Halal Tech News : Selamat Hari Raya Aidilfitri HJ.1440

เทศกาลฮารีรายอถือเป็นวันเฉลิมฉลองของบรรดาพี่น้องมุสลิมกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก ผ่านการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นเดือนแห่งการถือศีลอดทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณของผู้ศรัทธา

เมื่อเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 สิ่งที่มีมาพร้อมกันคือ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะมาสนับสนุนการดำเนินชีวิตในเดือนรอมฎอนเดือนแห่งการถือศีลอดนี้ อย่างเช่น Smartphone ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญของการดำเนินชีวิต (Halallifestyle) ของการถือศีลอด ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาตารางเวลาละหมาด ทิศกิบลัตเพื่อการละหมาด การอ่านอัลกุรอานและความหมายรวมทั้งเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งแอปพลิเคชันหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเดือนรอมฎอนคงหนีไม่พ้นแอปพลิเคชัน MuslimPro ที่มียอดการดาวน์โหลดสูงถึง 70 ล้านครั้งกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน Apple App Store และ Google Play Store ในช่วงเริ่มต้นของเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา

Muslim Pro app ถูกพัฒนาขึ้นโดย Erwan Mace ซีอีโอบริษัท Bitsmedia ซึ่งเป็น Startup ที่พัฒนา mobile application ที่มีฐานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ Muslim Pro ถือได้ว่าเป็นโปรแกรมอะซานและแจ้งเวลาละหมาดที่แม่นยำตามแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีพระคัมภีร์อัลกุรอานฉบับสมบูรณ์ในภาษาอาหรับ มีเสียงอ่านของอิหม่ามหลายท่าน มีคำแปลหลายภาษาและบทดุอาอฺต่างๆ ตลอดจนเครื่องมือระบุทิศกิบลัต ปฏิทินฮิจเราะห์ในอิสลาม แผนที่ร้านอาหารฮาลาลและมัสยิดใกล้เคียง เป็นต้น รองรับในหลายภาษา รวมไปถึงภาษาไทยก็มีรองรับด้วยเช่นเดียวกัน

ในประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Startup หลายรายที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Halallifestyle แต่มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จ Startup เหล่านี้ยังคงต้องได้รับการสนับสนุน การพัฒนาและยกระดับจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกันต่อไป เพราะตลาดโลกมุสลิมยังมีมูลค่ามหาศาลที่เรายังเข้าไม่ถึง….

……………………..
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี

ที่มา : https://www.nst.com.my/lifestyle/bots/2019/05/489159/most-downloaded-app-ramadan?fbclid=IwAR20rwf6APuHszSnJ1i8imFYnwp5VpWQ1NaOzOiMHNzB7xRJrxQA5zqLt7w
https://play.google.com/store/apps/details?id=com.bitsmedia.android.muslimpro

เลี้ยงอาหารละศีลอดในเดือนเราะมะฎอนเฉพาะคนจนใช่หรือไม่?

:: คำถาม ::
เราจะเลี้ยงอาหารละศีลอดในเดือนเราะมะฏอนเฉพาะคนจนอย่างเดียวได้หรือไม่?

:: คำตอบ ::
ข้าพเจ้าเข้าใจถึงเหตุผลของผู้ที่กล่าวว่าคนที่มีกำลังพอที่จะรับผิดชอบตัวเองจะต้องไม่รับประทานอาหารละศีลอดที่บริจาค (อาหารสำหรับการละศีลอด) มันเกิดคำถามขึ้นว่าควรจะเลี้ยงอาหารให้กับคนที่สมควรได้รับมากกว่าหรือไม่ … แต่คนที่ให้อาหารเลี้ยงละศีลอดนั้นเพียงแค่แสวงหารางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺเท่านั้น ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) อธิบายว่า อัลลอฮฺจะทรงมอบรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ให้กับผู้ใดก็ตามที่เลี้ยงอาหารละศีลอดให้กับผู้อื่น พระองค์ไม่ได้มอบรางวัลตอบแทนนี้ในการเลี้ยงอาหารละศีลอดกับคนจนหรือคนที่ขัดสนเป็นการเฉพาะเจาะจง คนหนึ่งอาจได้รับรางวัลตอบแทนโดยการเลี้ยงอาหารละศีลอดให้กับมิตรสหายหรือญาติสนิท เมื่อท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวถึงเรื่องนี้ ท่านต้องการที่จะกระตุ้นให้ผู้คนร่วมแบ่งปันอาหารของพวกเขาให้กับคนอื่น ๆ ในช่วงวันแห่งการถือศีลอด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความรู้สึกของความเป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้นในการอิบาดะฮฺ เมื่อท่านเชิญชวนญาติสนิทหรือมิตรสหายมาละศีลอดที่บ้านของท่าน ท่านไม่เพียงแต่จะได้รับความรู้สึกซาบซึ้งใจและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นจากพวกเขาเท่านั้น แต่ท่านยังได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺเทียบเท่ากับรางวัลตอบแทนการถือศีลอดของพวกเขา

คนที่บริจาคเงินเพื่อเลี้ยงอาหารละศีลอดและทำหน้าที่บริการให้กับคนละศีลอดในมัสญิดนั้นย่อมเป็นการกระทำที่จะได้รับรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน พวกเขาจะได้รับรางวัลตอบแทนโดยไม่คำนึงถึงสถานะทางการเงินของผู้ที่มารับประทานอาหารเลี้ยงละศีลอด

สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อบุคคลหรือครอบครัวที่มีกำลังพอที่จะรับผิดชอบตัวเองจะสามารถร่วมรับประทานอาหารเลี้ยงละศีลอดได้หรือไม่? คำตอบคือได้เพราะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ ถ้าท่านอาศัยอยู่ในประเทศที่มีคนจนจำนวนมาก ย่อมเป็นการดีกว่าที่จะให้โอกาสกับคนจนได้รับประโยชน์นี้ ในทางกลับกัน การที่คนใดก็ตามจะร่วมรับประทานอาหารเลี้ยงละศีลอดที่มีมากพอสำหรับทุกคนย่อมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

ทำงานหนักในเดือนเราะมะฎอนจำเป็นต้องถือศีลอดหรือไม่?

:: คำถาม ::
สำหรับสถานะของคนที่ใช้แรงงานหนัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ฉันยกตัวอย่างคนที่ทำงานหน้าเตาหลอมสำหรับหลอมโลหะ หลักการอิสลามอนุญาตให้พวกเขาไม่ต้องถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนได้หรือไม่?

:: คำตอบ ::
รากฐานของอิสลามประการหนึ่ง คือการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนนั้นเป็นข้อบังคับสำหรับทุกคนที่บรรลุศาสนะภาวะและเป็นหลักปฎิบัติ(รุก่น)ข้อหนึ่งในอิสลาม ดังนั้นทุกคนที่บรรลุศาสนะภาวะแล้วจะต้องมุมานะในการถือศีลอดเพื่อปฏิบัติตามข้อบังคับที่อัลลอฮฺทรงสั่งใช้เพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺและกลัวการลงโทษจากพระองค์ โดยที่เขาจะไม่ละทิ้งการหาเลี้ยงชีพที่อนุมัติในโลกนี้ตลอดจนไม่ทำให้ดุนยาแห่งนี้เป็นที่ชื่่นชอบสำหรับเขามากกว่าโลกหน้า

ถ้ามีข้อขัดแย้งระหว่างการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺกับการทำงานเพื่อหารายได้ในโลกนี้ ดังนั้นเขาจะต้องทำให้มีความสมดุลเพื่อที่เขาจะสามารถกระทำมันได้อย่างพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างที่เอ่ยขึ้นในคำถาม เขาจะต้องทำงานในช่วงเวลากลางคืนในการหารายได้และถ้าไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้เขาจะต้องหยุดงานดังกล่าวในช่วงเดือนเราะมะฎอน แม้ว่าจะไม่ได้รับค่าแรงก็ตาม ถ้าเขาไม่สามารถกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นเขาจะต้องมองหางานอื่นที่เขาสามารถปฏิบัติภาระหน้าที่ทั้งสองนี้ได้

การแสวงหารายได้ของเขาในโลกนี้จะต้องไม่เป็นผลกระทบกับผลประโยชน์ของเขาในโลกหน้า มีวิธีการหารายได้และงานอีกมากมายที่มิได้ถูกจำกัดเพียงแค่งานที่สร้างความลำบากประเภทนี้เท่านั้น มุสลิมจะต้องแสวงหาหนทางการหาปัจจัยยังชีพที่อนุมัติไปพร้อม ๆ กับสามารถกระทำการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ ดังที่ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสว่า

“และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงหาทางออกให้แก่เขา และจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่งอย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” สูเราะฮฺ อัฏ-เฏาะลาก อายะฮฺที่ 2-3

ถ้าเราคิดว่าไม่สามารถหางานอื่นทดแทนได้นอกจากงานที่ทำให้เขามีความยากลำบากที่กล่าวมา ดังนั้นเขาจะต้องอพยพจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งเพื่อแสวงหาความสะดวกง่ายดายในการปฏิบัติศาสนกิจของเขาทั้งหน้าที่ทางศาสนาและหน้าที่ทางโลกรวมไปถึงสถานที่ที่เขาสามารถร่วมมือกับมุสลิมคนอื่น ๆ ในเรื่องคุณธรรมและความดีงาม เพราะแผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างใหญ่ อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

“และผู้ใดที่อพยพไปในทางของอัลลอฮฺเขาก็จะพบในผืนแผ่นดิน ซึ่งสถานที่อพยพไปอันมากมาย และความมั่งคั่ง” สูเราะฮฺ อัน-นิซาอฺ อายะฮฺที่ 100

อีกอายะฮฺหนึ่งที่กล่าวว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด โอ้ปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายเอ๋ย! จงยำเกรงพระเจ้าของพวกท่านเถิด สำหรับบรรดาผู้ทำความดีในโลกนี้คือ (จะได้รับการตอบแทน) ความดีและแผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างใหญ่ไพศาล แท้จริงบรรดาผู้อดทนนั้นจะได้รับการตอบแทนรางวัลของพวกเขาอย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องคำนวณ” สูเราะฮฺ อัซ-ซุมัร อายะฮฺที่ 10

แต่ถ้าเขาไม่สามารจัดการเรื่องนี้ได้และถูกบังคับให้ทำงานที่ยากลำบากนี้ (ดังที่ถูกกล่าวในคำถาม) ดังนั้นเขาจะต้องถือศีลอดจนกว่าเขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ไหว และเขาจะต้องกินและดื่มเพียงแค่ให้เขามีแรงทำงานต่อได้จากนั้นเขาจะต้องอดอาหารและเครื่องดื่มต่อและเขาจะต้องถือศีลอดชดใช้ในวันอื่นที่เขามีความสะดวก

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

การล้างพิษ ประโยชน์ที่ซ่อนอยู่จากการถือศีลอดเดือนรอมฎอน

มีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของการอดอาหาร ตอนนี้เรารู้ว่าเมื่อเรางดให้อาหารแก่ร่างกายของเรา ร่างกายจะรักษาตัวเอง

เมื่อได้รับโอกาส ร่างกายจะพยายามฟื้นฟูสมดุลให้กับทุกระบบ การศึกษาแสดงให้เห็นถึงประโยชน์มากมายต่อสุขภาพของการอดอาหารที่มีต่อร่างกายของเรา แต่ยังมีประโยชน์ที่เราได้รับในระดับจิตวิญญาณและอารมณ์อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์เต็มที่จากการถือศีลอดในช่วงรอมฎอน ขอแนะนำให้ปฏิบัติตามซุนนะฮและอย่านอนทั้งวัน หรือรับประทานมากเกินไป

เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ที่ดีขึ้น ก่อนอื่นขอให้เราเข้าใจเรื่องการล้างพิษและกระบวนการที่เกิดขึ้นในระดับกายภาพ

– การล้างพิษคืออะไร? –
การล้างสารพิษมักเป็นวิธีที่ร่างกายกำจัดสิ่งสกปรกออกไป นี่เป็นเรื่องจริงและเป็นสิ่งที่ร่างกายทำอยู่ตลอดเวลา

ร่างกายของเราใช้ระบบต่าง ๆ เพื่อกำจัดสารที่เป็นอันตราย ซึ่งรวมถึงต่อมเหงื่อของผิวหนัง ต่อมน้ำเหลือง น้ำตา จมูก ระบบทางเดินอาหาร ลำคอ ปอด ไต ถุงน้ำดี และที่แน่นอนคือตับ

ความผิดปกติในระบบหนึ่งสามารถนำไปสู่การรับภาระหนักเกินไปและความล้มเหลวของระบบอื่น ระบบของร่างกายจะต้องทำหน้าที่เป็นทีมเพื่อกำจัดของเสียออกจากร่างกายของเรา

การรับประทานอาหารมากเกินไปจะช่วยลดความสามารถของร่างกายในการอดอาหารอย่างจริงจัง เพราะมันเป็นอุปสรรคต่อการลดการบริโภคอาหาร และช่วยให้ร่างกายกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โรคเรื้อรังจำนวนมากเชื่อมโยงกับภาระพิษที่ร่างกายของเราแบกรับ และไม่สามารถกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ (1)

สารพิษที่ไม่ได้ถูกกำจัดโดยระบบอื่น ๆ จะถูกส่งไปยังตับซึ่งจะถูกเปลี่ยนผ่านทางเดินสองเส้นทางเพื่อที่จะถูกขับออกมา เส้นทางทั้งสองจะต้องทำงานอย่างเหมาะสม หรือไม่ก็ของเสียจะยังคงอยู่ในร่างกาย ติดอยู่ในเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะของเรา (2, 5, 12)

แม้ว่าปกติเราจะเข้าใจการล้างพิษว่าเป็นการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย แต่เราก็สามารถสัมผัสกับการชำระล้างอารมณ์ความรู้สึก และจิตใจได้เช่นกัน

– ฟื้นฟูจิตวิญญาณ –
เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการฟื้นฟูจิตวิญญาณ หากเราต้องการจะทำมันเรามีเวลาที่จะขยายการอิบาดะฮฺของเรา แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ด้วยกับการอดอาหารเราอยู่ในสถานะแห่งการรำลึกอย่างต่อเนื่อง
แต่บางคนเลือกที่จะนอนในช่วงเวลากลางวัน และไม่นอนตลอดทั้งคืน พลาดการตื่นตัวทางจิตวิญญาณที่อาจเกิดขึ้นในช่วงอดอาหาร

การละหมาด การซิกรฺ (ถ้อยคำรำลึกสั้น ๆ) และการทำสมาธิยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกายที่อดอาหารโดยการส่งเสริมการผ่อนคลายและลดการผลิตฮอร์โมนความเครียดที่ร่างกายจำเป็นที่จะต้องกำจัด

นอกจากนี้ผู้คนจำนวนมากลบสารเสพติดออกจากการอดอาหารของพวกเขาในช่วงรอมฎอน ซึ่งสามารถสร้างการเชื่อมต่อที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับความศรัทธาทางศาสนาของเรา ศักยภาพในการเติบโตทางจิตวิญญาณนั้นเพิ่มขึ้นเมื่อเราลบสิ่งรบกวนและสารยับยั้งออก

– การบำบัดทางจิตวิทยา –
บางคนอาจคิดว่าอารมณ์ไม่มีผลกับร่างกายของเราราวกับว่าพวกมันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา แต่กระนั้นปฏิกิริยาทางอารมณ์ของเราต่อสิ่งเร้าภายนอกนั้น อันที่จริงแล้วเป็นการต่อเรียงของสารสื่อไฟฟ้าทางชีวเคมีที่ซับซ้อนซึ่งร่างกายของเราต้องรับมือในชีวิตประจำวัน
ฮอร์โมนที่ถูกหลั่งโดยต่อมของเราที่มีปฏิกิริยาต่อการตอบสนองทางอารมณ์จะกลายเป็นของเสียจากการเผาผลาญ ยิ่งเราเครียดมากเท่าไหร่ร่างกายก็ยิ่งต้องทำความสะอาดมากขึ้นเท่านั้น (5)

Dr. Dietrich Klinghardt บันทึกว่าการชอกช้ำทางอารมณ์เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อของเรา และอาจทำให้เกิดความผิดปกติหากอารมณ์ที่เป็นพิษเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ กระบวนการล้างพิษหรือการรักษาจะไม่เกิดขึ้นหรือจะไม่ได้ผล (12)

สิ่งนี้มีผลโดยตรงกับเส้นทางการล้างพิษของตับ เมื่อเราเปิดใช้งานร่างกายของเราเพื่อกำจัดของเสียจากการเผาผลาญส่วนเกินแม้ว่าการอดอาหาร เรายังช่วยล้างพิษทางอารมณ์ของเรา

