ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากหนังหมู

 มุสลิมอาจไม่รู้ว่าเจ๊กเก็ตที่เขากำลังสวม หรือรองเท้า หรือกระเป๋าสตางค์ที่พกพาหรือเครื่องหนัง อื่นๆ ที่ได้ทำมาจากหนังหมู เราพบสินค้าในประเภทเครื่องหนังดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์เครื่องหนังโดยทั่วไป: เครื่องหนังทั่วไปที่เป็นเครื่องหนังจากจีน หรือประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆ แต่มันยังพบในเครื่องหนังจากยุโรปและและประเทศที่พัฒนาแล้ว บางชิ้นเป็นตราสินค้าที่มีราคาแพง

2. รองเท้าหนังและรองเท้ากีฬา: รองเท้าทั้งใบหรือส่วนที่บุภายในรองเท้าอาจทำมาจากหนังหมู

3. เสื้อแจ็กเกต: แจ็กเกตหนังกลับที่เป็นขายาวหรือเอวกว้าง หรือเป็นเสื้อแขนยาวหรือเสื้อไม่มีแขน

4. กระเป๋าสะตังค์: กระเป๋าผู้ชายหรือผู้หญิง ทั้งใบหรือแทบจะทั้งใบภายในอาจจะบุด้วยหนังที่ทำมาจากหนังหมู

5. กระเป๋าสะพาย: กระเป๋าสะพายสำหรับผู้ชายและผู้หญิงโดยทั่วไปแล้วด้านในบุด้วยเยื่อที่ทำมาจากหนังหมู อย่างไรก็ตาม อาจมีส่วนอื่นๆของกระเป๋าที่อาจทำมาจากหนังหมูอีกด้วย

6. กระเป๋าหิ้ว: กระเป๋าหิ้วทั้งใบหรือเกือบทั้งใบซับในอาจทำมาจากหนังหมู

………………………………………………………………………………………………..
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
– เราจะแยกแยะหนังหมูออกจากหนังชนิดอื่นได้อย่างไร?

– ถุงมือนิรภัยบ่อยครั้งทำมาจากหนังหมู
http://www.facebook.com/?ref=hp#!/notes/hsc-pattani-officer/thungmux-nirphay-bxy-khrang-thi-tha-ma-cak-hnang-hmu/195902760421606

สุกรถูกนำมาวิจัยในฐานะตัวแทนของมนุษย์

ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดรอรรณนพ คุณาวงษ์กฤต
คณะบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการอภิปรายหัวข้อ ความท้าทายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ฮาลาล กับ วิทยาศาสตร์หะรอมในงาน WHASIB 2009  
ส่วนหนึ่งจากวารสาร HALAL insight issue 07. january-March 2009

           วิทยาศาสตร์สุกรคือวิทยาศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับสุกรในทุกแง่มุมมีข้อมูลปรากฏบนอินเตอร์เน็ตถึง  84 ล้านข้อมูล สุกรเป็นสัตว์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการวิจัยละทดลองสิ่งที่คล้ายคลึงกันระหว่างสุกรและมนุษย์  ได้แก่ ผิวหนัง  ระบบย่อยอาหาร  ระบบหัวใจและหลอดเลือด  และแม้แต่กระบวนการทำงานของร่างกาย  เช่นระบบเผาผลาญ  ระบบประสาท  ขนาดรูปร่าง  น้ำหนักตัว  และมีความใกล้เคียงทางสายพันธ์มาก   เห็นได้จากโพรงจมูก  2  ข้างที่เหมือนกันกระเพาะอาหารและลำไส้ที่รองรับทั้งอาหารที่เป็นพืชและสัตว์เซลล์ในระบบย่อยอาหารและการหลั่งน้ำย่อยที่คล้ายคลึงกัน  การเปลี่ยนการค่าความเป็นกรด-ด่าง   และระยะที่อาหารเดินทางในลำไส้เล็กที่ใกล้เคียงกัน  รวมถึงลักษณะการเรียงตัวและจำนวนขดของลำไส้ใหญ่อีกด้วย

                สำหรับระบบหัวใจและหลอดเลือด  หัวใจและหลอดเลือดใหญ่มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์  ยกเว้นเส้นเลือดดำโค้งหลังหัวใจฝังซ้าย(Left azygos veins) ส่วนหลอดเลือดที่นำเลือดมาเลี้ยงหัวใจมีลักษณะเหมือนของมนุษย์เกือบทุกประการ ดังนั้นจึงสามารถรักษาอาการหัวใจขาดเลือดเพื่อทำการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายในมนุษย์ได้นอกจากนี้ยังสามารถชักนำให้สุกรเกิดภาวะระดับไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolaemia) และหลอดเลือดแข็งเพื่อศึกษาวิธีดูแลรักษาโรคในมนุษย์อีกด้วย

