อาหารเสริมอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป

อัลลอฮฺ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ทรงตรัสในอัลกุรอานว่า “มนุษย์เอ๋ย! จงบริโภคสิ่งอนุมัติ (ฮาลาล) ที่ดี ๆ (ฏ็อยยิบ) จากสิ่งที่อยู่ในแผ่นดิน และจงอย่าตามบรรดาก้าวเดินของมารร้าย (ชัยฏอน) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2: 168)

ในฐานะชาวมุสลิมเราต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อให้ร่างกายของเราอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่ของเรา ชาวมุสลิมหลายคนจึงหยิบเอาอาหารเสริมมารับประทานด้วยความเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่สามารถช่วยรักษาสุขภาพของเราให้ดี แต่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นสิ่งที่คัมภีร์อัลกุรอานอ้างถึงว่าเป็น “สิ่งอนุมัติ (ฮาลาล) และดีมีประโยชน์ (ฏ็อยยิบ)” หรือไม่?

ในวงการวิชาการทางวิทยาศาสตร์ได้แบ่งประเภทของอาหารเสริมตามผลกระทบหรือปฏิกิริยาที่กระทำต่อร่างกาย อย่างไรก็ตาม ฉันทามติทั่วไปคือเราจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาหารเสริมเหล่านี้ และหากคุณต้องการบริโภคมัน คุณควรได้รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำที่ถูกต้อง

:: ระหว่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับยาเวชภัณฑ์ ::
คำจำกัดความของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจช่วยให้เข้าใจได้ว่าทำไมผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึงเข้าไปอยู่ในวงถกเถียงตลอดสองสามทศวรรษที่ผ่านมา

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับการนิยามโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ว่าเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริโภคด้วยปากมีส่วนประกอบจากอาหารและมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมคุณค่าทางโภชนาการ” “ส่วนประกอบจากอาหาร” ดังกล่าวอาจรวมถึงวิตามิน เกลือแร่ สมุนไพรหรือพฤกษศาสตร์ กรดอะมิโนและสารต่าง ๆ เช่น เอนไซม์ เนื้อเยื่อ อวัยวะ แกลนดูล่าและเมตาโบไลท์” (Thurston)

อย่างไรก็ตาม นิยามของคำว่ายาและเวชภัณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ก็ไม่ได้มีความแตกต่างมากเท่าใดนัก FDA ให้ความหมายของคำว่ายาและเวชภัณฑ์ว่าเป็น “สิ่งที่ใช้สำหรับวินิจฉัย แก้ไข บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค”

ดังนั้นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงอาจอยู่ในหมวดหมู่คำนิยามของยาและเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันความหมายของยาและเวชภัณฑ์ก็อาจได้รับการพิจารณาว่าเป็นอาหารเสริม เส้นแบ่งระหว่างคำศัพท์ทั้งสองมักจะไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่ายาหลายตัวมานั้นมีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ เช่นเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากก็ถูกสกัดจากพืชในลักษณะที่แทบไม่แตกต่างจากยาทั่วไป นอกจากนี้ ทั้งสองอย่างอาจมีฤทธิ์ทางเภสัชศาสตร์ที่รุนแรง และอาจก่อให้เกิดปัญหาหากบริโภคอย่างไม่ถูกต้อง (Consumer Reports)

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีประโยชน์และปลอดภัยหรือไม่? หลายคนคิดเอาเองว่าเพราะสมุนไพรและวิตามินนั้นมีแหล่งที่มาจาก “ธรรมชาติ” ทุกอย่างจึงปลอดภัย อย่างไรก็ตามนี่เป็นข้อสันนิษฐานที่อาจไม่ใช่ข้อเท็จจริงเสมอไป

อาหารเสริมจำนวนมากสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้เมื่อบริโภคเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไป หรือบริโภคไม่ถูกเวลาไม่ถูกคน หรือรับประทานร่วมกับยาบางชนิด หรือรับประทานขณะตั้งครรภ์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพบว่ามีส่วนประกอบตามชื่อที่ระบุหรือตั้งไว้เพียงเล็กน้อย แต่อาจมีสารเคมี สารกําจัดศัตรูพืช แบคทีเรีย โลหะหนัก หรือแม้แต่ยาทางเภสัชกรรมประกอบอยู่ด้วยในผลิตภัณฑ์ ในเดือนเมษายน ปี 2008 มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์วิตามินซีแบรนด์หนึ่งในประเทศแคนาดา เพราะพบว่ามีปริมาณวิตามินเอมากเกินไป (Consumer Reports, Cohen)

ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังหลายแห่งสามารถผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับการควบคุมจากหน่วยงานภายนอก ดังนั้นการอวดอ้างคุณสมบัติและความปลอดภัยทั้งหมดของผลิตภัณฑ์จึงเกิดขึ้นจากตัวผู้ผลิตภายในเท่านั้น ผู้ผลิตอาหารเสริมสามารถออกตัวผลิตภัณฑ์โดยไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบใด ๆ เพียงแค่ส่งสำเนาภาษาบนฉลากให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น (FDA)

:: มองให้ลึกกว่าแค่ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ::
มีความกังวลเพิ่มเติมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดนั้นอาจไม่ฮาลาล จากคำตอบที่ได้รับจากเว็บไซต์ทางการของผลิตภัณฑ์เซ็นทรัม วิตามินรวม กล่าวว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นมีเจลาตินที่ได้จากสุกรเป็นส่วนประกอบ และแคปซูลวิตามินอีจำนวนมากก็มีแหล่งที่มาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญกว่าคุณภาพและความซื่อสัตย์ของผู้ผลิตคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีความจำเป็นต่อชีวิตจริงหรือไม่? สถาบัน Linus Pauling Institute ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยชั้นนำเกี่ยวกับการแพทย์แผนออร์โธโมเลคูลาร์ ตอบว่า “มีความจำเป็นจริง”

สถาบันใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อค้นคว้าวิจัยและติดตามการศึกษาเกี่ยวกับอาหารเสริม และเผยแพร่ความเข้าใจผ่านเว็บไซต์ และยังตีพิมพ์หนังสือวิชาการหลายเล่มที่แสดงผลของการศึกษาเหล่านี้ (Higdon)

อ้างอิงจากเว็บไซต์ของสถาบัน ขอบข่ายสำคัญของงานวิจัยนั้นจะครอบคลุมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติ มะเร็ง ภาวะชราภาพ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท” (Higdon)

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแพทย์หลายคนยอมรับว่าโภชนาการที่เหมาะสมนั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพที่ดี แต่ทุกคนก็ไม่เชื่อว่าการรับประทานอาหารเสริมนั้นต้องเป็นคำตอบเสมอไป

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระมัดระวังการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเสริมวิตามินและแร่ธาตุในอาหาร เนื่องจากวิตามินรวมอาจไม่ได้มีสารอาหารที่มีสัดส่วนสมดุลตามความต้องการของแต่ละบุคคล มันอาจช่วยในการลดสารอาหารบางอย่างออกจากร่างกาย ร่างกายอาจไม่สามารถดูดซึมอาหารเสริมและยาเม็ดวิตามินได้ดีพอ เนื่องจากสารอาหารที่อยู่ในอาหารและในอาหารเสริมบางชนิดอาจเป็นพิษต่อร่างกายหากบริโภคในปริมาณมาก

ตัวอย่างเช่น การศึกษาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาพบว่า น้ำมันปลาซึ่งเป็นอาหารเสริมยอดนิยม นอกจากจะมีคุณสมบัติต้านการอักเสบแล้ว ยังมีคุณสมบัติยับยั้งการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อไวรัสอีกด้วย

นอกจากนี้ อาหารเสริมที่บริโภคมากเกินไปอาจเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของร่างกายในการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น การบริโภคสังกะสีที่มากเกินไปจะเป็นอุปสรรคต่อการดูดซึมของธาตุเหล็กและทองแดง (Landro)

