประเภทสะเต๊ะหรือต้องการรับประทานสะเต๊ะเนื้ออร่อย ๆที่มีคุณภาพตามหลักการฮาลาล โดยไม่มีสิ่งเจือปน หรืออาจเป็นของดีในการเสิร์ฟเพื่อขึ้นโต๊ะในการทำบุญและงานเลี้ยงต่าง ๆหรือเหมาะจะไปเป็นของฝากติดไม้ติดมือได้อย่างไม่ขัดเขิน

ไม่หยุดพัฒนาตนเอง มองหาโอกาสต่อยอดสร้างความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้ทางร้านสะเต๊ะรถเข็นจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง แต่ทางคุณพงษ์นรินทร์กลับไม่หยุดการพัฒนาไว้เพียงเท่านี้ คุณพงษ์นรินทร์ได้มีโอกาสเข้าอบรมในโครงการ “Key success  to the best halal franchise” นั่นเองทำให้เป้าหมายต่อไปของร้านสะเต๊ะรถเข็นมองโอกาสในการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไปแล้วกับการมีสาขาของร้านถึง 2 สาขาในปัจจุบัน และมีแนวคิดที่จะขยายสาขาไปยังหัวเมืองเศรษฐกิจต่าง ๆ ในอนาคต

แรงบันดาลใจส่งต่อสำหรับผู้ประกอบการ

สำหรับคุณพงษ์นรินทร์นั้น “การทำธุรกิจก็เหมือนการเล่นกีฬา จุดเริ่มต้นนั้นเหมือนกัน แต่การทำให้ตัวเองไปถึงเส้นชัยนั้นขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละคน”  คือนิยามที่คุณพงษ์นรินทร์ได้ให้ไว้เป็นแรงบันดาลใจครับ การทำธุรกิจสำหรับบางคนที่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ต้องผ่านการล้มลุกคลุกคลานมานับไม่ถ้วน

จุดเริ่มต้นของคนเรานั้นเหมือนกัน แต่ระหว่างทางเป้าหมายอาจต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเจ้าของกิจการต้องสะสมความรู้ประสบการณ์เอาไว้เสมอ อย่าหยุดนิ่ง แล้วท้ายที่สุดความสำเร็จก็จะเป็นของเรา ช่องทางติดต่อ

1. สาขาอ.เมืองปัตตานี น. ร้านตั้งอยู่ เลขที่41 ถนนกะลาพอ ต.จะบังติกอ อ.เมือง จ.ปัตตานีเปิดตั้งแต่ 09.00น. – 20.00

2. สาขาภูเก็ตแอร์พอร์ท ห่างจากสนามบินนานาชาติภูเก็ต มาทาง ต.สาคู ประมาณ 3 กิโลเมตร เปิดบริการ10.00น. – 22.00 น.

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ คุณพงษ์นรินทร์  คานทอง โทร. 086-6872037

#BIHAPSSTORYEP 6

………………………………………………………………………………………………………………..
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล  อำเภอเมืองปัตตานี  จังหวัดปัตตานี  94000
โทร 073-333-604    แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)

#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA

ฮาลาลในแดนมังกร โอกาสและความท้าทายของตลาดสินค้าฮาลาลในสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเทศจีน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน มีประชากรประมาณ 1,400 ล้านคน มีชนชาติต่างๆอยู่รวมกัน 56 ชนชาติ โดยเป็นชาวฮั่น ร้อยละ 93.3 ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีพื้นที่ 9.6 ล้านตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก โดยมีศาสนาอย่าง ลัทธิขงจื้อ เต๋า พุทธ อิสลาม และคริสต์ กระจายกันไป

#ศาสนาอิสลามและจำนวนประชากรมุสลิมในจีน

ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศจีนครั้งแรกเมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-960) ในบันทึกของราชสำนักถังได้ระบุว่า มีคณะทูตอิสลามจากอารเบียเข้ามาถวายบรรณาการยังราชวงศ์ถังครั้งแรกในปี ค.ศ.651 เป็นปีที่ 2 ของรัชสมัยจักรพรรดิหยุงเว่ย พวกเขาเดินทางมาถึงราชสำนักถังในสมัยของคอลีฟะฮฺอุสมาน ( ค.ศ.644-56) ตามความเชื่อของชาวจีนมุสลิมถือว่านั่นคือ ก้าวแรกของศาสนาอิสลามในประเทศจีน ผู้นำคณะทูตดังกล่าวคือ ซาอัด อิบน์ อาบี วักกอส ซึ่งเป็นศอฮาบะห์ (สหาย/ ผู้ติดตามท่านนบีมูฮัมมัด)