                ระบบเผาผลาญคืออีกสิ่งหนึ่งที่สุกรมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์  โดยการเผาผลาญสารซีโนไบโอติกของมนุษย์ควบคุมโดยไซโทโทรมนอกจากน้  สิ่งที่เหมือนกันได้แก่ กระบวนการเรียงท่อเป็นGlucuronide คือ เฟสที่สองของกระบวนการจับคู่(Conjugated reaction) กระบวนการ Acetylation  และการทำงานของเอนไซม์   ดังนั้น  สุกรจึงถูกนำมาวิจัยในฐานะตัวแทนของมนุษย์    ซึ่งเป็นตัวอย่างการศึกษาที่ดี  โดยสามารถใช้ศึกษาการผ่าตัดหัวใจ และหลอดเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะ โดยหลอดเลือดแข็งการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อผิวต่างสายพันธุ์การดูดซึมแร่ธาตุในระบบทางเดินอาหารการทดสอบตัวยาและการทดสอบทางการแพทย์อื่นๆ อีกมากมายทางเภสัชศาสตร์ก็สามารถทำได้ เช่น การวางยาสลบหรือพิษวิทยา  นอกจากนี้ สุกรยังเป็นสัตว์ทดลองที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการวิจัยขั้นสูง  เช่น การดัดแปลงพันธุกรรมสัตว์การย้ายฝากนิวเคลียส  การโคลนนิ่งสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะและการบำบัดเซลล์โดยเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell)

การปลูกถ่ายอวัยวะจากสุกรสู่คน ความท้าทายสำหรับโลกฮาลาล

เภสัชกร  รศ.ดร. เอกรินทร์  สายฟ้า
รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการอภิปรายหัวข้อ ความท้าทายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ฮาลาล กับ วิทยาศาสตร์หะรอมในงาน WHASIB 2009  
วารสาร HALAL insight issue 07. january-March 2009

   ในปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สุกรได้รับการพัฒนาไปมาก สุกรถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์และนวัตกรรมเทคโยโลยีต่างๆ เช่น ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะต่างสายพันธุ์ (xenotransplantation)เป็นต้น การปลูกถ่ายอวัยวะต่างสายพันธุ์คือการปลูกถ่ายเซลล์เนื้อเยื่อ หรือวัยวะที่มีชีวิต จากสายพันธุ์หนึ่งไปสู่อีกสายพันธุ์หนึ่ง

            กล่าวถึงความขาดแคลนด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียวมีผู้ป่วยที่มีรายชื่อรอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต้องเสียชีวิต 10 คน/วัน ดังนั้นการปลูกถ่ายอวัยวะต่างสายพันธุ์จึงเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับอวัยวะในระยะสุดท้าย ในบรรดาสัตว์ที่ทำการทดลองการปลูกถ่ายอวัยวะต่างสายพันธุ์ พบว่าสุกรที่ปราศจากโรคคือสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสุกรสามารถขยายพันธุ์ได้เร็ว มีจำนวนการตกลูกต่อครอกสูง อวัยวะของสุกรมีขนาดและคล้ายคลึงกับอวัยวะของมนุษย์ และสามารถนำอวัยวะของสุกรไปจัดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการต่อต้านอวัยวะได้อีกด้วย

         โดยทั่วไป อวัยวะของสุกรที่ใช้ในการปลูกถ่ายต่างสายพันธุ์ ได้แก่ ตับ ไต เซลล์สมอง หัวใจ และลิ้นหัวใจซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก

            วิทยาศาสตร์สุกรสร้างความท้าทายให้แก่นักวิทยาศาสตร์มุสลิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมุสลิมจะยอมรับใช้อวัยวะของสุกรก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นๆ แล้วเท่านั้น ทั้งนี้ ดร.เอกรินทร์ ได้แนะนำมุสลิมว่าควรเสาะหาทางเลือกอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ยอมรับตามหลักศาสนาอิสลามก่อน ต่เมื่อไม่มีแล้วจึงค่อยยินยอมใช้อวัยวะสุกรเป็นทางเลือกสุดท้าย

เซลล์ตับของแพะสามารถเข้ากันได้ดีกับเซรั่มของมนุษย์มากกว่าเซลล์ตับของสุกร

เภสัชกร  รศ.ดร. เอกรินทร์  สายฟ้า
รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากการอภิปรายหัวข้อ ความท้าทายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ฮาลาล กับ วิทยาศาสตร์หะรอมในงาน WHASIB 2009  
วารสาร HALAL insight issue 07. january-March 2009