ในปี 2008 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health: NIH) ระงับการศึกษาเกี่ยวกับวิตามินอีเนื่องจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคเบาหวานในกลุ่มศึกษา เพราะพวกเขาได้รับการบำบัดผ่านการบริโภควิตามินอีในปริมาณที่มาก ในเดือนเมษายน ปี 2009 ทีมวิจัยระดับนานาชาติสนับสนุนโดยองค์การอิสระระหว่างประเทศที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร Cochrane Collaborative พบว่าการบริโภคสารต้านอนุมูลอิสระเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ และวิตามินอีสัมพันธ์กับช่วงอายุขัยของชีวิตที่สั้นลง! (ScoutNews; Armijo-Prewitt)

อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้คนไม่สามารถนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาแทนที่อาหารได้คือ ในอาหารนั้นมีสารต้านอนุมูลอิสระที่แตกต่างกันมากกว่า 20,000 ชนิด แต่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันค้นพบวิธีที่สามารถแยกแยะสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เพียงจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น (Hellerman)

นอกเหนือจากที่ไม่สามารถจำลองโภชนาการจากสารอาหารในอาหารได้สมบูรณ์แล้ว วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าองค์ประกอบใดของอาหารชนิดหนึ่งมีความสำคัญมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น วิทยาศาสตร์สามารถสกัดซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ซึ่งเป็นสารประกอบที่พบในบร็อกโคลีใส่ลงในยาเม็ด อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนี้ไม่ได้มีคุณสมบัติเหมือนกับการนำบร็อคโคลีทั้งหมดใส่ลงไปในยาเม็ด

เอมี สจ๊วต (Amy Stewart) ผู้เขียนหนังสือ ‘The Earth Moved: On the Remarkable Achievements of Earthworms’ (โลกหมุนด้วยความสำเร็จอันน่าทึ่งของไส้เดือน) เธอได้กล่าวประโยคง่าย ๆ ชวนคิดไว้ว่า “เส้นใยและน้ำส้มที่บรรจุอยู่ในผลส้ม ประโยชน์ของน้ำมันที่อยู่ในวอลนัต สารอาหารรอง (ธาตุอาหารเสริม) ที่อยู่ในผักใบเขียวแน่นอนว่าไม่สามารถหาได้ในรูปของยาเม็ด” (Stewart)

ในขณะที่วิทยาศาสตร์ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสารอาหารเหล่านี้ที่บรรจุอยู่ในอาหาร ท้ายที่สุดแล้ว อัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างอาหารเหล่านั้น เป็นผู้ทรงปรีชาญาณต่อความลับขององค์ประกอบในอาหารถึงประโยชน์และคุณสมบัติที่ซ่อนอยู่ อัลลอฮ์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ทรงกล่าวว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริโภคสิ่งที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า จากสิ่งดี ๆ ทั้งหลาย (ฏ็อยยิบ) และจงขอบคุณอัลลอฮ์เถิด หากเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่พวกเจ้าจักเป็นผู้เคารพสักการะ” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2: 172)

…………………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
บทความนี้ถอดมาจากแฟ้มเอกสารของนิตยสาร Science
ที่มา: aboutislam.net โดย ดร.คาริมา เบิร์นส์

อนาคตของเศรษฐกิจฮาลาลในยุค Technology disruption

#HalalEconomyคืออะไร

เศรษฐกิจฮาลาล หรือ Halal economy ไม่ได้ใช้เฉพาะกับอาหารการกินอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ แต่หมายถึง กิจการที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อ ศาสนพิธี สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ตลอดจนวิถีการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิม เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค การบริการ เศรษฐศาสตร์ฮาลาล และการเงินตามหลักศาสนบัติญัติอิสลาม เช่น การกู้ยืมเงินและการคิดอัตราผลกำไรแทนอัตราดอกเบี้ย การท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) แฟชั่น (Islamic fashion) ยา เครื่องสำอาง สื่อ รวมทั้งทีวี facebook และ youtube เป็นต้น

คาดการณ์ว่าในปี 2023 การเงินฮาลาลมีมูลค่าทางเศรษฐกิจโตขึ้น 7.7% อาหารฮาลาลจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6% แฟชั่นฮาลาลจะโตขึ้น 5% การท่องเที่ยวมุสลิมซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกมาตลอด จะเติบโตมากขึ้นถึง 7.5% สื่อฮาลาล (Halal media) ในอังกฤษเติบโตอย่างมากและทำรายได้เป็นจำนวนมาก ส่วนยาและเครื่องสำอางก็มีอัตราโตขึ้นถึง 7%

การให้การรับรองฮาลาลในเรื่องอาหาร อาจเป็นแค่ส่วนหนึ่ง เราอาจจะต้องมีการรับรองฮาลาลทางการเงิน เสื้อผ้า ยา เครื่องสำอาง ซึ่งปัจจุบันศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้ร่วมมือกันผลักดันมาตรฐานด้านต่าง ๆ อย่าง โรงแรม สปา เครื่องสำอาง และอีกมากมายที่กำลังตามมา ซึ่งทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลจึงมีความสำคัญ…

#ในยุคdisruption เทคโนโลยีมีผลอย่างไรต่ออุตสาหกรรมฮาลาล

Technology disruption คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ส่งผลกระทบต่อมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในเทคโนโลยี ธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคม เช่น

เทคโนโลยีการถ่ายภาพ จากที่เคยมีกล้องถ่ายกลับคลายมาเป็นมือถือที่มีประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการถ่ายภาพได้มากกว่าเดิม

ธุรกิจภาพยนตร์ จากเดิมที่ใช้ซีดีหรือดีวีดี กลายเป็นธุรกิจสตรีมมิ่งที่เป็นแอปพลิเคชันให้คนได้ดาวน์โหลด ทำให้สามารถดูหนังที่ไหนก็ได้

ธุรกิจเพลง ผู้ฟังที่เคยฟัง mp3 ในซีดี แต่แอปพลิเคชัน เช่น Spotify สามารถให้บริการเพลงได้อย่างไม่จำกัดทั้งเพลงในอดีตหรือเพลงฮิตในปัจจุบัน

ธุรกิจสิ่งพิมพ์ พบว่าวิธีการนำเสนอเนื้อหาจากเดิมที่เป็นกระดาษ กลายเป็นเนื้อหาบนโลกออนไลน์ อ่านข่าวจากมือถือ หรืออ่านหนังสือผ่าน Kindle หรือเรียกว่าธุรกิจ eBooks

ธุรกิจเกี่ยวกับการช็อปปิ้ง เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการขายของออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์

#Future of Halal Economy

ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกยุคปัจจุบันทำให้วิทยาศาสตร์ฮาลาลต้องปรับตัวมากขึ้น เช่น เนื้อสัตว์ทางเลือก เทคโนโลยีที่ใช้การตัดต่อยีนจากเนื้อสัตว์แล้วนำมาเพาะเลี้ยง หรือการใช้หุ่นยนต์สั่งอาหารทางออนไลน์กับหุ่นยนต์ หากเราต้องการสั่งอาหารฮาลาล หุ่นยนต์ที่ตอบโต้เราจะสามารถตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิมได้หรือไม่?

Halal Cryptocurrency เงินดิจิทัลถูกต้องตามวิถีฮาลาลหรือไม่? จ่ายซะกาตอย่างไร? เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมฮาลาลต้องเตรียมตัว หรือ Crowdfunding การระดมทุนในโลกออนไลน์ อย่างในอินโดนีเซีย อยากทำระดมทุนให้คนหาบ้านที่ไม่มีกำลังซื้อ Islamic Crowdfunding จะเป็นสิ่งที่เราได้ยินกันมากขึ้น คือเราไม่สามารถไปลงทุนกับธุรกิจที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุข ใครจะรับรองว่าธุรกิจนี้เป็น Islamic business ทำอย่างไรที่จะคัดสรรโปรเจกธุรกิจอิสลามเข้ามาเพื่อให้มีคนมาลงทุนมากขึ้น แล้วแพลตฟอร์มแบบไหนถูกต้องตามหลักชารีอะฮ์ …..นี่คือความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต…..