ปัจจุบัน จีนมีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 25 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 1.76 ของประชากรจีน ส่วนใหญ่ชาวจีนมุสลิมอาศัยอยู่ในภาคกลางและตะวันตกของจีน อาทิ มณฑลกานซู มณฑลยูนนาน เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน เขตฯ หนิงเซี่ยหุย (Chinese Muslims – Hui) และเขตฯ ซินเจียงอุยกูร์ (Turkic Muslims – Uyghurs) นอกจากนี้ ยังมีชาวจีนมุสลิมกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ต่างๆ อาทิ กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ นครกว่างโจว และเมืองเซินเจิ้น โดยเมืองใหญ่เหล่านี้เป็นตลาดอาหารฮาลาล และเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังหัวเมืองรอง อาทิ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และนครซีอาน มณฑลส่านซี

#ฮาลาลและหน่วยงานรับรองฮาลาลในจีน

อาหารฮาลาลมีขายอย่างแพร่หลายในเกือบทุกเมือง เกือบทุกมณฑลของประเทศจีน โดยสามารถค้นหาร้านอาหาร และผลิตภัณฑ์ฮาลาล หากเป็นร้านอาหารโดยส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารที่ดำเนินการโดยมุสลิมจีน สิ่งที่ทำให้เรารู้ได้ว่าเป็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้นั้น จะมีสัญลักษณ์ฮาลาลหรือมุสลิมทานได้ ที่เขียนด้วยภาษาจีนคำว่า “ 清真” (Qīngzhèn) อ่านว่า คิงเซียง หรือบางร้านมีโลโก้ฮาลาลภาษาอาหรับและเขียนภาษาจีนกำกับ หรือบางร้านเขียนเป็นภาษาอาหรับด้วยคำว่า “طعام المسلمين” ที่หมายถึงอาหารมุสลิม

ตั้งแต่มีนโยบายความเป็นอัตลักษณ์ของจีน ภาษาอาหรับและโลโก้ฮาลาลเริ่มหายไปในบางร้านอาหารหรือบางผลิตภัณฑ์เหลือคงไว้เป็นภาษาจีน “清真” ที่แปะไว้หน้าร้านหรือติดไว้บางมุมบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า มุสลิมสามารถบริโภคอาหารนี้ได้ ตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ ซึ่งในประเทศจีนมีหน่วยงานรับรองฮาลาลหลายหน่วยงาน แต่ที่ได้รับการยอมรับและประกาศโดยหน่วยงานพัฒนาอิสลามแห่งชาติมาเลเซีย หรือ JAKIM ที่ทำหน้าที่รับรองฮาลาลในประเทศมาเลเซีย ได้จัดหน่วยงานรับรองฮาลาลต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2019 มีหน่วยงานรับรองฮาลาลจากประเทศจีน จำนวน 5 หน่วยงาน ได้แก่

1. Shandong Halal Certification Service ( SHC )

2. China Islamic Association

3. ARA Halal Certification Services Centre Inc.

4. Linxia Halal Food Certification Centre

5. Shaanxi Shang Pin Yuan Halal Food & Restaurant Management Limited Company

ที่กระจายออกไปตามมลฑลต่างๆทั่วประเทศจีน

#อุตสาหกรรมฮาลาลในจีน

ในอดีตรัฐบาลจีน ตั้งเป้าให้ภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือเป็นจุดเชื่อมต่อกับโลกอิสลาม โดยประกาศนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อยกระดับและพัฒนามณฑลแถบตะวันตกเฉียงเหนือเข้าสู่ความเป็นสากล วางยุทธศาสตร์ให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมจีนกับกลุ่มประเทศมุสลิมและให้เขตฯ หนิงเซี่ยหุยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลด้วยการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และสนับสนุนความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอาหารฮาลาล

โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยได้ประกาศ “ระเบียบมาตรฐานอาหารฮาลาล” ซึ่งเป็นระเบียบมาตรฐานอาหารฮาลาลฉบับสมบูรณ์ฉบับแรก ปี 2557 คณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานและการรับรองแห่งชาติจีน ได้อนุมัติให้เขตฯ หนิงเซี่ยหุยก่อตั้ง “ศูนย์รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลและการค้าระหว่างประเทศ” และในปี 2559 รัฐบาลเขตฯ หนิงเซี่ยหุยมีแผนที่จะก่อสร้าง “เมืองมุสลิมโลก” (World Muslim City) เพื่อเป็นฐานการเชื่อมจีนกับภูมิภาคตะวันออกกลาง

แต่ในปี 2560 จากปัญหาเขตปกครองซินเจียง กระแสอิสลามโมโฟเบีย และระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่มองเรื่องความเท่าเทียมกัน ทำให้รัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นที่เคยสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอย่างมากกลับเปลี่ยนไป ได้มีการยกเลิกการรับรองฮาลาลในบางพื้นที่ คงเหลือเพียงคณะกรรมการชาติพันธุ์เขตฯ หนิงเซี่ยหุยที่ยังทำหน้าที่รับรองสินค้าฮาลาลดังเช่นที่เป็นมาในอดีต

#โอกาสของสินค้าฮาลาลที่น่าสนใจเจาะตลาดตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

ถึงแม้ว่าท่าทีการสนับสนุนอุตสาหกรรมฮาลาลของรัฐบาลจีนจะเปลี่ยนไป แต่โอกาสของสินค้าฮาลาลในพื้นที่แถบนี้ก็ยังคงอยู่ พื้นที่แถบตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีปริมาณมุสลิมอาศัยกันอยู่หนาแน่น และเป็นเส้นทางสายไหมในอดีต จากศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครซีอาน ได้เสนอโอกาสของสินค้าที่น่าสนใจในภูมิภาคจีนตะวันตกเฉียงเหนือ ที่สามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคทั้งทั่วไปและฮาลาล ดังนี้

1. อาหารทะเล ผัก และผลไม้เมืองร้อน ในหลายพื้นที่อย่าง มณฑลส่านซี กานซู และเขตฯ หนิงเซี่ยหุย เป็นพื้นที่ไม่ติดทะเล ผู้บริโภคชาวจีนในพื้นที่แถบนี้บริโภคสัตว์น้ำจืดจากแม่น้ำฮวงโห (แม่น้ำเหลือง) เป็นหลัก ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการทำตลาดผลไม้เมืองร้อน และอาหารทะเล โดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูป/แช่แข็ง เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่ไม่สามารถหาได้ในท้องถิ่น

2. สินค้าสุขภาพ ความนิยมในการบริโภคสินค้าสุขภาพของผู้บริโภคชาวจีนมีจำนวนไม่น้อยและมองว่าสินค้าที่มาจากประเทศไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการตลาดสินค้าออร์แกนิกส์ หรือสินค้าเพื่อสุขภาพ อาทิ กาแฟไขมันต่ำ น้ำมันมะพร้าวออร์แกนิกส์ เครื่องดื่มแปรรูปจากธัญพืช และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ภายนอก (สปาหน้า สปาตัว) ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนสายสุขภาพได้ทั่วประเทศ

3. ธุรกิจบริการ จากข้อมูลของสถาบัน Cresent Rating ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ศึกษาและติดตามเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงฮาลาล (Halal Travel Trends) ทั่วโลกระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมมีจำนวนสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และจะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมกว่า 230 ล้านคนในปี พ.ศ. 2569 และคาดว่าปี พ.ศ. 2593 ประชากรมุสลิมจะมีประมาณร้อยละ 30 ของประชากรโลก โดยในส่วนของจีน ถึงแม้จะมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 25 ล้านคน แต่รัฐบาลจีนกลับไม่มีโครงการลงทุนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล และภาคเอกชนจีนเองก็ไม่กล้าลงทุนเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากประเทศมุสลิม เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่ารัฐบาลจีนและรัฐบาลท้องถิ่นไม่ให้การสนับสนุน ดังนั้น ตลาดนักท่องเที่ยวจีนมุสลิมจึงเปิดกว้างอยู่

สุดท้ายนี้ ผู้ประกอบการฮาลาลของไทยที่ต้องการเข้าถึงตลาดจีนควรเน้นศึกษาความต้องการของตลาด นำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพสูง สร้างสรรค์ และแตกต่างจากคู่แข่ง รวมทั้งทำความเข้าใจวัฒนธรรม ประเพณี และรสนิยมของคนในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย สวยงาม มีภาษาไทยเป็นส่วนประกอบ มีภาษาจีนเป็นคำอธิบาย และมีช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น การวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เกต หรือการมีหน้าร้านในแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ก็จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

……………………………………………..…….