   จากการวิจัยโดยศูนย์ค้นคว้าและวินิจฉัยตับ (Center for Liver Research and Diagnostic) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองไฮเดอราบัด (Hyderabad) พบว่าตับแพะสามารถนำมาใช้เป็นอวัยวะปลูกถ่ายสำหรับมนุษย์ได้ เซลล์ตับแพะยังสามารถนำไปปลูกถ่ายในเยื่อบุช่องท้องของมนุษย์ (Peritonum) และควบคุมการทำงานของตับมนุษย์ได้ นอกจากนี้ การศึกษาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นว่าเซลล์ตับ (Hepatocyte) ของแพะสามารถเข้ากันได้ดีกับซีรั่มของมนุษย์มากกว่าเซลล์ตับของสุกร

       การศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกถ่ายเซลล์ตับของแพะให้ผลเป็นที่ยอมรับได้ในหนูทดลองที่ถูกชักนำให้ตับถูกทำลายด้วย D-Galactosamine โดยในขั้นแรก หนูจะถูกชักนำให้ตับทำงานผิดปกติ จากนั้นทำการฉีดเซลล์ตับแพะเข้าไป ผลที่ได้คือ ตับที่งานผิดปรกติสามารถกลับมาทำงานปกติได้ นั่นหมายความว่าสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้เช่นกัน

บทบาทของวิทยาศาสตร์กับงานด้านฮาลาล

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล
ส่วนหนึ่งจากเอกสารการบรรยาย

1. การสร้างฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ของวัตถุดิบที่ใช้ในการเตรียมอาหารฮาลาล (Database of active Halal ingredient list)

2. การตรวจวิเคราะห์วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยว่ามีการปนเปื้อนสารต้องห้ามทางศาสนาโดยเทคนิคและวิธีทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เพื่อความถูกต้องและแม่นยำ

3. การศึกษาทางเอกสารที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบกระบวนการเตรียมวัตถุดิบและกระบวนการผลิตอาหาร

4. การประยุกต์ระบบ HACCP และ GMP ในการะบวนการผลิตอาหารฮาลาลในอุตสาหกรรม

5. การวิจัยและพัฒนาเทคนิคใหม่ๆในกรตรวจสอบการปนเปื้อนในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มาจากกระบวนการเตรียมที่สับซ้อน

6. การพัฒนาเทคนิคและอุปกรณ์อย่างง่าย รวดเร็ว ประหยัด เพื่อช่วยในการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสิ่งต้องห้าม

7. การสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภค ผู้ประกอบการตลอดจนนักการศาสนาในเรื่องความสำคัญของวิทยาศาสตร์ต่อการตรวจสอบอาหารและผลิตภัณฑ์

8. การใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในงานการคุ้มครองผู้บริโภคอาหารฮาลาล ตลอดจนการสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในหมู่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ

9. การนำเอาระบบอินเตอร์เน็ต การสร้างโฮมเพจและเว็บไซต์มาใช้มาใช้ในการสนับสนุนการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์เรื่องอาหารฮาลาล

10. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นในงานฮาลาล

อิสลามกำหนดให้สรรพสิ่งส่วนใหญ่ฮาลาล

รศ.ดร วินัย  ดะห์ลัน
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรร์มหาวิทยาลัย

          คำว่า “หะล้าล” หรือ “หะลาล” ซึ่งคนทั่วไปที่มิใช่มุสลิมในประเทศไทยคุ้นเคยกับการสะกดว่า “ฮาลาล” นั้นเป็นบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่านหลายวรรคหลายตอน เป็นต้นว่า โดยพื้นฐานแล้วอัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งและบันดาลให้เกือบทั้งหมด หะลาล แก่มนุษย์

     “พระองค์ทรงบันดาลแก่สูเจ้าซึ่งสิ่งทั้งปวงในแผ่นดิน” อัลกุรอ่าน 2:29

     “พระองค์ทรงทำให้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดิน เป็นประโยชน์แก่สูเจ้า” 45:13

      อย่างไรก็ตาม มีบ้างบางสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงห้ามซึ่งนับเป็นสัดส่วนน้อยมาก มีผู้ถามท่านศาสดามูฮำมัด (ซอลฯ) ว่า อัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงอนุมัติสิ่งใดและทรงห้ามสิ่งใด ท่านศาสดาได้ตอบว่า

                “สิ่งที่พระองค์ทำให้เป็นที่ถูกต้องในคัมภีร์ของพระองค์ คือสิ่งที่หะลาลและสิ่งที่พระองค์ห้าม คือหะรอม สิ่งที่พระองค์ทรงวางเฉยเป็นที่อนุญาตด้วยพระองค์ ทรงโปรดปราณต่อท่าน”