………………………………………………………………………………………….…….
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี

ถอดความ Halal Inspiration Talk: Future of Halal Economy: Technology Perspective
โดย ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การใช้แอลกอฮอล์เพื่อป้องกัน COVID-19 นญิสหรือไม่?

ด้วยสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยใคร่ขอความร่วมมือพี่น้องมุสลิมทุกคนได้ยึดแนวทางการปฏิบัติตนในสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยหนึ่งในข้อปฏิบัติคือการใช้แอลกอฮอล์และเจลแอลกอฮอล์ในการล้างมือก่อนเข้ามัสยิด จึงมีคำถามถึงประเด็นเรื่องการใช้แอลกอฮอล์เหล่านี้มากมายว่า จะเป็นสิ่งสกปรก (นญิส) และห้ามนำมาใช้หรือไม่? จึงขอนำเสนอประเภทต่างๆของแอลกอฮอล์ และไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นนญิสและห้ามนำมาใช้เสมอไป

ซึ่งคำว่า แอลกอฮอล์ในที่นี้หมายถึง เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่ถูกกล่าวไว้ใน อัลกุรอาน ด้วยคำว่า คอมัร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ และถูกนำมาใช้ในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ในสมัยโบราณมันถูกดื่มเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งทำมาจากการนำผลไม้ไปหมัก เช่น องุ่น และอินทผลัม ในปัจจุบันยังทำมาจากธัญพืช เช่น ข้าวไรท์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์และข้าวโพด ส่วนมันฝรั่งและหางนมก็ยังนำมาใช้ในการทำแอลกอฮอล์ได้อีกด้วย จึงทำให้เราทราบว่าเอทิลแอลกอฮอล์นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) เนื่องจากคุณสมบัติของมันทำให้เกิดการมึนเมา และนักวิชาการอิสลามบางกลุ่มยังมีทัศนะว่าเอทิลแอลกอฮอล์เป็นนญิสหากสัมผัสหรือเปรอะเปื้อนบนเสื้อผ้า ต้องมีการซักล้าง ทำความสะอาดแอลกอฮอล์ให้ออกไปอีกด้วย แต่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ทั้งหมดจะเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ ถึงแม้จะมีคำว่าแอลกอฮอล์ที่ปรากฏบนชื่อของสารเหล่านั้นก็ตาม อย่างเช่น

1. น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohols) ไม่ได้มีส่วนประกอบของเอทิลแอลกอฮอล์ แต่สารเหล่านี้ถูกเรียกว่า น้ำตาลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสูตรทางเคมีของสารนี้ น้ำตาลแอลกอฮอล์หรือโพลีออล (polyols) นั้นเป็นสารจำพวกคาร์โบไฮเดรต ซึ่งทั้งหมดนั้นฮาลาล ยกเว้น Erythritol (ที่ทำโดยผ่านกระบวนการหมักที่ก่อให้เกิดแอลกอฮอล์) และถ้า Lactittol นั้นทำจากหางนม (Whey) ที่ไม่ฮาลาล(ผลพลอยได้จากการทำชีทซึ่งอาจใช้เอนไซม์จากกระเพาะหมูในการตกตะกอน) ดังนั้นสารนี้ก็ไม่ฮาลาลเช่นเดียวกัน แต่ถ้า Lactitol ทำมาจากน้ำตาลซูโครส ดังนั้นสารนี้ก็จะฮาลาลด้วย

2. ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) ยังถูกใช้ในหลายกระบวนการเช่นเดียวกับในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้านและโลชั่นบำรุงผิว ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม”แอลกอฮอล์ขจัดคราบ” นี่คือแอลกอฮอล์ฮาลาล เนื่องจากสารนี้ไม่ก่อให้เกิดการมึนเมา

3. เมทิลแอลกอฮอล์ (methyl alcohol) หรือเมทานอลหรือแอลกอฮอล์ไม้ และยังเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาลอีกด้วย แต่เป็นแอลกอฮอล์ที่เป็นพิษถูกนำมาใช้เพื่อแปลงสภาพเอทานอลหรือแอลกอฮอล์เพื่อให้เอทิลแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติ

4. เบนซิล แอลกอฮอล์ (benzyl alcohol) นั้นเป็นสารประกอบอินทรีย์และนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในหมึก สี สารเคลือบเรซิน ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ฮาลาล

5. แอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติพิเศษ และแอลกอฮอล์สูญเสียสภาพธรรมชาติโดยสมบูรณ์ (Specially Denatured Alcohol and Completely Denatured alcohol) ซึ่งเป็นเอทิลแอลกอฮอล์ที่ถูกทำให้สูญเสียสภาพธรรมชาติจากเดิมด้วยการเติมสารเคมีบางอย่างเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ต้องการใช้เพื่อการบริโภค สารเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งนักวิชาการด้านศาสนา (อูลามะฮฺ) หลายท่านอนุญาตให้นำมาใช้กับผิวหนัง

6. บิวทิลแอลกอฮอล์ (Butyl alcohol) ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ ถูกนำมาใช้เป็นตัวทำละลายในสี

7. ซีทิล แอลกอฮอล์ (Cetyl alcohol) ก็ไม่ใช่ เอทิลแอลกอฮอล์ เช่นกัน แต่เป็นแอลกอฮอล์ของกรดไขมัน หรือ wax ซีทิล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู ซึ่งถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ ซีทิล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

8. สเตียรอล แอลกอฮอล์ (Stearyl alcohol) ซึ่งผลิตได้จากไขมันของกรดสเตียริก ไม่ใช่เอทิลแอลกอฮอล์ มันถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง สเตียรอล แอลกอฮอล์ จะฮาลาลก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันของกรดสเตียริกที่ได้จากพืช และจะหะรอมก็ต่อเมื่อได้มาจากไขมันหมู มีเพียงผู้ผลิตเท่านั้นที่สามารถรู้แหล่งที่มาของ สเตียรอล แอลกอฮอล์ ดังนั้นคุณควรสอบถามไปยังผู้ผลิต

…………………………………………………………………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจาก
https://www.skthai.org/th
http://www.muslimconsumergroup.com/
Riaz, M. N., and Chaudry M.M. (2004). Halal Food Production. CRC Press

การให้อาหารแก่สัตว์ : ประเด็นที่ไม่ควรมองข้าม

โดย ดร.มุฮัมมัด มุนีร เชาดรี, ดร.ชัยค์ญะอฟัร เอ็มอัลกุเดอรี, ดร.อะหมัด ฮุซเซน ศ็อกร์

มีความสับสนและคำถามมากมายเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ เราลองมาพิจารณาในบางประเด็นและชี้แจงคำถามบางส่วน

มีฟาร์มจำนวนมากที่มีการเติมอาหารเสริมโปรตีน (protein supplement) ในอาหารสัตว์ การปฏิบัติเหล่านั้นมิได้จำกัดเพียงแค่ฟาร์มขนาดใหญ่ที่เลี้ยงแบบเปิด แต่ยังรวมไปถึงฟาร์มที่เลี้ยงแบบปิด อาหารเสริมโปรตีนอาจใช้โดยเจ้าของฟาร์มที่อ้างว่าเลี้ยงโดยการปล่อยสัตว์ปีกและปศุสัตว์ให้อาหารอย่างอิสระ หรือการเลี้ยงนอกกรงนั่นเอง โปรตีนเสริมเหล่านี้ผลิตมาจากเศษเนื้อที่เหลือจากโรงฆ่าสัตว์และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆรวมอยู่ด้วย นักวิชาการและผู้บริโภคส่วนมากรู้สึกว่าการให้อาหารด้วยเศษเนื้อดังกล่าวแก่สัตว์ที่ฮาลาลไม่น่าจะเป็นที่อนุญาต บางส่วนเห็นว่าเทียบเท่ากับอัลญะลาละฮฺ (ซากสัตว์)