เรียบเรียง
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
หน.ส่วนงานบริการหน่วยงานภายนอก สนง.ปัตตานี
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Islam_in_China

https://web.facebook.com/Prabsurapinad/photos/a.202089696656529/286928971505934/?type=3&theater
https://deepsouthwatch.org/th/node/11630

โอกาสสินค้าฮาลาลกับตลาดการค้าข้ามพรมแดน Cross Border E-Commerce ในประเทศจีน

โดยปกติคนจีนซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ทั่วไปที่เรียกว่า “E-Commerce” อยู่แล้ว โดยช่องทางปกตินี้จะมีกฎระเบียบและกติกาที่ชัดเจน มีแพลตฟอร์มหลักๆ ได้แก่ Tmall.com ของ Alibaba Taobao.com ของ Alibaba และ JD.Com ส่วนช่องทางซื้อขายสินค้าใหม่ของ “Cross Border E-Commerce” นั้น ได้แก่ Tmall Global ของ Alibaba Grope หรือ JD Worldwide ของ JD.com ไม่ว่าจะเป็นช่องทางปกติกับพิเศษนั้นยังคงเป็นการซื้อขายจากธุรกิจสู่ผู้บริโภค (B2C) และจากธุรกิจสู่ธุรกิจ (B2B) เหมือนเดิม แต่การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross Border E-Commerce นั้น มีขั้นตอนที่สะดวก รวดเร็วและการตรวจสอบไม่เข้มข้นเท่ากับการซื้อขาย e-Commerce แบบปกติ

::#CrossborderE-Commerceคืออะไร?::

Cross border E-Commerce หรือ การซื้อการขายสินค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน เป็นการนำเข้าส่งออกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ที่มีการซื้อขายผ่านออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซึ่งมีทั้งในรูปแบบของ B2B (จากผู้ประกอบการสู่ผู้ประกอบการ) และ B2C (จากผู้ประกอบการสู่ผู้บริโภค) กำลังกลายเป็นโอกาสใหม่ทางการค้าออนไลน์ในจีน ที่รัฐบาลจีนมีมาตรการสนับสนุนการค้าออนไลน์นี้ชัดเจน ซึ่งผู้ประกอบการไทยก็มีโอกาสและไม่ควรพลาด

::#ขนาดของตลาด E-Commerce ในประเทศจีน::

ตลาด E-Commerce ของจีนนับเป็นที่น่าจับตามอง ปัจจุบันตลาด E-Commerce มีขนาดใหญ่ และยังสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐบาลจีน ซึ่งจากข้อมูลรายงานสถิติการใช้อินเตอร์เนตของชาววจีนเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2018 พบว่า​ จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตในจีนมีประมาณ 830 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด โดยเป็นผู้ใช้ผ่านมือถือจำนวน 817 ล้านคน เป็นผู้อาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 73 อาศัยอยู่นอกเมืองร้อยละ 28 ซึ่งส่วนใหญ่ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเพศชายร้อยละ 53 และเพศหญิงร้อยละ 47 และยังพบว่า จำนวนนักช็อปออนไลน์มีจำนวน 610 ล้านคน เป็นผู่ช็อปผ่านมือถือจำนวน 592 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

::#ข้อดีของการซื้อขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม Cross border E-Commerce::