เดือนรอมฎอนเป็นเวลาสำหรับการฟื้นฟูและการต่ออายุหากเราปฏิบัติตามซุนนะฮฺ เราไม่เพียงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางกายภาพที่เราต่างรับรู้กันดีเท่านั้น แต่ยังได้ประโยชน์ต่อสุขภาพจิตและอารมณ์ของเราเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net โดย Anisa Abeytia

References:
1. Brady, David, ND, “The Role of Detoxification and the Gastrointestinal Environment in Chronic Disease: Novel Diagnostic and Therapeutic Approaches.” Conference. June 17, 2006, Los Angeles.
2. Brady, David, ND, JJ Virgin, “Detoxification for Health.” Designs for Health booklet, East Windsor, CT.
3. Al-Jauziyah, Ibn Qayyim, Healing with the Medicine of the Prophet, trans. Jalal Abdu Rub, (Darussalam: Riyadh) 1999.
4. Gates, Donna, The Body Ecology Diet (Healthful Communications, Inc: Juno Beach, Florida) 1996.
5. Murray, Michael, ND, Total Body Tune-Up (Bantam Books: New York) 2000.
6. Murray, Michael, N.D. The Encyclopedia of Nutritional Supplementation (Prima Publishing: Rocklin, Ca) 1996.
7. Pollan, Michael The Omnivore’s Dilemma (Penguin Press: New York) 2006.
8. Roehl, Evelyn Whole Food Facts (Healing Arts Press: Rochester, Vermont) 1996.
9. Shelis, Maurice, Moshe Shike, A Catharine Ross, Benjamin Caballero, Robert J. Cousins, ed. Modern Nutrition In Health and Disease (Lippincott Williams & Williams: New York) 2006.
10. Whitney, Ellie and Sharon Rady Rolfes, ed. Understanding Nutrition (Thomson Wadsworth: Belmont, Ca) 2005.
11. Steingraber, Sandra, Having Faith (Berkley Books: New York) 2003.
12. Klinghardt, Dietrich MD, PhD “The Connection Between Heavy Metals, Chronic Infections (including Candida) and the Aftereffect of Psychological Trauma.” Designs for Health Professional Resources, July 12, 2006.

สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ตอนที่ 2

ประการที่ห้า คือการเอาเลือดออกด้วยวิธีการกรอกเลือด
เนื่องจากท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “ทั้งผู้กรอกเลือดและผู้ถูกกรอกเลือด การถือศีลอดของเขาทั้งสองป็นโมฆะ” (เชค อัล-บานียฺกล่าวว่าเป็นหะดีษศอฮี้ยฺในศอฮี้ยฺของอบูดาวูด 2047)

การบริจาคเลือดเป็นเรื่องเดียวกับการกรอกเลือด เนื่องจากมันมีผลกระทบกับร่างกายในรูปแบบเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่อนุญาตสำหรับผู้ถือศีลอดบริจาคเลือดนอกจากมันมีความจำเป็น ซึ่งในกรณีนี้ถือว่าอนุญาต ในกรณีนี้ผู้บริจาคเลือดได้เสียการถือศีลอดและจะต้องชดเชยการถือศีลอดในวันอื่น (อิบนุ อุษัยมีน มะญาลิส ชะฮฺรฺ เราะมะฎอน หน้าที่ 71)

ถ้าบุคคลหนึ่งมีเลือดออกทางจมูก การถือศีลอดของเขายังใช้ได้ เนื่องจากมันเกิดขึ้นโดยไม่ได้เจตนา (ฟะตาวา อัล-ลัจญนะฮฺ อัล-ดาอิมะฮฺ 10/264)

สำหรับเลือดที่เกิดจากการถอนฟัน การผ่าตัด การตรวจเลือด ฯลฯ จะไม่ทำให้การถือศีลอดของเขาเป็นโมฆะเนื่องจากมันมิได้เป็นการกรอกเลือดหรือเป็นสิ่งที่เหมือนกับการกรอกเลือดนอกจากมันจะมีผลกระทบกับร่างกายเช่นเดียวกับการกรอกเลือด

ประการที่หก การอาเจียนโดยเจตนา
เนื่องจากท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “ใครก็ตาที่อาเจียนโดยไม่ได้เจตนาไม่จำเป็นต้องถือศีลอดชดใช้ แต่ใครก็ตามที่อาเจียนโดยเจตนาเขาจะต้องถือศีลอดชดใช้” รายงานโดย อัต-ติรมีซียฺ 720 เชค อัล-บานียฺจัดว่าเป็นหะดีษศอฮี้ยฺ ในศอฮี้ยฺ อัต-ติรมีซียฺ 577

อิบนุ มุนซิร กล่าวว่า “บรรดานิติศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าการถือศีลอดของคนที่อาเจียนโดยเจตนานั้นถือว่าเป็นโมฆะ” อัล-มุฆนียฺ 4/368

ใครก็ตามที่อาเจียนออกมาอย่างตั้งใจ โดยการเอานิ้วของเขาล้วงเข้าไปในคอ กดท้องของเขา และส่งกลิ่นเหม็น หรือยังอาเจียนออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเขาจะต้องชดใช้การถือศีลอดในวันอื่น

หากว่าเขาสำรอกเพิ่มมากขึ้นก็ไม่ควรจะระงับมันไว้ เพราะมันจะเป็นอันตรายกับเขา (มะญาลิส ชะฮฺรฺ เราะมะฎอน อิบนุ อุษัยมีน หน้าที่ 71)

ประการที่เจ็ด คือเลือดประจำเดือนและเลือดหลังคลอดบุตร
ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “เมื่อเธอมีประจำเดือน เธอไม่ต้องละหมาดและถือศีลอดมิใช่หรือ ..” (รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ 304)

เมื่อผู้หญิงมีเลือดประจำเดือนหรือนิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) การถือศีลอดของเธอจะเป็นโมฆะแม้ว่ามันจะอยู่ในช่วงเวลาก่อนตะวันตกดินเพียงไม่กี่นาทีก็ตาม

ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งรู้สึกว่าประจำเดือนเริ่มมาแล้วแต่เลือดยังไม่ไหลออกมาจนกระทั่งตะวันตกดินไปแล้ว การถือศีลออดของเธอในวันนั้นถือว่าใช้ได้

ถ้าเลือดของผู้หญิงที่มีประจำเดือนหรือเลือดนิฟาสหมดลงในช่วงเวลากลางคืนและเธอตั้งเจตนาว่าจะถือศีลอด จากนั้นตะวันเริ่มทอแสง (เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการถือศีลอด) ก่อนที่เธอจะทำความสะอาดร่างกาย(ยกหะดัษใหญ่) อุลามาอฺทั้งหมดเห็นว่าการถือศีลอดของเธอใช้ได้ (อัล-ฟัตหฺ 4/148 Al-Fath, 4/148)

มันย่อมดีกว่าสำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนที่จะยังคงรักษาธรรมชาติของเธอและน้อมรับในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้กับเธอ โดยที่เธอจะต้องไม่ใช้ยาใด ๆ ที่จะระงับประจำเดือนของเธอ เธอจะต้องน้อมรับในสิ่งที่ทรงกำหนดให้กับเธอที่จะไม่ถือศีลอดในช่วงระหว่างมีประจำเดือนและชดใช้การถือศีลอดในวันอื่น นี่คือสิ่งที่เหล่ามารดาแห่งศรัทธาชนและบรรดาหญิงแห่งบรรพชนรุ่นแรกเคยกระทำมาแล้ว (ฟะตาวา อัล-ลัจญฺนะฮฺ อัล-ดาอิมะฮฺ 10/151) นอกจากนั้นมันได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่าวิธีการการยับยั้งการมีประจำเดือนนี้เป็นอันตรายอย่างมากและผู้หญิงจำนวนมากได้ประสบกับการมีประจำเดือนที่ผิดปกติอันเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น หากผู้หญิงรับประทานยาและประจำเดือนหยุดลง นั่นเป็นเรื่องปกติที่เธอสามารถจะถือศีลอดและการถือศีลอดของเธอนั้นถือว่าใช้ได้

ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ซึ่งมีเพียงเลือดประจำเดือนและเลือดนิฟาสเท่านั้น ถ้าอยู่ภายใต้เงื่อนไข 3 ประการ คือ
1. คนที่มีความรู้
2. คนที่ไม่ได้หลงลืม
3. คนที่ไม่ได้ถูกบังคับ