อัลญะลาละฮฺได้รับการนิยามว่าหมายถึงสัตว์ที่มักจะกินของเสียเป็นหลัก ซึ่งไม่มีความเห็นแตกต่างในความหมายของคำนี้ ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ห้ามรับประทานเนื้อและนมของสัตว์ญะลาละฮฺ ท่านยังห้ามแม้แต่การขี่มัน นักนิติศาสตร์อิสลามมีความเห็นแตกต่างกันต่อน้ำหนักของการห้าม ทรรศนะของอิมามชาฟิอีย์ถือว่าห้ามโดยเด็ดขาดที่จะรับประทานเนื้อของสัตว์ชนิดนี้ อย่างไรก็ตามทรรศนะของอิมามอบู หะนีฟะฮฺ, อิมามมาลิกและอิมามอะหมัด อิบนุฮันบัลถือว่าการห้ามนี้มิได้ถึงขั้นเด็ดขาดโดยถือเป็นมักรูฮฺ (ไม่ควรรับประทานแต่ไม่ถึงขั้นต้องห้าม)

สำหรับผู้ที่ถือว่าอาหารเสริมโปรตีนเหล่านี้เป็นญะลาละฮ์เชื่อว่าสัตว์ใดก็ตามที่กินอาหารเสริมนี้ถือว่าสัตว์ตัวนั้นเป็นญะลาละฮฺ เนื่องจากอาหารสัตว์ส่วนใหญ่ในตะวันตกมักจะมีสารกสัดจากสัตว์ พวกเขาสรุปว่ามุสลิมไม่สามารถบริโภคเนื้อที่มาจากอเมริกาเหนือ

ในความเป็นจริงสัตว์จำพวกญะลาละฮฺเป็นสัตว์ที่มักจะอยู่ใกล้ ๆ กับกองขยะหรือบ่อน้ำทิ้ง อาหารส่วนใหญ่ของพวกมันคือ “ญุลละฮ์” หมายถึงอุจจาระ ของเสียต่าง ๆ ตลอดจนซากสัตว์ตายหรืออื่น ๆ ที่คล้ายกัน พวกสัตว์เหล่านี้มักจะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เนื้อและนมตลอดจนกลิ่นประจำตัวที่แรง อย่างไรก็ตามหากสัตว์ญะลาละฮ์ได้รับการกักและให้อาหารที่สะอาด, เป็นอาหารทั่วไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นเนื้อของมันสามารถนำมารับประทานได้ ช่วงเวลาดังกล่าวอาจมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 วันจนไปถึง 40 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของสัตว์ตัวนั้น

สิ่งที่ควรทราบคือสัตว์ทุกชนิดจะกินสิ่งสกปรกหรือชองเสียบางอย่าง แม้ว่ามันจะกินหญ้าอยู่ในทุ่งหญ้าหรือทุ่งเลี้ยงสัตว์เป็นหลักก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองนักนิติศาสตร์จึงได้เน้นว่า ญะลาละฮฺเป็นสัตว์ที่กินของเสียเป็นหลัก อย่างไรก็ตามหากพวกมันกินอาหารเหล่านั้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวหรือกินเพียงเล็กน้อย เนื้อของมันจะไม่ถือว่าหะรอม จากหลักการนี้จะเห็นว่าการสรุปว่าเนื้อทั้งหมดที่มาจากอเมริกาเหนือเป็นญะลาละฮฺนั้นเป็นการสรุปที่เลยขอบเขตมากไป เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วอาหารของพวกมันเป็นธัญพืช หญ้าแห้งหรือเมล็ดพืชต่างๆ

เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดเปอร์เซ็นต์วัตถุดิบผลพลอยได้ (by-products) จากสัตว์ที่จะใช้ในอาหารสัตว์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่นชนิดของสัตว์ที่จะให้อาหาร จุดประสงค์ของการให้อาหาร ราคาของวัตถุดิบผลพลอยได้ คุณภาพของโปรตีนและลักษณะการเลี้ยงว่าเลี้ยงในคอกหรือที่ขุนอาหารสัตว์หรือไม่ นอกจากนั้นแล้วประเทศกำลังพัฒนาจะใช้ผลพลอยได้จากสัตว์น้อยมากในการให้อาหารและประเทศยุโรปบางประเทศได้ห้ามนำเข้าด้วยเหตุผลว่ามีการกระทำทารุณต่อสัตว์ เพื่อป้องกันการเกิดและระบาดของโรควัวบ้าในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามใช้โปรตีนส่วนใหญ่ที่มาจากสัตว์ในการให้อาหารแก่สัตว์เคี้ยวเอื้อง แต่อย่างไรก็ตามกฏหมายนี้มิได้นำไปใช้กับสัตว์ปีก

เมื่อวัตถุดิบผลพลอยได้จากสัตว์ถูกนำไปใช้ มันจะผ่านกระบวนการจัดเตรียมที่ใช้เวลานาน ซึ่งรวมไปถึงการการให้ความร้อนภายใต้แรงดันสูง การบดและการสกัด สัตว์ที่เป็นอาหารมนุษย์นี้จะไม่กินสัตว์ด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามพวกเขาอาจให้อาหารที่เป็นชิ้นเนื้อดิบๆจากวัตถุดิบผลพลอยได้แล้วผ่านการแปรรูปเป็นอาหารเสริมแล้วนำไปเติมในอาหารสัตว์ในปริมาณที่มากนัก

โดยสรุป การใช้วัตถุดิบผลพลอยได้เพื่อนำไปเป็นอาหารสัตว์มิได้ทำให้อาหารนั้นเป็น “ญุลละฮ์” ดังนั้นสัตว์ที่กินอาหารเหล่านี้ไม่ควรถูกมองว่าเป็น ญะลาละฮฺ ขณะที่มีความแตกต่างทางความเห็นว่าสัตว์ญะลาละฮ์หะรอมหรือไม่ ผู้บริโภคจำนวนมากไม่นิยมรับประทานสัตว์ที่อาหารของมันเป็นวัตถุดิบผลพลอยได้จากสัตว์ (เศษซาก) แม้แต่หน่วยงานด้านเกษตรกรรมของรัฐบาลบางหน่วยงานรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจเจอโรคเนื่องจากวัตถุดิบที่เติมในอาหารสัตว์ดังกล่าว จนทำให้นักวิชาการมุสลิมต้องออกมาฟัตวาในเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องยากในการที่จะรับรองเนื้อและสัตว์ปีกดังกล่าวให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ผู้บริโภคจำนวนมากจึงหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ออแกร์นิกเช่นเนื้อหรือสัตว์ปีกออแกร์นิก นี่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตราบใดที่กระบวนการจัดการมีความสอดคล้องกับแนวทางทีอิสลามได้กำหนดไว้ เมื่อผู้บริโภคหันมาบริโภคอาหารออแกร์นิกมากขึ้น กฏของอุปสงค์อุปทานจะเปลี่ยนทิศทางของตลาดจากเดิม สิ่งที่เราหวังไว้อย่างสูงคือการเปิดเผยกระบวนการในการผลิตอาหารเพื่อที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะสามารถตัดสินใจเลือกผ่านข้อมูลไม่ว่าจะยอมรับหรือปฎิเสธอาหารประเภทนี้

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ที่มา www.eat-halal.com


หลักการให้อาหารแก่สัตว์ในอิสลาม

“พวกเจ้าจงกินและจงดื่มจากปัจจัยยังชีพของอัลลอฮฺ และจงอย่าก่อกวนในผืนแผ่นดิน ในฐานะผู้บ่อนทำลาย” (อัล บะเกาะเราะฮฺ 2:60)

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มุสลิมในอเมริกาเหนือเปิดร้านอาหารที่ยึดตามหลักการอิสลามเพิ่มจำนวนสูงขึ้น หากขับไปตามถนนดันดัส (Dundas) ในมิสซิสซอกา (Mississauga) ประเทศแคนาดา หรือจะเดินเล่นที่เดียร์บอร์น (Dearborn) มิชิแกน (Michigan) คุณจะเห็นร้านอาหารและร้านขายเนื้อสัตว์ฮาลาลนับร้อยแห่งในพื้นที่เหล่านี้