                หลังจากนั้นท่านศาสดาได้กล่าวอ้างโองการใน คัมภีร์ว่า “แน่แท้พระองค์ไม่ลิมสิ่งใด” อัลกุรอ่าน19:64

         นอกเหนือจากนี้ท่านศาสดายังเคยมีวจนะ ไว้อีกว่า หะลาลคือสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซุบห์) ได้อนุมัติ ให้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ในคัมภีร์ของพระองค์และหะรอมคือสิ่งที่พระองค์ได้ทรงห้ามไว้ และสิ่งที่พระองค์นิ่งเงียบนั้น พระองค์ได้อนุมัติให้เป็นที่โปรดปราณแก่ท่าน”

           เหล่านี้คือหลักเกณฑ์ใหญ่ที่อิสลามใช้ในการตัดสินใจว่าสิ่งใดฮาลาลและสิ่งใดหะรอม ทั้งนี้โดยการตัดสินว่าทุกสิ่งทุกนั้นฮาลาลยกเว้นแต่สิ่งที่อัลลอฮ์ (ซุบห์) ทรงห้ามไว้เท่านั้น และสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามนั้นจะระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน อย่างไรก็ตามมีบางสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ในขณะนั้นว่าหะลาลต่อมุสลิมหรือเปล่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคใหม่นั้นมีผลิตภัณฑ์มากมายที่มีองค์ประกอบชวนให้สงสัยหรือก้ำกึ่งว่าหะลาลหรือหะรอมในกรณีเช่นนี้อิสลามให้หลีกเลี่ยง

ผู้บริโภคสามารถที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลกรณีเกิดการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามได้หรือไม่?

กิจจา อาลีอิสเฮาะ 
จากวารสารมุสลิม กทม.
ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 ประจำเดือนธันวาคม 2553 – มกราคม 2554
สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร 

 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายฮาลาล  ซึ่งรับรองโดยคณะกรรมการประจำจังหวัด  และออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลโดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย  ต่อมาผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองและออกรับรองเครื่องหมายฮาลาลปรากฎว่ามีสิ่งปนเปื้อนหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องห้ามการบริโภคตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม  ผู้เขียนให้ข้อสงสัยว่าผู้บริโภคสามารถที่จะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการออกเครื่องหมายฮาลาลได้หรือไม่เพียงใด

           เบื้องต้นจะต้องทราบเสียก่อนว่า ”เครื่องหมายรับรองฮาลาล” เป็นเครื่องหมายที่อยู่ในความหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หรือไม่ หากพิจารณาความหมายของคำจำกัดความของคำว่า   “ บริการ” และ “โฆษณา” ตามมาตร 3 แห่งพระราชบัญญัติค้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522  แล้ว  ผู้เขียนเห็นว่า “ เครื่องหมายฮาลาล”  อยู่ในความหมายของคำจำกัดความคำว่า  “บริการ  ว่า  การรับจัดทำการงาน  การให้สิทธิใดๆ  หรือการให้ใช้ หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์หรือกิจการใดๆ  โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือประโยชน์อื่นแต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายรายงานและคำจำกัดความว่า  โฆษณา  ว่า  การกระทำการไม่ว่าโดยวิธีใดๆ  ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า 

           ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา  ซึ่งได้บัญญัติไว้ตามมาตร 22 ว่า การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อ(บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนร่วมทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด  สภาพคุณภาพ  หรือลักษณะชองสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ

          ข้อความดังต่อไปนี้ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม (1)ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง (2.)ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าและบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริง 

         หากไม่ดูระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับรองมาตรฐานฮาลาล และการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล พ.ศ. 2548 ได้ให้ความหมายของเครื่องหมายรับรองฮาลาล  ว่า  เครื่องหมายรับรองฮาลาล หมายความว่า เครื่องหมายรับรองฮาลาลเป็นของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือกิจการใด  โดยมีสัญลักษณ์เรียกว่า  “ฮาลาล “ เขียนเป็นภาษาอาหรับอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนหลังกรอบเป็นลายเส้นแนวตั้งใต้กรอบภายในเส้นขนานมีคำว่า “สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย”  หรือ “สกอท” และใต้เส้นขนานมีคำว่า”ที่กอท.ฮล (รหัสผลิตภัณฑ์)  เป็นภาษาไทย  ภาษาอาหรับ หรือภาษาอังกฤษ