เราต้องจดจำไว้ว่าบางสิ่งที่ไม่ได้ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะมีดังต่อไปนี้
– การสวนทวารหนักโดยใช้น้ำยา ยาหยอดตา การถอนฟันตลอดจนการรักษาอาการบาดเจ็บจะไม่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ (มัจญมูอฺ ฟะตาวา ชัยคุล อิสลาม 25/233; 25/245)
– ยาเม็ดแบนที่ใส่ไว้ใต้ลิ้นเพื่อรักษาโรคหอบหืด ตราบใดไม่กลืนเศษตกค้างเข้าไป
– สิ่งใดก็ตามที่เข้าไปในช่องคลอด เช่น ยาเหน็บช่องคลอด เครื่องถ่างตรวจหรือนิ้วมือหมอที่มีเป้าหมายเพื่อการตรวจทางการแพทย์
– การใส่อุปกรณ์ทางการแพทย์หรือห่วงอนามัยเข้าไปในมดลูก
– สิ่งใดก็ตามที่เข้าไปในทางเดินปัสสาวะของชายหรือหญิง เช่น ท่อสวน กล้องจุลทรรศน์ของทางการแพทย์ หรือฉีดสารที่ทึบแสงหรือทึบรังสีเพื่อเป้าหมายของการเอ็กซ์เรย์ (x-ray) การรักษาหรือบำบัดเพื่อที่จะล้างกระเพาะปัสสาวะ
– การอุดฟัน การถอน หรือการทำความสะอาดฟันไม่ว่าจะด้วยไม้สิวากหรือแปรงสีฟันก็ตาม ตราบใดที่ท่านไม่กลืนกินมันเข้าไป
– การล้างปาก การบ้วนปาก และสเปรย์ฉีดพ่นปาก ตราบใดที่ท่านไม่กลืนสิ่งใดลงไป
– การพ่นออกซิเจนหรือยาชา ตราบใดที่ไม่ได้ให้อาหารแก่ผู้ป่วย
– สิ่งใดก็ตามที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านการดูดซึมผ่านผิวหนัง เช่น ครีม ยาพอก ฯลฯ
– การสอดท่อเล็ก ๆ ผ่านเส้นเลือดเพื่อใช้ในการวินิฉัยภาพหรือการรักษาเส้นเลือดในหัวใจหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
– การใส่กล้องจุลทรรศน์ผ่านผนังกระเพาะอาหารเพื่อตรวจลำไส้โดยการดำเนินการผ่าตัด (การใช้กล้องส่องตรวจช่องท้อง)
– การเก็บตัวอย่างจากตับหรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยไม่ต้องหาแก้ปัญหาอื่นใด
– การส่องกล้องตราบใดที่ไม่ได้มาพร้อมกับการแก้ปัญหาหรือมีสารอื่น ๆ
– การนำเครื่องมือหรือสารทางการแพทย์ใด ๆ เข้าไปเพื่อที่จะเยียวรักษาสมองหรือกระดูกสันหลัง
(ดู มะญาลิส เราะมะฎอน โดย เชค อิบนุ อุษัยมีน และหนังสือ 70 ประเด็นในการถือศีลอด)

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

สิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ตอนที่ 1

เราอยากทราบว่าอะไรบ้างที่ทำให้การถือศีลอด (ศิยาม) เป็นโมฆะ?

อัลลอฮฺทรงกำหนดการถือศีลอดบนวิทยปัญญาอันสูงสุด

พระองค์ทรงบัญชาให้ผู้ที่ถือศีลอดในรูปแบบที่มีความสมดุล ดังนั้นจะต้องไม่ทำให้ตัวของเขาเองเกิดอันตรายโดยการถือศีลอดหรือบริโภคสิ่งใดก็ตามที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะ

บางสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้นเกี่ยวโยงกับสิ่งที่ออกมาจากร่างกาย เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การอาเจียนโดยเจตนา การมีประจำเดือนและการกรอกเลือด สิ่งที่ออกมาจากร่างกายเหล่านี้จะทำให้เกิดความอ่อนเพลีย ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงกำหนดให้มันเป็นสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะที่จะไม่นำเอาความอ่อนเพลียในสิ่งที่ออกมาจากร่างกายมารวมกับความอ่อนเพลียที่เกิดจากการถือศีลอด อันจะก่อให้เกิดอันตรายจากการถือศีลอดหรือการถือศีลอดของเขาไม่มีความสมดุล
.
บางสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้นเกี่ยวโยงกับที่สิ่งที่เข้าไปในร่างกาย เช่น การกินหรือการดื่ม ถ้าผู้ที่ถือศีลอดกินหรือดื่ม เขาไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายของการถือศีลอดได้ (มัจญฺมูอฺ อัล-ฟะตาวา 25/248)

อัลลอฮฺได้รวมเอาสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะในอายะฮฺที่พระองค์ตรัสว่า

“บัดนี้พวกเจ้าสมสู่กับพวกนางได้ และแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้แก่พวกเจ้าเถิด และจงกิน และดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้า จากเส้นดำ เนื่องจากแสงรุ่งอรุณ แล้วพวกเจ้าจงให้การถือศีลอดครบเต็มจนถึงพลบค่ำ” สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 187

ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺทรงกล่าวถึงสิ่งหลัก ๆ ที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ นั่นคือการกิน การดื่มและการมีเพศสัมพันธ์ ส่วนสิ่งอื่น ๆ ที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้นถูกเอ่ยถึงโดยท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ในสุนนะฮฺ(วิถีแห่งการปฏิบัติ)ของท่าน

7 ประการดังต่อไปนี้ที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ
– การมีเพศสัมพันธ์
– การสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง
– การกินและการดื่ม
– สิ่งใดก็ตามที่อยู่ในหมวดเดียวกับการกินและการดื่ม
– การถ่ายเลือดด้วยการกรอกเลือด
– การอาเจียนโดยเจตนา
– การมีประจำเดือนหรือเลือดเสียหลังคลอดบุตร(นิฟาส)

ประการแรก คือการมีเพศสัมพันธ์
นี่คือการทำบาปที่ร้ายแรงและชั่วร้ายมากที่สุดที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ

ใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ในช่วงเดือนเราะมะฏอนโดยเจตนาด้วยความเต็มใจ เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัว ถือศีลอดต่อให้ครบ(นั่นคือ จะไม่กินหรือไม่ดื่มจนกว่าพระอาทิตย์ตกดิน) และถือศีลอดชดใช้ภายหลังพร้อมจ่ายค่าชดเชยจำนวนมาก ส่วนหลักฐานในเรื่องนี้ คือหะดีษที่ได้รับการรายงานจากท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ (รดิยัลลอฮุ อันฮุ) กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) และเขากล่าวว่า ฉันได้ก่อความวิบัติขึ้นแล้ว โอ้ ท่านศาสนฑูตของอัลลอฮฺ ท่านจึงถามว่า ความวิบัติอันใดเล่า? เขาตอบว่า “ฉันมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของฉัน (ช่วงเวลากลางวัน) ของเดือนเราะมะฎอน” ท่านนบีจึงกล่าวว่า “ท่านสามารถปล่อยทาสได้หรือไม่” เขาตอบว่า “ไม่” ท่านนบีถามต่อว่า “ท่านสามารถถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันได้หรือไม่?” เขาตอบว่า “ไม่” ท่านนบีจึงถามอีกว่า “ท่านสามารถให้อาหารกับคนจน 60 คนได้หรือไม่?” เขาตอบว่า “ไม่” (รายงาน อิหม่าม บุคอรียฺ 1936 อิหม่าม มุสลิม 1111)

และไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยกับสิ่งใดที่ทำให้เสียการถือศีลอดนอกจากการมีเพศสัมพันธ์

ประการที่สอง คือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง
ดังกล่าวนี้หมายความว่าได้ก่อเกิดการหลั่งของน้ำอสุจิ (มะนียฺ) โดยการใช้มือ

หลักฐานที่ว่าการสำเร็จความใคร่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะนั้น คือพระดำรัสของอัลลอฮฺในหะดีษกุดซีย์ที่พระองค์ทรงตรัสแก่ผู้ที่ถือศีลอดว่า “เขาจะละทิ้งอาหาร เครื่องดื่มและอารมณ์ปรารถนาเพื่อฉัน” (รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ 1894) การที่ทำให้น้ำอสุจิ (มะนียฺ) หลั่งออกมาจากอารมณ์ปรารถนานั้นคือสิ่งที่ผู้ที่ถือศีลอดต้องละทิ้ง