ในทศวรรษที่ผ่านมา บางรัฐอย่าง นิวเจอร์ซี (new jersey) กลายเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฏหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารฮาลาล กฏหมายได้บัญญัติเพื่อเป็นแนวทางแก่พ่อค้าหรือผู้จัดจำหน่ายที่จะต้องปฏิบัติตามเมื่อมีฉลากฮาลาลติดบนสินค้า

ในปี 2003 ทางหน่วยงานในแคนาดาได้ประกาศว่า วัวอายุ 8 ปี ในรัฐแอลเบอร์ตา Alberta ได้ล้มตายจากโรควัวบ้า(Bovine Spongiform Encephalopathy : BSE) ทางด้านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของแคนาดา นาย Lyle Vanclief ได้เข้ามาควบคุมสถานการณ์ทันที เพื่อยืนยันว่า วัวในรัฐแอลเบอร์ตา(Alberta) นั้นจะไม่หลุดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารได้

วัวและปศุสัตว์นับพันในแคนาดาได้ถูกทำลายในเวลาต่อมา ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐออเมริกาและประเทศอื่น ๆ ได้สั่งห้ามการนำเข้าเนื้อวัวจากแคนาดา

ขณะที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า วัวหนึ่งในล้านตัวอาจมีการเจริญเติบโตของโรควัวบ้าเมื่อโปรตีนในสมองของวัวเป็นพิษ การระบาดของโรควัวบ้าในประเทศอังกฤษในช่วงปลายปี 1980 เป็นผลมาจากการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง วัวและปศุสัตว์ถูกเลี้ยงโดยให้กินซากสัตว์จากฟาร์มอื่นเป็นอาหาร

เมื่อมนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีโรควัวบ้าเข้าสู่ร่างกาย พวกเขาก็จะติดเชื้อ และจะเป็นโรคสมองเป็นเป็นรูพรุนหรือโรคสมองฝ่อ (Creutzfeldt-Jakob disease) จะกลายเป็นอัมพาตจนเสียชีวิตในที่สุด

ตั้งแต่ปี 1997 ประเทศแคนาดาได้สั่งห้ามการให้อาหารสัตว์ที่จำพวกโปรตีนที่มาจากสัตว์เคี้ยวเอื้องด้วยกันเอง (เช่น วัว ควาย แกะ แพะ กระทิง หรือกวาง) แก่สัตว์ประเภทอื่น

อาหารที่ถูกห้ามแก่ปศุสัตว์หรือสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องนั้นจะมีคำเตือนเขียนไว้ว่า “ห้ามให้แก่วัว แกะ กวาง หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่น ๆ กินเป็นอาหาร”

การคาดการณ์ที่จะเกิดโรควัวบ้าในปศุสัตว์ของแคนาดาและการกักบริเวณวัวนับพันตัว นับเป็นการเตือนให้เท่าทันภัยแก่ชุมชนมุสลิมทั้งแคนาดาเป็นอย่างดี

ในขณะที่มาตรฐานฮาลาลมีการตรวจสอบและวินิจฉัยการเชือดวัวตามบทบัญญัติอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่กลับไม่มีกลไกเพื่อตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ในแต่ละวันอย่างเป็นทางการจนถึงทุกวันนี้

ความจริงแล้ว มุสลิมจำนวนมากไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวิธีการจำแนกอาหารฮาลาลมากนัก ตามกฏหมายชะรีอะฮฺนั้นยังมีเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องการตรวจสอบวิธีการเชือดสัตว์ที่ถูกต้องเสียอีก

ตามกฏชะรีอะฮฺ สัตว์ที่ถูกเชือดจะถือว่าฮาลาลก็ต่อเมื่ออาหารที่ถูกให้นั้นฮาลาล ดังนั้นการให้อาหารสัตว์จึงมีบทบาทสำคัญในการจำแนกอาหารฮาลาล

อาหารสัตว์จะต้องมาจากพืชผัก ไม่อนุญาติให้มีการให้อาหารจากเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ ยาโกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะยาโกรทฮอร์โมนทำมาจากสุกร การทำให้สลบในสัตว์ที่ทำกันอย่างแพร่หลายนั้นควรหลีกเลี่ยง เลือดก็ต้องมีการไหลออกมาให้หมดจากตัวสัตว์ที่ถูกเชือด

เชค อะหมัด คุตตี้ ผู้รู้ชาวแคนาดากล่าวว่า ประเด็นปัญหาการให้อาหารของปศุสัตว์นั้น ไม่เคยเกิดขึ้นกับตนเองหรือหน่วยงานมุสลิมก่อนหน้าจะมีการระบาดของโรควัวบ้า (BSE)

“ปัญหานี้มีความท้าทายต่อเราผู้ที่เป็นมุสลิมที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่ามาตรฐานฮาลาลของเรานั้นสามารถดำเนินการได้ไม่เฉพาะในเรื่องการเชือดสัตว์เท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญมากในเรื่องของการเลื้ยงดูและการขยายพันธุ์”

เชค อะหมัด คุตตี้ กล่าวว่า การให้อาหารสัตว์เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง และควรให้ความสำคัญเหนือกว่าเรื่องถกเถียงต่างๆ ที่อาจนำไปสู่การพิจารณาว่าฮาลาลหรือไม่

“การให้อาหารสัตว์มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่มุมทางกฏหมายชะรีอะฮฺ มากกว่าปัญหาที่มุสลิมได้ถกเถียงกันในเรื่องการเชือดด้วยเครื่องจักรดีกว่าการเชือดด้วยมือหรือไม่ ? การทำให้สัตว์สลบก่อนเชือดดีกว่าหรือไม่? มุสลิมสามารถบริโภคสัตว์จากการเชือดของชาวคริสเตียนหรือยิวได้หรือไม่?” เชค อะหมัด คุตตี้กล่าว

อะหมัด ศ็อกร์ จากแคลิฟอเนีย ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) และผู้ประพันธ์หนังสือ “Understanding Halal Food”และ “A Muslim Guide to Food Ingredients” ได้กล่าวในเว็บไซท์ soundvision.com ว่า มีเนื้อฮาลาลบางส่วนที่ไม่ฮาลาล โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะอาหารที่สัตว์ได้กินเข้าไป

“ศาสนาอิสลามได้บัญญัติว่า หากสัตว์ตัวหนึ่งได้รับเนื้อสดหรือเลือดเข้าไปขณะตัวของมันนั้นฮาลาล มันจะกลายเป็นสิ่งที่หะรอม และเพื่อให้มันฮาลาล ท่านจะต้องกักบริเวณสัตว์ตัวนั้นเป็นเวลา 40 วัน ก่อนที่จะนำมาเชือดเพื่อทำให้มันฮาลาล”

:: ชุมชนมุสลิมได้ดำเนินการใด ๆ บ้างหรือไม่ ในการตรวจสอบการให้อาหารสัตว์ ? ::
ชุมชนมุสลิมในออนตาริโอได้รับการกำชับไม่ให้เกิดการไขว้เขวระหว่างปัญหาของโรควัวบ้ากับเรื่องของฮาลาล ซึ่งมีวัวเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่ติดเชื้อจากโรควัวบ้าในพื้นที่แถบอเมริกาเหนือ (Alberra) จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งแคนาดาและอเมริกาได้อนุญาตอย่างลับ ๆ ให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารของสัตว์เป็นโดยในบางพื้นที่มีการเก็บค่าบริการ

ปี 2003 วอร์ชิงตันโพสท์รายงานว่า เกิดช่องโหว่ที่ปล่อยให้นำสัตว์ที่ตายแล้วมาบดเป็นผงและนำมาเป็นอาหารแก่ปศุสัตว์