ตามความหมายของคำว่าสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นผู้อนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือกิจการใด  อันเป็นการให้สิทธิ หรือให้ใช้ หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการโดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือประโยชน์อื่น  ตามคำนิยามของตำว่า”บริการ””และ”โฆษณา”  ตามมาตร 3 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ฉะนั้นเครื่องหมายรับรองฮาลาล จึงอยู่ในความหมายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เมื่อเป็นดังนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายฮาลาล ก็จะต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือกิจการใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทุกประการ

          เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายฮาลาล จะต้องมีหน้าที่รับผลิตชอบในการออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือกิจการใดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 แล้วจึงมีคำถามว่าถ้าต่อมาผลิตภัณฑ์ที่ได้รีบการรับรองออกรับรองเครื่องหมายฮาลาล โดยเครื่องหมายดังกล่าวปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์การโฆษณาผลิตภัณฑ์หรือกิจการใดมีสิ่งปนเปื้อนหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องห้ามตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล  ตามใน ข้อ 26 ของระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับรองมาตรฐานฮาลาล พ.ศ. 2548 ผู้บริโภคสามารถที่จะดำเนินคดีกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของและเป็นผู้ออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลได้หรือไม่เพียงใด หากสามารถดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้หรือไม่

        เราจะต้องย้อนกลับไปดูความหมายของคำว่า ผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการ ซึ่งจะหมายถึงคู่ความในการที่จะดำเนินคดีได้  ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค  พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมายของผู้บริโภค คือ ผู้บริโภคตาม  พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522  หมายความว่าผู้ซื้อหรือผู้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ได้รับการเสนอ หรือชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการและหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้ระบบบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยรอบแม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

         และ 2. ผู้เสียหาย ตาม พรบ. ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิกขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551  หมายความว่าผู้ได้รับความเสียหายอันเกิดจากสินค้า  พระราชบัญญัติดังกล่าวได้ให้ความหมายของผู้ประกอบธุรกิจ คือ 1. ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายผู้ค้มครองผู้บริโภคหมายความว่าผู้ขายผู้ผลิตเพื่อขายผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายหรือผู้ซื้อเพื่อขายต่อซึ่งสินค้าหรือผู้ให้บริการและหมายความรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย และ 2. ผู้ประกอบการ ตามกฎหมาย พรบ. ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 (2.4) ผู้ซึ่งใช้ชื่อทางการค้า เครื่องหมายข้อความ หรือแสดงด้วยวิธีใดๆซึ่งมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต  ผู้ว่าจ้างให้ผลิตหรือผู้นำเข้า 

        จากความหมายของผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายฮาลาล โดยสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย แต่ปรากฏว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสิ่งปนเปื้อนหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องห้ามการบริโภคบทบัญญัติศาสนาอิสลาม หรือสิ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติศาสนาอิสลามที่ห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ตามนัย ข้อ 26 ของระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับรองมาตรฐานฮาลาล  และการใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล พ.ศ. 2548  สามารถที่จะดำเนินคดีกับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ผู้เป็นเจ้าของและเป็นผู้ออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลได้ ส่วนการดำเนินคดีดังกล่าวนั้นก็เป็นการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาผู้บริโภค  พ.ศ. 2551

แนวทางการเลือกวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล

  แนวทางการเลือกวัตถุดิบเพื่อการผลิตอาหารฮาลาล

1. แนวทางการเลือกวัตถุดิบจากพืช
พืชทุกชนิดจัดเป็นวัตถุดิบที่เป็นอาหารฮาลาลที่ไม่มีกระบวนการกำกับทางศาสนบัญญัติมากมายเหมือนสัตว์ ยกเว้นพืชต่อไปนี้
ก. พืชที่เป็นอันตราย เช่น พืชที่มีพิษมีภัยต่อร่างกาย
ข. พืชที่ปนเปื้อนสิ่งสกปรก (นะญิส)
ค. พืชที่เป็นสารเสพติด

การห้ามบริโภคอันเนื่องมาจากอันตราย และสิ่งสกปรก (นะญิส) ที่ปนเปื้อนอยู่ในตัวของมัน ซึ่งถ้าหากสามารถชำระล้างหรือดึงสารพิษและสิ่งเสพติดออกจากมัน ก็จะทำให้พืชทั้งสามชนิดนี้เป็นที่ฮาลาลได้ ซึ่งผู้ผลิตวัตถุดิบสามารถนำพืชสดๆมาปรุงเป็นอาหารฮาลาล หรือแปรรูปเป็นสินค้าป้อนเข้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล แต่ที่ต้องคำนึงนั่นคือ ต้องไม่ปนเปื้อนหรือปะปนกับสิ่งที่ต้องห้ามจะเป็นสิ่งสกปรก หรือการเตรียมการที่ต้องห้าม เช่น แช่กับสุรา หรือแปรรูปเป็นสิ่งที่มึนเมา เช่น การนำองุ่น อินทผลัม ข้าวบาร์เลย์ ไปหมักจนกลายเป็นสุรา หรือสกัดเป็นสารแอลกอฮอล์ และการสกัดสารจากพืชบางชนิดจนเป็นสารเสพติด เช่น เฮโรอีน มอร์ฟีน หรืออื่นๆ เป็นต้น