จีนได้ออกกฎระเบียบ Cross Border E-Commerce Import (CERI) ตั้งแต่ปี 2016เพื่ออำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าจากต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์โดยมีการลดหย่อนภาษีเมื่อเทียบกับการนำเข้าปกติ หรือการนำเข้าที่ไม่ผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce ข้ามพรมแดน กล่าวคือ การนำเข้าแบบปกติจะต้องชำระภาษีนำเข้ากับภาษีการบริโภคตามประเภทสินค้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม 17% แต่สำหรับการนำเข้าผ่านช่องทาง E-commerce ข้ามพรมแดนจะได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีการบริโภคชำระเพียง 70% ของการนำเข้าปกติเท่านั้น โดยได้มีการกำหนดโควตาต่อคนไม่เกิน 5,000 หยวนต่อการซื้อหนึ่งครั้งและรวมทั้งหมดไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี หากซื้อสินค้ามูลค่าเกินกว่าโควตาจะต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากับอัตรานำเข้าที่เสียกรณีการนำเข้า

::#แพลตฟอร์มอีคอมเมริ์ซข้ามแดนที่ควรรู้จัก::

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับเจาะเข้าหากลุ่มนักช้อปข้ามพรมแดนในจีนมีอะไรบ้างที่เป็นที่นิยม

::TMall::
เป็นแพลตฟอร์มในกลุ่มอาลีบาบาที่ค่อนข้างแพง ถ้าคุณอยากจะขายของใน Tmall ต้องมีเงินทุนสูง มีอิมเมจแบรนด์ที่ชัดเจนและทำยอดขายได้ดี ค่อนข้างมีชื่อเสียง ถ้าเพิ่งเริ่มทำธุรกิจ แพลตฟอร์มนี้อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีสำหรับมือใหม่

::XiaoHongShu หรือ Little Red Book::
ค่อนข้างแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ เล็กน้อยเพราะเป็นแอปโซเชียลมีเดีย ผสม แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เปิดตัวในปี 2014 แต่มีฐานผู้ใช้มากกว่า 25 ล้านคน สินค้าที่ได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มนี้คือ สินค้าความงามและเครื่องสำอางเพราะทาร์เก็ตคือ หญิงสาวอายุระหว่าง 18-30 ปี และเหมาะสำหรับแบรนด์ขนาดเล็กที่ต้องการทำธุรกิจที่จีน

::Yangmatou::
เปิดตัวในปี 2009 เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนรายแรกในประเทศจีน นำเสนอสินค้าค่อนข้างหลากหลาย แต่เน้นไปที่ผลิตภัณท์ยอดนิยมอย่างเช่นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม,ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสื้อผ้ารองเท้าและกระเป๋าถือ ทั้งมีคำอธิบายอย่างละเอียด มีความน่าเชื่อถือ รับประกันได้ว่าเป็นของแท้ มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน

::Wechat store::
อีกทางเลือกหนึ่งคือการใช้ WeChat Stores เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้การชำระเงินยังทำได้สะดวกและรวดเร็ว เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ WeChat ที่ซื้อสินค้าจากร้านค้าของ WeChat ได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 15% ในปี 2015 เป็น 31% ในปี 2016

::#การจัดการสินค้าและระยะเวลาการจัดส่งแพลตฟอร์ม Cross border E-Commerce::

การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross border E-Commerce โดยทั่วไปจะสต็อกสินค้าไว้ที่คลังสินค้าในจีน (Bonded Warehouse) เมื่อผู้บริโภคชาวจีนส่งคำสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์ม CBEC แล้ว สินค้าจะผ่านกระบวนการพิธีการศุลกากรและโลจิสติกส์อย่างรวดเร็ว ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าภายใน 4-7 วัน ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์แบบปกติจะใช้เวลามากกว่า 15 วัน

::#โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการฮาลาลของไทย::

ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยในสมรภูมิการค้า ในจีนเป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย (รวมถึงเรื่องลิขสิทธิ์แบรนด์) การสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเหนือคู่แข่ง (เน้นคุณภาพ) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อผลลัพธ์ทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนาระบบบริหารจัดการและแผนการตลาดเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี การเปิดตลาด Cross border E-Commerce ของจีนเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการสินค้าฮาลาลและสินค้าทั่วไปของไทยที่จะก้าวเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทาง e-Commerce ในตลาดที่มีศักยภาพบนแผ่นดินมังกร

……………………………………………..……..
ที่มา : https://www.thaibizchina.com/

http://www.thansettakij.com/content/240077
https://thanawat.co/2017/08/16/cross-border-ecommerce/
https://techsauce.co/tech-and-biz/smes-thai-china-e-commerce/

……