ใครก็ตามที่สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในช่วงกลางวันของเดือนเราะมะฎอน เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัวกลับไปหาอัลลอฮฺและถือศีลอดต่อในช่วงเวลาที่เหลือของวันนั้นและจะต้องชดใช้การถือศีลอดหลังจากนั้น

เมื่อเขาเริ่มทำการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง จากนั้นเขาระงับไม่ให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา เขาจะต้องกลับเนื้อกลับตัวไปหาอัลลอฮฺ แต่การถือศีลอดของเขายังคงใช้ได้และไม่ต้องชดใช้การถือศีลอดในวันอื่นเนื่องจากเขาไม่ได้ทำให้น้ำอสุจิหลั่งออกมา ผู้ที่ถือศีลอดจะต้องห่างไกลจากทุกสิ่งที่คอยปลุกเร้าอารมณ์ปรารถนาและหลีกเลี่ยงความนึกคิดที่ไม่ดี

และสำหรับน้ำมะซียฺ (ที่หลั่งออกมาเมื่อมีความรู้สึกทางเพศ) นั้นในทัศนะที่ถูกต้องที่สุด คือมันไม่ได้ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะแต่อย่างใด

ประการที่สาม การกินหรือการดื่ม
มันหมายถึงอาหารหรือเครื่องดื่มที่เข้าไปถึงกระเพาะผ่านทางช่องปาก

ถ้ามีบางสิ่งเข้าไปสู่กระเพาะผ่านทางจมูก ดังกล่าวนี้ไม่ต่างอะไรจากการกินหรือดื่ม

ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “จงสูดดมน้ำเข้าไปในทางจมูก (เมื่อเอาน้ำละหมาด) เว้นแต่ท่านกำลังถือศีลอด” (รายงานอิหม่าม อัต-ติรมีซียฺ 788) ถ้าน้ำไม่เข้าไปถึงกระเพาะผ่านทางจมูกนั่นไม่ถือว่าทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ได้ห้ามผู้ถือศีลอดสูดน้ำเข้าไปในจมูก

ประการที่สี่ คือสิ่งใดก็ตามที่เป็นเรื่องเดียวกับการกินและการดื่ม
เรื่องนี้ครอบคลุมสองประเด็น
1.การถ่ายเปลี่ยนเลือดของผู้ถือศีลอด เช่น ถ้าเขาเสียเลือดมากและมีการให้เลือด เรื่องนี้ถือว่าทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะเนื่องจากการรับเลือดจัดอยู่ในรูปแบบเดียวกับการให้อาหารและเครื่องดื่ม
2. การรับสารบำรุงจากอาหารและเครื่องดื่มผ่านเข็มฉีดยา เพราะมันเป็นเหมือนกับอาหารและเครื่องดื่ม เชค อิบนุ อุษัยมีน (มะญาลิส ชะฮฺรฺ เราะมะฎอน หน้า 7)

สำหรับการฉีดยาที่ไม่สามารถทดแทนอาหารและเครื่องดื่มแต่มันเป็นยาที่ใช้สำหรับการรักษาทางการแพทย์ -เช่นเพนิซิลลินหรืออินซูลิน- ให้พลังงานแก่ร่างกายหรือเพื่อวัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีน เหล่านี้ไม่ถือว่ามีผลกระทบกับการถือศีลอดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ (ฉีดเข้าเส้นเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ) (ฟะตะวา มุฮัมมัด อิบนุ อิบรอฮีม 4/189) แต่เพื่อความปลอดภัยการฉีดยาดังกล่าวนี้อาจรับในช่วงเวลากลางคืนได้ …

และการล้างไตที่มีเลือดออกมาเพื่อทำการฟอกจากนั้นเอากลับไปใส่ในร่างกายอีกครั้งด้วยสารเคมีเพิ่มเติม เช่นน้ำตาลและเกลือ เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้การถือศีลอดนั้นเป็นโมฆะ (ฟะตะวา อัล-ลัจญนะฮฺ อัล-ดาอิมะฮฺ 10/9)

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

รอมฎอน: ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเลิกสูบบุหรี่

ครั้งหนึ่งผมจำได้อย่างเต็มตา ผมเคยเห็นอิหม่ามสูบบุหรี่สองสามเฮือกสุดท้ายในขณะที่เดินเข้าไปในมัสยิดเพื่อเป็นผู้นำในการละหมาดซุฮฺร

ในอีกมัสยิดหนึ่ง ผู้สูบบุหรี่เข้าร่วมละหมาดในมัสยิดและยืนอยู่ข้าง ๆ ผม ผมคิดว่าเช่นเดียวกันกับอิหม่าม เพื่อนข้างผมคนนี้เพิ่งสูดเอากลุ่มควันจากบุหรี่เข้าปอดก่อนที่จะเข้ามาละหมาดในมัสยิด

กลิ่นฉุนของบุหรี่รบกวนผมมาก มันยากสำหรับผมที่จะมีสมาธิกับการละหมาด หลังจากนั้น ผมก็ไม่สามารถทนรับกลิ่นนี้ได้อีก ผมจึงย้ายออกไปร่วมละหมาดในแถวหลัง

ผมเคยมีประสบการณ์อันไม่พึงประสงค์เช่นนี้ในมัสยิดมาหลายครั้งหลายหน

ผมเคยเห็นพ่อสูบบุหรี่ในรถที่เต็มไปด้วยสมาชิกครอบครัวอย่างเปิดเผยโดยให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ได้เห็น รวมถึงทารกที่ต้องสูดเอาควันบุหรี่มือสองเข้าไปด้วย การกระทำที่ไม่รับผิดชอบเช่นนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดเพลิงไหม้ในยานพาหนะ

ผมเคยเห็นวัยรุ่นคีบแท่งก่อมะเร็งระหว่างปากของพวกเขาขณะที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ การกระทำของเยาวชนเหล่านี้ทำให้สุขภาพของพวกเขา(และคนอื่น ๆ )มีความเสี่ยง พวกเขาผลาญเงินของผู้ปกครองและก่อมลภาวะในชั้นบรรยากาศ

สถาบันการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความสามารถและบ่มเพาะผู้นำในอนาคต น่าเสียดายที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง(และแม้แต่โรงเรียนมัธยม) ได้กลายเป็นสวรรค์สำหรับการสูบบุหรี่

ปัจจัยที่มีส่วนร่วมบางประการคือความกดดันจากกลุ่มเพื่อน และการเข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นบางคนที่เสพติดนิโคตินก็เพราะเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่

– ปัญหาลุกลาม –
ผมมั่นใจว่า ผมไม่ได้เป็นผู้เดียวที่ประสบกับสถานการณ์เหล่านี้ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ได้แทรกซึมเข้าสู่ผู้คนทุกระดับและทุกวิชาชีพ

ในขณะที่ผู้สูบบุหรี่สามารถสร้างมลภาวะในที่สาธารณะได้ แต่สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ในการสูดอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์และไม่ถูกรบกวนจากควันบุหรี่มือสองนั้นกลับถูกล่วงละเมิดเป็นประจำ

สิทธิของเด็กในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและประโยชน์ทางด้านสุขภาพของพวกเขาถูกฝ่าฝืน ในหลายกรณีผู้กระทำผิดเป็นพ่อแม่ของพวกเขาเอง

ในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้สูบบุหรี่ในช่วงวัยรุ่น เงินของพวกเขาในการหาซื้อบุหรี่มาจากพ่อแม่ที่ตามใจ สิ่งนี้ชี้ให้เราเห็นถึงการเลี้ยงดูที่น่าเศร้าของพ่อแม่หลาย ๆ ครอบครัวในสังคม

– การแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ –
ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากไม่ได้มีการศึกษาสูงและอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รายได้ส่วนใหญ่ของพวกเขาใช้จ่ายไปกับบุหรี่และการรักษาโรคที่เกิดจากการบริโภคยาสูบ นี่เป็นหนึ่งในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากคนจนโดยบริษัทยาสูบที่ร่ำรวยและบริษัทข้ามชาติที่ดำเนินงานข้ามเส้นแบ่งเขตทางภูมิศาสตร์