2. แนวทางการเลือกวัตถุดิบจากสัตว์

สัตว์บกและสัตว์ปีกทุกชนิดที่ได้รับการอนุมัติให้บริโภคได้นั้น ต้องผ่านกระบวนการเชือดก่อนจะนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้ ส่วนสัตว์บกหรือสัตว์ปีกที่ตายเอง เช่น เป็นโรคตาย ถูกรถชนตาย ถูกตีตาย ตกเขาตาย ฯลฯ รวมถึงเชือดโดยนามอื่นที่มิใช่ด้วยพระนามของอัลลอฮฺถือเป็นซากสัตว์ ซึ่งอิสลามถือว่าหะรอมนำมาบริโภคไม่ได้

หลักเกณฑ์ในการเชือดสัตว์ตามหลักการอิสลาม ประกอบด้วย
1.สัตว์ที่นำมาเชือด
ก. เป็นสัตว์ที่ศาสนาอนุมัติให้บริโภคได้เมื่อผ่านกระบวนการเชือด
ข. ไม่มีการทรมานหรือทารุณสัตว์ก่อนทำการเชือด
ค. สัตว์จะต้องตายเนื่องจากการเชือดก่อนนำไปดำเนินการอย่างอื่น

 2. ผู้เชือด
ก. ต้องเป็นมุสลิม หรือชาวคัมภีร์ที่เชือดสัตว์ตามวิธีการอิสลาม
ข. บรรลุนิติภาวะ มีสติสัมปชัญญะที่สมบูรณ์
ค. ไม่เป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจ

3. วิธีเชือด
ก. ให้กล่าวพระนามของอัลลอฮฺเมื่อเริ่มเชือด (บิสมิลลาฮฺ อัลลอฮุอักบัร)
ข. ควรผินหน้าไปทางกิบลัต
ค. ควรเชือดโดยต่อเนื่องในคราวเดียวกัน และไม่ควรยกมีดขึ้นขณะทำการเชือด
ง. เชือดให้หลอดลม หลอดอาหารและเส้นเลือดสองเส้นข้างลำคอขาดจากกัน

4. อุปกรณ์การเชือด เป็นของมีคมที่คมกริบ
ส่วนปลา ตั๊กแตนและเนื้อสัตว์ทะเล เป็นสัตว์ที่ถูกยกเว้นไม่ต้องผ่านกระบวนการเชือดเหมือนกับสัตว์บก และสัตว์ทะเลที่ตายแล้วก็ยังสามารถนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลได้ แต่การเตรียมวัตถุดิบที่มาจากสัตว์ทะเลก็ควรปฏิบัติเพื่อชำระล้างจากนะญิส และทำให้เนื้อสัตว์ทะเลสะอาดถูกต้องตามหลักการอิสลาม

3. แนวทางการเลือกวัตถุดิบแปรรูป

ให้ดำเนินการดังนี้

1. ตรวจสอบเครื่องหมายรับรองฮาลาลที่ออกโดยองค์กรด้านศาสนาที่ถูกยอมรับบนฉลากบรรจุภัณฑ์อาหาร

2. พิจารณาส่วนประกอบบนฉลากอย่างละเอียด จำแนกสถานะ ฮาลาล/หะรอม/มัชบุฮ ของแต่ละส่วนประกอบ ดังนี้

  • ถ้าส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดฮาลาล  ดังนั้นวัตถุดิบเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เพื่อผลิตเป็นอาหารฮาลาล
  • ถ้ามีส่วนประกอบหนึ่งเป็นส่วนประกอบที่หะรอม ดังนั้นวัตถุดิบต้องไม่นำมาใช้เพื่อผลิตเป็นอาหารฮาลาล
  • ถ้าส่วนประกอบตกภายใต้สถานะมัชบุฮฺ  ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงจากวัตถุดิบเหล่านี้เนื่องจากส่วนประกอบอาจมาจากแหล่งที่หะรอม

ทำไมแอลกอฮอล์จึงเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิม?