การประกาศห้ามในปี 1997 ไม่ได้ช่วยป้องกันการนำโปรตีนจากสัตว์ที่ตายแล้วมาเป็นอาหารแก่สัตว์ปีกและสุกร

วันที่ 28 พฤษภาคม 2003 สำนักงานตรวจสอบอาหารแห่งแคนาดารายงานว่า “เนื้อและกระดูกของวัวที่อาจติดเชื้อที่ถูกผลิตเป็นอาหารสุนัขนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์จากการสัมผัสสินค้า”

ฟาร์มกักกันในบริติชโคลัมเบีย 3 แห่ง ซึ่งอยู่ใน “ระหว่างการตรวจสอบอาหารสัตว์” มีสัตว์ (60 ตัว) ถูกกำจัดเนื่องจาก ไม่สามารถสรุปได้ว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องในสถานที่เหล่านี่สัมผัสกับอาหารของสัตว์ปีกหรือไม่”

“เราในฐานะมุสลิมได้รับอนุญาติเพียงแค่ให้อาหารวัวหรือสัตว์เลื้ยงที่เป็นไปตามธรรมชาติของสัตว์แต่ละประเภท ไม่สามารถนำเศษซากของสัตว์อื่นหรืออาหารที่ทำมาจากไขมันสัตว์นำมาเป็นอาหารของมันได้”

ปัญหาของโรควัวบ้าจะยังคงเปิดพื้นที่ในการถกเถียงกันในหมู่มุสลิมแคนาดา ตราบใดที่ยังให้ความสำคัญกับการกำหนดวิธีการเชือดมากกว่าการพิจารณาเนื้อที่ฮาลาล

………………………………………
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง
ข้อมูลจาก aboutislam.net

เส้นผมมนุษย์ในอาหาร

  จะเป็นอย่างไรหากคุณเห็นเส้นผมในอาหารที่คุณรับประทาน ? คุณคงขยะแขยง แต่ทว่าพวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเส้นผมมนุษย์ได้เข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร และสารในคำถามนี้คือ L-cysteine

L-cysteine คืออะไร?

   L-cysteine เป็นกรดอะมิโน ที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เภสัชกรรมและเครื่องสำอาง ในการทำขนมปัง L-cysteine เป็นตัวช่วยในการลดระยะเวลาการเกิดโด (การพองตัวของแป้ง) ในแป้ง ยับยั้งการหดตัวของหน้าพิซซ่าหลังจากที่เป็นแผ่นเรียบ และช่วยยับยั้งการหดตัวของโดของผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ในขณะที่ผ่านการอบ อย่างไรก็ตาม L-cysteine ยังเป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร สำหรับผลิตเป็นสารให้กลิ่นเนื้อ (meat flavour) ในผลิตภัณฑ์ จำพวก ซุปก้อนถึงแม้ว่า L-cysteine อาจจะมีอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร แต่สารเหล่านี้ไม่ถูกระบุว่าเป็นส่วนประกอบในอาหาร เนื่องจากสารนี้ไม่ถือว่าเป็นสารเจือปนอาหาร แต่เป็นตัวช่วยในกระบวนการผลิต

แหล่งที่มาของ L-cysteine
ปัจจุบันมากกว่า 80% ของ L-cysteine ที่ถูกนำมาใช้ทั่วโลกนั้น ถูกผลิตขึ้นในประเทศจีน ซึ่งสกัดมาจากเส้นผมมนุษย์และขนไก่ เส้นผมมนุษย์อุดมไปด้วยกรดอะมิโน 2 ชนิด คือ L-cysteine และ L-tyrosin มี L-cysteine ประมาณ 14 % ในเส้นผมมนุษย์ ในระหว่างการสกัด L-cysteine นั้นโปรตีน keratin จากเส้นผมมนุษย์จะถูกย่อยด้วยกรดไฮโดรคลอริกและน้ำ หลังจากผ่านหลายๆขั้นตอนของการสกัดโปรตีน Keratin ก็ได้กลายเป็น L-cysteine

ศาสนาอิสลามมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับ L-cysteine

 สอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม(ชารีอะฮฺ) การบริโภคส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)สำหรับมุสลิม จากการสัมภาษณ์กับมุฟตีของรัฐเปรัก (Perak)  Dato’ Seri Dr Harussani bin Zakeria ทำให้ทราบว่า ทุกๆส่วนของร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่ล่วงละเมิดไม่ได้และควรเคารพ ดังนั้น อาหารที่มี L-cysteine เป็นส่วนประกอบเป็นสิ่งที่น่าสงสัยเนื่องจาก L-cysteine อาจจะได้มาจากเส้นผมของมนุษย์ก็เป็นได้

    ในประเด็นเรื่องนี้ ผู้บริโภคมุสลิมควรมีความรอบคอบเมื่อพวกเขาต้องการเลือกซื้อสินค้าประเภทอาหารในตลาด โดยเฉพาะอาหารที่อาจมี L-cysteine (เช่น ขนมปัง, พิซซ่าและอาหารที่มีกลิ่นเนื้อ)

สำหรับสิ่งที่ทุกคนควรทราบคือ L-cysteine ที่ใช้ในอาหารที่คุณซื้อนั้น อาจมาจากเส้นผมมนุษย์ และอาจไม่ถูกระบุบนฉลากในส่วนประกอบอาหาร

………………………………………..
ที่มา : จากหนังสือ 
Halal haram: an important book for Muslim consumers : a guide by Consumers Association of Penang

เครื่องมือตรวจจับเนื้อสุกรแบบเคลื่อนที่

เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ฮาลาล (HPRI) มหาวิทยาลัยปุตรามาเลเซีย ได้พัฒนาเครื่องมือพิเศษเพื่อใช้ตรวจจับ DNA จากเนื้อหมู ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวมีชื่อว่า “HaFyS”  เพื่อนำมาใช้ในการทวนสอบย้อนกลับระบบการผลิตอาหารฮาลาล โดยสามารถตรวจหา DNAจากเนื้อหมูทั้งในเนื้อดิบและเนื้อปรุงสุก นี่คือเครื่องมือตรวจจับเนื้อสุกรแบบเคลื่อนที่เครื่องแรกของโลกที่สามารถตรวจติดตามร่องรอยการปนเปื้อนจากเนื้อสุกร เช่น ในอาหาร เครื่องสำอางและวัตถุดิบอื่นๆที่สามารถนำมาสกัด ดีเอ็นเอได้

                อุปกรณ์ทางด้านเทคโนโลยีที่ใช้ประโยชน์ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ทราบกันว่าเป็น polymerase chain reaction (PCR) และเป็นเครื่องกลไกที่ได้รับการพัฒนาในอเมริกา เดิมใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค ได้แก่ มาลาเรีย ไข้เลือดออก และไข้หวัดใหญ่ องค์ประกอบที่มีอยู่ในระบบเจ้าเครื่อง HaFyS เป็นเครื่องวิเคราะห์ real-time PCR แบบเคลื่อนย้ายได้สะดวก  test module ใช้แล้วทิ้ง สาร lyophilized PCR และ ชุดสกัดDNA ความแตกต่างระหว่างเครื่องมือ HaFyS และเครื่อง PCR ทั่วไปนั่นคือ มันบรรจุ primer และ probe สำหรับตรวจจับ DNA จากเนื้อหมูโดยเฉพาะ อุปกรณ์นี้ยังแสดงให้เห็นถึงข้อดีหลายอย่าง เช่น สามารถตรวจสอบได้ทั้งทางตรง (ไม่ต้องสกัด DNA) และทางอ้อม(ด้วยการสกัด DNA) รวดเร็ว สามารถส่งข้อมูลหลายๆตัวได้พร้อมกัน ง่ายต่อการใช้งาน เชื่อถือได้สำหรับการแยกแขนงสปีชีย์ของสัตว์ และยังแข็งแรงทนทานอีกด้วย