สำหรับความเสียหายของผู้บริโภค มีการโปรโมตการออกกำลังกายนานนับสิบปีโดยเฉพาะโฆษณาที่หลอกลวงว่าสามารถเยียวยาและชำระล้างพิษร้ายจากการสูบบุหรี่

ประเทศร่ำรวยผู้ผลิตบุหรี่ส่วนใหญ่ได้กำหนดห้ามโฆษณา และมีข้อจำกัดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริโภคยาสูบโดยเฉพาะในสถานที่สาธารณะ และจะเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับการวิจัยเพื่อค้นคว้าว่าพวกเขาลดปริมาณการผลิตบุหรี่ลงในประเทศของพวกเขาหรือไม่ หากไม่แล้วข้อสรุปเชิงตรรกะคือพวกเขาใช้ประเทศอื่น ๆ ในการปล่อยบุหรี่เหล่านั้นและรับเงินตราต่างประเทศ นี่เป็นยุทธศาสตร์ของจักรวรรดิใหม่และปรับเปลี่ยนชื่อบุหรี่ให้เป็น “ทาสขาวตัวน้อย ๆ”

น่าเสียดายที่ในโลกปัจจุบันประเทศส่วนใหญ่ของชาวมุสลิมอยู่ในช่วงสิ้นสุดการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำกำไรทางเศรษฐกิจ งานวิจัยปี 2549 ในหัวข้อ “อิทธิพลของศาสนาอิสลามต่อการสูบบุหรี่ในหมู่ชาวมุสลิม” ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอังกฤษแสดงให้เห็นว่าประเทศที่บริโภคยาสูบมากที่สุดในโลก ได้แก่ เยเมน อินโดนีเซีย ตูนิเซีย และกินี

– ตระหนักอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ –
ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ตระหนักถึงผลกระทบที่เป็นอันตรายของนิสัยการเสพติดของพวกเขา ดังนั้นการสร้างความตระหนักผ่านการศึกษาจึงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทำอีกแล้ว

เพราะสิ่งที่ต้องการในขณะนี้คือการห้ามสูบบุหรี่และการบังคับใช้อย่างเข้มงวด

– อิสลามและการสูบบุหรี่ –
ประการสำคัญ พฤติกรรมการเสพติด เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ไม่ว่าจะเป็นการเสพเนื่องจากเป็นทางเลือกในการดำเนินชีวิตหรือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความเครียดนั้นไม่สามารถเป็นยอมรับได้ในอิสลาม

อิสลามไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยสาเหตุดังกล่าว มันไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักการอิสลามที่จะใช้วิธีปฏิบัติดังกล่าวเพื่อบรรเทาความเครียดในชีวิต

ในอิสลาม “สุขภาพเป็นความไว้วางใจ(อามานะฮฺ)จากผู้เป็นเจ้าที่ควรได้รับการปกป้องดูแลและเสริมสร้างปรับปรุงให้แข็งแรงเพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างของผู้เป็นเจ้า” (Jamal Badawi)

ดังนั้น ศาสนาอิสลามจึงห้ามไม่ให้มีการประพฤติปฏิบัติที่ใด ๆ ก็ตามที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมไปถึงการสูบบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองหรือของผู้อื่น

การพิจารณาในแง่มุมทางด้านร่างกาย จิตใจ การเสพติด และการเงินของการสูบบุหรี่โดยอยู่บนพื้นฐานของอัลกุรอานตามบทและโองการต่าง ๆ เช่น 2:195, 4:29, 7:31 และ 17:26-27 ชัยคฺ ยูสุฟ อัล เกาะราะฎอวีย์ ได้มีคำวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ไม่มีทางที่นักวิชาการคนใดสามารถออกคำวินิจฉัยอนุญาตให้สูบบุหรี่หลังจากได้รับข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์ที่หนักแน่นถึงอันตรายที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก …

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าคำวินิจฉัยห้ามนั้นมีความถูกต้องมากกว่าและมีหลักฐานที่แข็งแรงกว่า … ดังนั้นเราต้องยืนยันว่าการสูบบุหรี่นั้นเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างแน่นอน

– คว้าโอกาสในช่วงรอมฎอน –
รอมฎอนได้มาถึงแล้ว เดือนอันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวมุสลิมที่จะละทิ้งลักษณะนิสัยที่น่ารังเกียจของการพ่นควันเช่นเดียวกับที่จะหักห้ามการสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด

ผมหวังว่ารัฐบาลของประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่จะใช้โอกาสในช่วงเดือนนี้เพื่อเริ่มต้นกระบวนการห้ามสูบบุหรี่โดยสิ้นเชิง

หากบางประเทศสามารถดำเนินการเป็นแบบอย่างได้ หวังว่าประเทศอื่น ๆ อีกจำนวนมากจะทำตามผู้นำที่อาจหาญและเด็ดขาดนี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net โดย Dr. Md. Mahmudul Hasan

ชิมกาแฟในช่วงถือศีลอดได้หรือไม่?

ฉันทำงานในบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำกาแฟ เราต้องชิมกาแฟอยู่บ่อย ๆ เพื่อเปรียบเทียบรสชาติและกลิ่น ฉันทราบดีว่าอนุญาตให้ชิมสิ่งต่าง ๆ ในช่วงถือศีลอดได้ ถ้าท่านมั่นใจได้ว่าไม่ดื่มสิ่งใดเข้าสู่ร่างกาย ตอนที่ฉันชิมกาแฟฉันพยายามอย่างมากที่จะทำให้มั่นใจว่าฉันไม่ได้กลืนอะไรเข้าไปแม้แต่น้อย แต่เป็นการชิมกาแฟเพื่อให้รับรู้ถึงรสชาติของมัน ดังนั้นการชิมกาแฟจะทำให้การถือศีลอดเสียหรือไม่ ?

หากคนที่ถือศีลอดจะต้องชิมอาหารก็นับว่าไม่มีความผิดแต่ประการใด และไม่มีผลกระทบต่อการถือศีลอดตราบใดที่อาหารนั้นยังไม่ได้เข้าสู่ช่องคอของผู้ที่ถือศีลอด หลักการนี้นำไปใช้กับการชิมกาแฟและสิ่งอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน

หากเขาชิมโดยปราศจากความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องกระทำเช่นนั้นถือว่า มักรูฮฺ (สิ่งที่น่ารังเกียจตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม) แต่มันไม่ได้ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ

ท่าน อิบนุ อับบาส (รดิยัลลอฮุ อันฮุ)กล่าวว่า “ไม่มีความผิดด้วยกับการชิมสิ่งที่กำลังปรุงหรืออะไรก็ตาม” [รายงานโดย อิหม่ามบุคอรียฺ]

อิหม่าม อะหฺมัด กล่าวว่า “ฉับชอบที่จะหลีกเหลี่ยงการชิมมากกว่า แต่ถ้าใครจะกระทำสิ่งนั้นก็ไม่มีผลกระทบใดกับเขาและไม่มีความผิดแต่ประการใด” [อัล-มุฆนียฺ 4/359]

ชัยคฺ อิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ กล่าวใน อัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ (4/474) ว่า “การชิมอาหาร คือ “มักรูฮฺ” (สิ่งน่ารังเกียจ) หากว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระทำอย่างนั้น แต่มันไม่ได้ทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะแต่อย่างใด”

มีคนถาม เชค อิบนุ อุษัยมีน ที่อยู่ในหนังสือ ฟะตาวา อัล-ศิยาม (หน้า 356) ว่า การถือศีลอดจะเป็นโมฆะโดยการชิมอาหารหรือไม่?