เมื่อวะฮฺยูลงมาในช่วงแรก การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (คอมรฺ) เป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนดื่มกัน ซึ่งบรรดาสหายของท่านนบีต่างดื่มกันก่อนที่วะฮฺยูในเรื่องนี้จะลงมา การห้ามได้เผยลงมาใน 3 ขั้นตอน วะฮฺยูครั้งแรก จากอัลกรุอาน ความว่า

“พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน และพวกเขาจะถามเจ้าว่า พวกเขาจะบริจาคสิ่งใด ? จงกล่าวเถิดว่า สิ่งที่เหลือจากการใช้จ่าย ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮ์จะทรงแจกแจงโองการทั้งหลายแก่พวกเจ้าหวังว่าพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ” (อัลบากอเราะฮฺ อายะที่ 219)

   ในอายะฮนี้มุสลิมต่างได้รับรู้ถึงความชั่วที่ยิ่งใหญ่จากการดื่มของมึนเมา (คอมรฺ)  อัลกุรอานได้กล่าวถึงคุณประโยชน์บางอย่างของแอลกอฮอล์ ถึงกระนั้นกุรอานก็ได้แจ้งถึงความชั่วที่ยิ่งใหญ่มากกว่าคุณประโยชน์ที่มี  การเผยครั้งถัดมาในประเด็นเรื่องของแอลกอฮอล์ นั้น ดังกุรอาน ความว่า

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่าเข้าใกล้การละหมาด ขณะที่พวกเจ้ากำลังมึนเมาอยู่ จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ สิ่งที่พวกเจ้าพูด และก็จงอย่าเข้าใกล้การละหมาด ขณะที่เป็นผู้มีญะนาบะฮ์ นอกจากผู้ที่ผ่านทางไปเท่านั้น จนกว่าพวกเจ้าจะอาบน้ำ และหากพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง หรือคนหนึ่งคนใดในพวกเจ้ามาจากที่ถ่ายทุกข์ หรือพวกเจ้าสัมผัสผู้หญิง แล้วพวกเจ้าไม่พบน้ำ ก็จงมุ่งสู่ดินที่ดี แล้วจงลูบใบหน้าของพวกเจ้าและมือของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงยกโทษเสมอ” (อัลบากอเราะฮฺ อายะที่ 43)

ในการเผยครั้งนี้ มุสลิมนั้นได้ถูกบอกถึงการไปละหมาดของพวกเขา ขณะที่พวกเขายังอยู่ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นการปกป้องพวกเขาจากความไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาได้อ่านหรือได้ฟัง

          เนื่องจากการละหมาดได้ถูกกำหนดให้ทำการละหมาด 5 ครั้งในหนึ่งวันในช่วงเวลาเฉพาะ อาจจะสรุปได้ประเด็นหนึ่งว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้หากดื่มแอลกอฮอล์แล้วไปละหมาดในสภาพที่มีสติ กุรอานในอายะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าแอลกอฮอล์เป็นที่ต้องห้าม ทำให้สหายบางคนของท่านนบียังคงดื่มกันอยู่ สุดท้ายได้มีคำสั่งออกมาอย่างชัดเจนต่อการห้ามของมึนเมาและการละเล่นอื่นๆทั่วไป ดังกุรอาน

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว นั้นเป็นสิ่งโสมมอันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ” (อัลมาอีดะฮฺ อายะที่ 90)

“ที่จริงชัยฏอนนั้นเพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกันและการเกลียดชังกันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนัน เท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และการละหมาด แล้วพวกเจ้าจะยุติไหม?” (อัลมาอีดะฮฺ  อายะที่ 91)

“และพวกเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮ์ และจงเชื่อฟังร่อซูลเถิด และพึงระมัดระวัง ไว้ด้วย แต่ถ้าพวกเจ้าผินหลังให้ ก็พึงรู้เถิดว่าที่จริงหน้าที่ของร่อซูลของเรานั้น คือ การประกาศอันชัดเจนเท่านั้น”(อัลมาอีดะฮฺ อายะที่ 92)

  นี่คือคำสุดท้ายที่กล่าวถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั่นคือ คอมรฺ  มันต้องถูกหลีกห่าง ไม่มีความคลุมเครือสำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในรูปแบบต่างๆทั้งหมดนั้นเป็นที่ต้องห้าม

……………………………………………………………………..
ที่มา : Riaz, M. N., and Chaudry M.M. (2004).  Halal Food Production.  CRC Press  (ตอนหนึ่งจากหนังสือ)