การใช้เครื่อง ELECTRONIC NOSE ในการตรวจจับไขมันสุกร

เครื่องมือนี้ประกอบด้วยการผสมผสานของชุดเซ็นเซอร์เคมีอิเล็กทรอนิกส์และระบบการจดจำรูปแบบกลิ่นที่มีความสามารถในการแยกแยะกลิ่นเชิงเดี่ยวและกลิ่นที่มีความซับซ้อน รายละเอียดของกลิ่นได้ถูกนำเสนอเป็นรูปภาพที่เฉพาะเจาะจงในรูปแบบ VaporPrint ที่จะให้คำอธิบายลักษณะของกลิ่น ภาพนี้จะช่วยให้ผู้ใช้เครื่องแยกแยะระหว่างกลิ่นที่ต้องการและกลิ่นที่ไม่ต้องการในความเข้มข้นที่แตกต่างกัน  ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นที่สถาบันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล ด้วยการใช้เครื่อง Electronic Nose  ที่มีพื้นผิวในการตรวจจับแบบ acoustic wave sensor เพื่อตรวจจับการเจือปนของน้ำมันหมูในน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร

ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่ารูปแบบการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นมีความสัมพันธ์กับจำนวนที่เพิ่มขึ้นของน้ำมันหมูที่ปรากฏในตัวอย่างอาหาร  ประโยชน์ของเครื่องมือนี้คือ มันไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนการเตรียมการก่อนการตรวจสอบ เป็นวิธีการตรวจสอบที่รวดเร็ว (ภายใน 15 วินาที) และไม่จำเป็นต้องใช้ตัวทำละลายสารเคมีใด ๆ  ผลการศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า Peak ที่มีความจำเพาะจาก chromatogram ของเครื่อง Electronic Nose สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดการมีอยู่ของน้ำมันหมูในตัวอย่างอาหาร ซึ่งสามารถตรวจพบได้ที่ระดับต่ำสุดที่ 1%

…………………………………………………………………………………………………………..
งานวิจัยที่ผ่านมา

  • Detection of lard in food product model (chocolate, cake and biscuit), RBD palm oil, fried and bakery products using FTIR spectroscopy, DSC, ELISA and electronic nose
  • Screening and classification of animal and plant based oil and fat samples using FTIR spectroscopy
  • Detection of alcohol in bicarbonate drinks using GC and GC-MS techniques
  • Characterization of animal based gelatin using HPLC and electrophoresis

ที่มา :  Halal Products Research Institute.  Scholar’s Note.  Info Halal. Special Edition 2007

ผลิตภัณฑ์ยาปลอดหมู

  ถึงเวลานี้ประชากรโลกไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านคนแล้ว ในจำนวนนี้มีอยู่กว่า 3 พันล้านคนที่ไม่บริโภคสุกรหรือหมู กลุ่มที่รู้จักกันดีที่สุดคือมุสลิมหรือคนที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งหลักการในศาสนาห้ามการบริโภคหมู คนกลุ่มนี้มีอยู่ 2 พันล้านคนทั่วโลก กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่บริโภคหมูคือพวกที่ถือมังสะวิรัติ กลุ่มนี้อาจนับถือศาสนาหรือความเชื่ออะไรก็ได้แต่ไม่นับรวมมุสลิมบางคนที่ถือมังสะวิรัติรวมแล้วมีประมาณ 1 พันล้านคน นอกจากนี้ยังมีคนยิวซึ่งไม่บริโภคหมูเหมือนกัน กลุ่มหลังนี้มีไม่มากนักแค่ 14 ล้านคนเท่านั้น

          ถึงแม้ไม่บริโภคหมูแต่ภายใต้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโลก ความซับซ้อนของกระบวนการผลิตซึ่งผู้ค้นคว้าพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมทั้งผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นคนที่บริโภคหมูทั้งฝรั่ง ทั้งญี่ปุ่นทั้งจีน จึงบอกได้เลยว่ายากเหลือเกินที่คนที่ไม่บริโภคหมูจะหลีกเลี่ยงหมูไปได้ เพราะมีผลิตภัณฑ์มากมายทั้งที่เป็นอาหาร ยา รวมทั้งผลิตภัณฑ์บริโภคอีกจำนวนมหาศาลที่มีหมูเป็นองค์ประกอบ ที่อยู่ในรูปเนื้อหมูเห็นกันจะจะเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในรูปสารเคมีที่สกัดได้จากหมู จะมองด้วยตาเปล่าอย่างไรก็มองไม่เห็น  

         ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของหมูในรูปแบบใดแบบหนึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมาแล้ว ย่อมแน่นอนที่ผู้คนทั้งโลกมีโอกาสได้ใช้ด้วยความไม่รู้หรืออาจจะด้วยหาหนทางเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต ส่งผลให้สุดท้ายแล้วผู้ที่ปฏิเสธหมูเองต้องบริโภคหมูด้วยความจำใจ กระทั่งกลายเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคที่พบได้บ่อย เรื่องราวเช่นนี้ดูเหมือนกำลังจะได้รับการแก้ไขแล้วล่ะครับ ไม่ใช่เพราะคนที่ไม่บริโภคหมูลุกขึ้นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะนักพัฒนาที่บริโภคหมูนั่นแหละเริ่มตระหนักถึงปัญหาและพยายามแก้ไข

             ตัวอย่างปัญหาที่ว่านี้ที่เห็นชัดเจนและเจอะเจอบ่อยที่สุดคือผลิตภัณฑ์ยา เนื่องจากเนื้อเยื่อของหมูมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุดอีกทั้งการผลิตหมูจำนวนมากในฟาร์มใช้เวลาน้อย ต้นทุนต่ำ ความนิยมใช้เนื้อเยื่อและอวัยวะหมูเพื่อพัฒนาและผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จึงมีสูง เกิดเป็นเวชภัณฑ์จำนวนมากมายที่วางขายกันกลาดเกลื่อนในตลาด เห็นกันบ่อยที่สุดคือเจลาตินจากหนังหมูที่นิยมนำมาใช้ผลิตแคปซูลยาทั้งชนิดแข็งและชนิดนิ่ม ฮอร์โมนอินสุลิน เอนไซม์รวมทั้งสารชีวเคมีสารพัดชนิดที่สกัดมาจากอวัยวะต่างๆของหมู ทั้งตับ ไต ตับอ่อน หัวใจ ม้าม ลำไส้ หนัง เนื้อ เลือด สมอง ของหมู

       การหาเนื้อเยื่อสัตว์อื่นที่ไม่ใช่หมูหรือแม้กระทั่งพืชเพื่อใช้ทดแทนหมูมีการทำกันนานแล้วแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมสักเท่าไหร่ เนื่องจากคุณภาพต่ำทั้งราคายังแพงมากอีกต่างหาก อย่างเช่น เจลาตินหรือคอลลาเจนจากกระดูกและเนื้อเยื่อของวัวควายหรือแพะแกะหรือแม้กระทั่งจากปลาที่พบได้มากขึ้น ปัญหาคือหาได้ยาก ราคาแพงทั้งยังมีคุณภาพสู้ผลิตภัณฑ์จากหมูไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักวิทยาศาสตร์จะหมดความพยายาม เนื่องจากหากพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลอดหมูขึ้นมาได้สำเร็จด้วยคุณภาพที่ดี ราคาถูก ตลาดใหญ่มหาศาลรออยู่เบื้องหน้าแล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิจัยจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนหมูกันมากขึ้น

          ดร.เจียน หลิว (Jian Liu) นักวิจัยด้านเคมีทางการแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์ท แคโรไลน่า เมืองชาเปลฮิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา สนใจพัฒนาสารเฮปารินซึ่งเป็นยาที่ใช้ในทางการแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดจับตัวเป็นก้อนใช้กันมากในโรงพยาบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้องผ่าตัด นอกจากนี้ยังนิยมใช้เป็นยารักษาบางโรคบาง อย่างเช่น หอบหืด สารเฮปารินที่ว่านี้อาจผลิตมาจากปอดของวัวก็ได้ แต่ที่นิยมกันมากที่สุดคือเฮปารินที่สกัดจากลำไส้ของหมู