ท่านตอบว่า “การถือศีลอดจะไม่ถูกทำให้เป็นโมฆะโดยการชิมอาหารตราบใดที่คนหนึ่งไม่กลืนมันเข้าไป แต่จะต้องไม่กระทำเช่นนั้นนอกจากมีความจำเป็น ในกรณีนี้ หากว่ามีเศษอาหารตกเข้าไปในกระเพาะโดยบังเอิญ การถือศีลอดของท่านไม่ถือว่าเป็นโมฆะ” [ในฟะตาวา อัล-ลัจญนะฮฺ อัล-ดาอิมะฮฺ (10/332)]

หากรสชาติและกลิ่นยังคงอยู่ก็จะไม่มีผลกระทบใด ๆ กับการถือศีลอด ตราบใดท่านไม่ได้กลืนกินสิ่งใดอย่างตั้งใจ

อิบนุ ซีรีน กล่าวว่า ไม่มีความผิดแต่อย่างใดในการใช้ไม้สิวากที่เปียกชุ่ม เช่น ในช่วงถือศีลอด มีคนกล่าวว่า มันมีรสชาติน่ะ เขาตอบกลับว่า น้ำก็มีรสชาติเช่นเดียวกันแต่ท่านใช้มันชำระล้างปากของท่าน

ถือว่าเป็น “มักรูฮฺ” ที่จะชิมอาหารอย่างเช่น อินทผลัม ขนมปัง และซุป นอกจากมีความจำเป็นเท่านั้น ถ้าอยู่ในกรณีนี้ถือว่าทำได้

ด้วยเหตุผลที่อาหารบางอย่างอาจตกเข้าสู่กระเพาะอันเนื่องจากคน ๆ หนึ่งไม่ได้ตระหนักดีพอ ดังนั้นการชิมอาหารดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย เช่นเดียวกันเขาอาจมีความต้องการอาหารมากจนเกินไป เขาจึงชิมอาหารไปตามความพอใจและอาจกลืนมันเข้าไป ดังนั้นมันจึงตกเข้าสู่กระเพาะของเขา

ตัวอย่างของความจำเป็น คือเมื่อคนทำอาหารจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าอาหารนั้นหวานหรือเค็ม เป็นต้น

หลักการในเรื่องนี้ คือการชิมกาแฟขณะที่ท่านกำลังถือศีลอดไม่นับว่าเป็นเรื่องผิดแต่ประการใด อันเนื่องจากท่านจำเป็นที่จะต้องกระทำเช่นนั้น แต่ท่านต้องระมัดระวังและทำให้มั่นใจว่าไม่มีสิ่งใดตกเข้าสู่กระเพาะของท่าน

……………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A

การอดอาหารส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ของเราอย่างไร?

เราได้พูดคุยกับ Dr.Meltem Yalinay เกี่ยวกับงานวิจัยของเธอว่าด้วยการอดอาหารส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ของเราอย่างไร

“การถือศีลอดแบบอิสลามเป็นแบบอย่างที่ดีมากสำหรับความสมบูรณ์ของจุลินทรีย์ในลำไส้และสุขภาพของลำไส้” Dr. Meltem บอกกับเรา

Dr. Meltem Yalinay เป็นศาสตราจารย์ในภาควิชาจุลชีววิทยาของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฆอซี (Gazi University) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงอังการา

“เราได้ออกแบบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการถือศีลอดของอิสลาม โดยก่อนช่วงรอมฎอนเราได้เก็บเอาตัวอย่างอุจจาระของแต่ละคน และหลังจากนั้นในตอนท้ายของช่วงเวลาของการอดอาหารแบบอิสลามนี้เราก็ได้นำตัวอย่างอุจจาระไปตรวจอีกครั้ง ตรวจทั้งก่อนและหลัง สำหรับระดับคลอเลสเตอรอลทั้งหมดและระดับน้ำตาลในเลือดผลตรวจออกมาในแนวทางที่ดีมากในช่วงเวลานี้ แต่เมื่อเรามาถึงการตรวจตัวอย่างจุลินทรีย์ในลำไส้ (gut microbiota) จริง ๆ แล้วผลการตรวจเหล่านี้ออกมาน่าสนใจมาก” Dr. Meltem กล่าว

Gut flora หรือ Gut microbiota คือจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งเป็นชุมชนที่ซับซ้อนของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในเมตาบอลิซึมและมีผลต่อสุขภาพโดยรวมของเรา มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย โดยช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ช่วยสร้างวิตามิน ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยปกป้องร่างกายจากการบุกรุกโดยเชื้อโรคภายนอก

Dr. Meltem อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า “เราพบว่าชนิดของแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องเป็นแบคทีเรียชนิดที่ดีสำหรับจุลินทรีย์ในลำไส้ และแบคทีเรียชนิดที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารของลำไส้เราพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทางที่เหมาะสมต่อจุลินทรีย์ในลำไส้มากในช่วงเวลาเช่นนี้”

“ดิฉันคิดว่าเราต้องกลับมาคิดถึงจำนวนช่วงเวลาในการรับประทานอาหาร ดังนั้นความหิวจึงเป็นตัวแปรที่ดีมากสำหรับเรา อาหารหลักสามมื้อนี้ไม่เหมาะกับผู้ใหญ่มากนัก จริง ๆ แล้วอาหารมื้อหลักสองมื้ออาจจะเหมาะสมกว่า ผลลัพธ์จากการวิจัยนี้แสดงให้เห็นผลเช่นนี้จริง ๆ” เธอกล่าวปิดท้าย

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก TRT World โดย Dr. Meltem Yalinay

รับประทานอาหารบางชนิดเฉพาะในเดือนเราะมะฎอนเป็น “อุตริกรรม” หรือไม่? หลักการอิสลามว่าอย่างไร?

ในช่วงเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ พวกเรามีอาหารบางชนิดไว้รับประทานในช่วงเดือนนี้เป็นการเฉพาะในประเทศอียิปต์ เช่น kunafah (ขนมเป็นเส้นๆเหมือนหมี่กรอบ) qatayef (แพนเค้กอาหรับ) qamar ad-deen (น้ำผลไม้จากผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีเหลืองส้มมีรสหวาน) yamish (ผลไม้และถั่วแห้งรวมผสมกับนม) เป็นต้น นักศึกษาคนหนึ่งในเขตพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่กล่าวว่า ไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารเหล่านี้ในเดือนแห่งการอิบาดะฮฺ(เคารพสักการะ)เป็นการเฉพาะเจาะจง เนื่องจากประเพณีบางอย่างที่กระทำเฉพาะเจาะจงในเดือนแห่งการอิบาดะฮฺถือว่าเป็นอุตริกรรมประเภทหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดในการถือศีลอด ดังนั้นมันจึงไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมด้วยหลักการอันใดที่จะรับประทานเฉพาะเดือนนี้ เขากล่าวว่าการรับประทานอาหารเหล่านี้ถือว่า “หะรอม” ในเดือนรอมฎอน ยกเว้นเดือนอื่นๆ และเขาบอกว่าเขาได้อ่านฟัตวาจากผู้รู้ท่านหนึ่งในอียิปต์กล่าวอย่างนั้น ดังนั้นหลักการในเรื่องนี้คืออะไร?

ด้วยกับประเพณีที่มีบางคนรับประทานอาหารบางประเภทในช่วงเดือนนี้ถือว่าไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นของหวานหรือสิ่งอื่น ๆ ก็ตาม และมันไม่ได้จัดอยู่ในประเภทอุตริกรรมอย่างแน่นอน เนื่องจากว่าพวกเขาไม่ได้แสวงหาความใกล้ชิดกับอัลลอฮฺด้วยอาหารเหล่านี้เป็นการเฉพาะในเดือนนี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องของขนบธรรมเนียมและประเพณี

การอุตริกรรมจะต้องกระทำด้วยการเพิ่มสิ่งต่างๆเข้าไปในศาสนา เนื่องจากท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดประดิษฐ์ขึ้นในกิจการของเรา ซึ่งไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในนั้น มันจะถูกปฏิเสธ” [รายงานโดย อิหม่าม บุคอรียฺ (2697) และอิหม่าม มุสลิม (1718)]

และท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) กล่าวว่า “ผู้ใดที่กระทำการงานหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นกิจการงานของเรา ดังนั้นมันจะถูกปฏิเสธ” [รายงานโดย อิหม่ามมุสลิม (1718)]

อุตริกรรมที่ต่อเติมขึ้นมาเป็นเสมือนดั่งที่อิหม่าม อัช-ชาฏีบียฺ กล่าวไว้ว่า “แนวทางอุตริกรรมที่เพิ่มเติมขึ้นมาในศาสนาจะเป็นเหมือนกับแนวทางที่ถูกกำหนดขึ้น (จากตัวบท) จุดมุ่งหมายในการประพฤติปฏิบัติในเรื่องบิดอะฮฺ (อุตริกรรม) ย่อมไม่แตกต่างกับจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติต่อสิ่งที่ถูกกำหนดไว้เช่นกัน”