อาหารส่วนใหญ่ฮาลาล

 มุสลิมยึดถือคัมภีร์อัลกุรอ่านเป็นธรรมนูญของชีวิต คำสั่งของอัลลอฮ์พระผู้เป็นเจ้าในเรื่องฮาลาลและหะรอมคือกำหนดว่าสิ่งใดใช้ได้ ปฏิบัติได้ สิ่งใดที่เตือนให้หลีกเลี่ยงล้วนมาจากอัลกุรอ่านทั้งสิ้น ความเคร่งครัดของมุสลิมในการปฏิบัติตามบัญญัติในอัลกุรอ่านมีผลทำให้ผู้ที่มิใช่มุสลิมเข้าใจว่าอิสลามเต็มไปด้วยข้อห้ามซึ่งเป็นความเข้าใจผิด

ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน มีอยู่หลายโองการหรือวรรคที่กล่าวว่าอัลลอฮ์ทรงสร้างสรรพสิ่งเพื่อเป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะมุสลิมเท่านั้น

     มีบางอย่างเท่านั้นที่เป็นข้อห้าม และสิ่งที่เป็นข้อห้ามส่วนใหญ่จะมีเหตุผลระบุไว้ด้วยว่าห้ามเพราะสาเหตุใด เช่น ห้ามสุราเนื่องจากก่อให้เกิดอาการขาดสติ ผู้ดื่มอาจกระทำการใดๆโดยไม่ยั้งคิด

            การห้ามผู้ชายสวมใส่ผ้าไหมและทองเนื่องจากทั้งผ้าไหมและทองเป็นอาภรณ์ที่บ่งชี้ถึงความเป็นสตรีเพศไม่เหมาะที่ฝ่ายชายจะสวมใส่ อิสลามห้ามการโอ้อวดและฟุ้งเฟ้อ จึงบัญญัติข้อห้ามเรื่องผ้าไหมและทองสำหรับผู้ชายไว้การห้ามสิ่งที่เป็นนะยิสหรือสิ่งโสโครก ปฏิกูลต่างๆมีเหตุผลที่จะตอบได้ว่าห้ามเพราะอะไร แต่การห้ามบางประการ เป็นเรื่องของการทดสอบศรัทธาและมิได้มีเหตุผลใดๆอธิบายไว้ ยกตัวอย่างเช่น การห้ามบริโภคเนื้อสุกรนั้นมิได้ระบุเหตุผล แม้จะมีนักวิชาการในศาสนาอิสลามบางกลุ่มออกมาชี้แจงว่าสุกรเป็นสัตว์สกปรกแต่ก็เป็นเพียงความเห็นของนักวิชาการเท่านั้น หาใช่เหตุผลที่มีหลักฐานระบุไว้ในทางศาสนาไม่

แม้จะมีอาหารบางชนิดที่เป็นข้อห้าม แต่อาหารส่วนใหญ่กลับเป็นที่อนุมัติให้บริโภคได้หรือเป็นอาหารฮาลาล

    หลายโองการในคัมภีร์อัลกุรอ่านยืนยันว่าอาหารส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดนั้นฮาลาล ตัวอย่างเช่น วรรคที่ 29 บทที่ 2 มีความว่า “เราบันดาลแก่สูเจ้าซึ่งสิ่งทั้งปวงในแผ่นดิน” และ วรรคที่ 13 บทที่ 45 มีความว่า “พระองค์ทรงทำให้สิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดินเป็นประโยชน์แก่สูเจ้า” มีความหมายว่าสรรพสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงสร้างขึ้นนั้นล้วนเพื่อประโยชน์แก่มุสลิมและมนุษย์ คือให้นำไปใช้ประโยชน์ได้

   มีอาหารน้อยชนิดที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิม ที่รู้จักกันมากคือสุกรและสุรา แต่เนื่องจากอาหารสองชนิดนี้ผู้ที่มิใช่มุสลิมนิยมนำมาใช้ในการเตรียมอาหารส่งผลให้อาหารที่เจือปนเหล่านั้นกลายเป็นที่ต้องห้ามสำหรับมุสลิม ไปด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็นของสัตว์ที่ไม่ฆ่าตามหลักการอิสลามซึ่งเป็นที่ต้องห้ามเช่นเดียวกัน อาหารดังที่กล่าวถึงนี้มักพบได้บ่อยนอกสังคมมุสลิมทำให้ดูคล้ายกับว่ามุสลิมมีข้อจำกัดในการบริโภคค่อนข้างมาก

…………………………………………………………….
ที่มา:  รศ.ดร.วินัย  ดะห์ลัน  
ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เอกสารประกอบการบรรยาย โครงการพัฒนาร้านอาหารมุสลิม/ฮาลาลไทยสู่สากล
9-10 มิถุนายน 2553