          ปัจจุบันความต้องการใช้เฮปารินมีสูง ทำให้ต้องใช้หมูถึง 700 ล้านตัวต่อปี หมูเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากประเทศจีนที่มักมีปัญหาด้านคุณภาพการผลิต เมื่อปี 2008 เฮปารินหมูจากประเทศจีนคร่าชีวิตผู้ป่วยไปกว่า 200 รายทั่วโลก ส่งผลให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์เริ่มเรียกร้องสารทดแทนเฮปารินมากขึ้น เคยมีผู้พัฒนาสารเฮปารินสังเคราะห์ขึ้นมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่มีปัญหาคือราคาแพงมาก 50-60 เหรียญสหรัฐต่อโดสหรือการใช้หนึ่งครั้งเมื่อเทียบกับเฮปารินจากลำไส้หมูที่มีราคาเพียง 5-35 เหรียญสหรัฐ สู้อุตส่าห์ผลิตขึ้นมาแล้วแต่ราคาแพงขนาดนั้นก็แทบไม่มีใครอยากจะใช้

         งานพัฒนาวิจัยที่ ดร.หลิวนำเสนอและตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Science ปลายปี 2011 คือการต่อยอดงานสังเคราะห์เฮปารินที่นักวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้ลดขั้นตอนทางเคมีจาก 50 ขั้นตอนลงเหลือแค่ 12 ขั้นตอน เพียงแต่เป็นขั้นตอนทางเคมีล้วนๆ ดร.หลิวหันมาใช้แบคทีเรียตัดแต่งพันธุกรรมเป็นตัวทำงานตัดหมู่ซัลเฟตออกจากโมเลกุล โดยแค่กำหนดสารตั้งต้นรวมทั้งกำหนดเอนไซม์และโคแฟคเตอร์จากนั้นจึงใช้แบคทีเรียตัดแต่งพันธุกรรมเป็นตัวทำงานในขั้นตอนต่างๆ ผลคืดงานเดินหน้าไปได้เร็วกว่าการสังเคราะห์ทางเคมีมาก แถมราคายังถูกกว่ากันแยะ

       การสังเคราะห์โดยใช้แบคทีเรียที่ว่านี้เรียกกันว่าการสังเคราะห์แบบเอนไซม์และเคมีหรือ chemoenzymatic มีประสิทธิภาพในการผลิตยาได้มากถึง 40% ค่าใช้จ่ายลดลงมหาศาล สารสุดท้ายที่ผลิตขึ้นมาได้คือ Arixta ที่มีโครงสร้างคล้ายอินสุลิน ทดสอบในสัตว์ทดลอง แล้วพบว่าปลอดภัยทั้งยังแสดงคุณสมบัติของเฮปารินได้ดี แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องทำการทดสอบต่อในมนุษย์ว่าประสิทธิภาพเป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือเปล่า

            หากทดสอบในมนุษย์ได้ผลตามที่ต้องการแล้ว สิ่งที่ต้องพัฒนาขั้นต่อไปคือการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมให้ได้ปริมาณมากโดยยังมีคุณภาพเทียบเท่ากับเฮปารินที่ผลิตขึ้นในห้องทดลอง งานหลังนี้ท้าทายสุดๆ ดร.หลิวกล่าวยืนยันว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นการเปิดประตู บานใหม่ให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาปลอดหมู ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมเห็นประโยชน์รวมถึงขนาดของตลาดในอนาคตแล้วคงเข้ามาช่วยทางด้านการพัฒนาทำให้การผลิตยามีประสิทธิภาพมากขึ้น

          ดร.เจเรมี เทิร์นบูล (Jeremy Turnbull) ผู้เชี่ยวชาญด้านเฮปามินแห่งมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล สหราชอาณาจักร ให้ข้อมูลสนับสนุนว่าหากภาคอุตสาหกรรมโดดเข้ามาช่วยเต็มที่เชื่อได้ว่าการใช้เนื้อเยื่อสัตว์ในการผลิตยาสารพัดชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เนื้อเยื่อจากหมู คงถึงเวลาสิ้นสุดลงภายในเวลาแค่สิบปี ยิ่งไปกว่านั้นคือการรักษาสารพัดโรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งนอกจากจะพัฒนาได้ยาใหม่ๆเข้ามาช่วยในการรักษาแล้ว ยังทำให้ยาเหล่านั้นมีราคาถูกลงอย่างมากอีกต่างหาก อันเป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจอยู่แล้ว

            ปฏิกิริยาผสมผสานเอนไซม์-เคมีที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้จะกลายเป็นทางออกในการแก้ปัญหายาที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากหมูที่กลายเป็นปัญหาสำหรับสังคมที่รังเกียจหมูมาโดยตลอด หลังจากประสบความสำเร็จกับตลาดยาแล้ว สารเคมีที่พัฒนาขึ้นจะกลายเป็นทางออกให้กับ อุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่นๆพร้อมกันไปด้วย โลกในอนาคตคงจะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ไม่บริโภคหมูได้เสียที

………………………………………………………………………………………….
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
13 พฤศจิกายน 2554
ที่มา : http://www.halalscience.org/th/main2011/content.php?page=sub&category=85&id=980

มหัศจรรย์ ประเทศจีน !!! ล้ำโลกด้วยการผลิตเนื้อวัว(ปลอม) จากเนื้อหมูธรรมดา ได้ไง ??

มีข่าวว่า ในเมือง Hefei ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑล Anhui ทางตะวันออกของประเทศจีน ได้มีการพบ ” วางขายกันอย่างเปิดเผยในตลาด สารสกัดดังกล่าว ผลิตออกมา เพื่อช่วยในการ “ปลอมแปลง” เนื้อหมู หรือ เนื้อไก่ ให้ดูคล้าย “เนื้อวัว” (ในประเทศจีน เนื้อวัวมีราคาแพงกว่าเนื้อหมูมาก ซึ่งก็คงเป็นเช่นเดียวกับประเทศอื่นในโลก) ประชาชนในเมือง เปิดเผยว่า สารสกัดดังกล่าว นอกจากใช้ในการผลิต “เนื้อเส้น” แล้ว ยังใช้กันอย่างกว้างขวางในร้านอาหารขนาดเล็กแพทย์ให้ความเห็นว่า การนำสารสกัดและสารปรุงแต่งมาใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะมีผลต่อสุขภาพ และอาจเป็นเหตุของโรคมะเร็งได้

เมื่อเดือนเมษายน นักข่าว จึงได้ไปสังเกตุการทดลอง เพื่อแสดงให้เห็นว่า จะสามารถเปลี่ยนเนื้อหมู ให้เป็น “เนื้อวัว” ภายใน 90 นาทีได้อย่างไร

สารสกัดจากเนื้อวัวชั้นดี ซึ่งใช้เพื่อเปลี่ยนเนื้อหมูให้เป็นเนื้อวัว

สารปรุงแต่ง เพื่อกำจัดรสและกลิ่นของเนื้อหมู ถุงเล็กๆแค่นี้ สามารถใช้กับเนื้อหมูได้ถึง 50 กิโลกรัม

ภายหลังจากเติมสารสกัดจากเนื้อวัว และสารปรุงแต่งแล้ว ทำการหมักเนื้อหมู

การเปรียบเทียบหมูในสภวะปรกติ กับหมู ที่ผ่านขั้นตอนการ “ปลอมแปลง” แล้ว

ภายหลังจากการหุง แล้วนำเนื้อหมูจริง และ “เนื้อวัวปลอม” มาเทียบกัน เนื้อหมูที่มีการเติมสารปรุงแต่ง ดูคล้ายกับเนื้อวัวมาก

เนื้อหมู และ “เนื้อวัวปลอม” ถ่ายภาพร่วมกับ อุปกรณ์ในการปลอมแปลง

……………………………………………………………………………………………………….
ที่มา : สืบค้นจาก http://www.oknation.net/blog/StayFoolish/2011/04/29/entry-1  วันที่ 31 พฤษภาคม 2554