ตัวอย่างประการหนึ่งคือ การกระทำอิบาดะฮฺที่เฉพาะในช่วงเวลาที่เฉพาะโดยไม่มีหลักฐานจากตัวบทของหลักการอิสลาม เช่น การถือศีลอดในวันที่ 15 เดือนชะอฺบานและการยืนละหมาดในค่ำคืนวันที่ 15 ของเดือนเดียวกัน [คัดมาจากอัล-อิอฺติศอม (51/1)]
.
สำหรับการยึดมั่นกับขนบธรรมเนียมและประเพณีบางอย่างในช่วงเวลาหนึ่งนั้นไม่ได้ถูกรวมอยู่ในนิยามของคำว่า “บิดอะฮฺ” (การอุตริกรรม) แต่อย่างใด
.
ในศอฮี้ยฺ อัล-บุคอรียฺ (5403) มีรางานงานว่า ซะฮฺลฺ บิน ซะอฺดฺ กล่าวว่า “เราต่างเฝ้ารอคอยวันศุกร์ เนื่องจากมีหญิงชราคนหนึ่งที่เรารู้จักคุ้นเคยดีได้เอารากของต้นผักกาด (อุศูล อัล ซิลกฺ) และใส่มันเขาไปในหมอหุงต้มของเธอที่มีข้าวบาร์เล่ย์ เมื่อเราละหมาดเสร็จเรียบร้อย เราได้ไปหาเธอและเธอได้นำอาหารนั้นมาให้เรารับประทาน เราต่างเฝ้ารอคอยวันศุกร์เนื่องจากสิ่งนี้ และเราจะไม่รับประทานอาหารเที่ยงหรืองีบหลับหลังจากละหมาดวันศุกร์ ขอสาบานต่ออัลลอฮฺในอาหารนี้ไม่มีไขมัน”
.
ในหะดีษนี้ เราจะเห็นว่า ศอฮาบียะฮฺผู้หญิงคนนี้เคยทำอาหารประเภทหนึ่งเฉพาะวันศุกร์เท่านั้น และบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ต่างเฝ้ารอวันศุกร์และรู้สึกมีความสุขเมื่อวันศุกร์มาถึงอันเนื่องจากอาหารชนิดนี้ พวกเขารับประทานในบ้านของนาง ดังนั้นจะกล่าวว่านี่เป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรม) ได้หรือไม่?

หรือ อะไรคือความแตกต่างระหว่างอาหารที่ถูกทำในเดือนเราะมะฎอนที่เป็นไปตามประเพณีกับสิ่งที่บรรดาเศาะฮาบะฮฺ (มิตรสหาย) ของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม เคยรับประทาน (อาหารบางอย่างเฉพาะ) ในวันศุกร์?

เชค มุฮัมมัด บิน อิบรอฮีม (รฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “หากเราให้ความสนใจกับสิ่งที่ถูกกล่าวเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและประเพณีที่เป็นอุตริกรรมที่ถูกต่อเติมขึ้น ดังนั้นทุกสิ่งย่อมไม่ได้มีอยู่ในช่วงสมัยของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม และช่วงสมัยของบรรดาเศาะฮาบะฮฺแต่เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และยานพาหนะและเครื่องมือต่างๆที่นำมาใช้ในชีวิตหลังจากนั้นต่อมา ซึ่งจะนับว่าเป็นอุตริกรรมที่น่าตำหนิด้วยกระนั้นหรือ!”

ความเชื่อเช่นนี้บกพร่องและคลาดเคลื่อนและสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รู้ในเรื่องรากฐานและเป้าหมายของอิสลามโดยสิ้นเชิง

วจนะของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ที่กล่าวถึงความหมายของอุตริกรรมนั้นชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง

เป็นที่ชัดเจนแล้วสำหรับคนที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าความหมายของคำว่าอุตริกรรมหรือกิจการที่เพิ่มเติมที่ถูกปฏิเสธนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา อันเป็นการเพิ่มเติมสิ่งต่าง ๆ เข้าไปในศาสนาหรือยึดมั่นกับแนวทางบางอย่างที่ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) ไม่ได้ยึดมั่นไว้ [อ้างจาก ฟะตาวา เชค มุฮัมมัด บิน อิบรอฮีม (2/128)]

เชค มุฮัมมัด อุษัยมีน (รฮิมาฮุลลอฮฺ) กล่าวว่า “ความแตกต่างระหว่างประเพณีกับการอิบาดะฮฺ (การเคารพสักการะบูชา) การอิบาดะฮฺนั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺและศาสนฑูตของพระองค์ได้กำหนดไว้เพื่อแสวงหาความใกล้ชิดและรางวัลตอบแทนจากอัลลอฮฺ สำหรับประเพณีนั้นมีสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนต่างกระทำตามธรรมเนียมปฏิบัติทั้งในเรื่องของอาหาร เครื่องดื่ม ที่พักอาศัย การสวมเสื้อผ้า ยานพาหนะตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น เป็นต้น”

ยังมีข้อแตกต่างอื่นๆที่เป็นการปฏิบัติอิบาดะฮฺในเรื่องพื้นฐานซึ่งไม่เป็นที่อนุญาตและเป็นที่ต้องห้าม

นอกจากจะมีหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นอิบาดะฮฺที่ถูกต้อง เพราะอัลลอฮฺ ตะอาลากล่าวว่า “หรือว่าพวกเขามีภาคีต่าง ๆ ที่ได้กำหนดศาสนาแก่พวกเขา ซึ่งอัลลอฮฺมิได้ทรงอนุมัติ” [42:21].

สำหรับเรื่องขนบธรรมเนียมและประเพณีนั้นเป็นที่อนุญาตตามหลักการ นอกจากว่ามีหลักฐานพิสูจน์ว่ามันไม่เป็นที่อนุญาต

สำหรับเรื่องนี้ ถ้าผู้ที่มีขนบธรรมเนียมหรือประเพณีที่พวกเขาดำเนินตามและมีบางคนบอกกับพวกเขาว่ามันเป็นที่ต้องห้าม ดังนั้นเขาจะต้องหาหลักฐานมายืนยันจะมีคนถามเขาว่า “ไหนหลักฐานที่ว่ามันเป็นที่ต้องห้าม?”

สำหรับเรื่องการทำอิบาดะฮฺ ถ้ามีคนกล่าวว่าการทำอิบาดะฮฺดังกล่าวนี้เป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ) และเขากล่าวยืนยันว่ามันไม่ใช่บิดอะฮฺ เราจะต้องถามเขาว่า “ไหนหลักฐานที่บอกว่าไม่ใช่บิดอะฮฺ” เนื่องจากตามหลักการแล้วการทำอิบาดะฮฺขึ้นมาลอย ๆ จะเป็นที่ต้องห้าม จนกว่าจะมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามันถูกต้องตามหลักการ” [จาก ลิกออฺ อัล-บาบ อัล-มัฟตูหฺ (2/72)]

เขากล่าวเช่นกันว่า “สำหรับเรื่องบิดอะฮฺตามหลักการแล้ว คือการทำอิบาดะฮฺในสิ่งที่อัลลอฮฺมิได้บัญญัติไว้”

ถ้าท่านต้องการที่จะกล่าวว่า การทำอิบดาะฮฺต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่ท่านท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) หรือบรรดาคอลิฟะฮฺผู้ทรงธรรมที่ได้รับการชี้นำไม่ได้ยึดถือปฏิบัติ ดังนั้นแต่คนที่ทำการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺด้วยประการหนึ่งที่อัลลอฮฺไม่ได้กำหนดหรือกระทำบางสิ่งบางท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) หรือบรรดาคอลิฟะฮฺผู้ทรงธรรมที่ได้รับการชี้นำที่สืบทอดจากท่านไม่ยึดถือปฏิบัติย่อมเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮฺ)อย่างแน่นอน ไม่ว่าการทำอิบาดะฮฺนั้นจะเกี่ยวโยงกับพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺหรือเกี่ยวโยงกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระองค์ก็ตาม …

แต่สำหรับกิจการงานโดยทั่ว ๆ ไปที่กระทำด้วยกับขนบธรรมเนียมและประเพณี เหล่านี้ไม่สามารถเรียกว่า “อุตริกรรม” ในศาสนาได้เป็นแน่ แม้ว่าในทางภาษามันจะถูกเรียกว่า “อุตริกรรมหรือนวัตกรรมใหม่” ก็ตาม แต่มันไม่ใช่ “อุตริกรรม” ในทางศาสนาแต่อย่างใด และมันไม่ใช่สิ่งที่ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลลัลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม) คอยตักเตือนเรา [อ้างจาก มัจญมูอฺ ฟะตาวา วะ เราะซาอิล อิบนุ อุษัยมีน (2/292)]

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก Islam Q&A